‘ทักษิณ-พท.’ระทึก ศาลสั่งอสส.แจง15วัน ส่อควํ่ารายงานนิรโทษ

ศาลรัฐธรรมนูญให้เวลาอัยการสูงสุด 15 วัน ส่งเอกสารหลักฐานที่ "ธีรยุทธ" ฟ้อง 6 ประเด็น "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง ก่อนไต่สวนรับหรือไม่รับคดี "ปช.-ชทพ." ประสานเสียงไม่กังวลปม กกต.สอบครอบงำ "ภูมิธรรม"  ย้ำนายกฯ พูดชัดเรื่องนิรโทษกรรม ปิดประตูตายเรื่อง 112 เพราะเป็นเงื่อนไขจัดตั้งรัฐบาล "ธนกร"  บอก "แพทองธาร" ส่งสัญญาณชัดในการโหวต 24 ต.ค.นี้ "อุ๊งอิ๊งค์" รับยังมีเวลาโอนหุ้นแจงบัญชีทรัพย์สิน บอกพ่อไม่มีแพลนไปต่างประเทศ

เมื่อวันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาในคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย (พท.) ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขใน 6 ประเด็น คือ 1.นายทักษิณสั่งการให้รัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ  ให้เอื้อประโยชน์แก่นายทักษิณให้พักอาศัยอยู่ห้องพักชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อให้ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำทั้งที่ไม่พบว่ามีอาการป่วยวิกฤต 2.นายทักษิณสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์แก่อดีตนายกฯ ของประเทศกัมพูชาให้มีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลประเทศไทยให้แก่กัมพูชา

3.นายทักษิณสั่งการให้พรรค พท.ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน (ปชน.) ซึ่งเป็นพรรคก้าวไกลเดิม ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 4.นายทักษิณสั่งการแทนพรรค พท. โดยเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ เพื่อหารือเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่ที่บ้านพักส่วนตัวของนายทักษิณ 5.นายทักษิณสั่งการให้พรรค พท.มีมติขับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกจากพักร่วมรัฐบาล และ 6.นายทักษิณสั่งการให้พรรค พท.นำนโยบายของตนเอง ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา

โดยนายธีรยุทธยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 ขอให้ อสส.ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ แต่ อสส.มิได้ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณเลิกกระทำการดังกล่าว และให้พรรค พท.เลิกยินยอมให้นายทักษิณใช้เป็นเครื่องมือกระทำการดังกล่าว

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะรับคำร้องไว้ไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ในชั้นนี้ ให้มีหนังสือแจ้ง อสส. เพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร แล้วรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับเป็นวันที่ได้รับหนังสือ

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวถึงดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับพิจารณาคำร้องยุบพรรค พท.และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จากเหตุนายทักษิณครอบงำว่า ไม่มีข้อเท็จจริง ส่วนประเด็นที่ว่าครอบงำคงไม่ใช่ เพราะทุกพรรคที่มาร่วมรัฐบาลหรือแม้แต่นายกฯ เองก่อนมีการเลือกเราก็ประชุมกัน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นเราคาดไม่ถึงว่านายเศรษฐาจะหลุดเก้าอี้นายกฯ และในฐานะที่เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็พบปะคุยกัน และไม่มีใครมาชี้นำหรือมาครอบงำ เพราะทุกอย่างมีกฎหมายล็อกเอาไว้หมด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้นายทักษิณเชิญทุกพรรคไปพูดคุยหรือไปหากันเอง พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ส่วนตัวไม่ทราบถึงประเด็นนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่กับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตหัวหน้าพรรคประชาชาติ และหลังจากนั้นก็มีคนโทรศัพท์มา

ชทพ.ลั่นไม่กังวล

 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวในประเด็นนี้ว่า ไม่กังวล ซึ่งเมื่อ กกต.วินิจฉัยอย่างไร ก็คงมีการเชิญไปชี้แจง ในส่วนของพรรค ชทพ.ไม่เห็นมีอะไรที่ผิดปกติ ถามอะไรมาก็ตอบไปอย่างนั้น ไม่ได้คิดว่าน่ากังวลอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันว่าพรรค ชทพ.ไม่มีใครสามารถครอบงำได้ใช่หรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า “ไม่มีหรอกครับ ขนาดผมจะคุยกันในพรรคยังครอบงำไม่ได้เลยขนาดเป็นหัวหน้าพรรค พรรคเราอยู่กันเหมือนครอบครัว มีผู้หลักผู้ใหญ่และมีคนรุ่นใหม่เข้ามาพูดคุยกัน เหมือนญาติพี่น้องกัน ฉะนั้นจะมีใครมาครอบงำคงเป็นไปไม่ได้”

ขณะเดียวกัน ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน น.ส.แพทองธารได้เปลี่ยนเส้นทางเข้าทำเนียบรัฐบาลทางประตู 6 ฝั่งน้ำพุ เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ เนื่องจากผู้ชุมนุมกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ที่ปักหลักชุมนุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐอยู่หลายวันแล้วได้มีการเคลื่อนขบวนทำกิจกรรม

น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายทักษิณจะยื่นศาลอาญารอบ 2 ขอเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพื่อพูดคุยธุรกิจว่า ยังไม่มีแพลนเลย

ส่วนนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการประชุม ครม.ถึงกำหนดการลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจของ น.ส.แพทองธารและภารกิจการเข้าร่วมประชุมที่ต่างประเทศว่า ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ นายกฯ มีกำหนดลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องยาเสพติดที่ จ.ร้อยเอ็ด จากนั้นวันที่ 6-7 พ.ย. นายกฯ จะเข้าร่วมประชุมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 8 ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และในวันที่ 8 พ.ย. นายกฯ จะเดินทางลงพื้นที่ จ.สกลนคร ร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐินที่วัดพระธาตุเชิงชุม ส่วนในวันที่ 10-18 พ.ย. นายกฯ พร้อมคณะ จะเดินทางร่วมการประชุมผู้นำเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) 2024 ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุม ครม.สัญจรครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธารในวันที่ 24-26 พ.ย.นั้น ในวันที่ 24 พ.ย. นายกฯ จะลงพื้นที่ จ.เชียงราย และนอนพักค้างคืนที่เชียงราย 1 คืน ก่อนที่ในวันที่ 25 พ.ย. นายกฯ ลงพื้นที่เชียงใหม่พักค้างคืนที่เชียงใหม่ 1 คืน และวันที่ 26 พ.ย. นายกฯ นำประชุม ครม.สัญจรที่เชียงใหม่

ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงจุดยืนของพรรค พท.ต่อรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมว่า ต้องไปดูที่สภา ซึ่งเมื่อวานนี้นายกฯ ได้ตอบไปแล้ว ไม่ต้องถามซ้ำ โดยนายกฯ บอกว่าทุกพรรคเห็นเหมือนกัน คือไม่เอามาตรา 112 เพราะเป็นเงื่อนไขการตั้งรัฐบาล

เมื่อถามว่า กรณีบอกว่าแยกหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารกับฝ่ายสภาหมายความว่าอย่างไร แสดงว่าไม่ต้องเห็นตรงกันก็ได้ใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมระบุว่า ไม่ใช่ ฝ่ายบริหารก็ร่วมมือทำงานในส่วนที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ก็พยายามแก้ไขปัญหาพูดคุยกัน ส่วนฝ่ายสภาก็มีวิปดูแล ที่ต้องดำเนินการในกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่งจะเห็นเหมือนหรือเห็นต่างก็มาว่ากันในรายละเอียด เพราะฉะนั้น 2 อำนาจนี้แยกกันชัดเจน หากเอาปัญหากฎหมายมาถามรัฐบาลมันก็คนละเรื่องกัน ขณะนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลร่วมมือกันทุกอย่าง โดยจะเห็นเหมือนหรือเห็นต่าง นายกฯ ก็ตอบแล้วว่า เริ่มต้นมาก็ได้คุยทั้งสิ่งที่เห็นเหมือนและเห็นต่าง ซึ่งเรื่องของพรรค พรรคก็ไปคุย โดยจริงๆ อาจจะดูเป็นเหมือนเรื่องเดียวกัน แต่มันแยกบทบาท

ส่วนนายวราวุธกล่าวประเด็นนี้ว่า ในวงหารือได้ก็พูดคุยกันว่าเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ในส่วนของพรรค ชทพ.เอง เราชัดเจนตั้งแต่เบื้องต้น รวมถึงแนวทางการทำนิรโทษกรรม จะต้องไม่รวมเรื่องมาตรา 112 ไม่เกี่ยวกับคดีทุจริตหรือคดีอาญา นี่คือจุดยืนของพรรคตั้งแต่ต้น และทุกพรรคมีแนวทางคล้ายคลึงกัน แต่ทั้งนี้ เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องมีการตั้งทีมงานและดำเนินการตามกรอบของสภา

เมื่อถามถึงเรื่องทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายประชามติ ในส่วนของพรรค ชทพ. มีแนวทางอย่างไร นายวราวุธกล่าวว่า เราชัดเจนตั้งแต่ต้น และทราบว่าขณะนี้ได้มีการตั้งคณะ กมธ.ร่วมขึ้นมาแล้ว โดยมีตัวแทนจาก สส.และ สว. โดยพรรคได้ส่งนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคไปเป็น กมธ.ร่วม ซึ่งแนวทางของแต่ละพรรคเหมือนกันบางส่วน หรืออาจมีแนวทางคล้ายกัน แต่อาจไม่ตรงกันสักทีเดียวนัก เชื่อว่าเมื่อได้นั่งพูดคุยกันมากขึ้นอาจมีการรอมชอม หรือเจรจาตกลงกันได้ เชื่อว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหา

ถามย้ำว่า จุดยืนของพรรค ชทพ.ควรแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า เราเคยพูดตั้งแต่แรกช่วงหาเสียงว่าเราเชื่อในแนวทางของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เหมือนสมัยที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ ทำ แต่เราต้องดูเสียงส่วนใหญ่ด้วยว่าโหวตไปทางใด อันไหนทำได้ เราต้องคำนึงถึงเงื่อนเวลาด้วยเหมือนกัน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงวงดินเนอร์ได้พูดคุยอะไรบ้างว่า ท่านนายกฯ ตอบไปหมดแล้ว ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมพรรคมีจุดยืนว่าเราไม่แตะ 112

112 ปิดประตูตาย

นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ถือเป็นข้อสรุปที่ชัดเจนหลังดินเนอร์ที่นายกฯ พูดชัดเจนเรื่องประเด็นการนิรโทษกรรม ไม่แตะมาตรา 112 รวมถึงหากจะแก้รัฐธรรมนูญไม่แตะหมวด 1-2 นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่รัฐบาลโดยการนำของพรรค พท.ยืนยันจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน เพราะหากปล่อยปละละเลยให้มีการแก้ไขมาตราดังกล่าว หรือนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำความผิดในมาตรานี้ อาจส่งผลกระทบสร้างความแตกแยกขัดแย้งคนภายในชาติได้ สิ่งที่นายกฯ ได้พูดชัดเจนแล้ว เป็นการส่งสัญญาณที่ดี เพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลเดินหน้าทำงานพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน

“เชื่อว่าเราจะทำงานให้ประชาชนได้สำเร็จตามเป้าหมาย และเชื่อว่าการประชุมสภาสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ สส.พรรคร่วมรัฐบาลจะเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เรื่องรายงานผลการศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่รวมคดีมาตรา 112” นายธนกรกล่าว

ส่วนนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงทิศทางการโหวตรายงานผลการศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรมในวันที่ 24  ต.ค. ว่ารายงานการศึกษาไม่ใช่ พ.ร.บ. โดยในวันที่ 24 ต.ค.ก็มี 2 ทางเลือก คือ 1.หากสภาเห็นชอบกับข้อสังเกตก็ส่งรัฐบาลต่อไป แต่จะทำตามหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล สภาไม่ได้บังคับว่าให้ทำหรือไม่ให้ทำ และ 2.หากหลายพรรคไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตก็ถือว่าตกไป ไม่ต้องส่งให้หน่วยงานใด ไม่มีอะไรเป็นที่น่ากังวล ส่วนพรรค พท.จะประชุม สส.พรรคก่อนประชุมสภา เพื่อให้ สส.แสดงความคิดเห็นและขอมติพรรคว่าจะไปในทิศทางใด ไม่สามารถไปตัดสินใจว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ทุกอย่างต้องผ่านมติพรรค

เมื่อถามถึงจุดยืนเรื่องมาตรา 112 จะแก้ไขหรือไม่ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า จุดยืนเรื่องมาตรา 112 พันเปอร์เซ็นต์ล้านเปอร์เซ็นต์ไม่มี พรรคเพื่อไทยไม่แก้เรื่องมาตรา 112 โดยเด็ดขาด

ถามว่า พรรคเพื่อไทยจะปล่อยให้ สส.ฟรีโหวตข้อสังเกตรายงานฯ หรือไม่ นายวิสุทธิ์ยืนยันว่าต้องคุยกันก่อนในพรรค ต้องมีการปรึกษาหารือ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะประธานศึกษารายงานฉบับนี้ก็ต้องไปชี้แจงต่อในพรรค เพื่อให้สมาชิกได้ซักถามก่อน ซึ่งจะไปในทิศทางใดต้องรอช่วงเช้าวันที่ 24 ต.ค.

ถามต่อว่า หากรายงานฉบับนี้ไม่ผ่านจะถือว่าพรรค พท.เสียหน้าหรือไม่ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ไม่เสียหน้า เพราะ กมธ.ศึกษาฯ ไม่ได้มีแต่พรรค พท. แต่มีทุกพรรค ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ฉะนั้นอย่าไปว่านายชูศักดิ์ที่เป็นประธาน กมธ.จะเสียหน้า ที่ผ่านมารายงานของ กมธ.ศึกษาการขุดคลองไทยฯ ที่ศึกษาโดยรัฐบาลก็ถูกตีตกในสภาก็ไม่เห็นเป็นอะไร ทุกคนยอมรับได้หมด เป็นเพียงผลการศึกษา ไม่ใช่กฎหมายของพรรค

ถามอีกว่า หากสภาโหวตตกทิศทางการตรากฎหมายจะเป็นอย่างไร นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน ไม่ใช่ว่าเห็นกับข้อสังเกตแล้วส่งให้รัฐบาล รัฐบาลจะไปทำตามก็ไม่เกี่ยว รัฐบาลอาจรับไว้เฉยๆ แต่ไม่จำเป็นต้องดำเนินตามผลการศึกษา และขณะนี้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอยู่ในวาระหลายฉบับ แต่ต้องดูอีกทีว่าจะเข้าในสมัยนี้หรือสมัยหน้า เพราะวิปยังไม่ได้หยิบเข้ามาพิจารณา

นายวิสุทธิ์ยังกล่าวถึงการประชุมคณะ กมธ.ร่วมกันสองสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ..... ว่า เป็นการพิจารณาร่วมกันของทั้ง 2 สภา ถ้าเห็นชอบตามฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่เสนอมาก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป แต่ถ้า สส.ไม่เห็นชอบกับ สว.เรื่องนี้ก็ต้องพักไว้ 180 วัน หรือ 6 เดือน เมื่อครบ 180 วันแล้วก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายได้

เมื่อถามว่า ฝั่ง สส.ยังยืนยันใช้การทำประชามติแบบเสียงข้างมากชั้นเดียวหรือไม่ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ไม่กล้ายืนยันแทน กมธ. ซึ่งแนวทางของทั้งฝั่ง สส.และ สว.จะเป็นอย่างไรต้องให้เกียรติ แต่คาดว่าข้อสรุปน่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนนี้ ส่วนจะประชุมวันใด ไม่สามารถกำหนดแทนได้ แต่ไม่มีอะไรที่น่าหนักใจ

ถามถึงแนวโน้มว่าจะใช้หลักเกณฑ์ประชามติใหม่ทันช่วงต้นปีหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง อบจ.หรือไม่นั้น นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ถ้าทันก็ดี ไม่ต้องเสียงบประมาณอีก 2-3 พันล้านบาท แต่ถ้าไม่ทันก็ต้องใช้งบอีก นี่คือข้อกังวล ไม่ได้กังวลเรื่องความคิดต่างกัน แต่กังวลเรื่องใช้งบ 2-3 พันล้านบาทต่อครั้ง เป็นเงินมหาศาล เอาไปทำอ่างเก็บน้ำได้ทั้งจังหวัด

นายกฯ อิ๊งค์เร่งถ่ายรูปทรัพย์สิน

วันเดียวกัน น.ส.แพทองธารยังให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการโอนหุ้นอีก 16 บริษัทที่เหลือว่า ตอนนี้บริษัทช่วยกันดูอยู่ว่ามีอะไรอย่างไร ซึ่งจะต้องให้เป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง

เมื่อถามว่า จะยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทันในวันที่ 6 พ.ย.หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า จริงๆ มีเวลาถึง 3 เดือน เขาให้เวลาประมาณ 3 เดือน ไม่น่าจะใช่วันที่ 6 พ.ย.นี้ เท่าที่เช็กจากทีมกฎหมาย น่าจะเป็นช่วงปลายเดือน พ.ย.หรือต้น ธ.ค. เดี๋ยวขอบอกอีกที แต่ทีมกฎหมายเพิ่งบอกมาว่าเวลาในตอนนี้ก็ถ่ายรูปทรัพย์สินทุกสิ่งทุกอย่างอยู่

ถามว่า มีอะไรน่าหนักใจหรือไม่  นายกฯ กล่าวว่า กลัวไม่ครบ แต่จริงๆ ก็เต็มที่ และได้ปรึกษารองนายกฯ หลายท่านว่าทำอย่างไรกันบ้าง ก็อยากจะให้ถูกต้องแค่นั้นเอง ไม่ได้มีเรื่องอะไร

น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์อีกครั้งกรณีบริษัท ประไหมสุหรี พร้อพเพอร์ตี้ จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด เป็นการขายหุ้น หรือโอนให้ น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาว ว่าเดี๋ยวให้รายละเอียดอีกครั้ง เพราะมันมีเยอะ

น.ส.แพทองธารยังกล่าวถึงการดินเนอร์ได้พูดคุยเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์หรือไม่ว่า คุยหลายเรื่อง มีหลายเรื่อง และเมื่อถามอีกว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่สรุปเลย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือน! นราธิวาส ‘ไชยยงค์’ อ้างข่าวความมั่นคง ‘กองกำลังติดอาวุธ’ เตรียมก่อเหตุ

"ภูมิธรรม" ลั่นคดีตากใบจบแล้ว อย่าพุ่งเป้ามาที่ "แพทองธาร" เพราะขณะเกิดเหตุอายุ 10 ขวบ ยันไม่มีเยียวยาเรื่องเงินอีก อย่าต่อความยาวสาวความยืดไม่มีข้อยุติ

พท.ซัดกันเองด่า ‘ขี้ปอด’

เพื่อไทยยังงัดกันเอง! “หมอเชิดชัย” เผยอยากเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ม.112 แบบมีเงื่อนไข ตอก สส.ร่วมพรรคขี้ปอด เรื่องแบบนี้ต้องกล้าหาญ

โอนคดี ‘ไอคอน’ ดีเอสไอทำแทน

"ภูมิธรรม" เรียก ตร. ปปง. ดีเอสไอ ถกด่วนวันหยุด ติดตามความคืบหน้าคดี "ดิไอคอน" เตรียมส่งสำนวนให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ 28 ต.ค.