‘เรืองไกร’ไล่ขยี้! ชงปปช.สอบอิ๊งค์ รับทรัพย์2ซินแส

"ทักษิณ" ดอดรายงานตัวคดี ม.112  ที่ศาลอาญา ยังไม่ได้ยื่นขอออกนอกประเทศรอบ 2  นัดสืบพยานโจทก์ปากเเรก 1 ก.ค.ปีหน้า "เรืองไกร" ร้อง ป.ป.ช.สอบนายกฯ อิ๊งค์ รับประโยชน์จากซินแส 2 ราย มาดูสถานที่ทำเนียบฯ และห้องทำงาน เชื่อไม่ได้จ่ายเงินให้ ถือว่ารับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อาจฝ่าฝืนมาตรา 128  พ.ร.ป.ป.ป.ช.

ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ วันที่ 17 ตุลาคม         นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มารายงานตัวที่ศาลอาญา ในคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญายื่นฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีให้สัมภาษณ์กับเดอะโชซอนมีเดียของเกาหลีใต้ เมื่อปี 2558 มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน ซึ่งก่อนหน้านี้นายทักษิณได้รับการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 5 เเสนบาท กำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

รายงานข่าวเเจ้งว่า นายทักษิณไม่ได้ยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกประเทศ หลังก่อนหน้านี้มีข่าวลือว่าเตรียมจะยื่นคำร้องขอออกนอกประเทศอีกครั้ง หลังศาลอาญาเคยยกคำร้องไปเมื่อวันที่ 30    ก.ค.2567 ที่มารายงานตัว โดยวันนี้เป็นไปตามกำหนดเงื่อนไขที่จะต้องมารายงานตัวต่อศาลเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งการมารายงานตัวในวันนี้ไม่ได้เเจ้งล่วงหน้า โดยภายหลังรายงานตัวซึ่งใช้ระยะเวลาไม่นาน ประมาณ 5-10 นาที นายทักษิณก็เดินทางกลับทันที

โดยกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ครั้งเเรกของคดีนายทักษิณ จะเป็นวันที่ 1 ก.ค.2568

วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (อีเอ็มเอส) ขอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำการตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี   ว่าได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้จากซินแสทั้ง 2 คน อันอาจเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 128 หรือไม่

นายเรืองไกรกล่าวว่า ในหนังสือมีเนื้อหาระบุว่า ข้อ 1.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 4 (บางส่วน) และมาตรา 128 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “มาตรา 4 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ “เจ้าพนักงานของรัฐ” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” หมายความว่า (1) นายกรัฐมนตรี ...

 “มาตรา 128 ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด”

ข้อ 2.เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2567 เว็บไซต์ไทยรัฐ  หัวข้อ “ทักษิณ” แนะนำซินแสดูห้องทำงานในทำเนียบฯ ปรับให้เหมาะกับ “นายกฯ อิ๊งค์” ลงข่าวไว้ (บางส่วน) ดังนี้ “วันที่ 15 ก.ย.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบฯ ว่า ก่อนที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ จะเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าของวันที่ 12 และ 13 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธารได้ปรึกษานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้เป็นบิดา โดยนายทักษิณได้แนะนำซินแส 2 คน ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทชาวต่างชาติให้เข้ามาดูสถานที่ทำเนียบรัฐบาลและห้องทำงานนายกฯ บนตึกไทยคู่ฟ้า ทำให้มีการปรับเปลี่ยนจากเดิมในยุคของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ทำงาน”

ข้อ 3.การที่ซินแส 2 คน เข้ามาดูสถานที่ทำเนียบรัฐบาลและห้องทำงานนายกฯ บนตึกไทยคู่ฟ้า ทำให้มีการปรับเปลี่ยนจากเดิมเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ทำงานนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อหารือของกรมสรรพากร (ตามสำเนาที่แนบมาด้วย) ซินแส 2 คนนั้นน่าจะมีเงินได้พึงประเมินตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา 40 และถือเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศ ตามความในมาตรา 41 แต่หากไม่มีการจ่ายเงินได้ ผู้รับบริการคือนายกฯ ก็อาจมีการรับประโยชน์อันอาจเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ป.ป.ช.ตามมาได้

ข้อ 4.จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงมีเหตุอันควรตรวจสอบตามลำดับ ดังนี้ ตรวจสอบตามประมวลรัษฎากรก่อนว่า ซินแส 2 คนนั้นมีเงินได้พึงประเมินตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา 40 เป็นจำนวนเงินเท่าใด และถือเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศ ตามความในมาตรา 41 หรือไม่ ตรวจสอบว่า น.ส.แพทองธารเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินให้ซินแสทั้ง 2 คนหรือไม่ จ่ายโดยวิธีใด

ตรวจสอบว่า หาก น.ส.แพทองธารไม่ได้จ่ายเงินได้ให้ซินแสทั้ง 2 คน จะถือว่าน.ส.แพทองธาร ได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้จากซินแสทั้ง 2 คน อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 128 ในส่วนที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้จากผู้ใด ...” หรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง