มติ "สส." 348 เสียง หัก "สว." ไม่เอาประชามติ 2 ชั้น สภาตั้ง กมธ.ร่วมแก้ กม.ประชามติ "อนุทิน" นำ 65 สส.ภูมิใจไทยงดออกเสียง หลังลูกพรรคอภิปรายหนุน สว. ชี้เกณฑ์โหวตรัฐธรรมนูญต้องสง่างาม "จตุพร" จี้ "ณัฐวุฒิ" แจงเงินบริจาคม็อบปี 52-53 จำนวน 42 ล้าน สาปแช่งคนเลวอมเงินขอให้ฉิบหาย ให้เวลาติ่งเพื่อไทยลบโพสต์ปั่นเกี่ยวข้องก่อนเจอฟ้อง "สมคิด" เผยนายกฯ อิ๊งค์เมินเสียงขู่ พปชร. 10 ต.ค. จุดเริ่มต้นรัฐบาลล่มสลาย
ที่รัฐสภา วันที่ 9 ตุลาคม 2567 เวลา 14.20 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯ คนที่สอง เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ..... ซึ่งวุฒิสภา (สว.) ตีกลับมายังสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากที่ประชุม สว.มีการแก้ไขหลักเกณฑ์ประชามติรัฐธรรมนูญ หากสภาเห็นชอบด้วยกับ สว. ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 81 ต่อไป แต่ถ้าไม่เห็นชอบ ให้แต่ละสภาตั้งบุคคลประกอบเป็น กมธ.ร่วมกัน เพื่อพิจารณาและเสนอรายงานต่อสภาทั้งสองเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าสภาทั้งสองเห็นชอบให้ดำเนินการตามมาตรา 81 หากมีสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบให้ยับยั้งไว้ก่อน มาตรา 137 (3)
จากนั้น ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ สส. อภิปราย โดยพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยกับที่ สว.แก้ไขเพิ่มเติม กรณีเกณฑ์การผ่านประชามติ ซึ่งกำหนดให้การทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้นคือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และผลการลงมติเห็นชอบต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ เพราะมองว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเกิดความยุ่งยากต่อการใช้บังคับและงบประมาณ ทั้งนี้ยังเห็นว่าแม้ สส.ไม่เห็นชอบกับ สว.แก้ไข สามารถเร่งรัดเวลาการพิจารณาในชั้นของกรรมาธิการร่วมกัน เพื่อให้มีกฎหมายประชามติฉบับใหม่ทันบังคับใช้ตามไทม์ไลน์ของการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญรอบแรก ในเดือน ก.พ.68
น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สส.ลพบุรี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า เป็นธรรมดาที่จะเห็นแตกต่างกัน ซึ่งการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นนั้น คล้ายกับร่างของพรรคภูมิใจไทยที่เสนอต่อสภา สำหรับการแก้ไขเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนมองว่าจำเป็นต้องสะท้อนให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยมากขึ้น และเป็นหลักประกันที่การทำประชามติในเรื่องกฎหมายสูงสุดและกติกาสำคัญต้องได้รับความเชื่อถือ ทั้งนี้ การเลือกตั้งท้องถิ่นยังมีข้อกำหนดเกณฑ์ให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 10%
“เกณฑ์ผ่านประชามติจะใช้เกณฑ์เดียวสามารถทำได้ และไม่ต้องทำเกณฑ์เดียวก็ได้ไม่ติดใจ แต่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นกติกาปกครองประเทศ ดังนั้นต้องมีความละเอียดอ่อน เชื่อถือ มั่นใจได้ ที่ผ่านมาการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญพบว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิเกิน 50% ดังนั้นหากไม่กำหนดอะไรไว้จะได้รับความน่าเชื่อถือได้อย่างไร หากสภาเห็นด้วยกับ สว.จะไม่มีปัญหา แต่หากไม่เห็นด้วย จะทำให้ล่าช้ากินเวลาไปหลายเดือน เพราะใช้เวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นค่อนข้างมาก” น.ส.มัลลิกากล่าว
น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่แก้หมวดหนึ่ง หมวดสอง ทั้งนี้ การแก้ไขของ สว.นั้นพอรับฟังได้ เพราะการกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหนทางที่สง่างาม และได้ผลการทำประชามติที่มากพอ หากไม่เซตอะไรไว้จะใช้สิทธิอะไรอ้างว่าสมควรแล้วจะแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผู้คนออกมาใช้สิทธิถึง 29 ล้านคน มีผู้เห็นด้วย 16 ล้านคน ไม่เห็นด้วย 10 ล้านคน ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญต้องมีความสง่างาม
“การไม่กำหนดเสียงขั้นต่ำหรือเกินกึ่งหนึ่ง พรรคภูมิใจไทยเห็นว่าสง่างามและสวย เป็นข้ออ้างดีที่สุดคือ กำหนดเสียงขั้นต่ำหรือกึ่งหนึ่ง หากมีการตั้ง กมธ.ร่วมสองสภาในชั้น กมธ. จะบอกว่ากังวลเกณฑ์เยอะเกินไป สามารถใช้เสียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ก็ได้ ไม่ใช่ปล่อยไปเลย หากไม่เซตเสียงไว้ ในเรื่องต่างๆ อาจมีคนออกมาใช้สิทธิแค่ล้านคน จะอ้างได้อย่างไรว่าเป็นการทำประชามติของประเทศ สิ่งที่ สว.แก้ไขมาพอรับฟังได้” น.ส.แนนระบุ
มติ สส.หัก สว.แก้ร่างประชามติ
กระทั่งเวลา 16.00 น. ที่ประชุมสภาลงมติไม่เห็นด้วยกับที่ สว.แก้ไขเพิ่มเติม ด้วยคะแนน 348 ต่อ 0 งดออกเสียง 65 เสียง เป็นผลทำให้ต้องตั้งคณะ กมธ.ร่วมกัน จำนวน 28 คน แบ่งเป็นฝั่ง สส.และ สว.เท่าๆ กัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อ กมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ..... ในส่วนของ สส. มีจำนวน 14 คน ได้แก่ พรรคประชาชน (ปชน.) 4 คน คือ 1.นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ 2.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ 3.นายปกป้อง จันวิทย์ อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 4.นายณัชปกร นามเมือง ตัวแทนไอลอว์, พรรคเพื่อไทย (พท.) 4 คน คือ 1.นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ 2.นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ 3.นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ และ 4.นายกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (น.ส.จิราพร สินธุไพร)
พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 2 คน คือ 1.นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง และ 2.นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ นอกจากนี้ ยังมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.), ว่าที่ ร.ท.ยุทธการ รัตนมาศ สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)
ส่วน สว.อีก 14 คน คาดว่าจะได้รายชื่อในสัปดาห์ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบ 65 เสียงที่งดออกเสียงนั้น เป็นเสียงของ สส.พรรคภูมิใจไทยทั้งสิ้น รวมทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ภท. ซึ่ง สส.พรรค ภท.มี 71 คน โดยมีเพียง 6 คนที่ไม่ได้กดงดออกเสียง ได้แก่ นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2, นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง, นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี, นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกธาธิการ ในฐานะ สส.พระนครศรีอยุธยา และนายเอกราช ช่างเหลา สส.ขอนแก่น
ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ระบุว่า พวกติ่งเพื่อไทยนำคำพูดของหนุ่มโคราชมาขยายความ ถามถึงเงินบริจาค 42 ล้านช่วงคนเสื้อแดงชุมนุมหายไปไหน ซึ่งตนเคยบอกให้ไปถามทักษิณ ชินวัตร ว่ามอบหน้าที่ให้ใครดูแล และยังบอกเป็นนัยอีกว่าตนกับนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. ไม่ได้ดูแลเรื่องเงิน แต่ตลอดช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมายังถูกยัดข้อหา กล่าวร้าย รุมยำกินฟรีตนอยู่ทุกวัน
"ผมอยากบอกว่า หลายวันที่ผ่านมา นายณัฐวุฒิ (ใสยเกื้อ) ต้องออกมาชี้แจง เรื่องเงินบริจาค 42 ล้าน เพราะการชุมนุมเมื่อปี 2552 ต่อเนื่องปี 2553 ณัฐวุฒิรับผิดชอบทางการเงิน โดยผมกับพี่วีระยินยอมโดยดุษณี ไม่มีใครไปติดใจอะไร อีกอย่างตลอดการชุมนุมไม่เคยถามว่าใช้จ่ายเรื่องอะไร ไม่ว่าเงินจะมาในรูปแบบใดก็ตาม และหลังการชุมนุมณัฐวุฒิก็ไม่เคยมารายงานว่าใช้จ่ายเรื่องอะไรบ้าง ผมกับพี่วีระไม่เคยไปสอบถาม ข้อเท็จจริงมีอยู่เท่านี้" นายจตุพรกล่าว
อดีตประธาน นปช.กล่าวว่า ถึงวันนี้พวกติ่งเพื่อไทยไปขุดเรื่องราวเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมาร่วม 14 ปี แล้วแต่งเสริมเป็นนิยายว่าตนเอาเงิน 42 ล้านไป ซึ่งตนหวังให้นายณัฐวุฒิคนดูแลเงินได้ชี้แจงติ่งเพื่อไทยให้รับรู้ เพราะตนไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเงินบริจาคด้วย แต่พวกติ่งยังเหิมเกริมอีก ดังนั้นตนให้เวลา 7 วัน ลบโพสต์ต่างๆ ที่กล่าวหาตน ถ้าไม่ทำจะฟ้องทุกคน เป็นร้อยเป็นพันคดีก็จะทำ
ตู่จี้ 'เต้น' แจงเงินม็อบ 42 ล้าน
"ผมหวังให้คนมีหน้าที่ดูแลเงินได้อธิบาย แต่ไม่อธิบาย ส่วนการชุมนุมปี 2557 เป็นอีกคนดูแลเรื่องเงิน ซึ่งไม่ใช่ผมอีก แต่ที่ผมจะบอกว่าถ้าข้อมูลพวกเวรชาติชั่วพวกนี้เป็นจริง ทำไมบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทยจึงไม่พูดตอบโต้ เพราะทุกคนรู้เต็มอก แล้วผมไม่เคยติดใจ และยังไม่เคยสอบถามด้วยว่าใช้อะไรไปบ้าง เพราะการชุมนุมมีความตายมากขนาดนั้น จึงไม่มีอารมณ์ไปสนใจอะไรอื่น" อดีตประธาน นปช.กล่าว
นายจตุพรกล่าวว่า ถึงวันนี้พวกคนอุบาทว์นำเรื่องเงิน 42 ล้านมาปั่นสนุกสนานกันใหญ่ ส่วนอีกคนหนีไปอยู่ลาว แล้วท้าตีท้าต่อยกับตน ดังนั้นตนให้เวลา 7 วันลบโพสต์ และใครยังปั่นความเท็จเรื่องเงินบริจาคจะถูกฟ้องให้หมด เพราะเรื่องอื่นวิจารณ์ตนได้ แต่เรื่องอมเงินบริจาคเป็นคนเลวที่สุด นายณัฐวุฒิที่มีหน้าที่ดูแลเงินบริจาคต้องออกมาชี้แจง ซึ่งไม่เกี่ยวกับตนหรือพี่วีระ แล้วยังไม่เคยสงสัยอะไร และไปเกี่ยวข้องเรื่องเงินด้วย ดังนั้นต้องไปถามที่ปรึกษานายกฯ อย่างไรก็ตาม ถ้าแกนนำพรรคเพื่อไทยโผล่ออกมาอธิบายด้วยแล้ว ตนจะได้อธิบายให้หนักกว่านั้นอีก แม้ตนจะมีขีดเส้นไว้ว่าอะไรควรพูด-ไม่ควรพูดก็ตาม
"ผมบอกได้เลยว่า คนมีหน้าที่ดูแลเรื่องเงินบริจาคคือณัฐวุฒิ ไม่ใช่ผมและพี่วีระ เหตุที่ระบุชื่อพี่วีระ เพราะวันนั้น สามเกลอแทบจะเบ็ดเสร็จการชุมนุมในทางปฏิบัติ แต่เรื่องผ่านมา 14 ปี พวกชาติชั่วหนีคดีมาสร้างเรื่องเท็จปลุกปั่นใส่ร้าย โดยคนมีหน้าที่เรื่องเงินกลับไม่ออกมาอธิบายเลย" นายจตุพรกล่าว
นอกจากนี้ นายจตุพรยังสาปแช่งคนอมเงินบริจาคช่วงชุมนุมคนเสื้อแดงว่า ขอให้ฉิบหาย อีกทั้งเรื่องนี้ตนเคยฟ้องอดีตดาราเป็นคดีหมิ่นประมาทใส่ความเป็นตัวอย่างมาแล้ว และชนะคดีในศาล ถ้ามีข้อเท็จจริงว่าตนอมเงินจริงแล้ว พวกแกนนำเพื่อไทยต้องเรียงหน้าออกมาถล่มตนตลอดเวลา 14 ปีที่ผ่านมาอยู่แล้ว
"พวกเขารู้กันหมดเรื่องเงินบริจาค ใครมาเบิกก็ไปที่ณัฐวุฒิคนเดียว ไม่ได้มาเบิกที่ผมเลย ซึ่งเป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน แต่ผ่านมา 14 ปีโยนใส่เฉยเลย แล้วผมไปยุ่งอะไร แต่คนที่รับผิดชอบกรณีชุมนุมก็มีชีวิตอยู่ทั้งนั้น ย่อมรู้ถึงการอมเงินที่เป็นเรื่องอุบาทว์ชาติชั่วนี้" นายจตุพรกล่าว
ช่วงท้ายนายจตุพรเรียกร้องว่า หากเรื่องราวไม่ได้เป็นตามที่ตนพูด และถ้านายณัฐวุฒิไม่ได้รับผิดชอบมีหน้าที่ดูแลเงินบริจาคจากการชุมนุมแล้ว ต้องออกมาแถลงเรื่องราว โดยตนไม่ได้ใส่ร้ายอะไรใคร ดังนั้นหากเห็นว่าไม่ใช่ให้ออกมาเถียง
“เมื่อวันนี้ ฯพณฯ เป็นที่ปรึกษานายกฯ แล้ว ช่วยอธิบายให้พวกบรรลัย คนพวกนี้ที่ปั่นเรื่องเท็จใส่ร้ายด้วย นายณัฐวุฒิไม่ควรนิ่งเงียบ ต้องแถลงชี้แจงความจริงให้ปรากฏด้วย" นายจตุพรกล่าว
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เข้ามาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ช่วยให้คำปรึกษาด้านการเมือง โดยอาจจะให้ช่วยประสานกับทางกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยว่า ยังไม่ได้คุยกันว่านายณัฐวุฒิจะมาช่วยตนดูแลม็อบหรือไม่ ต้องรอให้นายกฯ กลับมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวก่อน
"มาช่วยไกล่เกลี่ยม็อบก็ดี เพราะนายณัฐวุฒิเป็นม็อบเก่า ถือเป็นมือโปรในเรื่องนี้ ก็ต้องให้ดูแลไปคุยกับม็อบ" นายสมคิดกล่าว
ถามว่า เหมือนจะเป็นการจัดวางให้นายณัฐวุฒิชนกับนายจตุพรซึ่งเป็นเพื่อนเก่ากันตั้งแต่ในยุค นปช.หรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า ก็คุยกันได้ เพื่อนๆ กันทั้งนั้น
'อิ๊งค์' เมิน 'พปชร.' ขู่รบ.ล่มสลาย
เมื่อถามถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ออกมาเปิดเผยให้จับตาเวลา 07.00 น.วันที่ 10 ต.ค.นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้รัฐบาลอาจถึงขั้นล่มสลาย รองเลขาธิการนายกฯ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยทุกคนไม่ได้กังวลเรื่องนี้เลย และไม่ได้มีความวิตกกังวลถึงประเด็นดังกล่าว แถมขำด้วยซ้ำที่บอกว่าจะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีและยุบพรรคเพื่อไทย ตนมองว่าไม่มีเหตุอะไรที่จะทำให้เกิดเรื่องในวันที่ 10 ต.ค. การให้ข่าวดังกล่าว ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนมากกว่า
ซักว่า มีการประเมินหรือไม่ว่าจะมีปัจจัยอะไรที่จะเป็นเหตุให้ยุบพรรคเพื่อไทย รองเลขาธิการนายกฯ กล่าวว่า ก็เห็นมีการยื่นมาหลายเรื่องแล้ว ซึ่งหากจะยุบพรรคจริง ทุกอย่างมีกระบวนการ เราไม่ได้กังวลว่าจะถูกยุบ เพราะมีประสบการณ์เรื่องนี้อยู่
พอถามถึงข่าวลืออาจถึงขั้นมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ และเป็นนายกฯ คนนอก โดยเฉพาะมีชื่ออดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายสมคิดกล่าวว่า อยากให้มาเล่นกันในกระบวนการของสภาดีกว่า เพราะสภาจะเป็นผู้กำหนดนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกเลือกโดยสภา แล้วจะมาเลือกจากคนนอกได้อย่างไร ตนไม่เชื่อ เพราะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ยังมีอยู่ ทั้งนายชัยเกษม นิติสิริ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ปัจจุบันเป็นองคมนตรี ซึ่งหากจะเปลี่ยนตัวนายกฯ หรืออะไรก็ตาม ต้องอยู่ในกระบวนการ ดังนั้นไม่อยากให้ประชาชนเกิดความสับสน ขณะนี้รัฐบาลยังเดินหน้าเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังทำงานเหมือนเดิม
"ข่าวบางข่าวก็สร้างเอามันเข้าว่า เอาความสะใจเข้าว่า ผมไม่อยากให้คนในระดับเลขาธิการพรรคมาพูดแบบนี้ เราจะเล่นอะไรอยากให้อยู่ในกระบวนการสภาดีที่สุด ถ้าท่านหรือใครอยากเป็นนายกฯ ก็ต้องหาเสียงให้เกินครึ่งมาล้มกัน มาว่ากันในสภา ทุกอย่างต้องเอาสภาเป็นตัวตั้ง อย่าเล่นกันเพลิน เดี๋ยวจะไม่มีสภาให้เล่น ต้องเอาสภาเป็นหลัก ใครได้เยอะก็ว่ากันตรงนั้น แต่วันนี้ยังไม่มีเหตุอะไรต้องเปลี่ยนนายกฯ” นายสมคิดกล่าว
ถามว่า มอง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังมีความหวังที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าที่นายไพบูลย์ออกมาพูดนั้นจะสื่อว่าต้องการให้ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ หรือไม่ หรือจะหมายถึงใคร แต่วันนี้ยังมีสภาอยู่ และ น.ส.แพทองธารเพิ่งทำงานได้เดือนกว่า แล้วจะเอาอะไรอีก
"กระบวนการว่าจะยุบพรรคหรือไม่ตามที่มีการร้องนั้น มันยังอีกยาว เดี๋ยวค่อยว่ากัน เพราะหลายพรรคก็โดนแบบนี้ รัฐบาลโดนร้องหลายประเด็น จนบางครั้งผู้ร้องยังจำไม่ได้ว่าร้องเรื่องอะไรบ้าง และไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ตัดสินจะตัดสินตรงไหน ดังนั้นต้องใช้เวลา ขอประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนกตกใจว่า 07.00 น. วันที่ 10 ต.ค. มันจะมีอันเป็นไป ผมว่ามันไม่มีหรอก พรุ่งนี้ตื่นมากินกาแฟ มาทำงานเหมือนเดิมไม่มีปัญหา" นายสมคิดกล่าว
เมื่อถามว่า พรรคพลังประชารัฐอาจไม่ได้หวังให้ พล.อ.ประวิตรได้ขึ้นมาเป็นนายกฯ แต่อาจจะหวังแค่ล้มรัฐบาลหรือล้มพรรคเพื่อไทยได้เท่านั้น นายสมคิดกล่าวว่า ล้มแล้วอย่างไร จะไปอย่างไร เพราะเป็นการยกมือในสภาเป็นหลัก อย่างไรเราก็เยอะกว่า ซึ่งถ้าคิดว่าจะทำให้เราระส่ำ ตนว่ามันไม่มีประโยชน์ เพราะจะทำให้ประชาชนสับสน
"เรื่องนี้ผมคุยกับรัฐมนตรีหลายคน ต่างก็บอกว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร และเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้กังวลใจใดๆ มีแต่ห่วงม็อบ ขอให้ผมได้คุยและเคลียร์กับม็อบให้รู้เรื่อง ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะคุยอย่างไร เพราะปกติก็คุยกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ก็ปล่อยให้เขาอยู่ไป" เลขาธิการนายกฯ กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ชูศักดิ์' โล่ง ปลอดชนักล้มล้างการปกครอง
'ชูศักดิ์' มองเป็นสัญญาณดี ปม 'ศาล รธน.' ไม่รับคำร้อง 'พท.' ล้มล้างการปกครอง ชี้ รัฐบาลเดินหน้าทำงานได้แบบไม่กังวล
‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ
“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป
ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน
ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท
บี้ MOU44 เดือด ‘นพดล’ เกทับ! จบออกซ์ฟอร์ด
ปะทะคารมเดือด! “นพดล” โต้ “หมอวรงค์” หาความรู้เรื่องเอ็มโอยู 44 ให้ลึกซึ้ง โต้คนอย่างตนไม่ตอบมั่วๆ เพราะจบกฎหมายจากออกซ์ฟอร์ดและจบเนติบัณฑิตไทยและเนติบัณฑิตอังกฤษ
ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ
“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ
‘พล.ท.นันทเดช’ เปิดลึกข่าวร้าย..!! ‘อุ๊งอิ๊ง-ทักษิณ’ ตีตั๋วยาว!! | อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567