ถกนิรโทษยังวุ่น! บิ๊กป้อมโผล่สภา

"นายกฯ อิ๊งค์" ย้ำแก้นิรโทษกรรมต้องคุยพรรคร่วม รบ. "ภูมิธรรม" อุบดินเนอร์พรรคร่วมฯ 21 ต.ค. ยังไม่มีประเด็นพิเศษ แสลงหูโดนซักถ้าแก้ รธน.ไม่เสร็จในรัฐบาลนี้ บอกขออย่า “ถ้า” มึน! ชงผลศึกษานิรโทษกรรมเข้าสภา 17 ต.ค.  "เสี่ยอ้วน" แย้มเล็งถอนร่าง "ชูศักดิ์" เสียงแข็งควรนำเข้าพิจารณา เหตุเลื่อนมา 2 ครั้งแล้ว ยันรายงานผลศึกษาไม่แตะ 112 "พท." เสียงแตกมอง 3 แนวทาง "อนุทิน" เสียงแข็งร่าง กม.ต้องไร้ 112-ทุจริต "เท้ง" ลั่นสู้ต่อหากถูกปัดตก "ลุงป้อม" โผล่เซ็นชื่อสภาแต่ไม่เข้าประชุม

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 16 ตุลาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมว่า  ทุกเรื่องต้องพูดคุยกัน 

ถามว่า จะนำเรื่องดังกล่าวไปคุยกันในวงรับประทานอาหารร่วมกันกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในวันที่ 21 ต.ค.เลยหรือไม่ นายกฯ หันมาตอบว่า  “ดีไหมคะ”

พอถามกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง นายกฯ กล่าวว่า “ไม่เข้าใจคำถามนักข่าว เอ๊ะ ใครนะ ใครฟ้องนะ” ก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าทันที

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 17 ต.ค. น.ส.แพทองธารมีกำหนดการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดอุดรธานีและหนองคาย เพื่อติดตามผลการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหลายจังหวัดในภาคอีสานได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ นายกฯ จะติดตามการดำเนินนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการติดตามนโยบายในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทย

นอกจากนี้ นายกฯ จะเป็นประธานในประเพณีออกพรรษาและบั้งไฟพญานาคโลก ประจำปี 2567 ลานนาคาเบิกฟ้า 2 ตำบลจุมพล  อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย และร่วมในพิธีบวงสรวงบูชาพญาพิสัยสัตนาคราช และชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ณ พุทธอุทยานนานาชาติ (ปทุมรัตน์ธรรมเจดีย์)

 “ประเพณีออกพรรษาและบั้งไฟพญานาคโลก ประจำปี 2567 เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงการท่องเที่ยวเมืองรอง  ยกระดับก้าวสู่การเป็น Soft Power สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง” โฆษกรัฐบาลระบุ

ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการนัดพรรคร่วมรัฐบาลรับประทานอาหารวันที่ 21 ต.ค.ว่า เรายังไม่กำหนดประเด็นที่ชัดเจน เพราะเป็นครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร เวทีนี้จะมีโอกาสแลกเปลี่ยน มองปัญหาและบูรณาการทำงานร่วมกันของพรรคร่วมฯ ใครติดขัดเรื่องการทำงานอะไร ตรงนี้จะได้ทำความเข้าใจ เพื่อให้งานเป็นเอกภาพมากขึ้น

ถามว่า จะมีการพูดคุยถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า คงเป็นประเด็นการเมืองทั่วไป เราจะคุยประเด็นการเมืองทุกเรื่อง ใครสนใจอะไรเป็นพิเศษจะหยิบขึ้นมา วันนี้มาทำความรู้จักกันให้มากขึ้น

ถามอีกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะแล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ความตั้งใจของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำ เราพยายามทำให้ทัน แต่จะทันหรือไม่นั้นอยู่ที่การถกเถียง ความเห็นต่างหากไม่มากก็เดินได้เร็ว แต่ถ้าเห็นต่างกันมากก็ต้องใช้เวลา

พอซักว่า หากไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้จะเป็นปัญหาหรือไม่ เพราะเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรมกล่าวว่า อย่าเพิ่งพูดถ้าเรายังไม่รู้ เวลา ยังเหลืออีกสองปีกว่าเกือบสามปี อย่าเพิ่งถ้า  รอให้สถานการณ์มันเกิด มันมีเงื่อนไขอีกหลายอย่าง

ผลศึกษานิรโทษฯ ไม่แตะ 112

เมื่อถามถึงกรณีกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จะเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมสภา นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุย เข้าใจว่าเขาจะเลื่อน

อย่างไรก็ตาม นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีการเสนอผลการศึกษาเข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17 ต.ค.ว่า ทาง กมธ.ยังคงยืนยันว่าควรจะพิจารณาผลการศึกษาในวันที่ 17 ต.ค. เนื่องจากรายงานดังกล่าวมีการเลื่อนเสนอสภามาแล้ว 2 ครั้ง เกรงจะสร้างความสับสนว่าที่เลื่อนไปเป็นเพราะอะไร

นายชูศักดิ์กล่าวว่า เราอยากชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจเหมือนกันกับผลการศึกษา แต่เท่าที่ฟังดูเหมือนกับมีความสับสนอยู่ว่าการพิจารณารายงานเป็นการพิจารณากฎหมาย ทั้งที่ไม่ใช่การพิจารณากฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการพิจารณารายงานการศึกษาแนวทางการตรากฎหมายว่าควรมีแนวทางอย่างไรเท่านั้น

"ยืนยันว่าไม่ใช่ยกเลิกกฎหมาย ไม่ใช่การแก้ไขกฎหมาย และไม่ใช่ว่าควรนิรโทษกรรมหรือไม่ควรนิรโทษกรรมมาตรานั้นมาตรานี้ แต่ผลของรายงานที่จะเสนอสภานั้น มีเพียงการรับทราบการศึกษาของ กมธ. ส่วนท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร จะยกร่างกฎหมายอย่างไร หรือจะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมแบบไหน เป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจเสนอกฎหมาย ซึ่งกฎหมายต่างๆ ยังมีอยู่เหมือนเดิม เช่น มาตรา 112 ยังมีอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้แตะต้อง  จึงเห็นว่าเรื่องนี้ควรจะพิจารณาต่อไป เพราะสภาเพียงแค่รับทราบ ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาต่อไป”  นายชูศักดิ์กล่าว

ซักว่า พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคยังมีความกังวลเรื่องนี้อยู่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ตนพยายามอธิบายแบบนี้ว่าไม่ใช่การพิจารณาร่างกฎหมาย แต่รายงานฉบับนี้มีการเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง จึงควรได้รับการพิจารณา ซึ่งที่ประชุมสภามีมติแค่รับทราบรายงานเท่านั้น

ย้ำว่า ได้มีการคุยในคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ ว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาวันที่ 17 ต.ค.แน่  นายชูศักดิ์กล่าวว่า ได้คุยกับประธานวิปว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณา เพราะเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง และ กมธ.ก็เตรียมการแล้วว่าจะต้องมีการพิจารณา ส่วนจะพิจารณาได้หรือไม่ได้ จะทันหรือไม่ทันนั้น ก็เป็นอีกเรื่อง เนื่องจากวันที่ 17 ต.ค.จะมีการพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้สภาศึกษาปัญหาและการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันธุรกิจอันเข้าลักษณะการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือแชร์ลูกโซ่ด้วย

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายดนุพร ปุณณกันต์  โฆษกพรรค พท. กล่าวถึงการนำรายงานของ กมธ.ศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าพิจารณาที่สภาวันที่ 17 ต.ค.นี้ว่า ไม่แน่ใจว่าจะเลื่อนอีกหรือไม่ เพราะวันที่ 15 ต.ค. ในที่ประชุมพรรค นายชูศักดิ์ยังยืนยันจะเอาเข้า แต่ทั้งนี้ต้องคุยกับทางพรรคร่วมรัฐบาลก่อน ขณะนี้วิปรัฐบาลกำลังคุยกันอยู่ เนื่องจากบางพรรคไม่เห็นด้วย

ถามว่า พรรค พท.มองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง นายดนุพรกล่าวว่า วันนี้ สส.ในพรรคยังคงเสียงแตก ยังมองเป็น 3 แนวทาง คือ รวมมาตรา 112, ไม่รวมมาตรา 112 และรวมมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข คือการมีคณะกรรมการขึ้นมา มีการยกโทษให้ แต่หากไปทำผิดซ้ำอีกเราจะยกโทษเก่ากลับมาทั้งหมด โดยจะรวมโทษทั้งต้นและดอก

'ป้อม' มาเซ็นชื่อแต่ไม่เข้าสภา

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงประเด็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมควรนำเข้าสู่การพิจารณาต่อที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ว่า เรื่องมาตรา 112 จะไม่มีการนิรโทษกรรม ซึ่งถือว่าเป็นจุดยืนของพรรคมาแต่ไหนแต่ไร ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ที่อาจจะมีความคิดที่ไม่ตรงกันแบบนั้น ก็สามารถคุยกันได้

"อะไรที่มันชัดเจนเราพร้อมที่จะพิจารณา แต่หากเข้ามาแล้วมีนิรโทษกรรมมาตรา 112 พรรคภูมิใจไทยก็ไม่เห็นด้วย" นายอนุทินระบุ

ถามว่า ในส่วนของประเด็นการทุจริตจะต้องนำมากำหนดในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ประเด็นทุจริตไม่ต้องถามอยู่แล้ว ใครจะไปนิรโทษกรรม

เมื่อถามถึงกรณีนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.จังหวัดสุรินทร์ พรรค พท. ระบุเรื่องการทำประชามติจะให้หัวหน้าพรรคที่มีความเกี่ยวข้องกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ช่วยคุยให้ โดยเปลี่ยนจากการทำประชามติ 2 ชั้นมาเป็นชั้นเดียว โดยได้พูดถึงพรรค ภท.ด้วย นายอนุทินกล่าวว่า ภท.เราได้ลงมติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเชื่อว่าเรื่องประชามติเป็นเรื่องประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน  เนื่องจากการมีดับเบิลล็อก จะมีความรอบคอบมากกว่า ซึ่งเราได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนไปแล้ว

"ผมไม่ได้ติดใจอะไร เป็นการแสดงความคิดเห็นของ สส.คนหนึ่ง และเราควรฟัง ส่วนความเห็นของเราบุคคลอื่นก็ต้องฟังด้วย เพราะเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน และใช้เวทีของรัฐสภาเป็นตัวกำหนด" หัวหน้าพรรค ภท.กล่าว

ด้านนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวถึงความไม่ชัดเจนของการรายงานผลการศึกษาของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งอาจเข้าวาระการพิจารณาของสภาไม่ทันในสมัยประชุมนี้ว่า ตัวรายงานได้ผ่านชั้น กมธ.มาแล้ว ซึ่งมีตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลอยู่ใน กมธ. เพราะฉะนั้นคิดว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องมาคุยในส่วนเนื้อหาอีก

ส่วนเล่มรายงานเป็นเพียงผลการศึกษาที่ทำให้สังคมและสภาเห็นทางเลือกของทางออกความขัดแย้ง หรือการเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากคดีการเมืองที่ผ่านมา ดังนั้นคิดว่าต้องรีบเร่งพิจารณาตัวร่างให้ผ่านสภาโดยเร็ว และคิดว่าไม่น่ามีเหตุผลอันใดที่สภาจะโหวตไม่รับ หรือไม่ผ่านหลักการของร่างรายงาน

 "การตัดสินใจว่าร่างกฎหมายจะทำถึงขั้นไหน ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะเสนอเข้าสู่สภา ฉะนั้นในชั้นของเล่มรายงาน ยํ้าว่ายังไม่เห็นเหตุผลหรือความจำเป็นใดๆ ที่สภาจะไม่ผ่านเล่มรายงานดังกล่าว การที่จะโหวตควํ่ารายงานฉบับนี้ ผมคิดว่าอาจจะเป็นการกลัวบางอย่างมากเกินไป" นายณัฐพงษ์กล่าว

ถามว่า หากร่างรายงานถูกควํ่า พรรค ปชน.จะมีมาตรการอย่างไร นายณัฐพงษ์กล่าวว่า พรรคคงผลักดันเรื่องนี้ต่อไปอย่างที่เคยทำมา

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 07.40 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางมายังอาคารรัฐสภา พร้อมด้วยทีมอารักขาส่วนตัว โดยได้ขึ้นมาบริเวณชั้น 2 หน้าห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อมาเซ็นชื่อและยืนยันตัวตน ก่อนที่จะมีการเปิดประชุมในวันนี้ เวลา 09.00 น.จากนั้น พล.อ.ประวิตรได้ขึ้นรถส่วนตัวออกจากอาคารรัฐสภาไปทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรค พท. ออกมาเปิดเผยและตรวจสอบขาดการประชุมของ พล.อ.ประวิตร พบว่าตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.66-19 ก.ย.67 ที่มีการประชุมทั้งหมด 95 ครั้ง แต่ พล.อ.ประวิตรขาดประชุม 84 ครั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ อิ๊งค์ฝากติดตามแถลง 12 ธ.ค.ผลงานรัฐบาล 90 วัน

นายกฯอิ๊งค์ ลั่นรัฐบาล มุ่งสร้างโอกาสจับต้องได้ให้ประชาชน ปากท้องอิ่ม ดึงศักยภาพคนไทย ลั่นปรับสมดุลการค้าสหรัฐ-จีน ย้ำ รบ.อยู่ครบเทอม ฝากติดตามแถลงผลงานรัฐบาล 12 ธ.ค.นี้

เปิดโปรแกรมทัวร์ 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรกที่เมืองเหนือ

เปิดโปรแกรม 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรก จัดที่แม่ริม เชียงใหม่ 29 พ.ย. ก่อนถก 'คลังสัญจร' เชียงราย ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมพบประชาชน