15ต.ค.‘อิ๊งค์’ตรวจการบ้าน แก้ปัญหา-เยียวยาอุทกภัย

นายกฯ อิ๊งค์เตรียมนั่งหัวโต๊ะ 15 ต.ค. ตรวจการบ้านน้ำท่วม “จิรายุ” ฟุ้งภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยในภาคเหนือเอาอยู่แล้ว กนช.สั่งถอดบทเรียน พร้อมเร่งเยียวยา “ศปช.” เผยกรมชลประทานลดระบายน้ำในเขื่อนต่อเนื่อง เตือนภาคใต้ระวังน้ำป่า “ปชป.” จี้วางแผนแก้อุทกภัยในระยะยาว

เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า  รัฐบาลได้ดูแลสถานการณ์ทั่วประเทศอยู่แล้ว โดยขณะนี้ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ เริ่มมีฝนตก จึงได้สั่งการให้มีการป้องกันสถานการณ์อุทกภัยในทุกพื้นที่

ขณะที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 4/2567 โดยระบุว่า ปัจจุบันยังมีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย 19  จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, ตาก, พิษณุโลก, นครสวรรค์, สุโขทัย, อุดรธานี, กาฬสินธุ์, ชัยภูมิ, มหาสารคาม, อุบลราชธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, สุพรรณบุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งบริหารจัดการน้ำให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ รวมถึงเร่งเยียวยาผู้ประสบภัยและฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด

“ไทยยังมีแนวโน้มที่จะเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่เปราะบาง และพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ ปี 2567 พร้อมให้ถอดบทเรียนด้านการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำและอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุจรที่ผ่านมาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาแนวทาง การปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป โดยให้รายงานผลการดำเนินงานต่อ กนช.ต่อเนื่อง” นายประเสริฐกล่าว

ขณะที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับ มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการให้ สทนช.ทราบทุกเดือน จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการเป็นไปตามแผนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และ ศปช.ส่วนหน้า กล่าวว่า จากการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบของประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานว่า ในช่วง 12.00 น. วันที่ 11 ต.ค.2567 จะปรับลดการระบายน้ำลงอีก อยู่ที่ 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเป็นระดับที่ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สิงห์บุรี และบางพื้นที่ของ จ.อ่างทอง จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

“แม้จะมีการปรับลดการระบายน้ำแล้ว แต่ในช่วงวันที่ 13-24 ต.ค.นี้ พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา  โดยเฉพาะจังหวัดท้ายเขื่อน ตั้งแต่จังหวัดชัยนาท ลงมา อาทิ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังระดับน้ำที่อาจเข้าท่วมชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกัน ซึ่งที่ประชุม ศปช.ได้สั่งการให้ สทนช. กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ และ กทม. เฝ้าระวังและเตือนภัยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อไป” นายจิรายุกล่าว

นายจิรายุกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งอุปสรรคสำคัญคือการกำจัดโคลนที่ตกค้างในพื้นที่ โดย ศปช.ส่วนหน้าได้แบ่งพื้นที่รับผิดชอบเป็น 2 โซนหลัก 6 โซนย่อย โดยกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบโซนเหมืองแดง เหมืองแดงใต้ และปิยะพร ด้านกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบโซนหัวฝาย-สายลมจอย เกาะทราย ไม้ลุงขน

“ที่ประชุมได้รับรายงานว่า ขณะนี้ทุกอย่างเดินหน้าตามแผนที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะบริเวณตลาดสายลมจอย ซึ่งถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้ระดมเคลียร์โคลนออก จนทำให้เช้าวันนี้สามารถเคลียร์พื้นที่จนเดินเท้าเข้า-ออกได้อย่างสะดวกมากขึ้น หลังจากนี้จะทำให้การเข้าทำความสะอาดบ้านเรือน ประชาชนเดินหน้าได้รวดเร็วมากขึ้น” นายจิรายุกล่าว

ต่อมาในช่วงเย็น นายจิรายุให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ในวันอังคารที่ 15 ต.ค.นี้ เวลา 15.00 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อติดตามและรับฟังความคืบหน้าการปฏิบัติงานของ ศปช.และ ศปช.ส่วนหน้า ในการแก้ปัญหาสถานการณ์อุทกภัย การฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และอุปสรรคในการทำงาน

“นายกฯ เป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้มาก ไม่ว่าจะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ก็ได้ติดตามการทำงานของรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งส่งกำลังใจฝากถึงผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่ และในวันที่ 15 ต.ค. นายกฯ ก็จะรับฟังความคืบหน้าการทำงานของ ศปช.และ ศปช.ส่วนหน้า รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง เพื่อเร่งช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้เร็วที่สุด” นายจิรายุกล่าว

นายจิรายุกล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือขณะนี้ ที่ จ.เชียงราย อยู่ระหว่างการฟื้นฟูและกู้พื้นที่หลังน้ำลด เกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ ต.หนองแฝก อ.สารภี ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ท้ายน้ำ ทำให้มีน้ำขังนานกว่าพื้นที่อื่น หลายหน่วยงานเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว ขณะเดียวกันก็เดินหน้าฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับสู่สภาพเดิมเร็วที่สุด ส่วนที่ จ.ลำพูน ขณะนี้มีน้ำท่วมขังรอการระบาย บริเวณบ้านหลุก หมู่ที่ 8 (หลังสวนกาญจนาภิเษกฯ) ต.เหมืองง่า อ.เมืองลำพูน ซึ่งชลประทาน จ.ลำพูน เพิ่มเครื่องสูบน้ำระบายด้านท้ายน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำกวงและแม่น้ำปิง ที่ยังสามารถรองรับการระบายจากพื้นที่ท่วมขังได้

นายจิรายุกล่าวว่า ส่วนพื้นที่ภาคใต้ ในระยะนี้ ต้องเฝ้าระวัง หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศในพื้นที่ภาคใต้ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ในระหว่างวันที่ 16 ส.ค.-11 ต.ค.67 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 45 จังหวัด รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 279 อำเภอ 1,238 ตำบล 6,463 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 253,454 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 52 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 28 คน ซึ่งปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 15 จังหวัด รวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 60 อำเภอ 306 ตำบล 1,523 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,954 ครัวเรือน

ด้านนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ ทำให้เห็นว่าเราจะอยู่อย่างเดิมไม่ได้อีกต่อไป คำถามคือจากนี้ไป เราต้องทำอะไรบ้างถึงจะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลในระยะยาว ไม่เช่นนั้นปีหน้าก็จะเกิดขึ้นอีก และปีต่อๆ ไปก็จะเกิดขึ้นอีก ความทุกข์ซ้ำซากแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกต่อไป นั่นคือบทบาทพรรคการเมืองและพรรค ปชป.ยุคใหม่

นายสมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน พรรค ปชป. กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเหนือน้ำลดลงแล้ว แต่ดินโคลนก็ยังอยู่ และยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนที่จะนำโคลนออกจากบ้านประชาชน ที่อำเภอแม่สายยังขาดแรงงานคน ทางทหารก็ได้มีการสลับสับเปลี่ยน ไม่ได้ลงพื้นที่เยอะเหมือนก่อนหน้านี้ บ้านบางหลังก็ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ เพราะยังขาดแรงงานอยู่ จึงอยากให้รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่จิตอาสาเข้าไปช่วยเหลือที่เชียงราย มีลักษณะคล้ายกับที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอปายเมื่อปี 2548 ซึ่งเราต้องวางแผนทำวิกฤตให้เป็นโอกาส ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเร่งปรับโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่เร่งเฉพาะเยียวยา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง