"กมธ.ชายแดนใต้" จ่อเรียก "ภูมิธรรม-เลขาฯ สมช.-แม่ทัพภาค 4" ถกแนวทางรับมือเหตุร้าย หลัง "คดีตากใบ" หมดอายุความ 24 ต.ค.นี้ หวั่นเป็นเงื่อนไขก่อเหตุ “ช่อ” ยกเหตุปราบเสื้อแดงเปรียบเทียบ รับเงินเยียวยา ต้องดำเนินคดีอาญา เรื่องยังไม่จบ
ที่รัฐสภา วันที่ 17 ตุลาคม 2567 น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร แถลงมติที่ประชุม กมธ.กรณีคดีตากใบ ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ว่า เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 8 วันเท่านั้นก่อนที่คดีตากใบจะหมดอายุความ แต่จำเลยและผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดที่มีการออกหมายจับ จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถติดตามตัวจำเลยมาได้แม้แต่คนเดียว โดยเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา กมธ.ซึ่งมีตัวแทนของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงมี สส. ในฐานะผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น สส. ในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้หารือและเห็นตรงกันว่า คดีนี้เป็นคดีที่จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญ โดยเฉพาะหากคดีหมดอายุความลงในวันที่ 25 ต.ค.นี้ โดยที่ไม่สามารถนำตัวจำเลยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และไม่สามารถทำให้คดีดำเนินต่อไปได้
น.ส.พรรณิการ์ระบุว่า สส.ในพื้นที่เองก็ได้สะท้อนมาว่า ไปละหมาดแล้วเจอประชาชนในพื้นที่แต่ละครั้งจะโดนถามว่าจับตัวจำเลยได้บ้างหรือยัง หรือจับได้สักคนหรือยัง เนื่องจากคนถูกออกหมายจับมีถึงกว่า 10 คน ซึ่งตัว สส.เองก็รู้ว่าประชาชนติดตามข่าวทุกวัน หรือทางฝ่ายที่ติดตามเรื่องความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพเองก็แสดงความกังวล ทั้งนี้ ได้พบกับผู้อำนวยความสะดวกคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนภาคใต้ฝ่ายมาเลเซีย ได้รับการยืนยันว่า กลุ่มประเทศโอไอซี หรือองค์การความร่วมมืออิสลาม ให้ความสำคัญและจับตามอง และทุกฝ่ายทราบดีว่าอาจจะหมดอายุความลงไปจริงๆ โดยที่ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิด ผู้ที่ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการได้
กมธ.จึงมีมติว่า สมควรจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือกันในวันที่ 24 ต.ค. ได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ก่อนที่คดีจะหมดอายุความลง และหากคดีหมดอายุความแล้วจริงๆ แต่ยังไม่มีการมอบตัวหรือจับกุมใครมาได้ จะมีการรับมือกับสถานการณ์อย่างไร อาจจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือว่ามีการฉกฉวยเอาประเด็นนี้ไปเป็นข้ออ้างในการก่อเหตุความรุนแรงเพิ่มขึ้นในพื้นที่หรือไม่
ส่วนการลาออกของ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยนั้น น.ส.พรรณิการ์กล่าวว่า เรื่องนี้มีความชัดเจนอยู่แล้วว่าสถานะความเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของ พล.อ.พิศาล ไม่มีความเกี่ยวข้องต่อการดำเนินคดีทั้งสิ้น เพราะคดีนี้มีการฟ้องตรงต่อศาลแล้ว สส.อยู่ในฐานะจำเลย ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มกันอยู่แล้ว อีกทั้งกรณีที่มีหมายจับในคดียังคงอยู่ ตนไม่อยากให้โฟกัสแค่ตัวจำเลยคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือนระดับสูง และรัฐบาล คือการแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่มากพอในการนำตัวผู้ถูกกล่าวหา และการนำตัวผู้ถูกออกหมายจับมาสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้
น.ส.พรรณิการ์ย้ำว่า ถ้าไม่สามารถนำตัวจำเลยมาเข้าสู่กระบวนการได้แม้แต่คนเดียว จะกระทบอย่างมาก เพราะรัฐบาลจะถูกตั้งคำถามว่า มีความมุ่งมั่นในการเจรจาสันติภาพมากพอหรือไม่ จึงคาดหวังว่าจะได้เห็นความพยายามอย่างถึงที่สุดของรัฐบาลในการทำให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้ สำหรับกรณีที่รัฐบาลระบุว่าผู้เสียหายได้รับการเยียวยาแล้วนั้น ตนขอถามกลับว่า ถ้าเกิดมีการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว จะไม่สามารถดำเนินคดีอาญาต่อได้ แล้วการที่มีการรับเงินเยียวยาในส่วนของพี่น้องเสื้อแดงที่ได้เสียชีวิตไปจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 53 แต่การที่มีการดำเนินการเรียกร้องว่าจะต้องมีการฟื้นคดีอาญาขึ้นมา แล้วก็นำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการให้ได้ นั่นเป็นเรื่องหลอกลวงหรือไม่ เพราะเป็นกรณีเดียวกัน
“กรณีตากใบไม่ได้มีญาติพี่น้องที่รับเงินเยียวยานี้แล้ว เซ็นยินยอมว่าจะไม่มีการดำเนินคดีทางอาญา และในกระบวนการสร้างความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน มี 4 ขั้นตอน เพราะฉะนั้นการจ่ายเงินเยียวยาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำมาซึ่งความปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริงได้ และไม่ได้หมายความว่ารับเงินแล้วจบ ถ้ารับเงินแล้วจบ มองว่าต้องตั้งคำถามกับคดีสลายการชุมนุมเสื้อแดง ว่ารับเงินไปแล้ว ก็ต้องจบเหมือนกันหรือไม่” น.ส.พรรณิการ์ระบุ
วันเดียวกัน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ Asia Justice and Rights (AJAR) ได้ออกจดหมายงานรำลึก “จดจำ 20 ปี ตากใบ การต่อสู้กับการลอยนวลพ้นผิดและการธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม” ในวันที่ 22 ต.ค.2567 ตั้งแต่เวลา 14.00-17.00 น. ณ บ้านพักเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ 106 ถนนวิทยุ ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอประเด็นสำคัญในหลักการ “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” ผ่านหนังสือคู่มือของ AJAR
ภายในงานจะมีการฉายภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ ตามด้วยวงเสวนา โดยการเสวนาจะนำเสนอข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีอาญาตากใบ บทวิเคราะห์ และแนวทางการดำเนินการต่อไป ในการต่อสู้กับการลอยนวลพ้นผิด และนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับการรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบ ในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการค้นหาความจริงตามหลักการควายุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน การอภิปรายจะครอบคลุมถึงการประยุกต์ใช้เสาหลักสี่ประการของหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) ได้แก่ การค้นหาความจริง การเยียวยา การดำเนินคดีอาญา และการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในบริบทประเทศไทย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ
สภา415เสียง แก้ไขข้อบังคับ คนนอกรื้อรธน.
“รัฐสภา” ถกแก้ข้อบังคับการประชุม "สว.-รทสช." รุมค้านเปิดทาง
เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล
"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี
พนันออนไลน์ถูกกม.! จบ1เดือนปาดหน้ากาสิโน/ผวาทุนเทา
“จุลพันธ์” อวยเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์สุดลิ่ม ปูดมีมากกว่า 1 จุดแน่ เพราะช่วยกระตุ้นจีดีพี รีบปัดมีการเกี้ยเซียะทุนใหญ่
เหนือ-อีสาน อุณหภูมิยังหนาวจัด กทม.16 องศา มีหมอกบาง
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและ
ขอแบ่งเค้ก‘กาสิโน’ แทบทุกหน่วยงานหนุน/รบ.ยกสิงคโปร์โมเดลทำรายได้พุ่ง
รัฐบาลอุ๊งอิ๊งทุบโต๊ะทำคลอด “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”