อ้างสัมพันธ์กันดี ปัด‘แม้ว’ครอบงำ

นายกฯ บอกไม่กังวลปม กกต.ตั้ง กก.สอบ "ทักษิณ" ครอบงำเพื่อไทยพ่วง 6 พรรคร่วมรัฐบาล "ภูมิธรรม" โทษ กม.เปิดช่องให้คนร้องยุบพรรค กระทบความเชื่อมั่นทำเศรษฐกิจประเทศพัง "ชูศักดิ์" อ้างสังคมเบื่อหน่ายถึงเวลาสังคายนากฎหมาย ขู่ฟ้องกลับหากศาลยกคำร้อง "อนุทิน" ลั่นใครครอบงำ "ภท." ไม่ได้ ย้ำทุกอย่างมาจากมติที่ประชุมของพรรคร่วมฯ "ณัฐพงษ์" ยัน แม้ ปชน.อยู่คนละฝ่ายกับ พท.แต่ไม่เห็นด้วยกับยุบพรรค

ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาคำร้องที่มีผู้ร้องให้กกต.พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จากกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคมีการครอบงำ ชี้นำ 6 พรรคการเมืองเดิมไปร่วมประชุมที่บ้านจันทร์ส่องหล้า โดยนายกฯ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ไม่กังวลค่ะ”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องเดียวกันว่า ให้ กกต.ทำหน้าที่ไป ตนเพียงแต่ไม่สบายใจ เวลาใครคนใดคนหนึ่งหยิบเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาก็กลายเป็นประเด็นไปทั้งหมด รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศเพียง 1 เดือน ยังไม่ทันทำอะไรก็มีมาฟ้องนายกฯ เรื่องนั้นเรื่องนี้

"ผมไม่อยากทำให้เรื่องนี้มาทำให้เสถียรภาพและความเชื่อมั่นของรัฐบาลเสียหาย เพราะเศรษฐกิจกำลังจะพลิกฟื้น พอมาเจอเรื่องแบบนี้ก็ชะงัก ถ้าหากเป็นเช่นนี้ผมคิดว่าเศรษฐกิจประเทศพังแน่ จึงอยากให้คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย หากทำอะไรผิดก็ว่ากันไปตามผิด และพรรคเพื่อไทยรวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้กังวลใจ ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ"

เมื่อถามว่า หลังจากนี้ท่าทีของพรรคเพื่อไทยจะเป็นเช่นไร นายภูมิธรรมกล่าวว่า ก็ให้ กกต.ทำหน้าที่ไป ถ้าหากมีเรื่องให้ชี้แจงเราก็ชี้แจง ถ้าไม่เรียกก็ต้องดูว่า กกต.จะพิจารณาอย่างไร เรามีหน้าที่แก้ต่าง เมื่อระบบของเราเปิดให้ใครก็ได้ฟ้องหรือเปิดประเด็น เราก็มีหน้าที่ชี้แจงไป  เพียงแต่ขอให้กระบวนการทุกอย่างเป็นไปอย่างกว้างขวางและเปิดเผยตรงไปตรงมา

ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องเก่าเรื่องดั้งเดิม เราอย่าไปติดกับอะไรให้มากมาย ตนเคยชี้แจงไปว่าเรื่องเหล่านี้เป็นมาอย่างไร กฎหมายมันมายังไงก็ว่ากันไป ท้ายที่สุดถ้าเขาเห็นว่าเป็นอย่างไรก็ต้องส่งคำร้องมา เราก็ชี้แจงกันไป ซึ่งเราก็บอกว่าไม่ใช่ครอบงำก็แค่นี้เอง และขณะนี้ยังไม่เห็นคำร้องว่าเป็นอย่างไร ใครร้องมาบ้างเรายังไม่รู้

เมื่อถามว่า ดูหลายๆ คำร้องแล้วก็มั่นใจว่าน่าจะไม่ถึงขั้นยุบพรรคใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า มันไม่เกี่ยวหรอก เพราะการครอบงำต้องเป็นเรื่องแทรกแซง สั่งการ จนคณะกรรมการบริหารและคนที่เกี่ยวข้องไม่มีอิสระในการบริหาร ตนก็บอกไปแล้วว่าใครมาสั่งการอะไรตอนเย็นมีมติแบบนี้ พูดกันแบบนี้ เช้าเราก็บอกว่าไม่ใช่ เราก็เห็นกันแบบนี้ มันก็ชัดเจนอย่างนี้

เมื่อถามว่า ระยะหลังมีบรรดานักร้องเป็นจำนวนมาก  บางคดีสุดท้ายก็ไม่มีมูล จำเป็นต้องมีมาตรการมาควบคุมหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ตนถึงได้บอกว่ามันต้องปรับเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และอะไรต่างๆ ต้องสังคายนากันยกใหญ่ แต่จริงอยู่ว่าตอนนี้มันก็มีกฎหมายอยู่แล้ว เช่นการร้องเท็จก็ต้องรับผิดชอบ  ทั้งหมดมันต้องปรับกระบวนการ ถ้ามันไม่ปรับตรงนี้ก็ลำบาก เราก็จะสาละวนอยู่กับเรื่องแบบนี้

ถามว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะผู้ถูกร้องจะสามารถฟ้องกลับได้หรือไม่หากคดีถูกยกไป นายชูศักดิ์กล่าวว่า มีอยู่แล้ว กฎหมายปัจจุบันมันก็มีอยู่ ต้องดูกันเพราะมันมากมายก่ายกอง มันกลายเป็นประเด็นที่น่าเบื่อหน่ายของสังคม มันเดินหน้ากันไปไม่ได้สักที ก็หยุดอยู่กับเรื่องอะไรที่ไม่เป็นเรื่องเหล่านี้ เราจะใช้เวลาบริหารประเทศบ้างมันก็จมปลักกันอยู่แบบนี้ จึงดูว่าท้ายที่สุดองค์กรอิสระจะว่าอย่างไร

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า  ในส่วนของ กกต.ใครจะไปร้องเรียนอะไรก็ต้องรับไว้ก่อนอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน  หากจะต้องมีการไปไต่สวน สอบสวน หรือให้ปากคำต่างๆ  ตนก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือทุกอย่าง

 “แต่ในเรื่องของคำว่าครอบงำ ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะพรรคภูมิใจไทยถ้าจะมีการครอบงำจะต้องครอบงำโดยหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหาร ซึ่งเราไม่มีใครคนใดคนหนึ่งสามารถที่จะตัดสินใจแทนพรรคได้ แม้กระทั่งตัวหัวหน้าพรรคเองทุกอย่างต้องออกมาจากการประชุม และผ่านมติของกรรมการบริหารพรรคอย่างเป็นทางการ ฉะนั้นในกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลถูกร้องเรียนไปด้วย มั่นใจได้เลยว่าทุกพรรคร่วมรัฐบาลมีหลักการที่เหมือนกัน คือโดยธรรมชาติไม่มีทางให้ใครเข้ามาครอบงำแน่นอน โดยเฉพาะคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง"

นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนเรื่องการตัดสินใจยกมือสนับสนุนให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ก็เป็นไปตามมติของกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยทุกประการ จึงยืนยันได้ว่าเป็นไปตามครรลองที่เคยกล่าวไว้เกี่ยวกับพรรคการเมืองที่มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ว่าคนที่จะเป็นนายกฯ จะต้องเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีจำนวนที่นั่งสูงสุดในสภาผู้แทนราษฎร และเป็นแคนดิเดตที่พรรคนั้นๆ เสนอชื่อให้พี่น้องประชาชนได้พิจารณาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง

"ซึ่งหลังจากที่ทราบว่านายเศรษฐา ทวีสิน ต้องยุติบทบาทนายกรัฐมนตรีไป เราก็ได้มีการประชุมและหารือกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคแกนนำแจ้งมาว่ามีความประสงค์ที่จะเสนอ น.ส.แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาลทุกคนจึงยินดีที่จะให้การสนับสนุน ดังนั้นการที่จะบอกว่ามีคนอื่นมาครอบงำ มองว่าเป็นความคิดที่ไม่ประสงค์ดีกับรัฐบาล แต่เป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายตรงข้ามจะต้องพยายามหาเหตุอะไรต่างๆ ขึ้นมาเพื่อทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน ด้วยเหตุนี้จึงมั่นใจว่าทำไม่ได้หรอก เพราะรัฐบาลนี้เริ่มอย่างชัดเจน และมีการหารือประชุมกันอย่างจริงจังในวันที่ 15 สิงหาคม ที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดไปยังอาคารชินวัตร 3 ซี่งเป็นที่ทำการของพรรคเพื่อไทยชั่วคราว ภายหลังจากที่นายเศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกฯ  2-3 วัน ตรงนี้จึงเป็นจุดเริ่มของพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ ฉะนั้นอย่าไปคิดอะไรให้มันสับสนอลหม่าน" นายอนุทิน กล่าว

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า ตนและพรรคประชาชนไม่อยากให้สถานการณ์ไปถึงจุดนั้น ถึงแม้เราจะเป็นขั้วตรงข้ามทางการเมือง อยู่คนละฝ่าย แต่ยังยืนยันในหลักการว่า  เราไม่เห็นด้วยกับการที่มีการฟ้องร้องในเรื่องของคดียุบพรรค ซึ่งอาจจะคาดคะเนได้ว่าเป็นการสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองบางอย่าง มาเป็นชนักปักหลังทางการเมืองบางอย่างหรือไม่ เพื่อให้กลุ่มการเมืองบางกลุ่มมีอำนาจในการต่อรองกับพรรคเพื่อไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทวี' สวมบท สส. รับ 'คดีตากใบ' ไม่เป็นธรรม ไร้เงาผู้ต้องหา

'ทวี' ชี้ 'ตากใบ-ไฟใต้' ทุกภาคส่วนต้องร่วมหาทางออก ย้ำสังคมขาดความยุติธรรมมีความแตกแยก ผู้มีอำนาจอาจอยู่ไม่ได้ เร่งเยียวยาจิตใจคนชายแดนใต้