"เลขาฯ เพื่อไทย" โทษนักร้องยื่นยุบพรรคเป็นเกมการเมืองหลังไม่ร่วมงานกับ "พปชร." ไปไกลอ้างกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน นักท่องเที่ยวจะหายไป "ดร.ปริญญา" เชื่อ กกต.ต้องเปิดไต่สวนให้ พท.ชี้แจงก่อน "ดร.สุริยะใส" หนุน กกต.เป็นการตัดสินใจที่ชอบแล้ว หากเรื่องถึงศาล รธน.จะเป็นบรรทัดฐานแก่ทุกฝ่าย "เรืองไกร" ตามขยี้ซ้ำ ยกคำวินิจฉัยศาล รธน.พร้อมสำเนาข่าวรวม 23 ข่าว ชง กกต.สอบ "แพทองธาร" ปล่อย "ทักษิณ" ครอบงำชี้นำ พท.
เมื่อวันอาทิตย์ นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับคำร้องยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาล กรณีถูกร้องเรียนเรื่องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ครอบงำพรรค ว่าในฐานะพรรคการเมืองหากมีเรื่องร้องเรียนเราก็มีหน้าที่แก้ข้อกล่าวหา ส่วนวิธีในการต่อสู้ข้อกล่าวหา ทางพรรคมีข้อมูลและหลักฐานเพียงพอที่จะต่อสู้ประเด็นนี้ แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่งอยากให้หน่วยงานต่างๆ คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ เพราะทุกครั้งที่มีการร้องเรียนและหน่วยงานที่รับผิดชอบรับมาเป็นประเด็น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนตลอดจนนักท่องเที่ยวก็จะหายไปทันที
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่เพราะหนึ่งในบุคคลที่ร้องเป็นคนเดียวกับที่ยื่นยุบพรรคก้าวไกลมาก่อน นายสรวงศ์กล่าวว่า ต่างคนต่างทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นใคร เคยร้องใครมา ประชาชนรู้ถึงเจตนาอะไร
"ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะทุกอย่างประดังเข้ามาหลังจากที่เราประกาศไม่ร่วมงานกับพรรคการเมืองนี้" นายสรวงศ์ กล่าว เมื่อถามว่าเป็นเกมการเมืองหลังจากที่ผลักพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.แบบบัญชีรายชื่อ พท. กล่าวถึงกรณีที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. สั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนกรณีคำร้องยุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมรัฐบาลว่า ถือเป็นการทำหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องรับเรื่องไว้พิจารณาเมื่อมีผู้มายื่นคำร้อง และเพื่อยืนยันในการเคารพในสิทธิการดำเนินการของผู้ร้อง พท.ไม่ได้วิตกกังวลอะไร การรับเรื่องและตั้ง กก.สอบสวนข้อเท็จจริงก็เป็นการดำเนินการตามลำดับขั้นตอนที่ต้องไปพิจารณากันอีกมาก ที่ระบุว่ามีมูลนั้น ก็ต้องไปพิสูจน์ว่ามีมูลอยู่ในระดับมากน้อยเพียงใด ต้องพิจารณาองค์ประกอบและรายละเอียดต่างๆ อย่างละเอียด ดูเหตุและผลและความเชื่อมโยงประกอบ คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาอีกหลายเดือน
“มั่นใจว่าทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยสามารถชี้แจงได้ ไม่มีอะไรต้องไปวิตกกังวล ทั้งงานนิติบัญญัติในสภาของสส.และงานบริหารของรัฐบาล สามารถดำเนินการต่อไปได้ ไม่มีอะไรติดขัดหรือเป็นปัญหา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ไม่ได้กังวลใจอะไร ยังคงมีสมาธิและมุ่งมั่นในการทำงานแก้ไขปัญหาให้แก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป" นายอนุสรณ์กล่าว
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ พ้นจากตำแหน่ง เย็นวันนั้นนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เรียกพรรคร่วมรัฐบาลประชุมกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เข้าใจว่าเพื่อให้รวดเร็ว เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่านายกฯ คนต่อไปจะเป็นใคร แต่ปัญหาคือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ในมาตรา 28 ไม่เคยมีมาก่อน ต้องดูว่า กกต.จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแบบเดียวกับตอนที่ยื่นพรรคก้าวไกล หรือจะใช้มาตรา 93 ที่ต้องมีการไต่สวนเปิดโอกาสให้ พท.ได้ชี้แจงก่อน โดยหลักที่ควรจะเปิดโอกาสให้ชี้แจงก่อน
“คำว่าควบคุม ครอบงำ อาจจะพิสูจน์ง่าย แต่ชี้นำคำมันกว้าง อยู่ที่ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่าที่นายทักษิณเชิญมาประชุม เข้าข่ายเป็นการชี้นำหรือไม่ หากเข้าข่ายการเมืองก็ต้องดูต่อไปว่า ถึงขนาดที่ทำให้พรรคการเมืองกับสมาชิกพรรคการเมืองขาดอิสระเลยหรือไม่ หากใช่ก็จะกลายเป็นปัญหา ก็ต้องรอฟังกันต่อไป"
ส่วนที่มีการยื่นคำร้องขอศาล รธน.วินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หากมีการพิจารณาก่อนจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักในคดีที่ กกต.หรือไม่ ดร.ปริญญา ระบุว่า การใช้กฎหมายคนละช่องทาง เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่ระบุแค่ว่าให้หยุดการกระทำ ไม่ได้ขอให้ไปยุบพรรค ซึ่งคำร้องมุ่งไปที่นายทักษิณและพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ส่วนคำร้องที่ กกต. ไม่ได้ร้องนายทักษิณเพราะไม่ใช่สมาชิกพรรค ต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการต่ออย่างไร หากวินิจฉัยว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองจริง กกต.จะต้องทำคำร้องใหม่ในการยุบพรรค ต้องรอฟังว่าศาลจะกำหนดขั้นตอนในการไต่สวนอย่างไร ส่วนตัวเชื่อว่า กกต.ต้องไต่สวนก่อนเพื่อให้มีข้อเท็จจริงมากกว่านี้
ด้าน ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "ในเชิงข้อเท็จจริงที่ถูกร้องเรียนก็มีมูลชัดเจนหลายกรรมหลายวาระ เป็นเหตุที่ กกต.จะเพิกเฉยไม่ได้ การที่ กกต.ตั้งอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้จึงเป็นการตัดสินใจที่ชอบแล้ว ถ้าเรื่องนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยหาข้อยุติอันจะเป็นบรรทัดฐานกับทุกฝ่าย ส่วนกฎหมายยุบพรรคแรงหรือไม่แรงนั้น ถ้าจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงก็ต้องไปถกแถลงกันในช่วงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต ถ้าพรรคการเมืองใดที่พยายามจะทำให้พรรคตัวเองเป็นสถาบัน ก็ไม่ต้องกลัวเรื่องพฤติกรรมการครอบงำบงการหรือพยายามไปแสวงหาผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคซึ่งมันย้อนแย้งกัน"
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ขอให้กกต.ตรวจสอบว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมิใช่สมาชิก พท.กระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของ พท.ในลักษณะที่ทำให้ พท.หรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 28 หรือไม่ และเป็นเหตุให้ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบ พท.ตามมาตรา 92 (3) เพราะกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 28 หรือไม่
ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2567 เว็บไซต์ ect.go.th หน้ารวมข่าว กกต. ได้ลงสำเนาข่าวต่างๆ รวม 23 ข่าว ซึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับการที่นายทะเบียนตั้งกรรมการสอบกรณีการร้องยุบพท. การตั้งกรรมการสอบกรณีการร้องยุบ พท.ซึ่งพ่วงพรรคร่วมรัฐบาลเดิม 6 พรรคนั้น น่าจะมีส่วนหนึ่งที่เป็นคำร้องกล่าวหาคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 รวมอยู่ด้วย ซึ่ง กกต.ไม่ควรทำการตรวจสอบต่อไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งที่ 52/2566 ไว้เป็นแนวทางแล้ว
ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งที่ 52/2566 ไว้เป็นแนวทาง ดังนี้ "… แต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เป็นการใช้อำนาจในทางการเมืองของคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นองค์กรฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับรัฐสภา อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาลตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (1) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา"
"จากข่าวที่ กกต.เผยแพร่ไว้แล้ว 23 ข่าวข้างต้น จึงขอส่งสำเนาข่าวอื่นๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาว่า พรรคเพื่อไทยยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้นายทักษิณ ชินวัตร เข้ามากระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่ทำให้พรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 28 ประกอบมาตรา 29 หรือไม่ สำหรับพรรคการเมืองอื่น 6 พรรค ขอให้ กกต.ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป" นายเรืองไกรระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กอ้วนตอกยํ้า แจก‘เงินดิจิทัล’ ‘อนุสรณ์’เตือน
“ภูมิธรรม” ยันรัฐบาลเร่งแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
อิ๊งค์หาเสียงฟุ้งพท.มาคนจนรวยแน่
"หัวหน้าอิ๊งค์” ลุยนครพนม ช่วย “อนุชิต” ผู้สมัครนายก อบจ.เพื่อไทยหาเสียง
รพ.ตำรวจอึมครึม เวชระเบียนชั้น14
เส้นตายพุธนี้! แพทยสภาสอบหมอช่วย "ทักษิณ" อึมครึม "แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ" ปัดตอบส่งเอกสารหรือยัง
‘จ่าเอ็ม’เครียด อุบ‘ผู้มีบุญคุณ’ ตร.หิ้วฝากขัง!
ตำรวจเค้นสอบ “จ่าเอ็ม” ตลอดคืน ยังให้การไม่เป็นประโยชน์คดียิงอดีต
จับตา!เคาะ‘กาสิโน’ คลังชงเข้าครม.ไฟเขียว/นักวิชาการชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน
จับตา “คลัง” เล็งชงเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เข้า ครม.จันทร์นี้หรือไม่ หลัง
‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!
"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย