‘อิ๊งค์’เคลียร์พรรคร่วม21ตุลา

“แพทองธาร” นัดกินข้าวพรรคร่วมฯ   21 ต.ค.นี้ แย้มมีหลายเรื่องพูดคุยขอความร่วมมือ   พร้อมเดินหน้าแก้ไข รธน.เต็มที่ "อนุทิน" ย้ำเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ให้แน่นขึ้น "เพื่อไทย" กังวลรายงานนิรโทษกรรม โยนวิป รบ.หารือ ส่อถูกเลื่อนถกในสภา "สส.ปชป." ยืนกรานไม่เอานิรโทษฯ เหมาเข่ง  เหตุคลุมเครือหวั่นเกิดความวุ่นวาย "รทสช." มีมติงดออกเสียง "อดีตพิราบขาว" ยื่น กกต.สอบนายกฯ  ปมตั้ง “สมศักดิ์-ณัฐวุฒิ” ไม่อบรมโคกหนองนา ชี้ไม่ซื่อสัตย์สุจริต เชื่อซ้ำรอย "เศรษฐา"

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 15 ตุลาคม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีการนัดรับประทานอาหารร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล วันจันทร์ที่ 21 ต.ค.นี้ว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ทานข้าวกับหัวหน้าพรรคเลย ซึ่งมีพรรคร่วมรัฐบาลอีกหลายๆ ท่านที่ไม่ได้อยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงอยากจะคุยกันนิดว่าเป็นอย่างไรบ้าง จริงๆ ปกติแล้วอาจจะมีวาระสำคัญไม่กี่เรื่อง แต่เป็นการมาเจอกันและคุยกันมากกว่า และจะอัปเดตให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะทำอะไรต่อบ้าง และขอคอมเมนต์รวมๆ อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ แล้ว เราจะคุยกันว่าใครมีความคิดเห็นอะไร ซึ่งหลายท่านมีประสบการณ์มาก พอได้คุย ได้มีเวทีสบายๆ หน่อย ก็จะได้ประโยชน์จากทุกท่านเยอะ

เมื่อถามว่า มีวาระอะไรสำคัญที่จะคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ขอกลับมาทานข้าวตามวงรอบปกติเหมือนเดิม เพราะจากที่นักข่าวตามมาน่าจะ 2 เดือนแล้ว เลยคิดว่าจะกลับมาเดือนละครั้งเหมือนเดิม ก็เป็นวาระแรกที่เราคิดว่าจะกลับมาคุยกัน ใครมีวาระอะไรก็ตามนั้น จริงๆ มีหลายเรื่องที่ต้องคุย เพราะรับตำแหน่งมาประมาณ 2 เดือนแล้ว ฉะนั้นคงมีหลายเรื่องที่จะขอความร่วมมือซึ่งกันและกัน เดี๋ยวไปอัปเดตอีกทีก็ได้

เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า จริงๆ ก็ได้คุยไปบ้างแล้วกับหลายๆ ท่าน ซึ่งไม่ได้มีอะไรที่น่าเป็นห่วง เรามีสิทธิเห็นต่างกันได้ ทุกๆ คนเห็นต่างกันได้ ฉะนั้นการคุยกันเราคุยกันรู้เรื่องอยู่แล้วไม่ต้องห่วง เมื่อถามว่ารัฐบาลยังคงเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญให้ทันตามกรอบสมัยรัฐบาลนี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ค่ะ เราก็พยายามทำให้เต็มที่

ต่อมา น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ถึงกรณีการนัดพรรคร่วมรัฐบาลรับประทานอาหารจะนัดสถานที่ไหนว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยนายกฯ หันไปถามทีมงานว่า "จะไปโรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ  จะเบื่อหรือไม่"

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การนัดครั้งนี้ไม่ได้มีวาระอะไร เป็นเพียงแค่การนัดมาเจอกัน ส่วนจะคุยเกี่ยวกับเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ ไม่รู้  เดี๋ยวต้องไปคุยกันก่อนว่าจะมีการหารือเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งตอนนี้มีการนัดแค่วันคร่าวๆ 

เมื่อถามว่า หลักการที่นัดเพื่อกระชับความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาลหลังห่างเหินใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมปฏิเสธว่า ไม่ได้ห่างเหิน แต่นายกรัฐมนตรีแพทองธาร เพิ่งใหม่

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  (ภท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบสถานที่นัดรับประทานอาหารกับพรรคร่วมรัฐบาล และคงไม่มีวาระหรือประเด็นหารืออะไรเป็นพิเศษ โดยมองว่าเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ เพราะเป็นข้อปฏิบัติของรัฐบาลที่ผ่านมา

เมื่อถามว่า เพื่อให้ความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาลแน่นแฟ้นขึ้นใช่หรือไม่ นายอนุทินระบุว่า แน่นอยู่แล้ว ซึ่งกินข้าวกันบ้างเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการพูดคุยให้เป็นกันเองเพิ่มขึ้น พร้อมปฏิเสธตอบว่าในวงหารือจะมีการคุยเรื่องเครียดๆ  เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ เพราะตนเองไม่ได้เป็นคนเลี้ยง ส่วนจะมีผู้ใหญ่ระดับ VVIP เข้าร่วมด้วยหรือไม่ นายอนุทินระบุว่า ก็หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล  ก่อนพูดติดตลก "ผู้ใหญ่พอ ไม่ต้องกำนัน"

ส่อเลื่อนถกนิรโทษฯ เหมาเข่ง

ที่รัฐสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ  พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ระบุว่าวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านจะหารือเรื่องการนำรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมสภาในวันที่ 17 ต.ค.นี้ว่า ยังไม่ได้รับการประสานจากนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ และการจะนำอะไรเข้าสู่ที่ประชุมสภาหรือไม่ วันนี้ต้องฟังวิปก่อน เพราะมีหลายพรรค ฉะนั้นจึงต้องหารือกันก่อน เพราะเราต้องให้เกียรติในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล

เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านติดใจที่วันที่ 24 ต.ค. อาจจะมีการงดประชุมสภา นายวิสุทธิ์กล่าวว่า จะงดได้อย่างไร ตนบอกไปแล้วว่ามีประชุมวันที่ 24 ต.ค. และวันที่ 25 ต.ค. บอกไปแล้วชัดเจน เราไม่ได้งด ในเมื่อประธานวิปพูด และได้มีการประชุมกับวิปไปแล้วว่าจะมีการประชุมทั้งสองวัน ใครที่มาแนะว่าจะงด ไม่จริง

นายสุทิน​ คลังแสง​ สส.บัญชีรายชื่อ​ พรรคเพื่อไทย​ กล่าวถึงกรณีนายเฉลิม​ชัย​ ศรีอ่อน​ รมว.​ทรัพยากรธรรมชาติ​และ​สิ่ง​แวดล้อม​ ในฐานะหัวหน้าพรรค​ประชา​ธิ​ปัตย์ (ปชป.)​ ไม่เอานิรโทษกรรม​แบบเหมาเข่ง​ว่า​ ต้องมีการพูดคุยกันในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค​ที่จะประชุมในวันที่ 18 ต.ค.นี้​ ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการ​ขึ้นเพื่อประสานงานระหว่าง ครม. สภา​ผู้แทน​ราษฎร​ ​และพรรค​ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน​ โดยมีตนเป็นประธาน ทั้งนี้ ก่อนนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่สภาจะต้องมีการพูดคุยกันของพรรคร่วมฯ ​เพื่อหาข้อสรุปก่อน เพราะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย​ 

ที่อาคารชินวัตร 3 มีการประชุม สส.พรรคเพื่อไทยประจำสัปดาห์ โดยมีนายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรค พท., นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธาน สส.พรรค เป็นประธานการประชุม  โดยในที่ประชุม สส.พรรคได้มีการหารือเกี่ยวกับรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะเข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ เนื่องจาก สส.มีความกังวลถึงข้อสังเกตที่มีการระบุเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญฯ ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ทำให้พรรค พท.ยังไม่มีความชัดเจนว่าที่สุดแล้วจะมีทิศทางไปในทิศทางใดเกี่ยวกับผลศึกษาดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมพรรค พท.ให้วิปรัฐบาลที่จะมีการประชุมกันในวันที่ 16 ต.ค. เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว และให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีแนวโน้มสูงว่าวาระนี้จะถูกเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากในวันดังกล่าวจะมีญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้สภาศึกษาปัญหาและการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันธุรกิจอันเข้าลักษณะการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้อภิปรายเป็นจำนวนมาก

สส.ปชป.ย้ำไม่เอาเหมาเข่ง

ที่พรรคประชาธิปัตย์ ดร.เจนจิรา รัตนเพียร โฆษกพรรค ปชป. ได้รายงานผลการประชุม สส.ว่า วันนี้ที่ประชุมมีการพิจารณาวาระการประชุมสภาที่จะมีขึ้นในวันพุธ-พฤหัสฯ นี้ โดยที่ประชุม สส.ได้ให้ความสำคัญกับรายงานของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่ง กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุม สส.ของพรรคเห็นว่ารายงานดังกล่าวยังมีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน หากส่งรายงานดังกล่าวไปให้รัฐบาลเพื่อพิจารณา อาจส่งผลให้เกิดความวุ่นวายในสังคม เนื่องจากเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน

"สำหรับประเด็นการนิรโทษกรรมนั้น พรรคประชาธิปัตย์ไม่ขัดข้องกับการนิรโทษกรรมในประเด็นทางการเมือง แต่พรรคมีจุดยืนในการไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริต และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ดังนั้นในที่ประชุม สส.จึงมีมติไม่เห็นชอบกับรายงานฉบับดังกล่าว" โฆษก ปชป.ระบุ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะโฆษกพรรค  เปิดเผยภายหลังการประชุม สส.ว่า ขอยืนยันในมติเดิมของพรรค จะไม่เห็นชอบในรายงานนิรโทษกรรมฉบับดังกล่าว เนื่องจากไม่มีความสมบูรณ์  ขาดข้อสรุปที่ชัดเจน จึงขอสงวนสิทธิ์ที่จะมีมติงดออกเสียง และจุดยืนของพรรคชัดเจนว่าจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และละเมิดต่อสถาบันหลักของชาติ  

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ  กรรมการบริหารพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงจุดยืน ม.112 ว่า นโยบายเกือบทั้งหมดพิจารณาต่อเนื่องมาจากสมัยพรรคก้าวไกล นโยบายแต่ละอย่างต้องมาดูรายละเอียดว่าได้ผลักดันไปแล้วบ้างหรือไม่ สำหรับ ม.112 ย้ำว่าเห็นปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งต้องตรงกัน แต่ก็เคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะนำมาเป็นกรอบในการเดินหน้าว่าหากจะแก้ไขปัญหา ม.112 จะเดินหน้าตามกรอบที่ศาลกำหนดและสิ่งที่พรรคจะทำมากน้อยแค่ไหน  โดยอยากเรียกร้องเรื่องนิรโทษกรรม หากเห็นตรงกันเป็นฉันทามติของสังคม อยากให้มาช่วยกันติดตาม โดยควรจะหาข้อสรุปให้สังคม และคืนความยุติธรรมบางส่วนให้ผู้ได้รับผลกระทบจากคดี

เมื่อถามว่า เรื่องนี้อ่อนไหว อย่างวันที่ 14 ต.ค. วันรำลึกเหตุการณ์ 14 ต.ค. พรรคประชาชนไปวางพวงมาลา แต่วันที่ 13 ต.ค. วันนวมินทรมหาราช  พรรค ปชน.กลับไม่ไป จะทำให้ถูกตั้งข้อสงสัยจากฝั่งอนุรักษนิยมหรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ในกรณีของงานพิธีทุกอย่างที่มีการติดต่อหรือประสานงานมา เราเองก็เข้าร่วมตลอด ตนเองในวันที่ 13 ต.ค. ก็เข้าร่วมพิธีในจังหวัดอ่างทอง และเพื่อนสมาชิกก็เข้าร่วมพิธีตามจังหวัดต่างๆ แต่จากการสอบถามเบื้องต้น คาดว่าอาจจะเป็นเรื่องการประสานงานที่ทำให้เราไม่ได้ไปวางพวงมาลา แต่สำหรับวันอื่นๆ  เราก็ไป

ยื่นสอบนายกฯ ตั้ง 'สมศักดิ์-เต้น'

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 มายื่นหนังสือคำร้องเพื่อให้ กกต.ตรวจสอบและพิจารณาถึงการใช้อำนาจหน้าที่ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการแต่งตั้งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข และการแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ ในกรณีมีพฤติกรรมพฤติการณ์ส่อเป็นการกระทำที่ไม่บังควร ความปรากฏต่อหน้านายทะเบียนพรรคการเมือง มาตรา 93 ของพระราชบัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญ​  (พ.ร.ป.) ​ว่าด้วยพรรคการเมือง เนื่องจากเห็นว่าทั้งสองไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์

นายนพรุจกล่าวว่า ในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีและคณะที่ปรึกษาหลายคนจะต้องผ่านการตรวจสอบกลั่นกรองอย่างรอบคอบ ทั้งคุณสมบัติ เหนือสิ่งอื่นใดต้องมีความจงรักภักดี และการเป็นข้าราชการการเมืองต้องยึดหลักประมวลจริยธรรมการเมือง จึงขอให้ กกต.ได้ตรวจสอบถึงการใช้อำนาจหน้าที่ของ น.ส.แพทองธาร ในการแต่งตั้งคนทั้งสอง ทั้งที่นายณัฐวุฒิเป็นผู้ต้องโทษเด็ดขาดชาย และในขณะที่ได้รับพระเมตตา เป็นหนังสือของกรมราชทัณฑ์ที่แจ้งให้ผู้ต้องขังทราบว่ากรมราชทัณฑ์ได้น้อมนำโครงการพระราชทานโคกหนองนา และให้ผู้ต้องขังทุกคนเข้าอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว แต่ปรากฏว่าวันที่ 18 ธ.ค.63 ได้มีการลงนามโดยนายสมศักดิ์ ในตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม เซ็นปล่อยตัวนายณัฐวุฒิออกมา โดยไม่ได้เข้าอบรมโครงการดังกล่าว พฤติกรรมทั้งสองคนไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

นายนพรุจกล่าวอีกว่า จากนี้จะไปยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป และยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.ให้มีการตรวจสอบ เพราะตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมเชื่อมั่นว่ากรณี น.ส.แพทองธารจะไม่รอด โดยมีการเทียบเคียงกับกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ  จากการแต่งตั้งบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป