แจ้งเตือน9จว.ใต้ เฝ้าระวังดินสไลด์ ‘ธ.SME’ซับน้ำตา

ศปช.แจ้งเตือนภาคใต้ 9 จว.เฝ้าระวังดินสไลด์หลังฝนเคลื่อนลงใต้ ส่วนภาคกลางปรับระบายน้ำเจ้าพระยาลดลงอีกหลังน้ำเหนือลด กลาโหมช่วยประชาชน พร้อมเฝ้าระวังนนทบุรี-ปทุมธานีตลอด 24 ชม. "เผ่าภูมิ" ขึ้นแม่แตงให้ "SME Bank" ซับน้ำตาน้ำท่วม "พักหนี้ 1 ปี เติมทุน 2 แสน" ไม่ใช้หลักประกัน ไม่คิดค่าธรรมเนียม

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จากปริมาณฝนที่ยังตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงนี้ อาจส่งผลให้เกิดเหตุดินถล่มได้ในพื้นที่ 9 จังหวัด ขอแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเฝ้าระวังเหตุดินถล่ม ศปช.ขอแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงดินถล่มในพื้นที่ 9 จังหวัด  เฝ้าระวังและติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ได้แก่ จ.ภูเก็ต อ.เมืองภูเก็ต อ.กะทู้ อ.ถลาง , จ.กระบี่ อ.เมืองกระบี่ อ.เขาพนม อ.เกาะลันตา, จ.ตรัง อ.ย่านตาขาว อ.ปะเหลียน อ.ห้วยยอด อ.นาโยง, จ.สตูล อ.ควนโดน อ.ควนกาหลง อ.ละงู อ.ทุ่งหว้า อ.มะนัง, จ.พัทลุง  อ.กงหรา อ.ศรีบรรพต อ.ศรีนครินทร์ อ.เขาชัยสน อ.ตะโหมด อ.ควนขนุน, จ.สงขลา อ.หาดใหญ่ อ.สะบ้าย้อย อ.จะนะ อ.นาทวี อ.รัตภูมิ อ.สะเดา, จ.ปัตตานี อ.โคกโพธิ์ อ.หนองจิก อ.ปะนาเระ อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง อ.สายบุรี องยะรัง, จ.นราธิวาส อ.บาเจาะ อ.ยี่งอ อ.ระแงะ อ.รือเสาะ อ.ศรีสาคร อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.สุไหงปาดี อ.จะแนะ อ.เจาะไอร้อง และ จ.ยะลา อ.เบตง อ.ธารโต อ.กาบัง อ.บันนังสตา อ.ยะหา อ.รามัน อ.กรงปินัง

โดย ศปช.ขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากดินถล่ม หากต้องการความช่วยเหลือโทร.สายด่วนได้ที่เบอร์ 1567 ตลอด 24 ชม. สำหรับเหตุการณ์น้ำหลากดินถล่มในพื้นที่ อ.เบตง และ อ.ธารโต  จ.ยะลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผวจ.ยะลา พร้อมคณะทำงานได้มอบเงินเยียวยาแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัย และเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจและฟื้นฟูโดยเร็ว ส่วนถนนที่ได้รับความเสียหาย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงได้นำรถแบ็กโฮและเครื่องจักรเปิดเส้นทางให้รถได้สัญจรได้แล้ว พร้อมทั้งประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง

ส่วนสถานการณ์น้ำภาคกลาง นายจิรายุกล่าวว่า ปริมาณฝนที่ลดลงทำให้น้ำที่ไหลผ่านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงตามลำดับ ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสถานี  C.2 นครสวรรค์ 1,980 ลบ.ม./วินาที และการระบายน้ำปัจจุบันที่ 1,751 ลบ.ม./วินาที

ที่ประชุม ศปช.วันนี้ (14 ต.ค. 2567) จึงมีมติให้ทยอยปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลง เหลืออัตรา 1,700 ลบ.ม./วินาที ในเวลา 12.00 น. และเหลืออัตรา 1,650 ลบ.ม./วิ ในเวลา 21.00 น. เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำหนุนในช่วงวันที่ 13-24 ต.ค.นี้ ทั้งนี้ คาดว่าหากปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2-3 วันข้างหน้านี้จะสามารถปรับลดการระบายน้ำเหลือ 1,500 ลบ.ม./วินาทีได้ เป็นแนวโน้มที่ดีต่อประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนอีกด้วย

นายจิรายุกล่าวว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กห. ในฐานะประธานศูนย์ ศปช. จึงได้กำชับเหล่าทัพเร่งระดมกำลังพลเตรียมการช่วยเหลือประชาชนทันทีเมื่อเกิดภัยในพื้นที่ ต.ชนแดน อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ รวมถึงการฟื้นฟูทำความสะอาดและขุดตักดินโคลนที่ทับถมบ้านพักอาศัย รวมทั้งพื้นที่สาธารณะให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย รวมถึงมอบถุงยังชีพ สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค  พร้อมน้ำดื่มให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ ต.หนองผึ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในขั้นต้น พร้อมกันนี้ได้ร่วมกับส่วนราชการใน จ.นนทบุรี  และ จ.ปทุมธานี มอบถุงยังชีพสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย บรรจุและขนย้ายกระสอบทรายทำแนวกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ตลอดจนเร่งทำแนวคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันพื้นที่บ้านเรือนประชาชน  พื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมจัดกำลังพลเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชม.

นายจิรายุกล่าวถึงภาพรวมการจ่ายเงินเยียวยา และฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยว่า (ข้อมูล ณ 12 ต.ค. 2567) ความคืบหน้าการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยตามมติ ครม.เมื่อ 17 ก.ย. 2567 มีการยื่นคำร้องในระบบทั้งสิ้น 56 จังหวัด 195,851 ครัวเรือน โดย ปภ.ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินแล้ว 7 ครั้ง ได้จ่ายเงินผ่านพร้อมเพย์ไปแล้ว 6 ครั้ง  โอนเงินสำเร็จกว่า 17,352 ครัวเรือน จำนวนเงินทั้งสิ้น 86,888,000 บาท

ส่วนการฟื้นฟูในพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย  เป้าหมายบ้านเรือนประชาชน 1,367 ครัวเรือน ดำเนินการแล้ว 1,327 ครัวเรือน อยู่ระหว่างดำเนินการ 40 ครัวเรือน คิดเป็น 97% ด้านการดำเนินการฟื้นฟูในพื้นที่ อ.แม่สาย  จ.เชียงราย เฟส 2 เป้าหมายบ้านเรือนประชาชน 819 ครัวเรือน ดำเนินการแล้ว 660 ครัวเรือน อยู่ระหว่างดำเนินการ 159 ครัวเรือน คิดเป็น 80% การจัดการขยะในพื้นที่ ประมาณการขยะทั้งสิ้น 70,000 ตัน ดำเนินการทิ้งแล้วทั้งสิ้น 67,617 ตัน คิดเป็น 96.59%

สำหรับเชียงใหม่ขณะนี้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ทั้งในส่วนของตัวเมืองและอำเภอในพื้นที่ท้ายน้ำ โดยระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่จุด P.1 สะพานนวรัฐ ปัจจุบันลดต่ำลงเหลือ 2.29 เมตร ขณะที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวก็ลดเหลือเพียง 13 แห่งที่ยังมีผู้พักพิงอาศัยอยู่ รวมทั้งสิ้น 38 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ที่ยังอยู่ในระหว่างรอลูกหลานฟื้นฟูสภาพบ้านเรือนให้พร้อมเข้าอยู่อาศัยก่อน ส่วนการดำเนินการหลังจากนี้ไปจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูล้างทำความสะอาดบ้านเมืองอย่างเต็มกำลังในทั่วทุกพื้นที่ และในวันนี้ (14 ต.ค. 2567) ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ได้ระดมกำลังจากส่วนต่างๆ ทำความสะอาดถนน ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจและบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน

ด้านสถานการณ์อุทกภัยที่ จ.ลำพูน สถานการณ์น้ำท่วมเขตอำเภอเมืองล่าสุด (13 ต.ค.) มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ทั้ง 7 ตำบล รวม 81 ตัว ส่งผลให้ระดับน้ำลดลงในหลายพื้นที่

ขณะที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง เปิดเผยระหว่างการนำคณะธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ว่า กระทรวงการคลังโดย SME Bank ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาทุกข์ ลดค่าใช้จ่าย ต่อลมหายใจให้พี่น้องประชาชน ดังนี้

1.มาตรการ "พักชําระหนี้" เงินต้นและดอกเบี้ยผู้ขอสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามประกาศฯ มีสถานะหนี้ A หรือ M สามารถ "พักชําระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุด 1 ปี" และตั๋วสัญญาใช้เงิน ต่ออายุตั๋วสัญญา และสินเชื่อแฟคตอริ่ง ขยายเวลาชําระตั๋วสัญญาใช้เงินออกไปอีกสูงสุด 180 วัน

 2.มาตรการ "เติมทุนฉุกเฉินฟื้นฟูกิจการ" เติมทุนโดยให้กู้เพิ่มต่อราย 10% ของวงเงินอนุมัติสินเชื่อ สำหรับผู้ประสบภัยทางตรง บุคคลธรรมดา 30,000-1 แสนบาท  และนิติบุคคล  30,000-2 แสนบาท ระยะเวลากู้สูงสุด 3 ปี  พักชําระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน ไม่ใช้หลักประกัน ไม่คิดค่าธรรมเนียม

พ.ท.หญิง ปวีณา ศรีบัวชุม ผู้ช่วยโฆษก ทบ. เปิดเผยว่า พลเอกพนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการจิตอาสาพระราชทานกองทัพบก เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและความคืบหน้าในการเตรียมการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์อุทกภัย ณ เทศบาลตำบลบางขะแยง อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดที่มีความเสี่ยง  เนื่องจากมีพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและอาจได้รับผลกระทบเมื่อระดับน้ำสูงขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง