ไม่ดรามา! นักร้องเบอร์หนึ่ง "เรืองไกร" ร้อง กกต.ตรวจสอบ "แพทองธาร" ความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ หลังตั้ง "สุรพงษ์-ณัฐวุฒิ" พ่วงอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ให้ข่าว "เงินบาทแข็งดีต่อการส่งออก" "แม่น้ำปิงไหลลงแม่น้ำโขง” ด้าน “จิรายุ” แจงปมแม่น้ำ 4 สาย เหตุนายกฯ พูดเว้นวรรคช่องไฟไม่ห่างพอ
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำความตามพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2550 ไปทำการตรวจสอบเพิ่มเติม ต่อจากคำร้องฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ว่า การแต่งตั้งนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และการแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
รวมทั้งตรวจสอบเพิ่มเติมประเด็นใหม่ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) ที่อาจมาจากให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชนอันอยู่ในความรับผิดชอบของตน ไม่ถูกต้องครบถ้วนและบิดเบือน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 15 หรือไม่ โดยมีความในหนังสือแยกเป็นข้อๆ ดังนี้
ข้อ 1. ตามที่ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 เพื่อขอให้ กกต.รีบทำการตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจว่า การแต่งตั้งนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 319/2567 ลงวันที่ 16 กันยายน 2567 และการแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 348/2567 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2567 จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ และหากตรวจสอบแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องมีมูล ขอให้ กกต.รีบส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว ตามความในมาตรา 170 วรรคสาม พร้อมทั้งมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ตามความในมาตรา 82 วรรคสอง ด้วย ดังความควรแจ้งแล้วนั้น
ข้อ 2. ต่อกรณีดังกล่าว IG ของโพสต์ทูเดย์ ลงข่าวและคลิปเสียง หัวข้อข่าว “ภูมิธรรม” มั่นใจ “นายกฯ” ตั้ง “เต้น” ไม่ซ้ำรอย “เศรษฐา” นั้น
ข้อ 3. เนื่องจากคำสั่งทั้งสองดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งเคยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2550 พิพากษาเกี่ยวการที่นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (6) ไว้แล้ว จึงขอคัดคำพิพากษาบางส่วนมาให้ กกต. นำไปประกอบการตรวจสอบต่อไป ดังนี้
อำนาจหน้าที่นายกฯ
“... ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินร่วมกับรัฐมนตรีอื่นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติมาตรา 201 และมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ในการบริหารราชการแผ่นดิน มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ออกเป็น 3 ส่วน
ได้แก่ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล และมีอำนาจกำกับโดยทั่วไป ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจสั่งให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่นชี้แจงแสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติคณะรัฐมนตรีก็ได้ มีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม
รวมทั้งมีอำนาจดำเนินการอื่นๆ ในการปฏิบัติตามนโยบายส่วนการจัดระเบียบราชการในกระทรวงต่างๆ มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรืออนุมัติ แต่มีข้อจำกัดว่าอำนาจดังกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 11
กล่าวคือ ต้องไม่เป็นการขัดหรือแย้งหรือลดทอนอำนาจที่มีอยู่ของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ บทบัญญัติมาตรา 217 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ยังกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ในการให้รัฐมนตรีผู้ใดพ้นจากการเป็นรัฐมนตรี จึงแสดงให้เห็นถึงอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดินว่ามีขอบเขตอย่างกว้างขวาง มีอำนาจเหนือข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งในทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทบวงต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการกระทรวงและทบวงนั้นๆ โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับ ดูแล ตามลำดับผ่านรัฐมนตรี ...”
สิ้นสุดลงเฉพาะตัว
ข้อ 4. กรณีตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เมื่อนำมาพิจารณาตรวจสอบกับการแต่งตั้งนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 319/2567 ลงวันที่ 16 กันยายน 2567 และการแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 348/2567 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ดังกล่าว จึงอาจเข้าข่ายที่จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีของนายเศรษฐา ทวีสิน เช่นกัน ดังนั้น กกต. จึงควรทำการตรวจสอบต่อไป
ข้อ 5. อนึ่ง กรณีความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) เมื่อกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 160 (5) คือไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงนั้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อาจกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 15 อีกด้วย กล่าวคือ “ให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชนอันอยู่ในความรับผิดชอบของตน ไม่ถูกต้องครบถ้วนและบิดเบือน” ซึ่งเห็นได้จากการให้ข่าวว่า “เงินบาทแข็งดีต่อการส่งออก” หรือการให้ข่าวว่า “แม่น้ำปิงไหลลงแม่น้ำโขง” ซึ่งการให้ข่าวดังกล่าว อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 15 ตามมาได้ เพราะคนที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรี จะมากล่าวอ้างแก้ตัวขอความเห็นใจว่า ไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์หรือภูมิศาสตร์พื้นฐานดังกล่าว คงมิอาจรับฟังได้
ข้อ 6. ดังนั้น จึงมีเหตุอันควรขอให้ตรวจสอบต่อไปว่า การแต่งตั้งนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 319/2567 ลงวันที่ 16 กันยายน 2567 และการแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 348/2567 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2567 จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบเพิ่มเติมประเด็นใหม่ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) ที่อาจมาจากให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชนอันอยู่ในความรับผิดชอบของตน ไม่ถูกต้องครบถ้วนและบิดเบือน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 15 หรือไม่
เว้นช่องไฟไม่ห่างพอ
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เสียงจากใจไทยคู่ฟ้า” ถึงประเด็นดรามาที่ น.ส.แพทองธารพูดถึงสถานการณ์น้ำ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ไปลงแม่น้ำโขง ว่า จริงๆ แล้วนายกฯ อาจเว้นวรรค เว้นช่องไฟไม่ห่างพอ โดยพูดถึง 2 ประเด็นมารวมกัน ต้องอธิบายว่าน้ำที่ท่วมแม่สาย เชียงแสน บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ถ้าหันหน้ามองไปฝั่งตรงข้ามคือ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา คือแม่น้ำสายที่จะไหลไปรวมในแม่น้ำโขง ตรงนี้สถานการณ์ดีขึ้นไม่เอ่อท่วม แต่น้ำที่ท่วมในตัวเมืองเชียงรายคือแม่น้ำแม่กก
ส่วนแม่น้ำปิงในจังหวัดเชียงใหม่ จะไหลไปที่จังหวัดลำพูน แม่น้ำวัง จังหวัดลำปาง ขณะที่ฝั่งตะวันตกจะไปลงที่เขื่อนภูมิพลจังหวัดตาก และจะลงไปรวมที่ปากน้ำโพจังหวัดนครสวรรค์ เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ลงสู่เหนือตอนล่าง กลางตอนบน แต่นายกฯ อาจเว้นช่องไฟไม่ห่างพอ และสัปดาห์นี้น้ำจากเหนือจะทยอยมาภาคกลาง แต่ไม่น่ากังวลใจเหมือนปี 2554 เนื่องจากการบริหารจัดการในครั้งนี้เชื่อว่าจะสามารถผ่านไปได้ด้วยดี
ขณะที่ นายวรชัย เหมะ อดีต สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์นายณัฐวุฒิรับตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ เป็นการตระบัดสัตย์ กลืนน้ำลายตัวเองเพื่อมุ่งหาอำนาจว่า การที่นายณัฐวุฒิรับเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ เป็นตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจสั่งการข้าราชการ รวมถึงไม่ได้รับเงินเดือน จึงไม่ใช่การวิ่งหาอำนาจ แต่เวลานี้มีคนออกมาโจมตีรัฐบาลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เป็นการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง นำไปสู่การล้มรัฐบาล
นายวรชัยกล่าวว่า นายณัฐวุฒิเป็นนักประชาธิปไตย และเป็นนักสู้ มีจุดยืนประชาธิปไตยที่ไม่เปลี่ยนแปลง รัฐบาลปัจจุบันก็ถือเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเวลานี้ก็ไม่มีลุงอยู่ร่วมรัฐบาลแล้ว ที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ เพิ่งถูกฝ่ายเผด็จการล้มไป น.ส.แพทองธารถือว่าเป็นนายกฯ ของฝ่ายประชาธิปไตย นายณัฐวุฒิจึงจำเป็นต้องเข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่ออธิบายความทำความเข้าใจเรื่องที่ฝ่ายแค้นออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปกป้องรัฐบาล เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้เข้ามาเป็นฝ่ายบริหาร จึงไม่เข้าใจว่าพวกที่ค้านพวกที่แค้นทำไมต้องมาลากไส้นายณัฐวุฒิถึงขนาดนี้ แล้วถ้ารัฐบาลล้มไปจริง พวกเขาจะได้อะไร มีแต่ประเทศที่จะเสียหาย วันนี้รัฐบาลกำลังทำงานเพื่อประชาชน
“หากมีอะไรไม่ชอบมาพากล ก็มีฝ่ายค้านในสภาคอยตรวจสอบอยู่แล้ว ดังนั้นจึงขอให้ฝ่ายแค้นรอดูผลงาน ถ้าไม่ถูกใจค่อยไประบายในการเลือกตั้ง ไม่ใช่ตั้งท่าลงถนนดึงประเทศกลับสู่วังวนขัดแย้ง” นายวรชัยกล่าว
ให้โอกาสนายกฯ ทำงาน
นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ทั้งจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายยังไม่พ้นวิกฤตสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ บางพื้นที่น้ำลดแล้ว แต่ก็ยังมีโคลนเกาะแน่น ซึ่งรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมสรรพกำลังพร้อมอุปกรณ์ลงไปช่วยอย่างเต็มที่ โดยทุกคนต่างทำงานอย่างหนักเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน อาทิ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ในฐานะที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า ได้ลงไปปักหลักติดตามและแก้ไขสถานการณ์ถึงหน้างานในจังหวัดเชียงราย ที่ สถานการณ์ยังคงหนักอยู่ ขณะที่ฝ่ายค้านยังมีบางพรรคการเมืองที่จ้องจะใช้การไม่ได้มาตอบกระทู้ถามสดในสภา เป็นประเด็นโจมตีรัฐบาล ตรงนี้ตนมองว่าไม่เหมาะสม ขอให้ทุกฝ่ายลดวาทกรรมหรือเพลาการเล่นเกมการเมืองลงบ้าง ในสถานการณ์ที่ประชาชนเดือดร้อนอย่างนี้ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจช่วยผู้ประสบภัยก่อนจะดีกว่า
เมื่อถามว่า มองความเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยเป้าหมายไปถึงการยุบพรรคเพื่อไทย และบางคนมองว่าอาจเป็นตัวเร่งให้มีการเปลี่ยนตัวนายกฯ อีกครั้งนั้น นายธนกรกล่าวว่า หากประเด็นใดเข้าข่ายผิดหรือขัดต่อข้อกฎหมายจริง ๆ ก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะวินิจฉัย ซึ่งตนไม่ก้าวล่วง แต่เชื่อมั่นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยึดตามกระบวนการกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา
นายธนกรกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นดรามาจับผิดนายกฯ เรื่องการใช้ไอแพด การแต่งกายต่างๆ นานา ตนมองว่าสังคมควรจับจ้องประเด็นหลักเรื่องการทำงาน การแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงนโยบายทั้งหมดที่ได้แถลงต่อรัฐสภาไว้ รัฐบาลสามารถเดินหน้าทำตามที่ได้แถลงไว้ได้หรือไม่มากกว่า
“ส่วนตัวมองว่าควรให้โอกาสและให้เวลานายกฯ และรัฐบาลได้ทำงานพิสูจน์ฝีมือให้ประชาชนเห็น ว่าได้ทำตามที่หาเสียงและได้แถลงต่อรัฐสภาไว้แล้ว ทำได้จริงหรือไม่ หากมีข้อผิดพลาดบกพร่อง ก็ต้องรับผิดชอบตามกระบวนการ ซึ่งทุกฝ่ายก็ควรให้กำลังใจและให้โอกาส ไม่ใช่มัวแต่จ้องจับผิดและสร้างประเด็นดรามาโจมตีกันไปมา ควรใช้โอกาสที่มีสถานการณ์วิกฤต ร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือประชาชนให้สามารถก้าวพ้นความทุกข์ยากเดือดร้อนในช่วงนี้ไปให้ได้” นายธนกรกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน
ธ.ค.เปิดชื่อแจกหมื่นเฟส2 หั่นเงินส่งFIDFแลกแก้หนี้
“คลัง” ปักธงแจกหมื่นเฟส 2 เป็นเงินสด ให้กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 4 ล้านราย
ผบ.ทร.ดันฟริเกต2ลำ ลุ้นไฟเขียว‘เรือดำน้ำ’
ผบ.ทร.ดันฟริเกต 2 ลำ งบปี 69 เล็งใช้อู่ในประเทศต่อเรือ
พท.ขู่ฟ้องกลับธีรยุทธ
"นายกฯ อิ๊งค์" วางคิวแถลงผลงานรัฐบาลรอบ 100 วัน 12 ธ.ค.
พลิก!สยามผบช.น. สันติไปปส.น้องเสธ.หิคุมไซเบอร์/ประสบการณ์ใหม่‘อิ๊งค์’
"นายกฯ" นั่งหัวโต๊ะ ก.ตร. ลากยาว 4 ชม. ถกแต่งตั้ง 41 นายพลสีกากีระดับรอง