สภาถกญัตติด่วน “คดีตากใบ” หมดอายุความ "สส.ปชน." ชี้วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลต้องปฏิรูปขนานใหญ่ ระบุหากคิดแบบรัฐไทยไม่แปลกใจวันหนึ่งอาจเห็นลูกหลานผู้เสียชีวิตกลายเป็นผู้ก่อการร้ายเอง "รังสิมันต์" ถามนายกฯ ผู้พ่อไม่รู้สึกอะไรเลยหรือ ตั้ง 3 ข้อถามความจริงใจรัฐบาล "จาตุรนต์" โดดป้อง "ทักษิณ" เคยขอโทษไปแล้ว แย้มคุย "สมช." เตรียมเสนอร่างกฎหมายใช้แทน กม.พิเศษแล้ว "สภา" ส่งต่อคดีตากใบให้ กมธ.กฎหมาย-รัฐบาล ศึกษาต่อ 90 วัน "ภูมิธรรม" ลั่น จนท.ล่าตัวผู้ต้องหาเต็มที่แล้ว "สว.ไชยยงค์" ห่วงสถานการณ์ใต้รุนแรง หลังได้ข้อมูลกลุ่มบีอาร์เอ็นปลุกระดมหนัก "อังคณา-เทพไท" หนุน "แพทองธาร" ลงพื้นที่ตากใบแสดงความจริงใจ "ปัตตานี" คุมเข้มทุกจุด
ที่รัฐสภา วันที่ 25 ตุลาคม 2567 เวลา 10.39 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม หลังสมาชิกหารือเรื่องต่างๆ แล้ว นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) และนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องคดีตากใบจะหมดอายุความในวันนี้ (25 ต.ค.) เวลา 24.00 น. ขณะที่นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยที่จะเสนอญัตติด่วนเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อนเป็นวาระแรก
นายรอมฎอนอภิปรายว่า ตอนนี้คดีอาญาที่ประชาชนฟ้องเองในศาลจังหวัดนราธิวาสที่มีจำเลย 7 คน ยังไม่สามารถนำจำเลยมาที่ศาลได้ และคดีที่อัยการสั่งฟ้องก็ยังไม่สามารถจับกุมผู้ต้องหาและไม่มีการมอบตัว และผู้ต้องหาทั้ง 14 คนยังไม่ปรากฏตัวต่อศาล นี่คือปมปัญหาในวินาทีนี้ เกิดคำถามระหว่างประเทศว่าตกลงประเทศเราปกครองภายใต้หลักนิติธรรมหรือไม่ หลายเรื่องที่เคยเกิดขึ้น วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดยังมีอยู่ ความรับผิดชอบที่ควรต้องมีจากเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อประชาชนจะเกิดขึ้นหรือไม่
ส่วนนายกมลศักดิ์กล่าวว่า ขอขอบคุณ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ออกมาให้ข่าวขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผมในฐานะที่อยู่พรรคประชาชาติ เราอยู่ในพื้นที่ เห็นด้วยที่นายกฯ ออกมาขอโทษ แต่อยากให้ครอบครัวผู้สูญเสียเขามีความรู้สึกว่าไม่สูญเปล่ากับการลุกขึ้นมาต่อสู้ ช่วยแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 ว่าด้วยอายุความกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐทำให้ประชาชนเสียชีวิตให้ไม่ขาดอายุความโดยเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแสดงให้เห็นความจริงใจที่มากขึ้น
อย่างไรก็ดี นายประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องเลื่อนญัตติหรือไม่ ตนตั้งใจไม่ให้เลื่อน เพราะความจริงเรื่องนี้เกิดมา 20 ปีแล้ว จะมาญัตติด่วนตรงนี้ ถามว่าด่วนเรื่องอะไร 6 ตุลา 19 ตนโดนขังลืม ได้รับนิรโทษกรรม แล้วเอาเรื่องของตนด่วนหรือไม่ มันก็ไม่ด่วนเช่นกัน แต่ได้รับการประสานงานผิวเผิน ตนไม่ขัดข้องถ้าวิป 2 ฝ่ายตกลงกันได้พร้อมจะถอนญัตติออก
เวลา 11.25 น. นายเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน อภิปรายว่า อาชญากรรมรัฐควรต้องมีกระบวนการค้นหาความจริง วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลซึ่งถูกนิยามว่าเป็นนิติรัฐอภิสิทธิ์ราชนิติธรรมนั้น ควรจะต้องได้รับการปฏิรูปขนานใหญ่ ตนไม่อยากจินตนาการว่าหากคดีตากใบสิ้นอายุความโดยไม่แม้แต่จะมีการนำตัวผู้ต้องหามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้
นายเชตวันกล่าวว่า ใครที่ออกมาพูดเรื่องเกิดมาตั้งแต่ปี 47 จะมาฟื้นฝอยหาตะเข็บกันทำไม จนอาจกลายเป็นไฟลุกลามบานปลายนั้น คนที่พูดแบบนี้เล่นการเมืองจนไม่สนใจเรื่องความเป็นธรรม และที่สำคัญคือมองสถานการณ์ปัญหาชายแดนภาคใต้ไม่ออก เนื่องจากเขาเชื่อแบบที่รัฐไทย และทหารเชื่อว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนั้นต้องมาจากผู้ก่อการร้ายที่มีลักษณะการทำงานเป็นองค์กร มีโครงสร้าง และระบบชัดเจนเป็นเรื่องเป็นราว หากคิดแบบนี้แล้วก็คงไม่แปลกที่งบประมาณจะถูกทุ่มลงไปมากขึ้นทุกปีๆ โดยเฉพาะส่วนราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่อย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
"หากคิดแบบนี้ คงไม่แปลกที่วันหนึ่งเราจะได้เห็นหนึ่งในผู้ก่อการไม่สงบลอบวางระเบิดทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐคือลูกหลานของคนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ หรือคือคนที่รอดชีวิตจากการขนย้ายประชาชนผู้ชุมนุมอย่างไม่เป็นธรรม เพราะหน่วยงานความมั่นคงของไทยคิดน้อยไป กับเรื่องความอยุติธรรมแบบนี้" นายเชตวันกล่าว
จี้นายกฯ ผู้พ่อไม่รู้สึกอะไรหรือ
สส.ปทุมธานี พรรค ปชน.รายนี้กล่าวว่า ข้อเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งการยกเลิกกฎอัยการศึก และด่านต่างๆ ที่ตั้งไว้ควรถอนได้แล้ว การย้ายตำรวจที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ออกจากพื้นที่ก็เป็นเรื่องสำคัญ การนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดในคดีต่างๆ หรือแม้แต่ข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
ต่อมาเวลา 11.33 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ความยุติธรรมแม้จะเป็นนามธรรมสูง แต่หากสังคมใดขาดความยุติธรรม สังคมนั้นจะมีความแตกแยก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมที่จะอยู่ไม่ได้เท่านั้น แต่ผู้มีอำนาจก็อาจจะอยู่ไม่ได้ เหตุการณ์ตากใบและเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพลวัตที่ทุกภาคส่วนจะหาทางออก ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ความรู้สึกของคนจังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น แต่เป็นความรู้สึกของคนทั้งประเทศ ที่สำคัญเป็นความรู้สึกของรัฐบาล
"เรื่องคดีไม่ควรมีอายุความ และเราควรเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพื่อเยียวยาจิตใจของคนที่โหยหาความยุติธรรม" พ.ต.อ.ทวีกล่าว
เวลา 12.06 น. นายยูนัยดี วาบา สส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เสนอให้ทางรัฐมีแนวทางแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน กรณีเร่งด่วนทางรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรบ้างเพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อพี่น้องประชาชน ผมชื่นชมนายกฯ ที่ออกมาขอโทษ แต่เราอยากเห็นว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพื่อผ่อนคลายให้ญาติพี่น้องรับรู้ถึงความจริงใจที่มีต่อประชาชน รัฐบาลต้องเปิดอกคุยกันกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด สิ่งสำคัญที่สุดคือผมขอทวงคืนศักดิ์ศรีกระบวนการยุติธรรมของไทย
จากนั้นเวลา 12.30 น. นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) อภิปรายว่า สิ่งที่เรากำลังพิจารณาอยู่ขณะนี้ มีถ้อยคำที่สำคัญคือความจริงใจ ซึ่งตนเชื่อว่าความจริงใจนี้จะเป็นหัวใจที่สำคัญ ไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะในกรณีตากใบเท่านั้น แต่รวมไปถึงการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งการกระทำสำคัญกว่าคำพูด แต่ไม่ได้หมายความว่าคำพูดคือสิ่งที่ไม่มีความสำคัญเลย ถ้าเราดูในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะพบว่าการพูดเรื่องของคดีตากใบจากรัฐบาลนี้ในหลายโอกาสนั้น อย่างคำพูดของนายภูมิธรรมที่บอกว่าตากใบไม่สำคัญ น้ำท่วมสำคัญกว่า ตนเข้าใจดีว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญ แต่เราไม่ควรจะต้องเลือกว่าเหตุการณ์ใดสำคัญกว่าเหตุการณ์ใด
นายรังสิมันต์กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ขึ้นเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งนายกฯ ในเวลานั้น แม้จะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายกฯ แต่ตีกอล์ฟอยู่ ตนเข้าใจว่าคนธรรมดาก็ต้องมีการพักผ่อนกันบ้าง แต่ตลอดเหตุการณ์ตั้งแต่การชุมนุมไปจนถึงการที่รถขนคนเที่ยวสุดท้าย ลากยาวตั้งแต่ตอนเช้าถึงเวลาตีหนึ่งนั้น ท่านไม่รู้สึกอะไรเลยหรือว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้มันผิด เป็นความผิดพลาดในการบริหารจัดการ และท่านในฐานะนายกฯ ในเวลานั้น ไม่รู้สึกว่าจะต้องทำเลยหรือ แม้เหตุการณ์ผ่านมาแล้ว ตั้งแต่นายกฯ ผู้พ่อ มาสู่นายกฯ ผู้ลูก เราจะส่งสัญญาณถึงการละเลยความเจ็บปวดของประชาชนเหมือนเดิมอีกหรือ
นายรังสิมันต์ย้ำว่า เรื่องนี้เป็นใหญ่กว่าแค่คนในคณะกรรมาธิการฯ หรือใครคนใดคนหนึ่งคุยกัน แต่เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และความจริงใจที่รัฐบาลควรส่งให้กับประชาชน ตนคิดว่าหากเราจะเดินหน้าต่อไป รัฐบาลต้องตอบ 3 คำถามที่ขอฝากไว้ให้ คือ 1.วันนี้ท่านต้องตอบให้ชัดว่าเหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้น ตอนที่อดีตนายกฯ เป็นนายกฯ อยู่นั้น ทำไมท่านถึงไม่ใช้อำนาจหน้าที่และในระยะเวลายาวนานทำไมถึงปล่อยให้เกิดขึ้นได้
จาตุรนต์ป้องทักษิณขอโทษแล้ว
2.หลังจากนี้คงหมดอายุความ ปาฏิหาริย์ที่เราคาดหวังว่าจะมีการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมคงไม่เกิด แต่คำถามสำคัญคือ เราจะมีกระบวนการหรือนโยบายอย่างไร ที่จะมั่นใจได้ว่ากระบวนการยุติธรรมของเราจะไม่เป็นแบบนี้อีกแล้ว เราจะสร้างความมั่นใจได้อย่างไรให้ประชาชนสามจังหวัดชายแดนใต้รู้สึกได้ว่าเขาสามารถพึ่งพากระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ได้ และ 3.เราต้องยอมรับความจริงว่า แนวทางในการบริหารเพื่อดับไฟใต้ของรัฐบาลนี้กับรัฐบาลที่ผ่านๆ มา แทบไม่มีความแตกต่างกันเลย ดังนั้นท่านช่วยสร้างความแตกต่างได้หรือไม่
"ตราบใดที่เราไม่สามารถสร้างความหวังและความจริงใจให้ประชาชนสามารถรู้สึกได้ ไฟใต้ก็มีแต่โหมกระพือ และสิ่งที่ท่านได้พูดในเวลาที่ผ่านมา มันได้จุดไฟนั้นอีกครั้ง ขอให้ใช้โอกาสนี้แก้ไขในสิ่งที่ผิด อย่าปล่อยให้ไฟใต้ต้องเป็นแบบนี้อีกต่อไป" นายรังสิมันต์กล่าว
เวลา 12.40 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายชี้แจงกรณีนายรังสิมันต์ตั้งคำถามในขณะนั้นนายกฯ และแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นไม่รู้สึกอะไรเลยหรือไม่ว่า หากไปดูย้อนหลังนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้พูดขอโทษถึง 2 ครั้ง ขอโทษถึงการสั่งการในการใช้กำลังกับฝูงชนที่อาจจะแรงเกินไป และครั้งที่สองพูดถึงการขนคนที่ไม่ทราบเลยว่าเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง และขอโทษต่อประชาชนไปแล้ว ส่วนในรัฐบาลนี้ น.ส.แพทองธารได้กล่าวขอโทษต่อประชาชนในเหตุการณ์ตากใบ ถือเป็นเรื่องดีต่อการเริ่มต้นในการแก้ปัญหา ถือเป็นการลดความรู้สึกผิดหวังความรู้สึกไม่สบายใจของพี่น้องประชาชนลงไปได้บ้าง
"ในฐานะประธาน กมธ. ได้คุยกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ทำนโยบายเสนอ และ สมช.ทำเสร็จแล้ว กำลังจะเสนอ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้พูดคุยกับรองนายกฯ เพื่อนัดพูดคุยกัน และเชื่อว่าเรื่องนโยบายในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกมาก และที่เราจะเสนอคือการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ นโยบายในการแก้ไขปัญหาที่น่าจะเปลี่ยนแปลงจากที่เคยทำกันมา" นายจาตุรนต์กล่าว
ต่อมานายรังสิมันต์กล่าวว่า ตนเองรับฟังการชี้แจงของท่าน แต่ยืนยันว่ามีคนอีกจำนวนมากที่สงสัยเหมือนที่ตนเอง สงสัยว่าระยะเวลาในการขนคนที่ใช้เวลานานขนาดนั้นว่าไม่รู้จริงๆ ได้อย่างไร แต่ถ้าไม่รู้จริงๆ ก็เป็นความผิดพลาดของระบบบางอย่างที่เกิดขึ้น และควรคิดอย่างจริงจังว่าจะป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะนี้อย่างไร เพราะสุดท้ายเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เราไม่อยากสร้างความรู้สึกให้พี่น้องประชาชนรู้สึกว่าไม่ใช่ไม่รู้ แต่คือความไม่สนใจ
นายรังสิมันต์ยังเสนอถึงทางออกของปัญหา คือการร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ เราใช้กฎหมายพิเศษมาเป็นเวลานานแล้ว และสุดท้ายไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เชื้อไฟยังคงอยู่ การช่วยกันผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้สภาได้รู้ว่าการใช้กฎหมายพิเศษต้องมีแผนและวิธีการ และจะทำให้ สส.ที่เป็นตัวแทนประชาชนสามารถนำเสนอความคิดความรู้สึกของประชาชนไปสู่แผนความมั่นคงได้ นี่คือทางออก
"ถ้าร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา อยากขอร้องให้นายจาตุรนต์พูดคุยกันภายในพรรคว่าช่วยกันผ่านกฎหมายฉบับนี้ ถ้าไม่เห็นด้วยกับผมแล้วจะเสนอมาก็จะเป็นทางออกได้ แล้วค่อยทยอยยกเลิกกฎหมายพิเศษต่อไป เชื่อว่าสถานการณ์ชายแดนใต้จะดีขึ้น" นายรังสิมันต์กล่าว
จากนั้นนายจาตุรนต์ชี้แจงว่า เหตุการณ์วันนั้นข้อต่อสำคัญคือแม่ทัพภาค 4 ที่มีการรายงานนายกรัฐมนตรี หากไปดูคำชี้แจงแถลงข่าวของแม่ทัพภาค 4 ในช่วงเหตุการณ์ ท่านไม่อยู่ในเหตุการณ์เพราะถูกเรียกตัวไปที่ไหนสักที่ด้วยเหตุจำเป็นจริงๆ ดังนั้นในเมื่อแม่ทัพภาค 4 ไม่รู้ ก็เป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรีจะไม่รู้ แต่เมื่อรู้แล้วท่านก็ตกใจมาก และได้ขอโทษในเวลาต่อมา
"เรื่องกฎหมายที่นายรังสิมันต์จะเสนอและฝากให้ผมช่วยประสานพูดคุยนั้น ทาง สมช.เตรียมร่างกฎหมายเฉพาะขึ้นมา หวังจะมาใช้แทนกฎหมายด้านความมั่นคงที่ใช้อยู่ และคณะกรรมธิการฯ ก็มีการพิจารณาว่ากฎหมายความมั่นคงฉบับที่ใช้กันอยู่ต้องมีการวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อลด ละ เลิก ใช้ไปในที่สุด เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าบ้านเมืองมีสันติสุข มีสันติภาพ หากสันติสุขใช้กฎอัยการศึกอยู่ จะใช้กฎหมายความมั่นคง และใช้กองทัพอยู่ และเที่ยวไปบอกว่าอย่าใช้คำว่าเจรจา เพราะเดี๋ยวจะเหมือนสงครามระหว่างประเทศ แต่จริงๆ แล้วใช้กำลังทหารกับกฎอัยการอยู่ มันไม่เข้ากันอยู่แล้ว เรามีการเตรียมเสนออยู่ และถ้านายรังสิมันต์จะเสนอผมก็ยินดีที่จะพิจารณา" นายจาตุรนต์กล่าว
สภาส่ง 'กมธ.กม.-รัฐบาล' ศึกษาต่อ
เวลา 13.20 น. ภายหลังสมาชิกได้อภิปรายญัตติด่วนด้วยวาจากรณีตากใบเสร็จสิ้นแล้ว นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม กล่าวว่า จากการอภิปรายญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องกรณีตากใบเพื่อให้สภาได้พิจารณา และส่งข้อเสนอต่อรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหนึ่ง จากการที่ได้รับฟังการอภิปรายของสมาชิกมีความเห็นแนวทางเดียวกันเห็นว่า ญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องนี้ สมควรให้ส่งให้คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาศึกษา
นายพิเชษฐ์ได้ถามที่ประชุมว่า ญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องนี้สมควรให้ส่งให้คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ เพื่อพิจารณาศึกษาหรือไม่ หากไม่มี ถือว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องนี้ให้กับคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ เพื่อพิจารณาศึกษา จากนั้นนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะส่งต่อให้คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ แต่มีข้อเสนอว่า อยากให้ส่งให้ทางรัฐบาลด้วย ขณะที่นายวรวงศ์ วรปัญญา สส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย เสนอระยะเวลาพิจารณา 90 วัน
สุดท้ายประธานสรุปว่า จะส่งต่อเรื่องนี้ให้กับคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ และรัฐบาล โดยกำหนดระยะเวลาการพิจารณา 90 วัน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ยอมรับการตามจับผู้ต้องหาคดีตากใบเจ้าหน้าที่ก็ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว หากวันนี้มันผ่านไปแล้วยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ มันก็เป็นบทเรียน และต้องดูว่ากระบวนการที่จะแก้ปัญหาในอนาคตจะเป็นอย่างไร
ด้านนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า รัฐไม่สามารถจะนำตัวผู้ต้องหาที่ศาลออกหมายจับคดีตากใบมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้แน่นอนแล้ว ทำให้กลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นเอากรณีที่รัฐไม่สามารถจับผู้ต้องหาคดีตากใบมาดำเนินคดีมาโฆษณาปลุกระดม โดยอ้างว่าพรรค พท.และรัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะเอาตัวผู้ต้องหามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มาเป็นเงื่อนไขในการปลุกระดมมวลชน และสร้างสถานการณ์ร้ายในพื้นที่ชายแดนใต้ เช่น คาร์บอมบ์ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และอีกหลายจุดที่เกิดเหตุร้าย ส่วนรัฐบาลจะออก พ.ร.ก.ขยายเวลาคดีตากใบนั้นไม่สามารถกระทำได้
"สว.ห่วงสถานการณ์ที่ได้รับรายงานข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงชายแดนใต้ ว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 26 ต.ค.67 จึงขอให้หน่วยงานความมั่นคงบูรณาการกับฝ่ายปกครองในพื้นที่ชายแดนใต้ เข้ามาดูแลเพื่อป้องกันทรัพย์สินของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ สำนักงาน ฐานปฏิบัติการ จุดตรวจ จุดสกัด ร้านค้า ปั๊มน้ำมัน และชุมชนคนไทยพุทธ" สว.ไชยยงค์กล่าว
ปัตตานีคุมเข้มพื้นที่กันป่วน
นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า คดีตากใบที่คนเห็นกันอยู่ว่ามีผู้เสียชีวิต แต่สุดท้ายหากไม่สามารถนำตัวคนที่ถูกกล่าวหาหรือคนที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้แม้แต่คนเดียว จะทำให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
นางอังคณาเสนอว่า หากคดีตากใบหมดอายุความ อีกทางหนึ่งที่ญาติผู้เสียชีวิตทำได้ก็คือไปฟ้องศาลระหว่างประเทศ เพราะอย่างประเทศในสหภาพยุโรป เช่น เยอรมนี หรือสวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ที่จะมีศาลระหว่างประเทศ เช่นสมมติว่าญาติไปฟ้องว่ามีจำเลยคดีตากใบเกี่ยวข้องกับการทำให้มีคนเสียชีวิต 78 คน แล้วหากศาลไต่สวนแล้วเห็นว่ามีมูล บุคคลดังกล่าวก็จะเดินทางเข้าประเทศนั้นไม่ได้ เช่น หากไปฟ้องที่อังกฤษ จำเลยคดีตากใบที่อยู่ที่อังกฤษ ศาลอังกฤษสามารถจะลงโทษที่ประเทศอังกฤษได้โดยไม่จำเป็นต้องส่งเข้ามาที่ประเทศไทย อันนี้เป็นอีกกลไกหนึ่ง เพราะจะไปพึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้มีการไปให้สัตยาบันกรุงโรม แต่จะมีศาลระหว่างประเทศ ที่หลายประเทศโดยเฉพาะคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปให้ความสำคัญ
นอกจากนี้ นางอังคณากล่าวว่า อยากชวนนายกฯ แพทองธารลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อไปคุยกับแม่ๆ (ผู้เสียชีวิต) และคนที่รอดชีวิต โดยไม่ต้องมีทหาร ตำรวจตามไป เป็นการไปคุยประสาชาวบ้าน นายกฯ จะได้รู้ว่าคนเหล่านั้นเขาทุกข์ยากอย่างไร
เช่นเดียวกับ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊กตอนหนึ่งว่า ถ้านายกฯ มีความกล้าหาญเดินทางไปที่ อ.ตากใบจริง ตนเห็นว่าเป็นการซื้อใจประชาชน จะได้ใจคนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ จะทำให้สถานการณ์ที่ตึงเครียดคลี่คลายลง และเป็นการไถ่บาปให้รัฐบาลทักษิณด้วย
ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน กล่าวตอนหนึ่งว่า ถัดจากนี้ไปต้องติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นแล้ว เพราะมือที่สามบวกสถานการณ์ขัดแย้งของโลกต่างๆ จะมารุมด้วยสาเหตุนี้ (ปล่อยคดีหมดอายุความ) นายกฯ คงซีเรียส (เครียด) กับสถานการณ์นี้ และที่สุดแล้วรัฐบาลคงยากจะรับมือได้
ที่ สภ.เมืองปัตตานี พ.ต.อ.ประยงค์ โคตรสาขา รอง ผบก.ภ.จว.ปัตตานี เป็นประธานพิธีปล่อยแถวแผนปิดเมือง ป้องกันผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์วันรำลึกเหตุการณ์ 20 ปีตากใบ โดยมีการตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ สถานที่ราชการ ระบบสาธารณูปโภค สถานีไฟฟ้าแรงสูงและเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อเป็นการระดมกำลังเพื่อปฏิบัติการป้องกันการก่อเหตุดังกล่าว และเป็นการแสดงกำลังปฏิบัติการเชิงรุกต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"