สภาถกรายงานนิรโทษกรรม พรรคส้มดาหน้าอ้างข้อดี ล้างผิด ม.112 "โรม" อ้างมั่วผู้ต้องหามีครอบครัว มีคนที่รัก แล้วจะรู้สึกอย่างไรกับ ม.112 ความรู้สึกแบบนี้สะท้อนไปสู่ประชาคมโลกด้วย ขณะที่เพื่อไทยกลับลำไม่หนุน "ภูมิใจไทย" ลั่นอย่าก้าวก่ายถึงพระองค์ท่าน ด้าน "จุรินทร์" ชี้เป็นสารตั้งต้น สุดท้ายประธานสั่งปิดประชุมหนี
เวลา 14.00 น. วันที่ 17 ตุลาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานการประชุม รับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน กมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว
นายชูศักดิ์กล่าวถึงสาระสำคัญของรายงานว่า สาระของรายงานคือกำหนดขอบเขตการนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน การกระทำที่ควรได้รับนิรโทษกรรม เน้นมูลเหตุที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง โดย กมธ.แยกในคดีหลัก เช่น ฐานะเป็นกบฏ การกระทำในคดีรอง เช่น ความผิดต่อเจ้าพนักงาน และแยกคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองออกมาพิจารณาเฉพาะ โดยแสดงเหตุผลทุกมิติ ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงการแสวงหาแนวทางอื่นๆ เช่น การนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข สำหรับรูปแบบการนิรโทษกรม กำหนดให้เป็นการนิรโทษกรรมแบบอัตโนมัติ มีคณะกรรมการพิจารณาและผสมผสาน ทั้งนี้ การตั้งกรรมการเนื่องจากช่วงเวลาของเหตุการณ์ซึ่งมีคดีที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เมื่อมีคณะกรรมการพิจารณาจะทำให้การนิรโทษกรรมถูกต้องเป็นธรรม
นายชูศักดิ์กล่าวอีกว่า การเสนอแนะแนวทางการตรา พ.ร.บ. อาจทำเป็นหลายฉบับเฉพาะเหตุการณ์หรือพฤติกรรมของการกระทำนั้นแตกต่างกัน สำหรับข้อสังเกตของ กมธ. มีหลายแนวทางเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับไปดำเนินการ เช่น การอำนวยความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 ยังคงเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตของ กมธ.ไม่ได้บังคับหรือผูกมัด ครม.ที่จะดำเนินการตามที่เสนอ
จากนั้น ที่ประชุมเปิดให้ สส.ได้แสดงความคิดเห็น โดยพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวสนับสนุนให้นิรโทษกรรม รวมถึงคดีมาตรา 112 ด้วย อาทิ นายวีรนันท์ ฮวดศรี สส.ขอนแก่น พรรคประชาชน อภิปรายว่า ในประเด็นของมาตรา 112 ที่ กมธ.วางแนวทางให้เป็นคดีอ่อนไหวทางการเมือง เชื่อว่าจะเป็นการตีกรอบการนิรโทษกรรมที่คับแคบเกินไป ทั้งที่ควรเปิดกว้าง เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลคือกีดกันคดีดังกล่าวออกจากการนิรโทษกรรม อย่างไรก็ดี หากต้องการก้าวข้ามความขัดแย้งและสร้างความสามัคคี ต้องมัดรวมการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ด้วย
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 110 และมาตรา 112 โดยนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายตอนหนึ่งว่า ในฐานะเป็น สส.เพื่อไทย ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 110 และมาตรา 112 เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ฉะนั้นเราจึงยังมีเวลาหาฉันทามติกรณีดังกล่าว และส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษฯ มาตรา 110 และมาตรา 112
อย่าดึงเบื้องสูง
ด้านนายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า รายงานฉบับนี้ไม่ได้แยกแยะว่าอะไรนิรโทษกรรมได้หรือไม่ได้ คนภูมิใจไทยทุกคนประกาศชัดเจนว่ายอมยกโทษให้ทุกกรณี ยกเว้นกรณีการยกเลิกมาตรา 112 เรายอมรับไม่ได้ การนิรโทษกรรมในประเทศไทยเกิดขึ้นหลายครั้งก็จริง แต่ถามว่ามีครั้งใดบ้างที่ล่วงล้ำก้ำเกินสถาบันสูงสุดเท่าปัจจุบันนี้
“เราดึงสถาบัน ก้าวก่ายถึงพระองค์ท่าน ย้อนถามว่าท่านทำความเดือดร้อนอะไรให้พวกเรา มีใครได้รับผลกระทบจากการกระทำของสถาบัน ผมขอตอบว่าไม่มี พระองค์ท่านมีแต่ให้ ชาติบ้านเมืองอยู่ได้เพราะสิ่งนี้ แต่ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลที่พยายามจะปลูกฝังให้คนเห็นต่าง ให้คนไม่เห็นความสำคัญของสถาบัน” นายสนองกล่าว
นายสนองกล่าวอีกว่า หากมีการผ่านรายงานฉบับนี้ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการตรากฎหมายออกมา โดยอ้างว่าเป็นมติของสภาที่ผ่านการเห็นชอบของรายงานฉบับนี้แล้ว จะออกเป็นร่าง พ.ร.บ. เพื่อนิรโทษกรรมในการกระทำที่ล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะมาตรา 110 และมาตรา 112 ยืนยันว่าคนของภูมิใจไทยจะไม่เป็นมิตรและไม่ยินยอมในการกระทำครั้งนี้ เราจะจงรักภักดีและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ถึงที่สุด
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า หากที่ประชุมสภามีมติเห็นชอบรายงานฉบับนี้แล้วให้ส่งรัฐบาลดำเนินการ พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เห็นชอบ ทั้งนี้การนิรโทษกรรมทำได้ในอดีตก็เคยทำกันมา แต่สิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อนและไม่เคยมี คือการนิรโทษกรรมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 หลายประเทศในโลก เช่น เนเธอร์แลนด์ สเปน เยอรมนี เดนมาร์ก เป็นต้น ก็มีบทคุ้มครององค์ประมุขด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเทศไทย สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเสาหลักสำคัญยิ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ตรงนี้จึงเป็นที่มาว่าตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยไม่เคยมีการนิรโทษกรรมความผิดในมาตรา 110 และมาตรา 112
สารตั้งต้นนิรโทษกรรม 112
“ผลจากรายงานและข้อสังเกตของ กมธ. หากผ่านสภา จะไปเป็นสารตั้งต้นในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามความผิดในมาตรา 110 และมาตรา 112 ได้ และหากสภาเห็นชอบกับรายงานฉบับนี้ สภาอาจกลายเป็นตราประทับความชอบธรรมในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามมาตรา 110 และมาตรา 112 ในอนาคตได้ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่เห็นชอบกับรายงานฉบับนี้” นายจุรินทร์กล่าว
ต่อมา นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ลุกขึ้นชี้แจงว่า สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 ไม่ได้เป็นคดีหลักและคดีรอง แต่เป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง โดยในรายงานก็ยืนยันไว้เช่นกัน
นอกจากนี้ กรรมาธิการไม่ได้มีข้อสรุปว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมสำหรับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 เพียงแค่ศึกษาว่ามีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร เนื่องจากยังมีความเห็นต่างอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112
"ผมเชื่อว่าหากมีการเสนอร่างกฎหมายเข้ามาแล้วรวมความผิดมาตรา 112 ด้วยนั้น จะไม่ผ่าน และถูกร้องว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะกรรมาธิการจากพรรคชาติไทยพัฒนา เรามีความเห็นเป็นมติว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เช่นเดียวกับหลายพรรคที่ได้ให้ความเห็นไว้ในกรรมาธิการ ย้ำว่าในข้อสังเกตก็ระบุไว้ชัดว่า มาตรา 110 และมาตรา 112 เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว และรายงานนี้เป็นเพียงแค่การสรุปความเห็นของสมาชิกเท่านั้น” นายนิกรกล่าว
ส่วนนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพยายามหาทางออกทางการเมือง ซึ่งมีข้อเสนอหลายอย่าง และหลายส่วน กรรมาธิการก็ได้ตัดสินใจกำหนดลงไป ขณะที่มาตรา 112 ในความเห็นของกรรมาธิการเองยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน ตนจึงอยากให้สภาแห่งนี้รับไว้พิจารณา ส่งต่อไปที่คณะรัฐมนตรี เพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมืองนี้ที่มีความขัดแย้งเป็นเวลานาน
ลากต่างชาติร่วมวง
"เราต้องตั้งต้นว่า เราอยากจะแก้ปัญหาบ้านเมืองโดยใช้กลไกสภาหรือไม่ เนื่องจากต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ทุกครั้งที่มีการดำเนินคดีโดยข้อหาในลักษณะแบบนี้ ประเด็นมาตรา 112 ไม่ได้กลายเป็นปัญหาทางสังคมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกต่อไป และไม่ได้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศ คนที่ถูกดำเนินคดี อาจมีเพื่อน มีครอบครัว มีคนที่เขารัก แล้วเขาจะรู้สึกอย่างไรต่อมาตรา 112 และการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรม เพราะความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในประเทศ แต่ความรู้สึกแบบนี้สะท้อนไปสู่ประชาคมของประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน" นายรังสิมันต์กล่าว
นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการฯ ลุกขึ้นชี้แจงกรณีที่มีสมาชิกบางคนอภิปรายว่าประเทศไทยไม่เคยมีการนิรโทษกรรมคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และกังวลว่าหากมีการนิรโทษกรรมแล้ว จะไปขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 รวมถึงอาจไปขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยนั้น
โดยนายชัยธวัชยกตัวอย่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือคือพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4-6 ต.ค.19 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้เมื่อเดือน ก.ย.21 และพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ เป็นการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำในและนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเท่านั้น โดยเจาะจงนิรโทษกรรมให้กับคดีความ 2 คดี ได้แก่ คดีที่ศาลทหารกรุงเทพ 1 คดี และคดีที่ศาลอาญาอีก 1 คดี ซึ่งทั้ง 2 คดีนี้เป็นคดีที่จำเลยถูกฟ้องดำเนินคดีหลายคดี รวมถึงคดีมาตรา 112 ด้วย
ดังนั้น หมายความว่าระบบกฎหมายไทยเคยนิรโทษกรรมมาตรา 112 มาแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ใดๆ ทั้งสิ้น และเมื่อออกมาแล้ว ก็ไม่เห็นมีการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างการปกครองใดๆ ทั้งสิ้น
ประธานปิดประชุมหนี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ สส.อภิปรายแสดงความคิดเห็นครบทุกพรรคแล้ว นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมกล่าวสรุปว่า เนื่องจากรายงานของคณะ กมธ.มีความเห็นแตกต่างกันจำนวนมาก และ กมธ.ได้ชี้แจงแล้ว ทำให้เข้าใจกันทุกฝ่ายแล้ว
จากนั้น นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ทักท้วงว่า เราอยู่ในระบบรัฐสภา เมื่อเรื่องใดเห็นไม่เหมือนกันก็ต้องลงมติ ซึ่งฝ่ายค้านพร้อมลงมติรายงานฉบับนี้ และดูจากจำนวนคนแล้วครบองค์ประชุมแน่นอน อย่างไรก็ตาม เราควรจะให้โอกาส กมธ.ชี้แจง จึงขอให้ประธานดำเนินการตามระเบียบวาระ
ขณะที่ซีกรัฐบาล ทั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทยแสดงความพร้อมที่จะลงมติ แต่ยังปรากฏว่าทาง กมธ.จะขอชี้แจงต่อ ซึ่งประธานที่ประชุมพยายามไกล่เกลี่ยขอไม่ให้ กมธ.ชี้แจง เพราะยังมี กมธ.อีกหลายคน ไม่ใช่นั้นจะไม่จบ อย่างไรก็ตาม คณะ กมธ.ยังไม่ทันจะได้แสดงท่าที นายพิเชษฐ์ก็ได้สั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 16.58 น.
ภายหลังปิดประชุม สส.พรรคประชาชน นำโดยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล, นายรังสิมันต์ โรม และนายชัยธวัช ตุลาธน ในฐานะกรรมาธิการ ร่วมแถลงข่าว โดยนายชัยธวัชกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ประธานสภาฯ ชิงปิดการประชุมก่อน และไม่มีเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น จะเห็นว่า กมธ.แทบไม่ได้ชี้แจงอะไรเลย ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับฝ่ายรัฐบาล ทำให้เสียโอกาสที่สภาจะได้ผลักดันวาระที่สำคัญ สุดท้ายจะมีปัญหาจนกระทั่งไม่สามารถพิจารณารายงานฉบับนี้ให้แล้วเสร็จภายในสมัยประชุมนี้ได้หรือไม่ ไม่ควรมีการเตะถ่วงการพิจารณาเรื่องนี้
นอกจากนี้ ในการประชุมสภาผู้แทนฯ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แจ้งผลการหารือกับนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กรณีวันประชุมสภาในสัปดาห์หน้าว่า ประธานวิปทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมวันที่ 24-25 ตุลาคม โดยในวันที่ 24 ตุลาคม จะเป็นกระทู้ต่างๆ เพื่อตรวจสอบรัฐบาล ขณะที่วันที่ 25 ตุลาคม จะเป็นการพิจารณาญัตติต่างๆ ที่ค้างอยู่
นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าหากพิจารณาในสมัยประชุมนี้จะเป็นการกระชั้นชิดเกินไป จึงต้องการจะพิจารณาเรื่องนี้ในสมัยประชุมหน้า เบื้องต้นทางสภาเห็นว่าวันที่ 16-18 ธันวาคมโดยประมาณ ซึ่งอยากให้นายวันมูหะมัดนอร์นำช่วงวันดังกล่าวไปหารือกับนายมงคล สุรัจจะ ประธานวุฒิสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า จากกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นัดหัวหน้าและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการทำงานที่แต่ละพรรคติดขัด รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการหยิบยกประเด็นทางการเมืองในทุกเรื่องขึ้นมาหารือในวันที่ 21 ต.ค.นั้น เบื้องต้นจะจัดขึ้นที่โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ ถนนเพลินจิต เวลา 18.00 น. โดยการนัดทานข้าวของหัวหน้าพรรคร่วมฯ ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!
"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย
‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา
กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ
เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่
"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน
‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’
ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ
กฤษฎีกายี้กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
จับตา ครม.ถกร่าง กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 13 ม.ค.นี้
กสม.ตบปากทักษิณ ซัดปราศรัยเหยียดเชื้อชาติ/‘พท.’ชง‘ลูกอิ๊งค์’คุยพ่อลดดีกรี
"ประธาน กกต." ลั่นพร้อมดูแลเลือกตั้งนายก อบจ. 1 ก.พ.แล้ว