เพื่อไทยพร้อมขอโทษตากใบ

"ภูมิธรรม" อ้าง 20 ปีที่แล้วนายกฯ อายุยังน้อย ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับเหตุการณ์ตากใบ วอนอย่าโทษรัฐบาลนี้ว่าเป็นผู้ร้าย ยันเข้าใจถึงความเจ็บปวดความเสียหายของญาติ "สรวงศ์" เผยจ่อนำเรื่องตากใบเข้าถกใน "เพื่อไทย" ขณะที่ "แอมเนสตี้" จี้รัฐบาลไทยเร่งแก้ปัญหาก่อนสายเกินไป

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงคดีตากใบที่ใกล้จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ในฐานะที่กำกับดูแลด้านความมั่นคง มีความกังวลต่อการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่หรือไม่ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราเป็นห่วงและเฝ้าระวังอยู่แล้ว แต่จริงๆ แล้วการก่อเหตุในพื้นที่มีมาตลอด ไม่ใช่เพิ่งมามีในช่วงที่มีคดีตากใบ เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของผู้ก่อเหตุ   

"สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องหน่วยข่าวเพื่อหาข้อมูลในถิ่นที่อยู่หรือพื้นที่ที่เคยไปของผู้ต้องหา ซึ่งขอให้เข้าไปดูในรายละเอียด และเข้าไปตามหมายศาลหรือหมายจับที่มีอยู่ โดยได้มีการกำชับให้เร่งจับกุมตั้งแต่วันแรกที่มีหมายจับออกมา จะเห็นได้ว่าตนก็ได้สั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ท่านก็ได้ไปลงพื้นที่ด้วยตัวเอง พร้อมทั้งสั่งการให้ผู้บัญชาการภาคลงไปในพื้นที่ที่มีปัญหา ซึ่งตอนนี้ก็ได้เร่งติดตามตัวอยู่ แต่ไม่รู้ว่าผู้ต้องหาอยู่ที่ไหน ซึ่งได้มีการประสานกับตำรวจสากลในการติดตามด้วย 

นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่ว่าเราจะละเลยหรือไม่สนใจ ซึ่งก็เป็นเรื่องเหมือนคดีทั่วไปที่จับใดบ้างและจับไม่ได้บ้าง ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ข้อแก้ตัว เราก็ต้องทำอย่างเต็มที่ อีกทั้งคดีนี้มีความต่อเนื่องมากว่า 20 ปี เพราะทัศนคติในการมองเรื่องนี้ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่าง ตนคิดว่าก็จะต้องให้ทุกคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วให้กระบวนการยุติธรรมตัดสิน เรามีหน้าที่ทำให้ทุกอย่างดำเนินการตามกฎหมาย 

 “รู้สึกไม่สบายใจที่มีการหยิบยกเอาคดีตากใบขึ้นมาโทษรัฐบาลนี้ว่าเป็นผู้ร้าย แต่เราเข้าใจถึงความเจ็บปวด  ความเสียหายของญาติ แต่ทั้งหมดไม่ควรที่จะมากล่าวหารัฐบาล หรือกล่าวหานายกรัฐมนตรีว่ารู้เห็นเป็นใจ เพราะเรื่องนี้เกิดเมื่อ 20 ปีก่อน และเมื่อ 20 ปีก่อนท่านนายกรัฐมนตรีก็ยังมีอายุไม่มาก เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าท่านรู้เห็นเป็นใจ ขณะนี้ท่านก็ได้ทำตามหน้าที่ ได้กำชับสั่งการไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรวมถึงผม เพราะฉะนั้นไม่อยากให้มองคดีตากใบในประเด็นจุดเดียว"

รองนายกฯ กล่าวว่า ข้อมูลที่ออกมามีหลายส่วนหลายจุด ไม่อยากให้ถูกขยายความ อยากให้มองแค่เรื่องผลกระทบของญาติ ซึ่งหากไปขยายความก็อาจจะบานปลาย และไปกระทบกับเรื่องการต่อสู้ของกองกำลังในภาคใต้ และกระทบต่อความมั่นคงของชาติ อยากให้ทุกคนระมัดระวังในเรื่องนี้ พุ่งเป้าไปที่ตัวผู้ถูกกระทำ อีกทั้งกระบวนการเยียวยาเกิดในสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และยังไม่มีการชี้ถูกหรือผิด พร้อมทั้งหมดสืบหาความจริง ไม่อยากให้มองเฉพาะมุมเฉพาะส่วนแล้วมาพูดด้านเดียว ซึ่งมันจะไม่ยุติธรรมกับผู้ที่ถูกอ้างอิง

ด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าจะให้รัฐบาลขอโทษอย่างจริงใจ เราพร้อม แม้จะเป็นคนละรัฐบาล แต่ในส่วนของพรรคเราก็ชัดเจนว่า เรามีมาตรการอย่างที่เคยเรียนให้ทราบว่าเราพยายามจะพูดคุยกับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จนกระทั่งท่านแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ส่วนในเรื่องคดีความก็ให้ท่านกลับมาต่อสู้คดีของท่านเอง ส่วนคดีความจะหมดอายุความและสามารถต่ออายุได้หรือไม่นั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย และหากจะทำเช่นนี้ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากดูจากวันแล้วน่าจะไม่ทัน แต่จะนำเรื่องนี้ไปหารือในพรรคต่อไป

นายชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก  กล่าวว่า ทางการไทยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะสายเกินไป เพื่อมอบความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนมายาวนาน จากการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมประท้วงในอำเภอตากใบเมื่อ 20 ปีก่อน

"คำสั่งศาลให้รับฟ้องคดีที่ยื่นโดยผู้เสียหายและครอบครัวเมื่อเดือนสิงหาคม ถือเป็นสัญญาณแห่งความหวัง ท่ามกลางการลอยนวลพ้นผิดที่ฝังรากลึกในประเทศไทย หลังจากการละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุมประท้วง แต่คดีที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากอีกไม่กี่วันคดีนี้จะหมดอายุความ"

 “จำเลยในคดีนี้ล้วนเป็นอดีตหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานรัฐในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีที่คาดการณ์ว่าตอนนี้อยู่ในญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร ซึ่งยังไม่ได้เข้ามาปรากฏตัวต่อศาลตามการนัดหมาย หากคดีนี้ไม่มีจำเลยอย่างน้อยหนึ่งคนมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 คดีจะถูกพิจารณาให้เป็นอันยุติการสอบสวนในกระบวนการยุติธรรม และจะถูกยกฟ้องในที่สุดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”

 “แอมเนสตี้เรียกร้องให้ทางการไทยต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จำเป็น และทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้แน่ใจว่าผู้ต้องสงสัยที่มีความผิดในคดีทางอาญา เพราะละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงในคดีนี้จะไม่ลอยนวลพ้นผิด ทางการไทยจะต้องบังคับใช้หมายจับที่มีอยู่ และนำตัวผู้ต้องสงสัยทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 เพื่อมอบความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายและครอบครัว และทำให้พวกเขามีโอกาสเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยสามารถทวงถามความรับผิดชอบและความเป็นธรรมในคดีนี้ได้อย่างเต็มที่”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี