‘อิ๊งค์’ชู3แนวทางอาเซียน แก้อาชญากรรมข้ามชาติ

"แพทองธาร" ร่วมเวทีประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น เสนอ 3 แนวทาง "ดิจิทัล-พลังงานสีเขียว-นวัตกรรม" กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมาชิกอาเซียนและจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพื่อส่งเสริมภูมิภาคเอเชียตะวันออก เน้นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ นายกฯ แคนาดาชมไทยผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 เวลา 11.30 น.   น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาชิกอาเซียน ร่วมประชุมกับนายชิเกรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 27 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) น.ส.แพทองธารกล่าวแสดงความยินดีต่อนายชิเกรุ อิชิบะ ในโอกาสที่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยญี่ปุ่นนับเป็นพันธมิตรที่อาเซียนเชื่อถือไว้วางใจ มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ  และมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ดังนั้น อาเซียนและญี่ปุ่นจะเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เข้มแข็ง ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม 3 ประการ ดังนี้

 ประการที่หนึ่ง “การเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่โลกแห่งดิจิทัล” ทั้งนี้ ประเทศไทยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของญี่ปุ่นในด้านดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล นอกจากนี้ อาเซียนและญี่ปุ่นควรเพิ่มความร่วมมือในการพัฒนาทักษะและเพิ่มทักษะใหม่ให้แก่ MSMEs รวมถึงเปิดโอกาสให้ MSMEs เข้าถึงตลาดใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ได้นำมาซึ่งประโยชน์มากมายต่อพลเมือง แต่ก็เปิดโอกาสให้เกิดการใช้งานในทางที่ผิดได้เช่นกัน ดังนั้น อาเซียนและญี่ปุ่นควรร่วมมือกันส่งเสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์ และต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์ให้มากขึ้น ผ่านศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

 ประการที่สอง “การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว” เน้นย้ำว่าความมุ่งหวังของรัฐบาลในการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดและยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค   พร้อมแสดงความยินดีต่อการดำเนินการของโครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (ASEAN-Japan Co-Creation Initiative for the Next-Generation Automotive Industry) และไทยหวังว่าจะได้ร่วมมือกันมากขึ้นในการประชุม Asia Zero Emission Community เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านรูปแบบพลังงานใหม่ๆ ของภูมิภาคนี้

 ประการที่สามคือ “การขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เห็นว่านวัตกรรมเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ประเทศไทยขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนการเพิ่มความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการแลกเปลี่ยนงานวิจัย

เวลา 14.00 น. น.ส.แพทองธารกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three: APT) ครั้งที่ 27 โดยมีผู้นำประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วม

น.ส.แพทองธารเน้นย้ำถึง 3 ประเด็นสำคัญในการส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีความยืดหยุ่น ยั่งยืน และเจริญรุ่งเรือง ดังนี้

 ประการแรก “การต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ” โดยเฉพาะการหลอกลวงทางออนไลน์ ที่บ่อนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ที่ผู้บริหารยุคดิจิทัลสมัยใหม่ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับยุคดิจิทัล เพื่อเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนโครงการของ APT เพื่อจัดการกับปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์และการหลอกลวงทางออนไลน์ รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมาย  ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการตามแผนงานความร่วมมือเพื่อปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติกับประเทศคู่เจรจา+3 (ASEAN Senior Officials’ Meeting on Transitional Crime Plus Three: SOMTC+3) ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อปีที่ผ่านมาแล้ว

 นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประการที่สอง การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและการจัดการทรัพยากรน้ำ มีความสำคัญเร่งด่วนในการจัดการกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในฐานะที่ไทยเป็นที่ตั้งของสำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) ไทยพร้อมสนับสนุนการขยาย APTERR เพื่อรองรับการสำรองอาหารหลักประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม ตลอดจนสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติและความเชี่ยวชาญจากประเทศคู่เจรจา+3 โดยเฉพาะด้านการเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการจัดการน้ำ

 นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับประการที่สาม การส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงิน ผ่านการจัดตั้ง Rapid Financing Facility ภายใต้มาตรการริเริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ของไทย ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralism: CMIM) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนฉุกเฉิน ตลอดจนการสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในกลไกของ APT ซึ่งรวมถึงการออกพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นภายใต้โครงการ Asian Bond Markets Initiative

 ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ความพยายามร่วมกันของ APT จะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างประเทศคู่เจรจา +3 โดยอาเซียนพร้อมสนับสนุนความร่วมมือไตรภาคีที่ดีอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันเชิงบวกที่ประสานพลังมากขึ้นในกรอบ APT

เวลา 15.40 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติลาว น.ส.แพทองธารหารือกับนายจัสติน ทรูโด (The Right Honourable Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า   นายกรัฐมนตรีแคนาดาชื่นชมไทยที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งยังมีความก้าวหน้าด้านกฎหมายอย่างยิ่ง โดยประสบความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นชาติแรกในอาเซียน และพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในการส่งเสริมด้านการศึกษาและด้านอื่นๆ อีกต่อไป

เวลา 16.00 น. น.ส.แพทองธารเข้าหารือกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ภายหลังการหารือ นายจิรายุเปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เชื่อมั่นในศักยภาพความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมาเลเซีย ทั้งการเชื่อมต่อการพัฒนาชายแดน ขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล 

 “ทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องร่วมกันในการผลักดันการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยมากเป็นอันดับ 1 ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกันในการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน และไทยขอบคุณมาเลเซียที่สนับสนุนโครงการ "6 ประเทศ 1 จุดหมาย" โดยจะมีการหารือรายละเอียดการดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งนี้ ไทยพร้อมสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซียในปีหน้าด้วย” นายจิรายุกล่าว

นายจิรายุกล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้เชิญนายกรัฐมนตรีเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ทุกด้าน

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ HRC วาระปี ค.ศ.2025-2027 หรือ พ.ศ.2568-2570 ซึ่งมีการออกเสียงลงคะแนน เมื่อค่ำวันที่ 9 ต.ค. ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ว่า ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และขอขอบคุณประเทศสมาชิกสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกอาเซียน ที่ได้ให้การสนับสนุนและให้ความไว้วางใจประเทศไทยในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในตำแหน่งนี้ ได้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและการยอมรับในบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป

ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน

ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

บี้ MOU44 เดือด ‘นพดล’ เกทับ! จบออกซ์ฟอร์ด

ปะทะคารมเดือด! “นพดล” โต้ “หมอวรงค์” หาความรู้เรื่องเอ็มโอยู 44 ให้ลึกซึ้ง โต้คนอย่างตนไม่ตอบมั่วๆ เพราะจบกฎหมายจากออกซ์ฟอร์ดและจบเนติบัณฑิตไทยและเนติบัณฑิตอังกฤษ

ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ

“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ