51ปี14ตุลาย้ำปรองดอง ถกรายงานนิรโทษ17ตค.

รำลึก 14 ตุลา ครบ 51 ปี รัฐบาลย้ำส่งเสริมประชาธิปไตยเคารพความเห็นต่าง “ณัฐพงษ์” โผล่ชูร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พ่วงขยี้คดีตากใบ “อนุสรณ์” ร่ายยาวคู่แฝดประชานิยมและประชาธิปไตย วิปรัฐบาลไฟเขียวแล้ว 17 ต.ค.ถกรายงาน กมธ.เรื่องนิรโทษกรรม หลังเจอโรคเลื่อนมากว่า 3 สัปดาห์

เมื่อวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2567 ที่อนุสรณ์สถาน  14 ตุลา สี่แยกคอกวัว มีการจัดงานรำลึก 14 ตุลาคม 2516 ในวาระครบรอบ 51 ปี โดยบรรยากาศในช่วงเช้าผู้ร่วมงานร่วมตักบาตรพระสงฆ์ 14 รูป บริเวณด้านหน้าอาคารอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา จากนั้นมีพิธีกรรม 3 ศาสนา ก่อนร่วมวางพวงมาลาและกล่าวรำลึกเหตุการณ์

โดยนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในนามรัฐบาลว่า เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงพลังและความมุ่งมั่นของผู้ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่ต้องการให้ประเทศมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคี ความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และใช้แนวทางสันติวิธีในการหาทางออกร่วมกัน โดยรับฟังเสียงข้างน้อยและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงออกทางความคิดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข และช่วยจรรโลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีแต่ความรัก  ความสมานฉันท์ตลอดไป

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวรำลึกตอนหนึ่งว่า แม้ไม่ได้อยู่ร่วมต่อสู้ในวันที่ 14 ตุลา แต่คิดว่าเรายังไปไม่ถึง เช่นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่วันนี้พวกเราต่อสู้เรียกร้องกันอยู่ ยังประสบปัญหาและอุปสรรคการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คนที่ออกมาต่อสู้และถูกเล่นงานกลั่นแกล้งคดีทางการเมือง หรืออีกหลายกรณี เช่นหลายคนที่เป็นจำเลยในคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังหลบหนีอยู่ ยังไม่ถูกนำตัวมาดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม สิ่งต่างๆ เหล่านี้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีตได้กำลังสอนพวกเราอยู่ว่า วันนี้กระบวนการประชาธิปไตยของไทยอาจเดินหน้าไปไม่ถึงไหน

 “ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ในการถ่วงดุลและตรวจสอบรัฐบาล และคิดว่าทุกยุคทุกสมัยไม่ใช่เฉพาะ 14 ตุลา ก็มีการต่อสู้ ดังนั้นเมื่อก้าวเท้าเข้ามาสู่การเมืองแล้ว ก็พร้อมที่จะรับคมหอกคมดาบ”

ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา กล่าวว่า คนรุ่นปัจจุบันได้รับมรดกอันล้ำค่าที่สุดจากวีรชน 14 ตุลา คือสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง และการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่เราต้องร่วมกันปกป้อง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ความหมายแค่วันเลือกตั้งทุก 4 ปี แต่ความหมายคือเราตื่นเช้าขึ้นมา เราคิดถึงประชาชนและเข้าไปดูแลประชาชนหรือไม่ ต้องฝากเตือนพวกเราทุกคนที่ได้รับผลจากการเสียสละของวีรชน ให้คิดถึงประชาชน และอย่าปล่อยให้ประชาชนโดดเดี่ยว ขอให้ร่วมมือและทำให้ประเทศเราเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง กรุงเทพมหานครพยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้สิ่งที่ท่านวีรชนทั้งหลายได้เสียไปเมื่อ 51 ปีที่แล้ว ทั้งชีวิต ครอบครัว สิ่งต่างๆ ต้องสูญเปล่า เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ระบุว่า เรายังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าประเทศไทยมีประชาธิปไตยสมบูรณ์แล้ว อำนาจอธิปไตยยังไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เราเพียงมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น เราเพียงเปลี่ยนผ่านจากระบอบการปกครองภายใต้วงจรรัฐประหารโดยผู้นำกองทัพ สู่ตุลาการรัฐประหารและนิติสงคราม เสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยและรัฐบาลมีความไม่แน่นอนสูง ขึ้นอยู่กับการตัดสินของคนเพียงหยิบมือเดียวจากองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 การเลือกตั้งไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าประชาธิปไตยมีความมั่นคงแล้ว

ประชานิยม-ประชาธิปไตย

ศ.ดร.อนุสรณ์ยังกล่าวว่า พรรคการเมืองต่างๆ ต่างแข่งขันกันด้วยนโยบายประชานิยมมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลของนโยบายประชานิยมไม่ชัดเจนว่าทำให้เสรีประชาธิปไตยเข้มแข็งหรือไม่ แต่ได้สร้างสภาวะทางการเมืองที่เสียงของประชาชนฐานรากส่วนใหญ่ มีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดนโยบาย แต่อีกด้านหนึ่งนโยบายประชานิยมได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า ละเมิดต่อกรอบวินัยการเงินการคลังและอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ โดยข้อกล่าวหาไม่สามารถประเมินได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง แต่ได้ถูกใช้ในกระบวนการหยุดยั้งพัฒนาการประชาธิปไตยไทยด้วย

“นโยบายรับจำนำข้าวถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมและมีการทุจริตคอร์รัปชัน แต่รัฐบาลของคณะรัฐประหารเองก็ใช้มาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการประกันรายได้เกษตรกร  ซึ่งก็มีลักษณะเป็นประชานิยมเช่นเดียวกัน สวัสดิการประชารัฐ บัตรสวัสดิการคนจน ก็เข้าข่ายนโยบายประชานิยม เวลาเราต้องการทำให้เกิดประชาธิปไตยที่มั่นคงนั้น  เราไม่ได้ต้องการเพียงรัฐบาลจากการเลือกตั้งเท่านั้น เราต้องการรัฐธรรมนูญกติกาสูงสุดที่เป็นประชาธิปไตย ระบบการเลือกตั้งที่เปิดเผย เป็นกลางและเที่ยงธรรม เราต้องการระบบราชการและระบบการเมืองที่มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ รวมทั้งความมีระเบียบและเสถียรภาพอีกด้วย”

รศ.ดร.อนุสรณ์ยังระบุว่า ประชานิยมและประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์ในทางบวกต่อกัน และประชานิยมส่งผลบวกมากกว่าผลลบต่อประชาธิปไตย แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนนักต่อพัฒนาการของเสรีประชาธิปไตย หรืออาจกล่าวได้ว่าประชานิยมสามารถปรับเปลี่ยนให้เสรีประชาธิปไตยมีคุณภาพดียิ่งขึ้น หรือเป็นภัยคุกคามต่อเสรีประชาธิปไตยก็ได้ โดยงานวิจัยในเชิงประจักษ์หลายกรณียืนยันผลบวกและผลลบที่มีต่อพัฒนาการของเสรีประชาธิปไตยแตกต่างกัน

“การเมืองบนท้องถนน การเมืองปลุกระดมมวลชนแบบสร้างกระแสอารมณ์ให้เกิดความเกลียดชัง ได้เคลื่อนย้ายมาสู่การต่อสู้กันในกลไกรัฐสภามากขึ้น แต่นิติสงครามยังดำรงอยู่และมีการใช้องค์กรอิสระ และตุลาการจัดการขั้วอำนาจตรงข้ามของฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยอนุรักษนิยมขวาจัดต่อไป การแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิถีทางประชาธิปไตยและระบอบการปกครองโดยกฎหมาย ยึดหลักนิติธรรมจะนำประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วใน 10-15 ปีข้างหน้า และเกิดความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ  ประชาธิปไตยแบบผู้แทนจำเป็นต้องมีระบบสถาบันพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ประชาชนเลือกผู้แทนผ่านระบบพรรคการเมือง เพื่อเข้าทำหน้าที่บริหารประเทศผ่านนโยบายสาธารณะต่างๆ ที่พรรคการเมืองให้สัญญาประชาคมเอาไว้”

17 ต.ค.ถกรายงานนิรโทษกรรม

วันเดียวกัน น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เผยว่า ได้รับการประสานและยืนยันจากคณะ กมธ.และฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่า ในการประชุมสภาฯ วันพฤหัสบดีที่ 17 ต.ค.นี้ จะมีการพิจารณารายงานผลการศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว

 นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และเป็นหนึ่งใน กมธ. กล่าวเช่นกันว่า นายชูศักดิ์ได้แจ้งในไลน์กลุ่ม กมธ.ว่า การประชุมสภาฯ 17 ต.ค.นี้จะมีการพิจารณารายงานดังกล่าวแน่นอนหลังเลื่อนมา 2-3 ครั้ง เพราะตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีการเสนอเข้าสภาฯ มาแล้วหลายร่าง และจ่อจะมีการพิจารณาอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการพิจารณาเพราะต้องการรอให้สภาฯ  พิจารณารายงานของ กมธ.ชุดนี้ก่อน ซึ่งพอพิจารณารายงานเสร็จก็จะได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เสนอเข้าสภาฯ ที่พรรคการเมืองต่างๆ เช่น พรรคประชาชนเสนอ

นพ.เชิดชัยยอมรับว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมี กมธ.สภาฯ ชุดไหนพูดคุยศึกษาเรื่องมาตรา 112 จะมีก็คือ กมธ.วิสามัญชุดนี้เป็นครั้งแรก ที่มีการศึกษา มีการเขียนไว้ในรายงานของ กมธ.ชัดเจนว่า หากจะนิรโทษกรรมคดี 112 ด้วยจะให้มีเงื่อนไขการนิรโทษกรรมอย่างไร ซึ่งเมื่อสภาฯ ได้อภิปรายกันในวันพฤหัสบดีนี้แล้ว หากพรรคการเมืองไหนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี 112 หรือมีความเห็นว่าควรนิรโทษกรรมคดี 112 แบบไหน ก็อภิปรายกันมันจะได้ลดความเข้าใจผิด ยืนยันว่าข้อเสนอของ กมธ.ไม่ได้เสนอให้แก้ไข 112 แต่มีการอภิปรายเสนอความเห็นกันใน กมธ.ว่า พวกโดนคดี 112 จะให้นิรโทษกรรมหรือไม่ และหากนิรโทษกรรมจะมีเงื่อนไขอย่างไร เช่นพวกมีพฤติกรรมอาฆาตมาดร้าย แบบนี้ก็อาจต้องได้รับการลงโทษเบื้องต้นก่อน

“คนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร พวกอยู่ในห้องแอร์ แล้วเกิดไปแชร์ไปโพสต์อะไร หรือไปร่วมชุมนุมด้วย แบบนี้จะไปเอาผิดได้อย่างไร เพราะไม่ได้มีเจตนา ซึ่งในรายงานข้อเสนอของ กมธ.จะพบว่า บางคนที่คัดค้านหัวเด็ดตีนขาดไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี 112 แต่ลึกๆ แล้ว เขาก็บอกว่าถ้าจะนิรโทษจริงๆ ก็ให้นิรโทษแบบมีเงื่อนไข  การประชุมสภาฯ ครั้งนี้ สส.ก็อภิปรายแสดงความเห็นกัน  แต่ว่าในระดับพรรคที่สังกัด ก็ให้แต่ละพรรคไปคุยกันเองว่า จะเอาด้วยหรือไม่ ไม่มีใครบังคับ ประชุมสภาฯ วันพฤหัสบดีนี้พอเสร็จแล้ว พรรคการเมืองก็อาจไปคุยกันว่าเห็นอย่างไร หรือหาก สส.บางกลุ่มสนใจ เขาก็เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาฯ ในฐานะ สส.ได้”

ทั้งนี้ เดิมทีสภาฯ มีคิวต้องพิจารณารายงานดังกล่าวตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 26 ก.ย.แล้ว แต่เลื่อนออกไป และกำหนดจะเอาเข้าพิจารณาวันพฤหัสบดีที่ 3 ต.ค. แต่สุดท้ายก็เลื่อนไปอีก และล่าสุดวันพฤหัสบดีที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการพิจารณาอีกเช่นกัน เพราะมีข่าวว่าวิปรัฐบาลขอให้ชะลอการพิจารณารายงานของ กมธ.ไว้ก่อน เพราะยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในพรรคร่วมรัฐบาล หลังก่อนหน้านี้พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ. เช่นเรื่องการนิรโทษกรรมคดี 112  จนทำให้วิปรัฐบาลเลื่อนการพิจารณามาร่วม 3 สัปดาห์  แต่ต่อมามีรายงานว่ามี กมธ.บางส่วนได้ไปพูดคุยกับตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล ว่าในรายงานไม่มีการเสนอให้นิรโทษกรรมคดี 112 แต่อย่างใด และความเห็นของ กมธ.เรื่องนิรโทษกรรมคดี 112 ก็เป็นความเห็นส่วนตัวของ กมธ.แต่ละคน จึงทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีท่าทียอมที่จะให้มีการพิจารณารายงานดังกล่าวในสัปดาห์นี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนาวแน่ 'สนธิญา' ยื่นอสส.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 'นายกฯอิ๊งค์' ตั้ง 'ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' ขัดรธน.

’สนธิญา‘ยื่น อสส.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายกฯอุ๊งอิ๊ง ตั้ง 'ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชี้พฤติการณ์สนับสนุนม๊อบเคยโดนตัดสิทธิทางการเมือง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี

นายกฯ ประชุมเตรียมความพร้อมเปิดตัว 'บ้านเพื่อคนไทย' 17 ม.ค.นี้

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กและทวิตข้อความผ่าน X ระบุว่า วันนี้เตรียมความพร้อมก่อนเปิด #บ้านเพื่อคนไทย