พท.พลิกร่วมคว่ำนิรโทษ112

สภาถกรายงานนิรโทษกรรมเพื่อความปรองดอง แต่ระดับบิ๊กเพื่อไทยหวิดวางมวยกันเอง “ชลน่าน” อารมณ์ขึ้นชี้หน้า “รองพิเชษฐ์” โต้  “อยากเป็นให้ขึ้นมา” สุดท้ายโหวตเพื่อไทยพลิกเกมร่วมคว่้ำรายงานฯ กับพรรคร่วมรัฐบาล ดับฝันพรรคส้ม "ชัยธวัช" อภิปรายอ้างหากนิรโทษกรรมคดี ม.112 มีข้อดีคือฟื้นความสัมพันธ์อันดีของประชาชนต่อสถาบัน

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 เวลา 14.35 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระพิจารณารายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ค้างต่อเนื่องจากการพิจารณาสัปดาห์ที่แล้ว

ก่อนการลงมตินายพิเชษฐ์เปิดโอกาสให้  กมธ.และสมาชิกอภิปรายเพิ่มเติมได้อีกเล็กน้อย  โดย น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน อภิปรายว่า สนับสนุนการนิรโทษกรรมทุกคดี ไม่มีข้อยกเว้นคดีใด ที่ผ่านมา กมธ.เชิญแกนนำทุกสีมาให้ข้อมูลการนิรโทษกรรม คดีมาตรา 112 ทุกคนเห็นด้วยให้นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แต่เหตุใด กมธ.ที่ไม่เห็นด้วยจึงมีปัญหา

"ไม่อยากให้ถ่วงการก้าวข้ามความขัดแย้งโดยทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีกี่คนที่รู้ถึงรายละเอียดพฤติการณ์ความผิดของผู้มีคดีมาตรา 112 ว่าแต่ละคดีเป็นอย่างไร หลายคดียกฟ้อง หลายคดีเป็นคดีกลั่นแกล้งทางการเมือง บางคนเป็นผู้ป่วยจิตเวช คดีความผิดมาตรา 112 มีเป็นพันคดี ไม่ใช่แค่หลักร้อย ขอให้เปิดใจให้โอกาสประชาชนที่มีคดีมาตรา 112 ได้กลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนที่พวกท่านจับมือกันตั้งรัฐบาล" น.ส.ศศินันท์กล่าว 

จากนั้น นายชัยธวัช ตุลาธน กมธ. อภิปรายว่า คดีมาตรา 112 เกี่ยวข้องความขัดแย้งทางการเมืองแบบแยกไม่ออก การมองนิรโทษกรรม คดีมาตรา 112 จะส่งเสริมให้คนทำผิด บ้านเมืองไม่มีขื่อแป ถ้ามองเช่นนี้ไม่ควรนิรโทษกรรมคดีใดเลย การยกเว้นนิรโทษกรรมเฉพาะคดีมาตรา 112 ต้องคิดให้รอบคอบ ไม่ให้เกิดความรู้สึกทางลบต่อสถาบัน

เขาอ้างว่าการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 มีข้อดีคือฟื้นความสัมพันธ์อันดีของประชาชนต่อสถาบัน ถ้าไม่นิรโทษฯ ความผิดนี้จะบรรลุไปสู่เป้าหมายความปรองดองได้หรือไม่ คดีมาตรา  112 เป็นความขัดแย้งที่มีนัยแหลมคมทางการเมือง ถ้าไม่นิรโทษฯ จะคลี่คลายความขัดแย้งได้หรือไม่ อย่างน้อยควรมีพื้นที่ให้ยอมรับได้คือนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข คือให้มีคณะกรรมการนิรโทษกรรมมาพิจารณารายละเอียด พฤติการณ์คดีความผิดมาตรา 112 เป็นรายกรณีว่าสมควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่  เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาพูดข้อเท็จจริงอะไรเป็นแรงจูงใจทางการเมืองให้ทำผิด รับฟังความเห็นต่าง ระหว่างการพิจารณาการนิรโทษกรรม ก็ให้พักการดำเนินคดีไว้ก่อน โดยมีเงื่อนไขต้องให้หยุดการกระทำแบบใดบ้าง ไม่อยากให้คนเห็นต่างถูกมองเป็นศัตรู

ประชาชนไม่เคยทำผิดซ้ำ

 ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขอให้สภาตั้งสติเรื่องการนิรโทษกรรม ควรตั้งคำถามคดีมาตรา 112 ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งทางสังคม การเมือง ก็ต้องไปศึกษาจะมีกระบวนการทางกฎหมายอย่างไร วาระนี้ไม่ใช่วาระที่พรรคการเมืองจะมาแข่งกันแสดงความจงรักภักดี จะแก้ปัญหาความขัดแย้งแบบนี้หรือ ที่ผ่านมาเคยนิรโทษกรรม คดี 6 ต.ค.2519 ก็มีคดีมาตรา 112  อยู่ด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่านักศึกษาทำผิดมาตรา 112 แต่ถูกกลั่นแกล้งใส่ร้าย จึงได้รับการนิรโทษกรรม

"ถ้ากลัวว่านิรโทษกรรมแล้วจะทำผิดซ้ำ ขอให้ไปดูประชาชนไม่เคยทำผิดซ้ำในประวัติศาสตร์หลังนิรโทษกรรม มีอยู่เรื่องเดียวที่ได้รับนิรโทษกรรมแล้วทำผิดซ้ำคือการรัฐประหาร จึงไม่ต้องห่วงประชาชนจะทำผิดซ้ำ สภาควรแสดงความรับผิดชอบแก้ความขัดแย้งในสังคม ด้วยการนิรโทษกรรมคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ควรให้ความเห็นชอบข้อสังเกตของ กมธ. เพื่อไปพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม ก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยความรอบคอบในอนาคต" นายจาตุรนต์กล่าว

ส่วนนายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพิจารณารายงานศึกษานิรโทษกรรม  สภาชุดที่แล้วเคยตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางปรองดองและนิรโทษกรรม ให้มีการนิรโทษกรรมทุกคดียกเว้นคดีทุจริต คดีฆ่าคนตาย และคดีมาตรา 110 และ 112 รายงานดังกล่าวก็ผ่านความเห็นชอบสภา แต่ไม่เคยถูกแปรไปสู่การนิรโทษกรรมจริงๆ ส่วนรายงานการพิจารณาแนวทางออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ กมธ.ครั้งนี้ มีความสับสนในตัวรายงาน ข้อสังเกต กมธ.ไม่มีข้อยุติจะนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมคดีใดบ้าง  ทุกอย่างไม่มีข้อสรุป

สารตั้งต้นออกกฎหมายนิรโทษกรรม

 จากนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  อภิปรายว่า ไม่เห็นชอบรายงานและข้อสังเกต กมธ. เพราะเชื่อว่าปลายทางจะนำไปสู่ความแตกแยกครั้งใหญ่ในประเทศ เหมือนตอนผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ถ้านำรายงานฉบับนี้ไปใช้เป็นสารตั้งต้นออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะนำไปสู่ความแตกแยกในบ้านเมืองอีกครั้ง

เขาอภิปรายว่า ตัวรายงานฉบับนี้ระบุว่า ทางเลือกนิรโทษกรรมมาตรา 112 ไว้ 3 ทาง หมายความว่าจะเลือกทางใดก็ได้ ขณะที่ข้อสังเกตของ กมธ. ข้อ 9.1 มีการระบุให้ ครม.ควรพิจารณารายงานของ กมธ.เป็นแนวทางตรากฎหมายนิรโทษกรรม แสดงว่าถ้ารัฐบาลจะเลือกนิรโทษกรรมมาตรา 112 หรือเลือกนิรโทษกรรมมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไขก็ทำได้ และข้อ 9.5 ระบุว่า  ระหว่างยังไม่มีการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครม.ควรกำหนดนโยบายให้หน่วยงานรัฐในกระบวนการยุติธรรมไปดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ให้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการ ปี 2553 หรือให้ศาลเลื่อนจำหน่ายคดี ปล่อยตัวชั่วคราว อาจทำให้เกิดคำถามเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ รวมถึงข้อ 9.6 ให้คืนสิทธิทางการเมืองแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรม  แสดงว่าเป็นการรวมการกระทำตามมาตรา 110  และมาตรา 112 ด้วย จึงไม่เห็นด้วยกับรายงานและข้อสังเกต เพื่อไม่ให้มีจุดหมายปลายทางไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ในอนาคต

ต่อมา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในประธาน กมธ. อภิปรายสรุปว่า  คิดว่าพวกเราคงตั้งสติกันได้ว่าเรื่องนี้มิใช่การเสนอกฎหมายหรือพิจารณากฎหมาย และไม่ใช่พิจารณาว่านิรโทษกรรมมาตราอะไร ทุกคนคงเข้าใจตรงกัน และรายงานนี้เป็นเพียงการศึกษาแนวทางในการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่ง กมธ.ไม่ได้บอกว่าให้นิรโทษกรรมอะไรบ้าง แต่โดยนัยความหมาย คือนิรโทษกรรมทางการเมืองที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ข้อความตรงนี้ไม่มีใครคัดค้าน ไม่มีใครไม่เห็นด้วย

ยังเป็นประเด็นอ่อนไหว

ส่วนว่าทำไมไม่ฟันธงว่าจะมีนิรโทษกรรมมาตรา 112 หรือไม่ กมธ.มีความเห็นไว้ 3 ทาง  ซึ่งเราสรุปไว้ในข้อสรุปสุดท้ายว่าเรื่องนี้ยังเป็นประเด็นอ่อนไหว ยังมีประเด็นความขัดแย้ง กมธ.จึงยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งหากเราไม่รับรู้รับทราบข้อเท็จจริงของทุกฝ่ายว่ามีความเห็นอย่างไร ถ้าเราจะตรากฎหมายอะไร หากเราไม่ทราบข้อเท็จจริงและไม่รับทราบเหตุการณ์การกระทำที่เกิดขึ้น ผลก็คือเราจัดทำกฎหมายโดยไม่รอบคอบ ไม่ระวัง

 “ผมเชื่อว่ารายงานฉบับนี้เป็นประโยชน์สำหรับสมาชิกที่จะนำไปศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำไปประกอบการพิจารณาว่าเราจะตามกฎหมาย ควรจะคำนึงถึงอะไร และควรจะมีสาระสำคัญอย่างไรบ้าง อย่างน้อยที่สุดเปิดประชุมสมัยหน้าจะมีกฎหมายกฎหมาย 4 ร่างที่พวกเราคงจะต้องมาพิจาณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากความผิดเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งรายงานฉบับนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของสมาชิก และข้อสังเกตไม่ได้บังคับองค์กรใดต้องทำตามนั้น เขาจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าวันนี้เราควรจะยุติด้วยการรับทราบรายงานและรับทราบข้อสังเกต” นายชูศักดิ์กล่าว

มติ 270 ต่อ 152 เสียง

หลังจากสมาชิกอภิปรายครบถ้วนแล้ว ในช่วงที่จะลงมติข้อสังเกตรายงาน กมธ.นั้น นายพิเชษฐ์ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ขอให้สมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับการรับข้อสังเกตรายงานของกรรมาธิการฉบับนี้ ให้เสนอเป็นญัตติขึ้นมาเพื่อให้มีการลงมติ ทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงแสดงความไม่พอใจ พร้อมกล่าวด้วยน้ำเสียงฉุนเฉียวว่า ตามข้อบังคับไม่จำเป็นต้องมีการเสนอญัตติ แค่ให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าวเท่านั้น จะเสนอญัตติทำไม ถ้าทำไม่ได้เปลี่ยนให้รองประธานสภาฯ คนที่ 2 มาทำหน้าที่แทน ทำให้นายพิเชษฐ์สวนกลับด้วยน้ำเสียงไม่พอใจเช่นกันว่า “ไม่ต้องชี้หน้า อยากเป็นให้ขึ้นมา”

จากนั้น เวลา 16.40 น. ที่ประชุมลงมติข้อสังเกตรายงาน กมธ. ปรากฏว่าที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบข้อสังเกต กมธ.ด้วยคะแนน 270 ต่อ 152 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ทำให้ข้อสังเกตตกไป โดยสภาจะส่งเฉพาะตัวรายงานให้ ครม.เท่านั้น

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าก่อนการประชุม นายชูศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่าร่างรายงานนี้ที่เป็นรายงานที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย และได้มีการประชุม กมธ.มา 19 ครั้ง ซึ่ง กมธ.ไม่มีใครคัดค้านในรายงานนี้ว่าไม่ถูกต้อง ฉะนั้นในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยจึงมีความเห็นว่าเราจะรับทราบรายงาน  รวมถึงเห็นชอบกับข้อสังเกต ส่วนพรรคอื่นจะไม่เห็นชอบก็แล้วแต่ละพรรค ซึ่งพรรคเพื่อไทยควรเห็นชอบ เพราะเป็นรายงานของพรรคเพื่อไทยที่เสนอ แต่เมื่อถึงเวลาจะไม่เห็นชอบมันผิดข้อเท็จจริง หากสมาชิกจะเห็นแตกต่างกันไปเราก็ไม่ว่าอะไร ให้เป็นดุลยพินิจแต่ละคน แต่โดยหลักจะไปในแนวทางที่เห็นชอบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง