พ่อนายกฯครอบงำ! กกต.ชี้มีมูลสอบยุบพรรค/‘อ้วน-หนู’ประสานเสียงไร้กังวล

รัฐบาลระทึก! กกต.สั่งสอบยุบ “เพื่อไทย” ปม “ทักษิณ” ชี้นำ ครอบงำ พ่วง 6 พรรคร่วม “พิเชษฐ์” แจงชิงปิดประชุมก่อนลงมติรายงานนิรโทษกรรมถูกต้องแล้ว สัปดาห์หน้าค่อยมาว่ากันใหม่ “ชูศักดิ์” ไม่ถอย ขอสภาเดินหน้าลงมติ

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.)​ ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ กกต.พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จากเหตุนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้นายทักษิณครอบงำ ชี้นำ โดยเห็นว่าคำร้องมีมูล และให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ

รายงานข่าวระบุว่า กรณีดังกล่าวมีผู้ร้องที่ถูกระบุว่าเป็นบุคคลนิรนาม, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี, นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ, นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 เป็นผู้ยื่นคำร้องอ้างถึงพฤติการณ์ของนายทักษิณ ทั้งการที่แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมประชุมกับนายทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง การให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณหลายครั้งเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล การชี้นำพรรคเพื่อไทยในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล การนำวิสัยทัศน์ที่นายทักษิณได้แสดงไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล

โดยผู้ร้องเห็นว่า เข้าข่ายขัดมาตรา 29 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และการที่พรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็เข้าข่ายขัดมาตรา 28 ซึ่งหากการสอบสวนพบว่า เป็นความผิด ก็จะเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อ กกต.ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 (3) ของกฎหมายเดียวกันได้

วันเดียวกัน นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวถึงกรณีเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา สั่งปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างจะลงมติรับหรือไม่รับรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมว่า ชัดเจนแล้วว่ามีพรรคการเมือง 2-3 พรรคที่ประกาศตัวว่าไม่เห็นด้วย ขณะที่อีกฝ่ายคือพรรคประชาชน ที่อยากจะให้ลงมติ ซึ่ง กมธ.อยากชี้แจงเพื่อให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยอมรับ แต่ทุกอย่างก็ชัดเจนแล้วคือ ฝ่ายที่ไม่ยอมรับคือไม่ยอมรับ คนที่อยากให้ผ่านก็อยากจะให้ผ่าน ต่อให้จะชี้แจงอีกกี่ชั่วโมงก็เหมือนเดิม กมธ.ชี้แจงมาเต็มที่ จะชี้แจง 2-3 รอบทำไม ทำให้ประธานในที่ประชุมต้องใช้วิจารณญาณ จะปล่อยให้เกิดความซ้ำซากเช่นนี้ได้อย่างไร สุดท้ายตนจึงถามว่าสรุปแล้วจะลงมติเลยหรือไม่ เพราะข้อมูลทั้งหลายก็ซ้ำไปซ้ำมา แต่ถามทาง กมธ.เขาก็ยังอยากชี้แจงอยู่ ไม่อยากให้มีการลงมติ และมีการส่งชื่อมา 6-7 คน แต่ละคนจะพูดกี่นาที

นายพิเชษฐ์ระบุว่า ต่อให้จะชี้แจงอีกกี่คนก็เหมือนเดิม เพราะตัดสินใจกันไปแล้ว หากจะให้มีการชี้แจงอีกก็จะเป็นการตอบโต้กันไปมา และที่จริงข้อมูลพร้อมที่จะตัดสินใจแล้ว นอกจากนี้ เวลาของวันพฤหัสบดี สส.บางคนเตรียมกลับบ้าน จองตั๋วเครื่องบินไว้แล้ว ลำพังเอาตามใจตัวเองบางคนอยู่ถึงเที่ยงคืนก็ได้ แต่มันไม่ใช่ เราต้องอยู่ในความพอดี

นายพิเชษฐ์กล่าวว่า ในฐานะประธานต้องควบคุม และถามว่าตกลงคุณจะโหวตหรือไม่ ทุกอย่างชัดเจนหมดแล้ว คุณจะพูดอะไรอีก ฉะนั้นคิดว่าตนตัดสินใจถูกต้องแล้ว สัปดาห์หน้าเปิดมาก็มาว่ากัน ไม่ต้องชี้แจงแล้ว เปิดมาโหวตเลย ซึ่งหากรายงานนี้ไม่มีความขัดแย้ง ก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่อมีความขัดแย้งเราต้องโหวตว่าสรุปแล้วจะส่งรัฐบาลหรือไม่  อย่างไร สัปดาห์หน้ามาว่ากันใหม่ ไม่มีปัญหา ตนอยู่ตรงนี้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับใครทั้งนั้น ตนเป็นประธาน ไม่ได้มองว่าเป็นพรรคนั้นพรรคนี้หรืออะไร ในสถานการณ์เช่นนั้นอย่าเอาตัวเองมาเป็นที่ตั้ง  ตัวเองอยากได้อะไรแล้วไม่ได้ เพราะมีคนขัดใจมันไม่ใช่ ตนไม่ได้เข้าข้างใคร

เมื่อถามว่า หากสัปดาห์หน้านำรายงานนี้กลับเข้ามาใหม่ และ กมธ.ยังคงยืนยันที่จะสรุปร่างก่อน ประธานในที่ประชุมสามารถที่จะให้ กมธ.ชี้แจงก่อนได้หรือไม่ นายพิเชษฐ์กล่าวว่า แล้วแต่ประธานในที่ประชุมในวันนั้นว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร มันสามารถจบได้ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะส่งให้รัฐบาลหรือไม่

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการเสนอญัตติด่วนขึ้นมาเพื่อยื้อเวลาในการลงมติร่างรายงานฉบับดังกล่าว นายพิเชษฐ์กล่าวว่า อย่างไรร่างรายงานนิรโทษกรรมก็ต้องต่อเนื่องอยู่แล้ว เมื่อจบแล้วจึงจะมีการเสนอญัตติ ซึ่งแล้วแต่ว่าที่ประชุมจัดเสนอกันหรือไม่ ส่วนเรื่องต่างๆ ที่รออยู่ในวาระการประชุมนั้น แล้วมีการบอกว่าเรื่องนั้นหรือเรื่องนี้จะเข้าไม่ทัน มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของการประชุมสภา และเป็นกระบวนการ เราจะเอาของเราเป็นหลักไม่ได้ หากไม่ทันสมัยนี้ ก็ไปพิจารณาต่อในสมัยหน้า เราจะทำอย่างไรได้หากทุกคนต้องการของตัวเอง

เดินหน้าลงมติรายงานนิรโทษ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กล่าวว่า ความตั้งใจตนอยากให้ผลศึกษาดังกล่าวเข้าสภา เพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งตนพยายามอธิบาย แต่ยังมี สส.หลายคนเข้าใจไม่ถูก และเข้าใจผิดอยู่หลายประเด็น ซึ่งจะไม่เข้าใจจริงๆ หรือแกล้งไม่เข้าใจ ตนไม่ทราบ เช่น เข้าใจว่ายกเลิกมาตรา 112 ซึ่งตนว่าพรรคร่วมรัฐบาลต่างต้องคุยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และยืนยันว่ามาตรา 112 ยังมีอยู่ แต่เราพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรมเหตุการณ์ทางการเมือง ขอยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ว่าไม่มีใครไปก้าวล่วงและไม่คิดแบบนั้นเลย ทั้งนี้ ตนไม่มั่นใจว่าการรับประทานอาหารพรรคร่วมรัฐบาล วันที่ 21 ต.ค.นี้ ที่นายกฯ เป็นประธาน จะมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพูดคุยหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ผู้บริหารจะตัดสินใจว่าจะคุยกันหรือไม่

นายชูศักดิ์กล่าวอีกว่า มี สส.อภิปรายว่าไม่ให้นิรโทษกรรม มาตรา 110 และมาตรา 112 ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ชั้นร่างกฎหมาย ซึ่งต้องเสนอร่างกฎหมายเข้าไปว่าไม่มี 2 ประเด็นดังกล่าว ถือเป็นสิทธิ และที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ไม่ใช่ชั้นดังกล่าว เพราะเป็นเพียงแค่รายงานการศึกษา

เมื่อถามว่า สรุปแล้วเรื่องที่ยังค้างอยู่ในสภาจะดำเนินอย่างไรต่อไป หรือจะถอนผลการศึกษาออกมา นายชูศักดิ์ยืนยันว่า ไม่ถอนร่างผลการศึกษาและคงดำเนินการต่อไป เพื่อให้สภารับทราบว่ามีรายงาน ซึ่งรับทราบไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วย และเมื่อรับทราบแล้วต้องมีข้อสังเกตให้ส่งหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ หรือส่งให้เช่นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการก็ต้องลงมติ แต่ถ้าเห็นว่าไม่ควรส่งให้ ครม.ดำเนินการต่อ ก็ไม่ต้องลงมติ ตนอยากให้การประชุมสัปดาห์หน้าดำเนินการต่อเพื่อจบกระบวนการ แต่วิปรัฐบาลยังไม่ได้ยืนยันว่าจะประชุมต่อได้วันไหน แต่ยืนยันว่าต้องพิจารณาให้จบ เพราะเรื่องมันค้างอยู่

เมื่อถามอีกว่า หากสภาลงมติไม่ควรให้ส่งหน่วยงานดำเนินการต่อ ถือเป็นการปิดประตูออกกฎหมายนิรโทษกรรมเลยหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า จะเป็นรายงานที่ค้างอยู่ในสภา ใครจะหยิบไปศึกษาหรือไปดูก็เป็นสิทธิของพรรคต่างๆ

มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุม กมธ.วิสามัญกิจการวุฒิสภา ในวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา มีวาระการพิจารณาตั้ง กมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้เสนอรายชื่อต่อที่ประชุมวุฒิสภา ในวันที่ 21 ต.ค.นี้ เพื่อตั้งเป็น กมธ.ร่วมกัน จำนวน 14 คน ในสัดส่วนของวุฒิสภา ประกอบด้วย 1.พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย 2.นายธวัช สุระบาล 3.พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ 4.นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล 5.นายอภิชาติ งามกมล 6.นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล 7.พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร 8.นายกมล รอดคล้าย 9.นายชีวะภาพ ชีวะธรรม 10.นายเอนก วีระพจนานันท์ 11.นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ 12.นายพิชาญ พรศิริประทาน 13.นายสิทธิกร ธงยศ 14.นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร

นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. 1 ในกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ ให้ความเห็นว่า หากดูคำอภิปรายทั้ง สว.หรือแม้แต่ สว.พรรคภูมิใจไทย ที่สนับสนุนการกลับไปใช้ระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น จนเกิดการขัดกันของ 2 สภา จนมาเป็นการตั้ง กมธ.ร่วมครั้งนี้ มาจากการอ้างเรื่องการให้ความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย อยากฟังเสียงคนทุกคน แม้กระทั่งคนที่อย่างไรก็ไม่ออกมาใช้สิทธิออกเสียง เหตุใด สว.เสียงส่วนน้อยที่ลงมติไม่เห็นชอบกับการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ซึ่งมีอยู่ 19 คนนั้น กลับไม่มีชื่อในตัวแทนเป็น กมธ.ร่วมฝั่ง สว.ที่จะไปคุยกับ สส.เลย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อ้วน-หนู' ไม่กังวลคดียุบเพื่อไทย-ภูมิใจไทย

นาย​ภูมิธรรม​ เวชย​ชัย​ รองนายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​กลาโหม​ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย​ กล่าวถึงกรณีที่ มีรายงานข่าวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง​ หรือ​ กกต.​ รับคำร้องยุบพรรคเพื่อไทย

'ชูศักดิ์' บอกไม่เป็นไร​ หลัง 'กกต.' ​รับคำร้องยุบพรรคเพื่อไทย

สืบเนื่องจากกรณี​นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.)​ ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ6พรรคร่วมรัฐบาล