พรรคประชาชาติแสดงความกังวล คดีตากใบหมดอายุความ 25 ต.ค. ไม่สามารถที่จะจับกุมผู้ต้องหาได้เลย เป็นห่วงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เรียกร้องพรรคเพื่อไทยชี้แจง "เฮียเท้ง" มาแปลก ระบุสถานะของเพื่อไทยไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานะความเป็นจำเลยของ "พิศาล" ดังนั้นจึงยังเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลต้องติดตามตัวมารับโทษ
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 นายต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ โฆษกพรรคประชาชาติ พร้อมด้วยนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ และประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาฯ แถลงกรณีคดีตากใบจะสิ้นสุดหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้
โดยนายต่วนอิสกันดาร์กล่าวว่า พรรคประชาชาติขอแสดงจุดยืนและความเป็นห่วงในฐานะที่มี สส.มากที่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเข้าใจความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่และทั่วประเทศที่ติดตามความเป็นไปของคดีตากใบ ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ซึ่งทางพรรคขอเน้นย้ำว่า ความห่วงใยที่ประชาชนมีมาให้พรรคนั้น จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนทั้งการเมืองในเวทีรัฐสภาและการใช้อำนาจบริหารในการเรียกร้องไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรม ด้วยความสามารถอย่างถึงที่สุด พรรคประชาชาติขอเรียกร้องให้บรรดาจำเลยทั้ง 7 คน และผู้ต้องหาทั้ง 7 คน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อทำให้ความจริงปรากฏในการจรรโลงความยุติธรรมที่สังคมเรียกหาให้ลุล่วงไปด้วย
ด้านนายกมลศักดิ์กล่าวว่า ความห่วงใยของพรรคประชาชาติกับสถานการณ์ที่อีก 9 วันจะครบอายุความ 20 ปีของคดีตากใบ ขอเรียนว่าพรรคประชาชาติไม่ได้ละเลยหรือทอดทิ้งกับเรื่องเหล่านี้ เราติดตามกระบวนการพิจารณาคดีมาตลอด แม้ว่าเราอยู่ร่วมกับรัฐบาล แต่อยากเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพราะทุกอย่างตอนนี้พุ่งเป้าไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แม้แต่เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนราธิวาสได้นัดสอบคำให้การของจำเลย แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 7 คน ที่มีหมายจับไม่มีใครเดินทางไปศาล แต่ศาลยังไม่จำหน่ายคดีออกจากระบบ โดยนัดสอบคำให้การจำเลยใหม่อีกครั้งในวันที่ 28 ต.ค.นี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคดีจะไปถึงวันที่ 28 ต.ค. เพราะอายุความของคดีตากใบสิ้นสุดวันที่ 25 ต.ค.
นายกมลศักดิ์กล่าวต่อว่า พรรคประชาชาติจึงขอวิงวอน สตช. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แถลงความคืบหน้าว่าหลังจากที่ กมธ.การกฎหมายฯ ได้มีการเรียกมาสอบถามตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค. ท่านมีความคืบหน้าในการติดตามจับกุมผู้ต้องหาไปถึงไหนแล้วบ้าง เพื่อให้สังคมได้รับทราบ และขอวิงวอนว่า อย่านำประเด็นที่ใกล้ขาดอายุความโยนความผิดให้กับพี่น้องประชาชนที่เรียกร้องความยุติธรรม เพราะมีบางคนพยายามโยงว่าทำไมถึงมาฟ้องเอาตอนนี้ จนกระทั่งจะขาดอายุความ บางคนแถลงลักษณะว่าคดีตากใบได้รับเงินเยียวยาไปแล้วในสมัยที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม สมัยเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. คดีน่าจะจบไปแล้ว แต่แล้วตั้งแต่ตอนนั้น
เรื่องนี้ทางพรรคประชาชาติได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พบว่าการเยียวยาตั้งแต่ปี 56 ไม่ได้ทำให้คดีอาญาระงับ และการจ่ายเงินเยียวยา ณ ตอนนั้นเป็นการจ่ายตามอำนาจตามหน้าที่ของ ศอ.บต. และบางคนบอกว่าคดีนี้จบไปแล้วโดยการไต่สวนของศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งคดีเป็นการไต่สวน ไม่ได้ฟ้องผู้ใดผู้หนึ่ง เมื่อศาลไต่สวนเสร็จแล้วพนักงานอัยการต้องนำคำสั่งและหลักฐานส่งพนักงานสอบสวนว่าใครทำผู้ตายให้ขาดอากาศหายใจ ซึ่งเป็นไปตาม ป.วิอาญา จึงยังไม่มีการวินิจฉัยในเนื้อหาว่าใครทำให้ตาย ถือว่าคดีอาญายังไม่ระงับ
“ระยะเวลาที่เหลือ 9 วัน ทางพรรคประชาชาติเรามีความห่วงใยในฐานะที่เราอยู่ในพื้นที่ อยากให้กระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำตัวจำเลยและผู้ต้องหา หรือจำเลยและผู้ต้องหาหากฟังอยู่ ท่านยังสามารถที่จะไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของท่าน ไม่ได้หมายความว่าศาลประทับรับฟ้องแล้ว ตกเป็นผู้ต้องหาแล้วท่านจะกระทำความผิด แต่อยากให้ท่านเดินหน้า ผดุงความยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่าทำให้เกิดเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ในพื้นที่ เพราะเราเป็นห่วงสถานการณ์ที่เป็นอยู่" นายกมลศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่า หากผู้ต้องหาและจำเลยไม่มาขึ้นศาลจนคดีหมดอายุความจะทำอย่างไร สส.นราธิวาสชี้แจงว่า นี่คือสิ่งที่พรรคประชาชาติเป็นห่วง เราอยากเห็นหน่วยงานที่รับผิดชอบมาแถลงความคืบหน้าให้ชัดเจนว่าการจับกุมไปถึงไหนแล้ว ถ้าสมมติหลังวันที่ 25 ต.ค. ไม่สามารถที่จะจับกุมผู้ต้องหาได้เลย เราก็เป็นห่วงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
ซักว่ามองอย่างไรที่ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นจำเลยในคดีตากใบ เพิ่งจะมาลาออกวันที่ 15 ต.ค. นายกมลศักดิ์ตอบว่า จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย จึงอยากให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้ชี้แจง ตนไม่อยากไปก้าวก่าย ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการลาออกของ พล.อ.พิศาลในครั้งนี้เป็นความพยายามไม่ให้คดีตากใบเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยนั้น ก็ต้องถามพรรคเพื่อไทย แต่มีประเด็นที่สังคมตั้งคำถามหลายประเด็น เขาก็ต้องชี้แจงให้เข้าใจว่าหนังสือลาออกมาอย่างไร
"ผมไม่เคยเจอ พล.อ.พิศาลในห้องประชุมสภา เพียงแค่เดินส่วนทางกัน และอยู่ กมธ.คนละคณะ แม้ พล.อ.พิศาลจะลาออก ทำให้สถานะของ สส.หมดไป แต่สถานะของจำเลยยังคงอยู่ แต่ถ้าหมดอายุความก็จบ" สส.นราธิวาสผู้นี้กล่าว
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ว่าไม่มีใครที่ต้องคดีแล้ว รอถึงวันหมดอายุแล้วมีชีวิตที่มีความสุขสบาย และเชื่อว่าทุกคนมีคอสต์ทูเพลย์ เพียงแต่ว่าเขาจะใช้วิธีการอย่างไร แต่เราก็ทำหน้าที่ติดตามอย่างเต็มที่แล้ว
ส่วนนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ว่า สถานะของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานะความเป็นจำเลยของ พล.อ.พิศาล ดังนั้นจึงยังเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องติดตามตัวจำเลยที่หลบหนีในต่างประเทศ ไม่ว่าจำเลยคนดังกล่าวจะเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยก็ตาม ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบในการติดตามจำเลยกลับเข้ามาดำเนินคดีได้ เพราะถือเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ และประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อทวงคืนความยุติธรรม เนื่องจากเป็นคดีที่สร้างบาดแผลให้กับคนสามจังหวัดชายแดนใต้
"ย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย เพราะสถานะความเป็นจำเลยยังคงอยู่ หน้าที่ของรัฐบาลคือการติดตามจำเลยทุกคนที่ยังคงหลบหนีกลับมาดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด" นายณัฐพงษ์กล่าว
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "ทักษิณและเพื่อไทยจิตใจเดียวกัน" โดยระบุว่า แม้ พล.อ.พิศาลจะลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว แต่เพื่อไทยปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ไม่เพียงแต่เขาเป็น สส.ในพรรค และพวกท่านเป็นรัฐบาลที่ต้องรักษากฎหมาย ที่สำคัญคดีนี้เกิดขึ้นในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ด้วย ด้วยสามัญสำนึกของคนทั่วไป การเสียชีวิตของประชาชนรวมแล้ว 85 คน ในเหตุการณ์เดียว ไม่ควรจะเกิดในสมัยรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง นี่ยังไม่นับรวมเหตุการณ์กรือเซะอีก 105 ชีวิต ในช่วงเวลาปีเดียวกัน
นพ.วรงค์กล่าวว่า จำได้ว่าเหตุการณ์ตากใบ นายทักษิณเคยออกมาพูดในทำนองขอโทษ ในช่วงปี 2565 แต่ก็พยายามโยนความผิดไปให้ทหาร "...หลังจากที่ผมออกจากประเทศไทยไปแล้ว มีโอกาสเจอตำรวจสันติบาลของมาเลเซียที่ประเทศเยอรมนี เขาเล่าว่า ตอนแรกมาเลเซียก็โกรธผม คนมุสลิมก็โกรธผม นึกว่าผมเป็นคนที่รังเกียจและทำร้ายมุสลิม ตอนหลังมาเขาพบว่า เป็นการกระทำของทหารที่วางแผนจะไม่เอาผม ตอนหลังมาทางมาเลเซียจึงไม่โกรธอะไรผม ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาเล่าให้ผมฟัง เหตุการณ์ที่เอาคนไปซ้อนกัน 'เป็นเรื่องที่สั่งการโดยทหาร' และพาคนเหล่านี้ไปค่ายทหาร ซึ่งผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนสั่งอะไรยังไง ตัดตอนตั้งแต่สลายการชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ หลังจากนั้นเป็นเรื่องที่ทหารรับช่วงไป ผมไม่รู้เรื่องแล้ว ผมรู้แค่คนจะบุกเข้าไปเอาคน 6 คนในโรงพัก มีการสลายการชุมนุม มีการใช้ปืนฉีดน้ำ มีการยิงกันนิดหน่อย หลังจากนั้นผมไม่รู้เรื่องแล้ว..."
"คุณทักษิณจะรู้เรื่องหรือไม่ แต่คุณต้องรับผิดชอบในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ประชาชนต้องเสียชีวิตมากขนาดนั้น ผมไม่แน่ใจว่า ตำรวจสันติบาลมาเลเซียคนนั้นรู้ไหมว่า ทหารที่วางแผนไม่เอาทักษิณ นอกจากหนีคดีตากใบแล้ว เขายังได้เป็น สส.ของพรรคเพื่อไทยด้วย สรุปแล้วทักษิณและเพื่อไทย จิตใจเดียวกัน ปัดความรับผิดชอบ" นพ.วรงค์ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน
ธ.ค.เปิดชื่อแจกหมื่นเฟส2 หั่นเงินส่งFIDFแลกแก้หนี้
“คลัง” ปักธงแจกหมื่นเฟส 2 เป็นเงินสด ให้กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 4 ล้านราย
ผบ.ทร.ดันฟริเกต2ลำ ลุ้นไฟเขียว‘เรือดำน้ำ’
ผบ.ทร.ดันฟริเกต 2 ลำ งบปี 69 เล็งใช้อู่ในประเทศต่อเรือ
พท.ขู่ฟ้องกลับธีรยุทธ
"นายกฯ อิ๊งค์" วางคิวแถลงผลงานรัฐบาลรอบ 100 วัน 12 ธ.ค.
พลิก!สยามผบช.น. สันติไปปส.น้องเสธ.หิคุมไซเบอร์/ประสบการณ์ใหม่‘อิ๊งค์’
"นายกฯ" นั่งหัวโต๊ะ ก.ตร. ลากยาว 4 ชม. ถกแต่งตั้ง 41 นายพลสีกากีระดับรอง
ครม.ไร้วาระโต้ง ชื่อยังไม่ถึงคลัง ผวาขัดกฎหมาย
นายกฯ เมินเสียงวิจารณ์ "กิตติรัตน์" นั่ง ปธ.บอร์ด ธปท.