โต้หั่นเครดิตเรตติ้งไทย แบงก์แห่ลดดอกเบี้ยกู้

“ขุนคลัง” โต้ถูกลดเครดิตเรตติ้ง ฟุ้งเศรษฐกิจไทยยังฉลุย อวดยอดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศปี 67 ทุบสถิติ 10 ปี รับห่วงเสถียรภาพการเมือง หวังมั่นคงช่วยเรียกความเชื่อมั่น แบงก์รัฐ-พาณิชย์ขานรับ กนง. พาเหรดลดดอกเบี้ยเงินกู้ เริ่ม 1 พ.ย.

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ  ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกลดเครดิตเรตติ้ง จากปัจจุบันที่ระดับ BBB+  มุมมอง Stable Outlook ว่า เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ ซึ่งความเสี่ยงของเครดิตเรตติ้งขึ้นอยู่กับข้อสมมุติฐานทางเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามเรื่องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2567 ที่ทำลายสถิติ 10 ปี และหากรวมตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2565-2567 จะมีเม็ดเงินมากกว่า 2 ล้านล้านบาท ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าต่างประเทศยังสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอยู่  และเม็ดเงินเหล่านี้จะทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง  จะเป็นผลให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังเร่งสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การสนับสนุนให้เกิดการลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานตามมา มาตรการสนับสนุนการบริโภค รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการจัดตั้งกองทุนอินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์ เพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนสำคัญอย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งค้างมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประเทศ เพราะมีเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านบาท

 “ความเสี่ยงของเครดิตเรตติ้ง ขึ้นอยู่กับข้อสมมุติฐาน ถ้าเราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่า 3% ไปเรื่อยๆ ตรงนี้มันก็จะมีผลไปถึงเรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้เอสเอ็มอี ที่การแก้ไขก็จะยาก เพราะเรื่องเหล่านี้ต้องพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจจริงๆ ตลอดจนหนี้สาธารณะ ซึ่งในระยะยาวรัฐบาลต้องการทำให้สมดุลให้ได้ แต่ในระยะสั้นก็ต้องทำให้การขาดดุลสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ” นายพิชัยระบุ

โดยสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการ คือการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการลงทุนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ เติบโตไปอย่างต่อเนื่อง การจะมาพูดว่าเศรษฐกิจโตที่ 2% กว่า แล้วอยู่ๆ เติบโตแบบก้าวกระโดดไปที่ 4% คงเป็นไปไม่ได้ เรื่องตัวเลขการเติบโตต่างๆ ต้องมีที่มาที่ไปที่ชี้แจงได้อย่างชัดเจนด้วย

นอกจากนี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะไม่ได้พิจารณาแค่ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ เท่านั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่องความแน่นอน และความชัดเจนทางการเมืองที่จะถูกหยิบยกขึ้นไปพิจารณาด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดก็ตาม สามารถทำหน้าที่บริหารประเทศได้ต่อเนื่องนานๆ  น่าจะเป็นปัจจัยที่ดีกว่า และคิดว่าน่าจะถึงจุดที่ประเทศไทยจะต้องก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้แล้ว เชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้น สะท้อนจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ก็กำไรดี และจะได้เห็นอย่างอื่นดีตามมาในไตรมาส 4/2567

ด้านนายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ขอชี้แจงและยืนยันว่า ยังไม่มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ อีกทั้งพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ โดยข้อเท็จจริงจากการเผยแพร่รายงานการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่จัดทำโดย บริษัท S&P Global (S&P) และบริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) ที่มีการเผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 28 พ.ย.2566 และวันที่ 11 เม.ย.2567 ตามลำดับ ซึ่งเป็นรายงานบทวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความเป็นปัจจุบันมากกว่าที่ศูนย์วิจัยฯ ภาคเอกชนดังกล่าวนำมาอ้างอิง ซึ่ง สบน.ได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานกำกับดูแลและศูนย์วิจัยฯ ดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2567 ภายหลังพบว่าได้แก้ไขปรับเปลี่ยนหัวเรื่องบทวิเคราะห์จาก “ไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติง จาก BBB+ หรือไม่” เป็น “ปัจจัยท้าทายความเสี่ยงเครดิตเรตติงไทย” แล้ว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลขอแจ้งให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 จำนวน 10,000 บาทต่อราย ประมาณ 14.55 ล้านคน ล่าสุดพบว่ามีคนตกหล่นยังไม่ได้รับเงินอีกกว่า 6.5 หมื่นราย ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่คือไม่ได้ผูกพร้อมเพย์เอาไว้ ดังนั้นถ้ากลุ่มนี้ยังไม่รีบดำเนินการผูกพร้อมเพย์ และโอนเงินเข้าบัญชีไม่ได้อีก 2 ครั้ง เงินนี้จะโอนกลับคืนคลังต่อไป

วันเดียวกัน ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หลังจากก่อนหน้านี้ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารทีเอ็มบีธนชาติ นำร่องลดดอกเบี้ยเงินกู้ไปแล้ว ขานรับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% โดยเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.2567 อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลดลงร้อยละ 0.10 ต่อปี จากร้อยละ 6.975 ต่อปี เหลือร้อยละ 6.875 ต่อปี, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ลง 0.25% ต่อปี เหลือ 6.35% ต่อปี, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.25% ต่อปี

ธนาคารกสิกรไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) 0.12% จาก 7.27% เป็น 7.15% ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลด 0.25% จาก 7.59% เป็น 7.34% ลูกค้ารายย่อยชั้นดี ปรับลด 0.12% จาก 7.30% เป็น 7.18% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังไม่มีการปรับ, ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี จาก 7.575% เป็น 7.325% ต่อปี ลูกค้ารายย่อยชั้นดี จาก 7.30% เป็น 7.175% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลาจาก 7.05% เป็น 6.925% ต่อปี และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR จาก 7.280% เป็น 7.155% MOR จาก 7.575% เป็น 7.325% MRR จาก 7.400% เป็น 7.275%.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง