"ชูศักดิ์" ยันรายงาน กมธ.ยังอยู่ เปิดทางองค์กรใดเห็นว่าเป็นประโยชน์สามารถไปศึกษาได้ ไม่ปิดประตูตายนิรโทษกรรม ม.112 เพราะยังมีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจ่อเข้าสภาสมัยหน้าอีก 4 ฉบับ 12 ธ.ค. ว่ากันใหม่
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์กรณีสภาไม่รับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า รายงานดังกล่าวถือว่าได้รายงานต่อสภาเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมาธิการฯ ถือว่าทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว รายงานฉบับนี้อยู่ในสภา องค์กรใดเห็นว่าเป็นประโยชน์สามารถไปศึกษาได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะดำเนินการอย่างไรกับ สส.พรรคเพื่อไทยที่ขัดมติพรรค ไม่เห็นชอบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ หรือไม่ นายชูศักดิ์ตอบว่า ช่วงเช้าวันที่ 24 ต.ค. ส่วนใหญ่เห็นว่าต้องรับรายงานและข้อสังเกต แต่มีบางคนไม่สบายใจ ที่ประชุมจึงขอสงวนไว้ ตนก็บอกว่าแล้วแต่ให้การลงมติเป็นเอกสิทธิ์ เราก็ไม่ว่าอะไร ยืนยันว่าในที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทยไม่มีมติพรรคในเรื่องนี้ ให้เป็นเรื่องของเอกสิทธิ์
เมื่อถามว่า ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ รู้สึกเสียหน้าหรือไม่ นายชูศักดิ์ตอบว่า คงพูดอย่างนั้นไม่ได้ ตนบอกในที่ประชุมว่าญัตตินี้เป็นของพรรคเพื่อไทย เป็นประธานทำรายงานเอง ถ้าจะให้ไม่รับมันก็ไม่ได้ ทั้งนี้ยังดีใจ คณะกรรมาธิการฯ ที่ร่วมทำกันมาผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนก็รับรายงาน
ซักว่า การโหวตของพรรคเพื่อไทยไม่รับข้อสังเกตจำนวนมาก จะเสียมวลชนหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเราไม่ได้ปฏิเสธรายงาน บางส่วนไม่รับรายงานเลย เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ก็รับรายงาน เพียงแต่ไม่รับข้อสังเกต การไม่รับข้อสังเกตก็หมายความว่าไม่ส่งไปให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ แค่นั้นเอง
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ยังกล่าวว่า หลายคนไปฟังกระแสคล้ายๆ ไปตีความกันว่า คนที่เห็นชอบกับข้อสังเกตคือคนที่จะแก้หรือคนที่จะนิรโทษฯ ก็ปล่อยกันไปทำนองนี้ จึงรู้สึกวิตกกังวล ยืนยันว่ามันไม่ใช่ เป็นแต่เพียงรายงานการศึกษา ไม่เกี่ยวกับแก้โน่นแก้นี่ แต่เนื่องจากกระแสออกไปทำนองนั้น
ถามว่า ถือเป็นการปิดประตูเรื่องนิรโทษกรรมหรือไม่ นายชูศักดิ์ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ เพราะขณะนี้มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม 4 ร่าง เป็นของพรรคการเมือง 3 พรรค ของภาคประชาชน 1 ร่าง จ่อเข้าสู่การประชุมสภาในสมัยประชุมหน้าที่จะเปิดวันที่ 12 ธ.ค. คงต้องไปถกเถียงกันว่าสุดท้ายจะเอาอย่างไร เปิดสมัยประชุมสภาสื่อคงได้ทำข่าวกันอีกมากพอสมควร อันนี้แหละคือร่างจริงๆ แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากนี้จะเข็ดขยาดกับการเป็นหัวหอกดันเรื่องนิรโทษกรรมหรือไม่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ตอบว่า “ผมไม่ได้เข็ดอะไร ไม่ได้รู้สึกเสียใจอะไร เป็นเรื่องธรรมดาที่เราทำหน้าที่ แต่เมื่อเขาเห็นแบบนี้ก็ว่ากันไป”
ซักว่า ต่อไปหากจะพูดเรื่องนิรโทษกรรม ต้องวางกรอบให้ชัดเจนไม่ให้แตะ 112 หรือไม่ เพื่อไม่ให้ถูกคว่ำอีก นายชูศักดิ์กล่าวว่า มันหนีไม่พ้น ต้องพูดถึงเรื่องพวกนี้ เพราะ 4 ร่างกฎหมายที่จะเข้าสภาถามว่ามีเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ แต่สุดท้ายก็ต้องไปไตร่ตรองกัน และตนเชื่อว่ารายงานที่ทำไปครั้งนี้จะเป็นประโยชน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม 4 ร่าง ประกอบด้วย ของพรรคการเมือง 3 พรรค คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคก้าวไกลเดิม, พรรคครูไทย และร่างของภาคประชาชน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า จริงๆ แล้วไม่ต้องเสนอญัตติใหม่ ทั้งนี้ อาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะตอนจบได้มีการถามว่าจะรับหรือไม่รับในส่วนของข้อสังเกต เมื่อไม่รับก็ถือว่าตกไปโดยปริยายเท่านั้นเอง เพราะถ้ารับข้อสังเกตถึงจะกลับมาที่รัฐบาล พอไม่รับข้อสังเกตก็ถือว่าจบเท่านี้ ก็จะเป็นเรื่องของสภา ส่วนตกแล้วจะใช้ได้ใหม่หรือไม่ ต้องไปดูในรายละเอียด
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะสามารถเสนอใหม่ได้หรือไม่โดยพรรคการเมือง รองนายกฯ ตอบว่า อาจจะเสนอได้แต่ต้องต่างญัตติ
ด้านนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติและวิปรัฐบาล กล่าวว่า การลงมติไม่เห็นด้วยดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความเป็นเอกภาพ และมีความมั่นคง จากการที่ปรับพื้นฐานทางความคิดเข้าหากันจนมีแนวทางเดียวกัน แม้ในอดีตจะมีความเห็นต่างอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันมีพื้นฐานความคิดเดียวกันแล้วย่อมสะท้อนถึงเอกภาพของรัฐบาลในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเหตุการณ์โต้แย้งระหว่างนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน ในการลงมติรับรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่ถึงขั้นมีการชี้หน้ากันกลางที่ประชุมสภาว่า ทั้งสองคนเป็นเพื่อนกันมานาน อยู่ในพรรคเพื่อไทยกันมานานทั้งคู่ เชื่อว่าในใจทั้งสองคนไม่น่ามีอะไร ซึ่งในที่ประชุมสภาความเห็นระหว่างประธานและสมาชิกเป็นเรื่องธรรมดา และอาจมีการกระเซ้าเย้าแหย่กันบ้าง แต่อาจจะหยอกกันแรงไปหน่อย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พิชัยปธ.งบ69 เน้นศก.เติบโต การเงินเข้มแข็ง
มอบแต่ต้นปี “แพทองธาร” ให้ “พิชัย” นั่งหัวโต๊ะแทนประชุมกรอบงบประมาณปี
พท.รอเคาะแก้ไขรธน. ติง2สภาขัดแย้งร้าวลึก
“ชูศักดิ์” เผย 7 ม.ค. พรรคเพื่อไทยจะหารือว่าจะว่ายตามน้ำชงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกบพรรคประชาชนหรือไม่
6วันตาย272ศพ! เข้มบังคับใช้กม. ขาซิ่ง-ดื่มแล้วขับ
10 วันอันตรายปีใหม่ 6 วันตายแล้ว 272 เจ็บ 1,694 คน
แดงปะทะนํ้าเงินชิงนายกอบจ.
ตัวพ่อลุยเอง "ทักษิณ" บุกเหนือ-อีสาน เชียงราย-นครพนม
12ปีฟัน3สส.เสียบบัตรแทนกัน
เปิดปีใหม่มาวันแรก ป.ป.ช.ดุรับขวัญปีมะเส็ง ฟันดะ 3 อดีต สส.เสียบบัตรแทนกัน
ปี68จัดหนัก‘ทักษิณ’ ‘นักร้อง’ยื่นสอบ4ปมร้อน/กุนซืออิ๊งค์มั่นใจไร้ปัญหา
"ชัยเกษม" เชื่อ รบ.-นายกฯ อยู่ครบเทอม มั่นใจปมร้อนชั้น 14-เอ็มโอยู 44