อิ๊งค์โชว์กึ๋นกินดีอยู่ดีเวทีอาเซียน

"แพทองธาร" ร่วมเวทีสุดยอดอาเซียน    โชว์วิสัยทัศน์ 3 ข้อ ยกระดับกินดีอยู่ดีของ ปชช.ในภูมิภาค “ความยั่งยืนของสมาชิก-ความมั่นคงของมนุษย์-การบูรณาการร่วมกันระดับภูมิภาค” หนุนความเป็นผู้นำร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา   ชี้บทบาทไทยในสงครามเมียนมา ทำงานเชิงรุกมากขึ้นนำสันติภาพให้กลับคืนมา

เมื่อวันพุธ เวลา 09.30 น. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติ (National Convention Centre: NCC) เวียงจันทน์ สปป.ลาว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 (แบบเต็มคณะ) เพื่อย้ำถึงความจำเป็นที่อาเซียนต้องมี “Collective  Leadership” หรือการทำงานร่วมกันระหว่างชาติสมาชิก ในการแก้ไขปัญหาของประชาชน และส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของประชาชนกว่า 700 ล้านคนในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับในครอบครัวอาเซียนอย่างอบอุ่น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายต่างประเทศของไทยในการมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาประชาคมอาเซียน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญนี้ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยากและซับซ้อน  ทั้งจากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ จนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เชื่อว่าความเป็นผู้นำร่วมกัน ที่พร้อมจะสร้างความแตกต่างและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและความเจริญร่วมกันได้ โดยประเทศไทยได้เสนอประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.ประเด็นด้าน “ความยั่งยืน” นั้น ประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เห็นว่าอาเซียนต้องร่วมกันดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและความเป็นกลางทางคาร์บอน  การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด การเงินสีเขียว และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงนวัตกรรมดิจิทัลเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคสมัยใหม่นี้จะไม่กระทบสิ่งแวดล้อม หรือเกิดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค

 นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า 2.ประเด็นด้าน “ความมั่นคงของมนุษย์” นั้น ประเทศไทยได้เสนอว่า อาเซียนต้องทำงานร่วมกันในการต่อสู้กับทุกวิกฤต เพื่อให้ประชาชนมีอาหาร พลังงาน และสิ่งจำเป็นพื้นฐาน และควรส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะไปพร้อมๆ กับเกษตรยั่งยืน เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับผลผลิตและความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวของภูมิภาค

"นอกจากนี้ จะต้องเร่งเสริมสร้างกรอบการทำงานของอาเซียนในด้านพลังงาน เช่น การเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าของอาเซียน เพื่อการยืดหยุ่นด้านพลังงานในภูมิภาค ขณะเดียวกัน สมาชิกอาเซียน ควรร่วมกันส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีพรมแดนระหว่างกัน รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการหลอกลวงออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการปราบปรามการค้ายาเสพติด โดยเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมพื้นที่บริเวณชายแดนระหว่างกัน" นายกรัฐมนตรีระบุ

 นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า 3.สำหรับประเด็นเรื่อง "การบูรณาการระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้ง" นั้น การสนับสนุนในความพยายามของอาเซียนในการปรับปรุงและยกระดับ FTA กับคู่เจรจา และในฐานะที่ไทยเป็นประธานคณะกรรมการเจรจา ASEAN Digital Economy Framework Agreement (DEFA) จะผลักดันการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปีหน้านี้  (พ.ศ.2568) เพื่อสร้างเครื่องยนต์กลไก เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ในอาเซียน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับธุรกิจขนาดกลางขนาด ย่อม และขนาดย่อย หรือ MSMEs เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อช่วยสร้างการเติบโตในเศรษฐกิจของโลกที่ผันผวนอยู่ในขณะนี้

 นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการสร้างความเชื่อมโยงในทุกๆ ด้านที่จะเป็นกุญแจสำคัญ อาทิ ขอให้อาเซียนส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนต่อกันเป็นพิเศษ เช่น การเพิ่มเที่ยวบินและขยายระยะเวลาการยกเว้นวีซ่า (visa-free) ระหว่างประเทศอาเซียน การส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว รวมทั้งความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความเป็นแกนกลางและความสามัคคี ที่จะทำให้การมีส่วนร่วมของอาเซียนกับประเทศพันธมิตรภายนอก มียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

"ทั้งนี้ สมาชิกอาเซียนควรหลีกเลี่ยงการเป็นตัวแทนของอำนาจใดๆ หรือปล่อยให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นเวทีแห่งการแข่งขัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ และไทยจะทำหน้าที่ส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างแข็งขันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาในภูมิภาค" นายกรัฐมนตรีระบุ

หลังจากนั้น ในเวลา 11.20 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคี (pull-aside) กับนายลอว์เรน หว่อง (Mr.Lawrence Wong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44-45 เพื่อสานต่อความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนสำคัญในทุกมิติของทั้งสองประเทศ

นายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล AI รวมถึง Digital transportation และต้องการให้สิงคโปร์ช่วยสนับสนุน นอกจากนี้ ไทยกับสิงคโปร์ยังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยไทยอยากให้สิงคโปร์สนับสนุนสำหรับการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรและอาหารของไทย เช่น ไข่ออร์แกนิก เนื้อหมู ส่วนในด้านการท่องเที่ยว จำเป็นต้องสนับสนุนและเพิ่มการท่องเที่ยวระหว่างกันให้มากขึ้น ส่วนความร่วมมือทางการทหาร ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความตกลงในการฝึกซ้อมของเหล่าทัพร่วมกัน พร้อมทั้งสานต่อความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และปัญหาภัยธรรมชาติ

ในเวลา 11.50 น. น.ส.แพทองธารเข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 45 (แบบไม่เป็นทางการ) โดยระบุว่า ไทยในฐานะผู้ส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสมาชิกอาเซียน เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค เสริมสร้างอาเซียนในฐานะผู้เล่นระดับโลกที่มีความรับผิดชอบในภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาเซียนจะต้องมีจุดยืนที่เป็นหลักการ แต่ไม่เลือกข้างในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและประชาชน ขณะที่การแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจ ทะเลจีนใต้ถือเป็นจุดความขัดแย้ง ไทยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ หลีกเลี่ยงการกระทำที่ยั่วยุ และร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ

"ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสรุปการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct: COC) ที่มีประสิทธิผลและเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในระหว่างนี้จะต้องรับรองเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ" นายกรัฐมนตรีระบุ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยมีความกังวลเช่นเดียวกันกับทั่วโลกเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ไทยสนับสนุนความพยายามทั้งหมดในการบรรลุข้อตกลงการหยุดยิง การปล่อยตัวพลเรือนทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมถึงพลเมืองอาเซียน ตลอดจนการเข้าถึงบริการด้านมนุษยธรรมอย่างไม่มีข้อจำกัด ประเทศไทยสนับสนุนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติเพื่อบรรลุแนวทางสองรัฐ (two-State solution)

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับประเด็นเมียนมา ไทยให้ความสำคัญสูงสุด ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ตั้งแต่ผู้พลัดถิ่น การอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การหยุดชะงักทางการค้าและการดำรงชีวิต ปัญหาสุขภาพของประชาชน ไปจนถึงอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติดและการหลอกลวงออนไลน์ ขอหยิบยก 4 ประเด็นสำคัญต่อเรื่องนี้ โดย 1.ไทยจะทำงานร่วมกับมิตรประเทศในอาเซียนและภายนอกเพื่อเมียนมาที่สงบสุข มั่นคง และเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศในภูมิภาคนี้ 2.ไทยจะมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการนำสันติภาพในเมียนมากลับคืนมา โดยจะเพิ่มความร่วมมือทวิภาคีกับเมียนมา และสนับสนุนกระบวนการอาเซียนต่อไป ไทยชื่นชมการทำงานของ สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน โดยเฉพาะผู้แทนพิเศษเรื่องเมียนมาของประธานอาเซียน (special envoy) อาลุนแก้ว และไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับมาเลเซียประธานอาเซียนในวาระต่อไป

 “3.อาเซียนควรเป็นหนึ่งเดียวในการส่งสารถึงทุกฝ่ายในเมียนมาว่า การใช้กำลังทางทหารไม่ใช่ทางออก เป็นเวลาที่ต้องเริ่มพูดคุยกัน ประเทศไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือ สิ่งสำคัญคือให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองและหาทางออกทางการเมือง และ 4.อาเซียนควรเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระยะสั้นและเร่งการพัฒนาเมียนมาในระยะยาว โดยประเทศไทยได้บริจาคเงิน 290,000 เหรียญสหรัฐให้กับศูนย์ AHA เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา และประเทศไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือชาวเมียนมามากขึ้น” น.ส.แพทองธารระบุ

หลังจากนั้น ในเวลา 13.30 น. น.ส.แพทองธารกล่าวปาฐกถาในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter - Parliamentary Assembly: AIPA) โดยกล่าวถึงความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ว่า ความพยายามของรัฐบาลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นชุมชนที่เจริญรุ่งเรืองและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง AIPA ซึ่งเป็นตัวแทนของเสียงของประชาชนอาเซียน จึงมีบทบาทสำคัญ ซึ่ง AIPA จะเสริมความเข้มแข็งในประชาคมอาเซียน และยืนยันสนับสนุน AIPA รวมทั้งการมีส่วนร่วมระหว่าง ASEAN และ AIPA ผ่านสำนักงานเลขาธิการอาเซียนเพื่อการทำงานร่วมกันในช่วงเวลาที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ กล่าวถ้อยแถลง ไทยจะมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการนำสันติภาพในเมียนมากลับคืนมา

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 45 (แบบไม่เป็นทางการ)

นายกฯ ไทยหารือทวิภาคีนายกฯสิงคโปร์

'นายกฯอิ๊งค์' หารือทวิภาคี นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ครั้งแรก จับมือส่งเสริมธุรกิจอาหาร-การท่องเที่ยว พร้อมรับผู้นำสิงคโปร์เยือนไทยอย่างสมเกียรติในปีหน้า