พรรคร่วมฯ เสียงแตก! "เพื่อไทย" กระโดดรับรายงานนิรโทษกรรม จูบปากเฉพาะกิจ "ปชน." ผนึกกำลังโหวตในสภา ลูกหาบหามกันเซ็งแซ่ไม่เกี่ยว 112 ด้าน "ภูมิใจไทย-รทสช." ปิดประตูตายไม่สังฆกรรมตั้งแต่ด่านแรก "ชาญชัย" ไม่ถอยจ่อยื่นคำร้องศาลฎีกาการเมืองครั้งที่ 3 นักโทษชั้น 14 ล็อกเป้ายื่น ป.ป.ช.เอาผิดเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ "แก้วสรร" ชี้ทางสว่าง "กกต." ฟ้องยุบเพื่อไทยได้เลย พยานหลักฐาน-พฤติการณ์มัดแน่น “พ่อนายกฯ” ผู้ครอบครองพรรค
เมื่อวันพุธ นายสมคิด เชื้อคง กรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 24 ต.ค. ที่มีวาระการลงมติพิจารณารายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมว่า การลงมติโหวตในวันที่ 24 ต.ค. เป็นการโหวตเฉพาะข้อสังเกตของ กมธ. ว่าที่ประชุมสภาจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ ส่วนตัวรายงานไม่ต้องโหวต เพราะเป็นเรื่องรับทราบ อย่างไรก็ตาม วิปรัฐบาลไม่มีมติจะให้โหวตข้อสังเกตในรายงานดังกล่าวไปทางใด ให้แต่ละพรรคโหวตตามแนวทางของตัวเอง เพราะเป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างในแต่ละพรรค ในส่วนพรรคเพื่อไทย จะประชุม สส.ตอนเช้าวันที่ 24 ต.ค. แนวโน้มพรรคเพื่อไทยจะโหวตเห็นชอบข้อสังเกตรายงานของ กมธ.
ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวโน้มสภาจะผ่านความเห็นชอบข้อสังเกตรายงานนิรโทษกรรมของ กมธ.หรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า เสียงโหวตก้ำกึ่งสูสี แต่น่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภาได้ ถ้าเสียงพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนให้ความเห็นชอบอย่างพร้อมเพรียง ก็มีเสียงเกินครึ่งของสภา น่าจะผ่านได้ ถ้าเพื่อไทยโหวตไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องแปลก อย่างไรก็ตาม แม้จะโหวตไม่ผ่านในวันที่ 24 ต.ค. ก็ไม่ใช่เรื่องซีเรียส ไม่เป็นไร ถือว่าเสียหน้าทุกพรรค ไม่ใช่เฉพาะพรรคเพื่อไทย กมธ.มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ถ้าไม่ผ่านเท่ากับไม่เชื่อใจ กมธ.ตัวเอง
“สิ่งที่โหวตวันที่ 24 ต.ค. เป็นแค่รายงานการศึกษาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม แต่มีความพยายามปั่นให้คนภายนอกเชื่อว่าเป็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรม บางคนโยงไปถึงเรื่องการเดินหน้าแก้ไขมาตรา 112 ทั้งที่ข้อเท็จจริงถ้ารายงานดังกล่าวผ่านสภา ต้องส่งให้รัฐบาลดำเนินการต่อ ยังไม่รู้รัฐบาลจะตัดสินใจออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ ถ้าออกจะมีเนื้อหาในแนวทางใด มีเรื่องมาตรา 112 หรือไม่ก็ยังไม่รู้ แต่ก็ปั่นให้ไม่เอารายงาน กมธ.” นายสมคิดกล่าว
ลูกหาบมั่นใจฉลุย
นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันที่ 24 ต.ค. พรรคเพื่อไทยจะประชุม สส.ที่รัฐสภา ก่อนลงมติโหวตจะรับข้อสังเกตรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมหรือไม่ เชื่อว่าที่ประชุม สส.เพื่อไทยจะมีมติให้ สส.เพื่อไทยรับรายงานดังกล่าว เพราะเป็นผู้เสนอรายงานฉบับนี้เอง และประธาน กมธ.ยังเป็นคนพรรคเพื่อไทย คือนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถ้าเราโหวตไม่รับรายงานฉบับนี้เอง ก็ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ไหน จะตั้งอยู่บนบ่าได้หรือเปล่า คาดว่าไม่น่ามีปัญหา น่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภาได้ รายงานดังกล่าวเป็นแค่แนวทางศึกษา ไม่ใช่ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
“ถ้าสภาไม่รับรายงานฉบับนี้ เท่ากับชกลม เสียเวลา เสียงบประมาณไปฟรีๆ ข้อสังเกตของ กมธ.ไม่ได้ชี้ชัดจะให้มาตรา 112 ไปทางไหน แค่เสนอแนวทาง 3 ข้อคือ 1.ให้รวมคดีมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรม 2.ไม่ให้รวมคดีมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรม 3.ให้รวมคดีมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรม แต่ต้องมีเงื่อนไขกำกับ ถ้ารายงานผ่านสภา ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป อย่าเอาเงื่อนไขมาตรา 112 มาเป็นเหตุให้การทำผิดคดีการเมืองอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับมาตรา 112 ไม่ได้รับนิรโทษกรรม เพราะไม่ได้มีแต่คดีมาตรา 112 แต่ยังมีเรื่องอื่นด้วย” นายอดิศรระบุ
ภท.-รทสช.คว่ำแน่
ที่โรงแรมสุขะ พนมเปญ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีกระแสข่าวว่านายกรัฐมนตรีขอให้หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยช่วยประสานทางวุฒิสภาให้ช่วยผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายนิรโทษกรรมว่า ในวันดังกล่าวไม่มี ส่วนใหญ่การพูดคุยจะเป็นการทำงานให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น หลีกเลี่ยงการนำมาสู่ความไม่เข้าใจกัน
เมื่อถามว่า ในวงดินเนอร์มีการพูดคุยถึงการผลักดันเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มี
นายอนุทินกล่าวถึงทิศทางของพรรคในการโหวตรายงานผลการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า พรรคภูมิใจไทยขอยืนยันหลักการเดิม คือไม่แตะเรื่องมาตรา 112 และการพิจารณาดังกล่าวเป็นแค่ผลการศึกษา และหลายพรรคการเมืองได้สอบถามดู เห็นว่าหลายเรื่องยังไม่มีความชัดเจน จึงขอสงวนสิทธิ์เอาไว้
“ขอยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ถือเป็นความขัดแย้งในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ถือเป็นความเห็นต่าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย เราอยู่รัฐบาลเดียวกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่ถ้าสิ่งใดเป็นประโยชน์สูงสุดแก่บ้านเมืองและประชาชน เราจะต้องยึดถือเรื่องนั้นเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้ และสามารถทำงานได้ตลอด แต่ในทางกลับกัน หากเห็นตรงกันทุกเรื่องก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี" นายอนุทินกล่าว
ขณะที่ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยมติการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติว่า พรรคขอยืนยันในจุดยืนของพรรค ไม่รับร่างและโหวตไม่เห็นชอบกับรายงานฉบับนี้ เหตุเพราะรายงานมีความไม่สมบูรณ์ และเป็นรายงานแบบปลายเปิด ทางพรรครวมไทยสร้างชาติต้องการปิดประตูการนิรโทษกรรม ม.112 และมีความเห็นว่าการยื่นผลรายงานที่มี 3 แนวทางเพื่อพิจารณาดำเนินการ อาจจะสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลได้ในอนาคต โดยการหยิบยกรายงานฉบับนี้ที่สภาผู้แทนราษฎรให้การรับรองใน 3 แนวทางไว้
“ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติเห็นชอบในแนวทางที่ไม่ให้มีการนิรโทษกรรม ม.112 และไม่เห็นชอบใน 2 แนวทาง ที่เปิดช่องให้มีการนิรโทษกรรม ม.112 โดยวิธีการลงมติในครั้งนี้จะนำไปสู่การปิดประตูการนิรโทษกรรม ม.112 ในทุกกรณีทั้ง 36 คน จะร่วมกันลงมติไม่เห็นชอบ” นายอัครเดชระบุ
ร้องรอบ 3 นักโทษชั้น 14
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าตนเองเตรียมร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้ไต่สวนกรณีกรมราชทัณฑ์นำตัวนายทักษิณ ชินวัตร จากเรือนจำไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ร้องขออนุญาตต่อศาลก่อน และการไปรักษาตัวที่นี่ ไม่ถือว่าเป็นการถูกจำคุก ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะขอพักโทษหรือทุเลาโทษ โดยกรมราชทัณฑ์ต้องบังคับการลงโทษตามคำพิพากษาศาลนั้นว่า ที่ผ่านมาเคยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ครั้ง คือครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 โดยศาลได้วินิจฉัยตอบในวันนั้นว่าศาลออกหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว การบังคับโทษและอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ปัญหาว่า เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาล จึงไม่ต้องไต่สวน ให้ยกคำร้อง
“เท่ากับศาลได้ชี้ประเด็นกลับมาให้ดูว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทำผิดกฎหมายเรื่องใด มีพฤติกรรมเช่นใด เพราะคำร้องนี้ร้องเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ต้องไปร้องต่อศาลอื่น ศาลฎีกานักการเมืองไม่มีอำนาจวินิจฉัย" นายชาญชัยระบุ
นายชาญชัยกล่าวอีกว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตนเองได้ยื่นคำร้องต่อศาลครั้งที่ 2 ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2562 ว่าด้วยหมวด 9 การบังคับคดีข้อ 61 และ 62 ว่ามีกฎหมายมาตรา 246 และบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ที่ระบุมิให้ออกกฎกระทรวง หรือมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่น ที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติต่อนายทักษิณ ชินวัตร เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ การที่นายทักษิณออกมานอนรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ถือเป็นการทุเลาโทษและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
นายชาญชัยระบุว่า ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีไม่ปรากฏมีการทุเลาการบังคับโทษ จึงไม่ต้องตามบทบัญญัติประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 และมาตราอื่นที่ผู้ร้องอ้างมา จึงไม่ต้องไต่สวน ให้ยกคำร้อง การที่ศาลวินิจฉัยเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่ามาตรา 246 อยู่ในอำนาจของศาลที่สามารถวินิจฉัยได้ แต่ไม่มีการยื่นคำร้องขอทุเลาโทษจากเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง เสมือนศาลต้องการให้ตนเองไปเขียนคำฟ้องใหม่ โดยต้องรวบรวมพยานหลักฐานและตัวผู้กระทำความผิดให้ครบถ้วน จึงสามารถยื่นคำร้องใหม่เป็นครั้งที่ 3 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองได้ ซึ่งขณะนี้ตนเองสามารถรวบรวมพยานหลักฐาน พฤติการณ์การกระทำความผิดได้ 50% แล้ว หรืออาจจะยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้รับไปดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ
"ผมและคณะได้ทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองที่ต้องการรักษาความยุติธรรมและความถูกต้องตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ โดยการชี้เป้าให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับทราบพฤติการณ์และข้อเท็จจริงข้อกฎหมายเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ ถึงปัญหากระบวนการยุติธรรมที่ถูกกัดเซาะ บ่อนทำลาย ว่าเหตุใดเมื่อทรงพระราชทานอภัยโทษ โดยลดโทษให้เหลือ 1 ปี แล้วทำไมหน่วยงานราชการของรัฐจึงไม่ปฏิบัติตาม" นายชาญชัยระบุ
วันเดียวกัน ที่พระลานพระราชวังดุสิต นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ดำรงตำแหน่งอยู่ในกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่า ในภาพรวมนายสามารถดำรงตำแหน่งในสภาอยู่ 2 สถานะ หนึ่งคือเป็นที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการ ซึ่งตอนนี้เท่าที่ทราบ ประธานกรรมาธิการแต่ละคณะก็ได้เดินหน้าปลดออกจากตำแหน่งแล้ว แต่อีกสถานะหนึ่งคือกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ดำรงตำแหน่งโดยพรรคการเมืองเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เช่น ในคณะกรรมาธิการของตน นายสามารถดำรงตำแหน่งกรรมาธิการ ในทางปฏิบัติประธานไม่สามารถปลดเองได้ ต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติ แต่วิธีที่ง่ายกว่านั้นต้องให้พรรคพลังประชารัฐดำเนินการ และถ้าพรรคเล็งเห็นว่าควรจะเปลี่ยน ก็ให้นายสามารถลาออกหรือมีมติปรับเปลี่ยนได้
ชี้ช่อง กกต.ยุบ พท.
วันเดียวกัน นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุช่วงหนึ่งในบทความเผยแพร่เรื่อง “ยุบพรรคเพื่อไทย??? : ความชอบธรรมและความเป็นไปได้ทางกฎหมาย" โดยระบุใจความช่วงหนึ่งว่า ทักษิณถูกจำคุกตามคำพิพากษาคดีคอร์รัปชัน สิ้นสิทธิทางการเมือง เป็นคนนอกพรรคเพื่อไทยไปแล้ว เขาจะพูดจะแนะนำอะไร คณะกรรมการพรรคก็ยังรับฟังได้ กฎหมายไม่ห้าม แต่ต้องไม่ถึงขั้นถูกครอบงำถึงขนาดขาดอิสระ ทักษิณชี้นกเป็นไม้ ก็ยอมหมด อย่างนี้กฎหมายรับไม่ได้
“นี่ไม่ใช่คดีอาญา แต่เป็นคดีคุ้มครองประชาธิปไตยในบ้านเมือง ถ้าพรรคใดยอมตนเป็นหุ่นให้อิทธิพลทุจริต เราก็ต้องยุบพรรคนั้น ถ้าพยานหลักฐานมันแวดล้อมให้เชื่อได้เช่นนั้น ทั้งตั้งลูกสาวเป็นหัวหน้าพรรคโดยไม่มีที่มาที่ไปทางคุณสมบัติ ทั้งเรื่องที่ทักษิณโผล่หน้ามาชี้แจงนโยบายพรรคต่อคนทั้งประเทศ ทั้งเรื่องมีบทบาทคัดคนลงสมัคร นายก อบจ.หรือ สส.สั่งเปลี่ยนโผให้เป็นโน้นคนนี้ หรือแม้กระทั่งเรียกทุกพรรคมาประชุมจันทร์ส่องหล้า แล้วตกลงตั้งรัฐบาลในสูตรเดิม ทั้งหมดนี้ ถ้าคุณเป็นศาลรัฐธรรมนูญ คุณว่ามันพอหรือไม่ที่จะตัดสินว่าพรรคเพื่อไทยอยู่ใต้บงการของคนชื่อทักษิณ” นายแก้วสรรระบุ
นายแก้วสรรยังระบุด้วยว่า ต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่า ความผิดมันไม่ใช่อยู่ที่เห็นตรงกับทักษิณ หรือไปคุยกับทักษิณ แต่มันอยู่ตรงที่ความสัมพันธ์ทางอำนาจว่ามีพรรคไหนไปอยู่ใต้บงการเขาหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลใดนอกจากเพื่อไทยเท่านั้น ที่มีปัญหาว่าไปเป็นขี้ข้าเขาแบบนั้นหรือไม่
“งานนี้เป็นเรื่องชี้ขาดกันด้วยพยานแวดล้อม ถ้าพยานหลักฐานแต่ละเรื่องมันล้อมเข้ามาจนชัดเจน และรู้กันทั่วไป เพียงเท่านี้ กกต.ก็ฟ้องได้แล้วครับว่า แต่ละพฤติการณ์ประกอบกันเข้ามาให้เชื่อได้แล้วว่าทักษิณคือผู้ครอบครองพรรคเพื่อไทย” นายแก้วสรรระบุทิ้งท้ายในบทความ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน