"อนุทิน" แจง ภท.งดออกเสียงร่าง กม.ประชามติ เหตุต้องการฟังทั้ง 2 สภา ยันไม่กระทบสัมพันธ์พรรคร่วม เพราะไม่ใช่นโยบาย ลั่น สส.ไม่ใช่หุ่นยนต์ มั่นใจได้ปกป้องสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองไว้แล้ว "พิธา" โยนถาม "ภท." ต้องการส่งสัญญาณอะไรแก่สังคม ปธ.กกต.เซ็นตั้งทีม คกก.ที่ปรึกษากฎหมายใหม่ ดึงบิ๊ก ขรก.ร่วมทีม หลังโละชุดเก่าออกเหตุ "สุรพล" ไปเป็นพยานคดียุบ "ก้าวไกล" ล้มล้างการปกครอง
เมื่อวันพฤหัสบดี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงเหตุผลที่พรรคภูมิใจไทยงดออกเสียงการลงมติร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่….) พ.ศ..... ว่า พรรคภูมิใจไทยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรับฟังทุกฝ่าย ซึ่งการทำประชามติเป็นประเด็นสำคัญ ในเมื่อสภาเห็นอย่างหนึ่ง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เห็นอย่างหนึ่ง ตนจึงเห็นว่าเป็นการดีที่จะให้ทั้งสองสภามาหารือกันเพื่อที่จะตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน จึงต้องสงวนท่าทีตรงนี้ไว้ก่อน เพื่อที่จะได้มีโอกาสในการรับฟังทั้งสองฝ่าย
"การงดออกเสียงไม่ได้แปลว่าไม่เห็นด้วยหรือสวนทางใคร แต่เราต้องการจะฟังเพื่อมีส่วนร่วม ซึ่งทางพรรคภูมิใจไทยก็สามารถตั้งกรรมาธิการตามสัดส่วนเข้าไปได้"
เมื่อถามว่า การที่พรรคภูมิใจไทยงดออกเสียง ดูเหมือนเป็นการโหวตสวนทางกับพรรคร่วมรัฐบาล จะมีผลกระทบต่อการทำงานร่วมกันหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่เกี่ยว นี่ไม่ใช่เรื่องของนโยบายหรือการทำงานของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของสภา ที่ต้องแยกแยะออกจากกัน เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่การโหวตสวนกับรัฐบาล
"เราไม่ใช่หุ่นยนต์ สส.ทุกคนก็มีความคิดเป็นของตัวเอง จะไปสั่งซ้ายหัน ขวาหัน กลับหลังหัน โดยที่ไม่ให้เขาได้แสดงความคิดเห็นเลยก็ไม่ได้" นายอนุทินกล่าว
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าการโหวตเช่นนี้จะกระทบความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาล นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มี เราเป็นรัฐบาลร่วมกัน ต้องหนักแน่น อย่างที่ตนได้บอกไปเรื่องการทำประชามติที่มีความเห็นแตกต่างกัน และพรรคภูมิใจไทยไม่ได้คัดค้านหรือไม่เอา แต่งดออกเสียง แล้วมาตั้งกรรมาธิการร่วม
"สำหรับพรรคภูมิใจไทย เรื่องการทำประชามติเราต้องมีเครื่องป้องกันที่ทำให้เกิดความมั่นใจ เพราะสิ่งที่ต้องใช้เสียงประชามตินั้น เป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องมั่นใจว่าเราได้ปกป้องสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไร" นายอนุทิน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทยงดออกในการลงมติร่าง พ.ร.บ.ประชามติว่า เรื่องนี้ตนก็งง เพราะวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมาโหวตผ่าน แต่คราวนี้งดออกเสียง ก็ต้องกลับไปถามพรรคภูมิใจไทยว่าต้องการที่จะส่งสัญญาณอะไรกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นการทำประชามติว่ามีเหตุผลอะไร ที่ทำให้ภายในระยะเวลาเดือนกว่าๆ มีความคิดที่แตกต่างออกไป คงต้องฝากไปถามพรรคภูมิใจไทย
สำหรับกระแสข่าวนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เข้าไปรับประทานอาหารที่บ้านจันทร์ส่องหล้ากับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั้น นายพิธากล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องส่วนตัวว่าคุยอะไรกัน การเมืองภาพใหญ่ประชาชนควรเป็นส่วนสำคัญในการที่จะคิดอะไร มีคนมาเล่าให้ฟังอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่ใช่จุดสำคัญที่จะต้องมาคอยโฟกัส เราควรโฟกัสในสิ่งที่เราควบคุมได้จะดีกว่า แต่หากอยากจะฝากบอกอะไรพรรคประชาชน ตนจะบอกว่าให้เน้นที่ประชาชนเยอะๆ
ผู้สื่อข่าวถามถึงการทำงานของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายพิธากล่าวว่า คงต้องเปรียบเทียบกับแผนงานว่ามีความตั้งใจอย่างไร ซึ่งตนไม่ทราบว่ามีเป้าหมายจะทำอะไร เลยไม่รู้ว่าจะต้องวิเคราะห์อย่างไร แต่คนเป็นผู้นำควรมีวาระ 100 วันแรก ว่าตั้งใจจะทำอะไร เพราะหากไม่มีแผน เวลาเจอปัญหาเข้ามาก็จะเมาหมัด ไม่รู้ต้องทำอะไรก่อนหรือหลัง จึงอยากให้รัฐบาลมีวาระและความเข้าใจในการทำงาน เนื่องจากตอนนี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทั้งปัญหาภัยพิบัติและปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องถือไอแพดเป็นเรื่องเล็กน้อย เรื่องเนื้อหาเป็นเรื่องสำคัญกว่า ใครก็พูดผิดกันได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ต้องดูกันที่มีวิสัยทัศน์หรือไม่
เมื่อถามถึงความนิยมของพรรรคประชาชนที่ลดลงตามหลังพรรคเพื่อไทย นายพิธาระบุว่า ตนพูดตั้งแต่สมัยพรรคก้าวไกลแล้วว่า แพ้เป็นถ่าน ผ่านเป็นเพชร จะเป็นเพชรได้ ต้องใช้ทั้งความอดทน ความกดดัน ความร้อน และเวลา เชื่อว่านายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และเพื่อน สส.ของพรรค คงจะจำบรรยากาศจากอนาคตใหม่มาเป็นก้าวไกลได้ หากเราผ่านกระบวนการนี้ไปได้ ทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดี
มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการเผยเเพร่ คำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ลงนามโดย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. ความว่า ตามที่ กกต.ได้มีคำสั่งที่ 60/2561 ลงวันที่ 3 ต.ค.2561 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. และคำสั่งที่ 66/2561 ลงวันที่ 17 ต.ค. เรื่องแต่งตั้งประธานกรรมการ ในคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. จึงเห็นสมควรให้มีการปรับปรุงคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.ให้เป็นปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการของ กกต.เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จึงยกเลิกคำสั่งดังกล่าวข้างต้น และแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.คณะใหม่
ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้ 1.นายศุภชัย สมเจริญ เป็นกรรมการ 2.รศ.กิตติศักดิ์ ปรกติ เป็นกรรมการ 3.นายสุทธิโชค เทพไตรรัตน์ เป็นกรรมการ 4.นายศิริชัย จิระบุญศรี เป็นกรรมการ 5.นายอนุรักษ์ นิยมเวช เป็นกรรมการ 6.นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ เป็นกรรมการ 7.พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง เป็นกรรมการ 8.รศ.ยุทธพร อิสรชัย เป็นกรรมการ 9.ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดีเป็นเลขานุการ 10.รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดีเป็นผู้ช่วยเลขานุการ 11.ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย 1 เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
โดยให้คณะกรรมการประชุมเพื่อเลือกกรรมการคนหนึ่ง เป็นประธานกรรมการให้คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.มีอำนาจหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมาย รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ตามที่ กกต.มอบหมาย และมีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค.2567 ทาง กกต.มีมติให้มีการปรับปรุงคณะที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.ใหม่ หลังจากที่นายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีต กกต.และประธานที่ปรึกษากฎหมายชุดดังกล่าว ได้ยื่นหนังสือลาออก เนื่องจากได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เเละมีรายงานว่า กกต.ไม่สบายใจ จากกรณีที่นายสุรพล นิติไกรพจน์ หนึ่งในที่ปรึกษากฎหมาย ไปให้ถ้อยคำเป็นพยานให้กับพรรคก้าวไกล ในคดีที่ กกต.ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากกระทำการล้มล้างการปกครองฯ แล้วก็ทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 จากเหตุเสนอแก้ไขมาตรา 112 และมีนโยบายหาเสียงให้มีการแก้ไขในลักษณะล้มเลิกกฎหมายดังกล่าว จึงมีการปรับปรุงคณะที่ปรึกษากฎหมายดังกล่าว
โดยคณะกรรมการชุดนี้ยังมีนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน มือดีจากสำนักงานอัยการสูงสุด เเละนายอนุรักษ์ นิยมเวช อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีชื่อเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาชุดเก่าที่ยังได้มีชื่อดำรงตำเเหน่งกรรมการชุดนี้ต่อ อีกทั้งยังมีชื่อนายศุภชัย สมเจริญ อดีตรองประธานวุฒิสภา เเละ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง อดีตคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นคณะที่ปรึกษาชุดนี้ด้วย
ทั้งนี้ ที่คณะปรึกษากฎหมายของ กกต.มาจากการเสนอชื่อของ กกต.แต่ละคน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ