นายกฯ อิ๊งค์ชิ่ง! ไม่ตอบต่ออายุคดีตากใบ ด้าน "ทวี" โบ้ยให้ไปถาม "ภูมิธรรม" เพราะดูแลความมั่นคง แบไต๋หากรัฐบาลทำได้ก็อยากทำ แต่จะยืดอายุความแค่ 8 คน หรือทั้ง 4,000 คน หรือผู้ที่ไม่ออกหมายจับอีกเป็นแสน “อนุทิน” ชี้คนหนีไม่ได้สบายเพราะมีโทษทางสังคมแม้คดีขาดอายุความ ขณะที่ กสม.ออกแถลงการณ์ เร่งนำตัวผู้ต้องหาทุกรายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ที่พระลานพระราชวังดุสิต น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธให้ความเห็นถึงข้อเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก.ต่ออายุคดีสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ที่จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่า ขอไปก่อนนะคะ
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้ต้องไปถามนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ซึ่งดูความมั่นคง เพราะการจะออกกฎหมายเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องมีการศึกษาว่าทำได้หรือไม่ เมื่อถามว่าเวลาที่เหลืออีก 2 วัน ก่อนที่คดีหมดอายุความ จะสามารถออก พ.ร.ก.ได้หรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า อายุความเป็นกฎหมาย แล้ว พ.ร.ก.จะใหญ่กว่ากฎหมายได้อย่างไร ย้ำว่าต้องถามรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง แต่กระทรวงยุติธรรมไม่มีประเด็นนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมาว่าหวังจะมีปาฏิหาริย์ หมายความว่าอย่างไร รมว.ยุติธรรมตอบว่า เมื่อเราตั้งใจทำงานอะไรด้วยความพยายามก็อาจจะประสบผลสำเร็จได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีสัญญาณอะไร เพียงแค่รับทราบจากฝ่ายสืบสวนว่ามีการไปพิสูจน์ทราบถึงที่อยู่แล้ว แต่ยังไม่พบตัว ตอนนี้ยังไม่ได้หมดหวัง ยังมีเวลา ต้องให้เขาทำงานอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า กังวลว่าจะกระทบกับฐานเสียงของพรรคประชาชาติในพื้นที่ภาคใต้หรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า อย่าเพิ่งกังวลเรื่องฐานเสียง เราต้องกังวลเรื่องความยุติธรรม เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม สำหรับญาติผู้เสียหาย การเยียวยาก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่เขาต้องการคือไม่ต้องการให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แต่ในการรื้อฟื้นคดีก่อนขาดอายุความก็มีการมาเริ่มเอาในปีสุดท้าย คือช่วงเดือน ม.ค.2567 ความพยายามของกระบวนการยุติธรรมก็ทำไปจนกระทั่งมีหมายจับ
“ขอย้ำว่าคดีตากใบผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว แต่รัฐบาลนี้มีความรับผิดชอบด้วยซ้ำที่ไม่อยากให้คดีนี้ขาดอายุความ จึงได้รื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมา แต่เราไม่สามารถไปแทรกแซงศาลและอัยการได้ โดยในมุมของประชาชนที่ฟ้องร้องคดีก็จะมีความภูมิใจว่าครั้งหนึ่งเคยออกหมายจับอดีตแม่ทัพได้ เพราะที่ผ่านมาญาติพี่น้องผู้สูญเสียเคยถูกออกหมายจับอย่างเดียว แต่วันนี้เขาคืนความเป็นธรรมด้วยการทำให้กระบวนการยุติธรรมออกหมายจับฝ่ายราชการได้”
หากรัฐบาลทำได้ก็อยากทำ
พ.ต.อ.ทวีกล่าวต่อว่า หากมีช่องทางใดที่รัฐบาลสามารถทำได้ก็จะทำ รวมถึงข้อเสนอที่ให้ พ.ร.ก. ซึ่งก็ได้ศึกษาและพบว่าหากจะออก พ.ร.ก.จะยืดอายุความแค่ 8 คน หรือทั้ง 4,000 คน หรือผู้ที่ไม่ออกหมายจับอีกเป็นแสนคน จึงอาจถูกมองว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่ แต่หากรัฐบาลทำได้ก็อยากทำ
ถามถึงกรณีที่อาจจะมีผู้ต้องหาหลบหนีไปประเทศลาว รมว.ยุติธรรมชี้แจงว่า การตามจับผู้ต้องหาในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เช่น กรณีของแป้ง นาโหนด ที่กระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปช่วยสนับสนุนข้อมูล แต่ในกรณีของคดีตากใบ ประชาชนเกิดข้อสงสัยว่าผู้ต้องหาที่เป็นข้าราชการ ผู้บังคับบัญชาควรนำตัวมาให้
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยปฏิบัติตามข้อกฎหมายทุกประการ เราติดตามและพยายามทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการมากที่สุด ขอให้มองไปข้างหน้า อย่ามองไปข้างหลัง เขามีสุภาษิตว่า โกรธ 10 ครั้งไม่เท่าให้อภัยครั้งเดียว ดังนั้น ถ้าเราไปโกรธเราไปเคียดแค้นคิดถึงแต่อดีต ก็มีแต่ก่อให้เกิดการถดถอย แต่ถ้าให้อภัยได้ นึกถึงอนาคต จำบทเรียนในอดีต อย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกเป็นอันขาด น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี และเชื่อว่าจะเกิดความสงบเดินหน้าต่อได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพร้อมให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า คนที่หลบหนีมาโดยตลอด และต้องหลบอยู่ต่อไป แม้จะพ้นอายุความแล้วก็คงจะไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ คนที่หลบหนีคดีอย่างไรก็ไม่มีความสุข เหมือนเขาถูกลงโทษอย่างหนักหนามาก ทั้งสภาพจิตใจ ความกดดันต่างๆ ไม่ใช่ว่าเขามีความสุขสบายหรือไม่ต้องรับโทษอะไรเลย เพราะมีโทษทางสังคม และเรื่องความรู้สึกของพี่น้องประชาชนต่อผู้ที่มีโทษอยู่
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขเยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงกรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบ ระบุว่า ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2547 จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.2567 นี้ โดยระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุสลายการชุมนุมในครั้งนั้นถูกดำเนินคดีจากการกระทำความผิดที่เป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตรวม 85 รายแต่อย่างใด
ข้อเสนอกรรมการสิทธิฯ
กสม.เห็นว่า การดำเนินคดีที่ล่าช้าและปล่อยปละละเลยจนระยะเวลาล่วงผ่านมาเกือบ 20 ปี เป็นการซ้ำเติมความสูญเสียของครอบครัวและญาติผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย ผู้ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบอย่างไม่อาจยอมรับได้ การที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษ และไม่สามารถทำความจริงให้กระจ่างได้ ถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหาย และเป็นการละเมิดต่อ “สิทธิในการรู้ความจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของเหยื่อ” ตามกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ให้การรับรอง
กสม.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่ออำนวยความยุติธรรมกรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบ ดังต่อไปนี้
1.เร่งนำตัวผู้ต้องหาในคดีนี้ทุกรายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อมิให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดโดยอาศัยช่องว่างจากการดำเนินคดีล่าช้าและการขาดอายุความของคดี
2.ให้มีการเยียวยาความเสียหายที่มิใช่เฉพาะตัวเงิน การเยียวยานี้หมายรวมถึงการทำความจริงให้ประจักษ์ โดยญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายต้องได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างสมบูรณ์และครบถ้วน อันเป็นการให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของเหยื่อและผู้สูญเสีย
3.ผลักดันแก้ไขกฎหมายให้คดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากเสียชีวิต เช่น คดีตากใบ เป็นคดีที่ไม่มีอายุความ
ทั้งนี้ กสม.หวังว่าในโอกาสที่รัฐบาลไทยได้รับเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญ คือ การเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council - HRC) วาระปี 2568-2570 รัฐบาลจะได้ให้ความสำคัญกับการอำนวยความยุติธรรมและการเยียวยาความเสียหายกรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบในทุกรูปแบบอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยไม่ปล่อยให้ประชาชนผู้เสียหายได้รับความไม่เป็นธรรมและหมดความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย
ขณะที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กกรณีมีการเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดขยายอายุความคดีตากใบว่า อย่ายัดความโง่ใส่หัวประชาชน การออกพระราชกำหนดขยายอายุความในความผิดทางอาญา มันทำไม่ได้ อายุความมันขึ้นกับอัตราโทษ แม้อายุความไม่ใช่โทษทางอาญา แต่อายุความที่ยาวขึ้นมันเป็นโทษกับผู้ต้องหาหรือจำเลย จะไม่มีผลย้อนหลัง ศาลฎีกาก็ยืนแนวนี้มาตลอด
อย่าหลอกประชาชน
วิงวอนรัฐบาลอย่าหลอกประชาชน และวิงวอนประชาชนก็อย่ายอมให้รัฐบาลหลอก รัฐบาลจับผู้ต้องหาไม่ได้แล้วยังมาหลอกประชาชนอีกว่าจะออก พ.ร.ก.ขยายอายุความ เป็นการหลอกหาคะแนนไปเรื่อยๆ ทั้งคดีตากใบ และไอคอนกรุ๊ป ขยายอายุความไม่ได้
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ว่า กลไกของทางราชการได้ใช้ความพยายามอยู่ แต่เป็นความพยายามในช่วงท้ายๆ ของคดี ซึ่งไม่เกิดผลใดๆ ส่วนการประสานและค้นหาข้อมูลเชิงลึกไม่ทราบว่าได้ทำไปถึงขั้นไหน ซึ่งถ้าทำจริงทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องมีเบาะแสที่อยู่ของผู้ต้องหาพอสมควร แต่ขณะนี้ก็ยังจับไม่ได้แม้แต่รายเดียว เชื่ออีก 2 วันที่คดีจะหมดอายุความ คงไม่เกิดอะไรเปลี่ยนแปลง
"ผลที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะเชื่อถือกลไกของทางราชการก็จะลดน้อยลง ความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศก็ลดทอน เพราะไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาได้ ซึ่งทุกฝ่ายประเมินว่ามีแนวโน้มที่อาจจะเกิดความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ขึ้นได้ หรือสิ่งที่เป็นปัญหาก็อาจจะไม่สามารถคลี่คลายได้โดยง่าย ซึ่งปรากฏการณ์คราวนี้จะทำให้เกิดปัญหาที่สะสมมากขึ้น ก็คงจะต้องหาวิธีการสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนมากขึ้น ว่าจากนี้จะดูแลประชาชนอย่างไร ให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม" นายสมชัยกล่าว
ด้านกลุ่มเยาวชน กลุ่มนักปั่น และกลุ่มนักกิจกรรม ร่วมละหมาดบริเวณสนามเด็กเล่น หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส สถานที่ที่กลุ่มผู้ชุมนุมนับร้อยคนถูกสลายการชุมนุมเมื่อปี 2547 และถูกขนย้ายจากบริเวณนี้ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ระยะทางประมาณ 145 กิโลเมตร ทำให้เยาวชนและนักกิจกรรมร่วมทำกิจกรรมปั่นจักรยานในเส้นทางนี้เพื่อตามหาออกซิเจน ก่อนคดีหมดอายุในวันที่ 25 ต.ค.นี้
โดยในกิจกรรมนี้มีนักปั่นชาวมาเลเซียมาร่วมด้วย และในระหว่างเส้นทางปั่นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หนองจิก คอยอำนวยความสะดวก
นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ นักกิจกรรม บอกว่า สาเหตุที่มีผู้เสียชีวิตระหว่างการขนย้าย ถูกระบุในผลการไต่สวนการเสียชีวิตว่า เกิดจากการขาดอากาศหายใจ จึงจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อตามหาออกซิเจนต่อลมหายใจในช่วงเวลาที่เหลือ แม้จะไม่คาดหวังว่าผู้ต้องหาตามหมายจับทั้ง 14 คนจะมามอบตัวหรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าการไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการของศาลของผู้ที่เกี่ยวข้อง อาจทำให้เหตุการณ์ตากใบสร้างความคับแค้น อัดอั้น และไม่สบายใจให้คนในพื้นที่ต่อไป และอาจกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ของความขัดแย้งก็เป็นได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชูศักดิ์ดิ้นหนัก ลุยล็อบบี้กมธ. ปั้นกม.การเงิน
“นายกฯ อิ๊งค์” บอกไม่ได้จบกฎหมายมา โยน “ชูศักดิ์” ดูแลเรื่องรัฐธรรมนูญ
‘18บอส’นอนตะรางยาว! สายไหมไม่รอดเจอข้อหา
18 บอสดิไอคอนนอนคุกยาว ดีเอสไอยื่นฝากขังผัด 4 พ่วงแจ้งข้อหาใหม่โทษหนักคุก 10 ปี
อิ๊งค์ข้องใจแสนชื่อเลิก‘MOU44’
“หมอวรงค์” นำกลุ่มคนคลั่งชาติยื่น 104,697 รายชื่อร้องยกเลิกเอ็มโอยู 44
ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’
“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ
ทวีโยงคาร์บ๊องป้องแม้วพักชั้น14
ตามคาด "ทักษิณ" ไม่เข้าชี้แจง กมธ.ปมนักโทษชั้น 14 "ทวี" แจงแทน
‘ทักษิณ-พท.’ยิ้มร่า ศาลยกคำร้องล้มล้างฯ เพื่อไทยเล็งฟ้องเอาคืน
ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง