ศาลฎีกาฯ นักการเมืองชั้นอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง 4 ข้าราชการ คดีทุจริตจัดซื้อรถดับเพลิง กทม. 6 พันล้านบาท “วันชัย” ซัดกลางสภาปฏิวัติแก้โกงไม่ได้ 7-8 ปี วงจรอุบาทว์เลวร้ายกว่าเดิม
เมื่อวันที่ 18 มกราคม เวลา 10.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ได้อ่านคําพิพากษา (ชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์) คดีหมายเลขดําที่ อม.อธ. 2/2564 หมายเลขเลขแดงที่ อม.อธ. 1/2565 ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ นายสุวิทย์ ศิลาทอง น.ส.สุทิพย์ ทิพย์สุวรรณ พ.ต.อ.พิชัย เกรียงวัฒนสิริ พ.ต.ท.รักศิลป์ รัตนวราหะ ทั้งสี่คนดำรงตำแหน่งในฐานะกรรมการจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานครโดยวิธีพิเศษ จําเลยที่ 1-4 ตามลำดับ เรื่องความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล
คดีนี้ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2563 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้จําเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารโครงการฯ มีอํานาจหน้าที่บริหารโครงการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่การที่ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. นําร่างข้อตกลงของความเข้าใจในเรื่องการจัดหารถดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย (AGREEMENT OF UNDERSTANDING) หรือ A.O.U. ให้คณะกรรมการบริหารโครงการฯ พิจารณาก่อนลงนามใน A.O.U. ถึง 133,749,780 ยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6,687,489,000 บาท เพียง 1 วัน จึงเป็นที่สงสัยว่าเป็นการกระทําเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงในการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงที่มีราคาสูงมิให้จําเลยทั้งสี่ล่วงรู้ เพื่อให้การพิจารณาร่าง A.O.U. ผ่านไปได้โดยเร็ว และร่าง A.O.U. ระบุให้มีการลงนามระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรีย ทําให้จําเลยทั้งสี่เข้าใจว่า เป็นความตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ การรับทราบและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง A.O.U. พฤติการณ์ของจําเลยทั้งสี่ฟังได้ว่า จําเลยทั้งสี่ได้ปฏิบัติตามอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเท่าที่ทําได้ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการแล้ว
ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของจําเลยทั้งสี่ในฐานะคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ เห็นว่า เมื่อ A.O.U. เป็นการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษตามมติของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุของกรุงเทพมหานคร และเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษของกระทรวงกลาโหม ปรากฏว่า กรุงเทพมหานครมีการเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อทําความตกลงกับสาธารณรัฐออสเตรีย ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งจําเลยทั้งสี่เป็นคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ซึ่งเป็นการสลับขั้นตอนผิดไปจากการดําเนินการตามปกติ และยังเป็นการจํากัดอํานาจของคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษให้ต้องจัดซื้อตามราคาที่กําหนดมาแล้ว ทั้งการแต่งตั้งจําเลยทั้งสี่ดังกล่าวก่อน จะมีการลงนามซื้อขายในวันที่ 27 ส.ค.2547 เพียง 7 วัน เป็นการจํากัดให้จําเลยทั้งสี่มีเวลาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ให้น้อยที่สุด แม้ในช่วงระยะเวลาที่ยังไม่มีการแต่งตั้งจําเลยทั้งสี่ก็มีการดําเนินการต่างๆ โดยมุ่งหมายเพื่อทําข้อตกลงซื้อขายมาโดยตลอด การแต่งตั้งจําเลยทั้งสี่ดังกล่าวจึงเป็นเพียงเพื่อให้ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กําหนดไว้ในข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เรื่องการพัสดุ พ.ศ.2538
ประกอบกับคดีนี้เป็นการจัดซื้อจากต่างประเทศที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าต่างตอบแทนในราคาที่เท่ากัน จะอนุมานว่าจําเลยทั้งสี่ทราบข้อเท็จจริงว่ารถและเรือดับเพลิงมีราคาสูงอยู่ก่อนแล้วย่อมเป็นการรับฟังเป็นผลร้ายแก่จําเลยทั้งสี่ พฤติการณ์แห่งคดีมีข้อจํากัดทําให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและเป็นไปได้ว่าจําเลยทั้งสี่เป็นเพียงกลไกที่ถูกใช้เป็นทางผ่านเพื่อนําไปสู่การจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง ตามที่มีการดําเนินการโดยส่วนอื่นๆ มาแต่ต้น จึงยังฟังไม่ได้ว่าการจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยในราคาสูงนั้น เกิดจากการที่จําเลยทั้งสี่ไม่ได้ตรวจสอบหรือสืบราคาเปรียบเทียบ
นอกจากนี้ ไม่ปรากฏผลประโยชน์อย่างอื่นจากการกระทําดังกล่าวที่จะเชื่อมโยงให้เห็นถึงเจตนาของจําเลยทั้งสี่ว่าต้องการได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งตอบแทน พยานหลักฐานตามทางไต่สวนฟังไม่ได้ว่า จําเลยทั้งสี่มีเจตนาปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออํานวยแก่บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ประเทศออสเตรีย ให้เป็นผู้มีสิทธิทําสัญญากับ กรุงเทพมหานครแต่อย่างใด
ทั้งคดีอาญาศาลต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจะถือเอาข้อเท็จจริงในคดีก่อนมาผูกพันเทียบเคียงสําหรับการกระทําที่แตกต่างกัน โดยที่จําเลยทั้งสี่ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีด้วยไม่ได้ คําพิพากษาที่โจทก์อ้างไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าจําเลยทั้งสี่มีเจตนาในการกระทําความผิดร่วมกับ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องจําเลยทั้งสี่มานั้น องค์คณะผู้พิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ เสียงข้างมากเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ศาลจึงพิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปี 2556 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ มีคำพิพากษาจำคุกนายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย เป็นเวลา 12 ปี โดยไม่รอลงอาญา และจำคุก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เป็นเวลา 10 ปี ไม่รอลงอาญา กรณีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างรถและเรือดับเพลิงกรุงเทพมหานคร แต่จำเลยทั้งสองหลบหนี ส่วนนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย, นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศาลให้ยกฟ้อง เนื่องจากไม่พบการกระทำความผิด
ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานที่ประชุม ได้พิจารณา รายงานเรื่องบทวิเคราะห์กฎหมายว่าด้วยความผิดกรณีการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่มีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน กมธ. เสนอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานดังกล่าวชี้ชัดถึงกรณีที่ประเทศไทยได้รับการประเมินดัชนีรับรู้การทุจริต หรือซีพีไอ ขององค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยมาตรฐานโลก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะพบว่ามีการขัดกันแห่งผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ รวมถึงรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระ ที่มีพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์จากการใช้อำนาจรรัฐโดยมิชอบด้วยการเรียกรับสินบน สินน้ำใจ และใช้ทรัพย์สินของราชการและงบประมาณเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง รวมถึงเลือกปฏิบัติในการใช้อำนาจเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ทั้งนี้ กมธ.เรียกร้องให้นำร่างกฎหมายว่าด้วยความผิดกรณีการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ.... ที่เคยเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาปรับปรุงให้ทันสถานการณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายของ ส.ว. ได้สนับสนุนเนื้อหาของรายงาน โดยนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า ขอตั้งข้อสังเกตการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ต้องรอผู้ร้องถึงจะทำงาน “ที่ผ่านมาการปฏิวัติ หรือเมื่อพูดถึงการปฏิรูป สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ คือการทุจริต ซื้อสิทธิขายเสียงเลือกตั้ง แต่ 7-8 ปี จนถึงปัจจุบันพบว่าวงจรอุบาทว์ของการทุจริตเลวร้ายกว่าเดิม จนบางคนพูดตายคาสภายังแก้ไม่ได้ สิ่งที่ผมอยากฝากคือ ข้าราชการการเมืองที่ดำรงตำแหน่งทับซ้อนกัน แน่นอนว่าคนทำธุรกิจต้องการเงินและหวังกำไร หาช่องว่างทางกฎหมายทุกเม็ดเพื่อให้ได้ผลประโยชน์และกำไร ส่วนข้าราชการเกษียณที่รู้ช่องมักไปทำงานในบริษัทเอกชน ทั้งที่ข้าราชการของประเทศไทยทำงานเพื่อเกียรติ ศักดิ์ศรี ไม่ใช่หวังผลกำไร”.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม