5:2ยอมหั่นดอกเบี้ย กนง.ปัดการเมืองบีบ/คลังยิ้มร่า

“กนง.” เสียงแตก 5 ต่อ 2 ยอมหั่นดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี ยันไม่เกี่ยวแรงกดดันทางการเมือง แจงหวังช่วยบรรเทาภาระหนี้ พร้อมขยับจีดีพีปีนี้เพิ่มเป็น 2.7% "รมช.คลัง" ยิ้มร่า ชี้จุดเริ่มต้นที่ดีการเงิน-การคลังประสานกันมากขึ้น เพิ่มแรงกระตุ้นเศรษฐกิจไทย หุ้นพุ่งเกือบ 20 จุด เด้งรับข่าวดี

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เป็น 2.25% จาก 2.50% ต่อปี โดยมีผลทันที โดยคณะกรรมการ กนง.เห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ ภายใต้บริบทที่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงอยู่ในระดับที่ยังเป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ เห็นว่า  อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังควรอยู่ในระดับที่เป็นกลาง และสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ รวมทั้งไม่ต่ำเกินไปจนนำไปสู่การสะสมความไม่สมดุลทางการเงินในระยะยาว

 “ยืนยันว่า เป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน คือ 1.สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ให้สะดุด 2.รักษาเสถียรภาพด้านราคา และ 3.ไม่เพิ่มการสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ไม่มีแรงกดดันทางการเมือง ส่วนการหารือกับรัฐบาล หารือมาอย่างต่อเนื่อง และการได้ Input จากภาคส่วนต่างๆ  เป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องการ โดยการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นการปรับสมดุล การดูแลเรื่องหนี้ครัวเรือน อยากให้กระบวนการที่ปรับลดหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ สอดคล้องกับรายได้และภาระหนี้ของประชาชน โดยอาจไม่ได้เห็นการลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะเป็นการลดและดูข้อมูลเพื่อพิจารณา” นายสักกะภพระบุ

นอกจากนี้ ยังปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้เพิ่มเป็น 2.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.6% ขณะที่ปี 2568 อยู่ที่ 2.9% จากเดิมคาด 3% โดยมองว่าเศรษฐกิจในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งออกที่ปรับดีขึ้นตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เศรษฐกิจฟื้นตัวแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน  โดยการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่ม รวมถึงเอสเอ็มอียังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง

สำหรับการส่งออกปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% ขณะที่ปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2%  ส่วนการนำเข้าปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 5.1% และปี 2568 ที่ 0.4% ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 36 ล้านคน และปี 2568 ที่ 39.5 ล้านคน และราคาน้ำมันดิบดูไบ ปีนี้และปี 2568 จะอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และปี 2568 ที่ 1.2% โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ผันผวน และอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากผลของฐาน  ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% ในปีนี้ และปีหน้าที่ 0.9% โดยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การแข่งขันด้านราคาที่อยู่ในระดับสูงจากสินค้านำเข้า ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567

ขณะที่เรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อนั้น จะมีการหารือกันอีกครั้ง โดยภาพจะดูแลในเรื่องเงินเฟ้อระยะยาวและความผันผวนของเงินเฟ้อ โดยต้องยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อของไทย ความผันผวนมาจากปัจจัยอุปทานและภายนอกเยอะ ดังนั้นเห็นว่ากรอบเงินเฟ้อที่ดีควรมีความยืดหยุ่น และสิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ เงินเฟ้อไม่ควรอยู่สูงเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็น

 “เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวตามคาด โดยเครื่องยนต์เศรษฐกิจสมดุลขึ้นในระยะข้างหน้า และมองว่าครึ่งหลังของปีนี้จีดีพีจะขยายตัวได้ 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงขอบล่าง และไม่สะท้อนความเสี่ยงภาวะเงินฝืด เนื่องจากยังพบการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหลายหมวด และเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ที่ค่ากลางของกรอบเงินเฟ้อที่ 1-3%” เลขานุการ กนง.ระบุ

สำหรับภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง  อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ ปรับแข็งค่าตามทิศทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและปัจจัยเฉพาะในประเทศ ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม สินเชื่อรวมชะลอลง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี กลุ่มธุรกิจที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิต

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ยังสนับสนุนนโยบายของ ธปท.ที่ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาภาระหนี้ที่ตรงจุด และมีส่วนช่วยกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ โดยยังต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อต้นทุนการกู้ยืมและการขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวม รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทำให้การทำนโยบายการเงินและนโยบายการคลังทำงานสอดประสานกันมากขึ้น ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยดูแลการเติบโตของเศรษฐกิจ และช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นให้กับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้

เมื่อถามว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายลงที่ระดับ 0.25% เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้หรือไม่ นายเผ่าภูมิกล่าวว่า การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ขึ้นการพิจารณาของ กนง.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศหุ้นไทยเคลื่อนไหวในแดนบวก ตอบรับข่าวดีหลัง กนง.ปรับลดดอกเบี้ย ก่อนที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดตลาดที่ 1,485.01 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 19.98 จุด หรือปรับเพิ่มขึ้น 1.36% มูลค่าการซื้อขาย  77,184.13 ล้านบาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง