กางแผนรับน้ำท่วมกลาง-ใต้

ศปช.เตือนใต้ตอนบนรับมือฝนตกหนัก สั่งหน่วยงานเตรียมอุปกรณ์พร้อมเข้าช่วยน้ำท่วม “อนุทิน” กำชับจังหวัด-ท้องถิ่น เร่งช่วยค่าล้างโคลน 1 หมื่นถึงมือผู้ประสบภัยเร็วที่สุด สทนช. ห่วงฝนภาคกลางและใต้เพิ่มขึ้น บวกน้ำทะเลหนุนสูง เร่งกางแผนลดมวลน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนไหลสู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา เริ่มปรับลดระบายน้ำ  เตรียมตั้งศูนย์บริหารน้ำส่วนหน้าภาคใต้

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์  โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย  วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า  ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท  ปัจจุบันอยู่ที่ 2,318 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ โดยในส่วนของการระบายน้ำยังคงที่ 2,199 ลบ.ม./วินาที การระบายน้ำขณะนี้ เมื่อนำไปเปรียบเทียบในปี พ.ศ.2554 ระบายน้ำอยู่ที่ 3,703 ลบ.ม./วินาที จำนวนระบายน้ำยังไม่มีความน่ากังวลใจ อีกทั้งในสัปดาห์นี้ ในภาคเหนือและภาคกลางมีปริมาณฝนเริ่มลดลงแล้ว ศปช.ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน

โดยส่วนราชการที่บริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ รายงานว่า ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงวันที่ 13-24 ต.ค.นี้ ส่วนการเตรียมความพร้อมในพื้นที่กรุงเทพฯ-นนทบุรี ได้มีการเตรียมการป้องกันพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ เพื่อป้องกันการเอ่อล้นเข้าพื้นที่บ้านเรือนประชาชน

 นายจิรายุกล่าวถึงสถานการณ์ในภาคใต้ตอนบนว่า ใน 1-2 วันนี้มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะ จ.เพชรบุรีและ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณฝนอยู่ที่ 100-140 มิลลิเมตร (มม.) และหากมีการตกต่อเนื่อง ปริมาณฝนเกิน 200 มม. สะสมในพื้นที่จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์น้ำหลากได้ ขอให้ประชาชนฟังรายงานของ ศปช.และหน่วยงานราชการอื่นๆ อย่างใกล้ชิด 

ขณะที่กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับมือพื้นที่เสี่ยงและเฝ้าระวังในบริเวณภาคใต้ ตั้งแต่ 9-11 ต.ค. โดยสั่งเตรียมเครื่องจักรและเครื่องมือจำนวนมากบริเวณพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ เพื่อให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที อาทิ เครื่องสูบน้ำ 552 เครื่อง, เครื่องผลักดันน้ำ 227 เครื่อง  

ในส่วนของ จ.ยะลา วันที่ 8 ต.ค. ได้รับการแจ้งเหตุดินถล่ม 5 จุด บริเวณเส้นทางเข้าสวนดอกไม้เมืองหนาว บ้านปิยะมิตร หมู่ที่ 2 ตำบลตะเนาะแมเราะ อำเภอเบตง ส่งผลให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ทั้งนี้ แขวงทางหลวงชนบทยะลาได้นำเครื่องจักรกลเข้าเปิดเส้นทางได้ทุกจุดแล้ว รถทุกชนิดสามารถสัญจรได้ กรมทรัพยากรธรณีได้มีการประกาศเฝ้าระวังและมีการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังน้ำป่า-ดินถล่ม ถึงวันที่ 11 ต.ค. ในพื้นที่สวนผึ้ง บ้านคา จ.ราชบุรี, หนองหญ้าปล้อง แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี, หัวหิน ปราณบุรี กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์, เบตง ธารโต ยะหา จ.ยะลา

นายจิรายุกล่าวเพิ่มถึงการฟื้นฟูปัญหาเส้นทางที่เสียหาย 10 เส้นทางในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ตาก น่าน หนองคาย สุโขทัย และกรมการขนส่งทางบก  รวมถึงสถานีขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 2 แห่งที่ 3 และรถไฟในเส้นทางสายเหนือกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ได้เปิดให้บริการแล้ว สำหรับการฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชนพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ดำเนินการแล้ว 63% จากบ้านเรือนประชาชน 753 หลัง ฟื้นฟูแล้ว 478 หลัง คาดเสร็จสิ้นก่อนปลายเดือน ต.ค.

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หลังจากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบถึงกรณีที่กรมบัญชีกลางได้อนุมัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่ซึ่งประกาศเขตให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน สามารถใช้เงินทดรองราชการจ่ายเป็นค่าช่วยล้างดินโคลน รวมทั้งซากวัสดุต่างๆ ในที่อยู่อาศัยประชาชนซึ่งประสบอุทกภัยในอัตรา 10,000 บาทต่อหลังแล้ว เพื่อให้การช่วยเหลือไปถึงมือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอย่างรวดเร็ว นายอนุทินได้กำชับจังหวัดซึ่งเกิดอุทกภัยและมีดินโคลนทับถมบ้านเรือนประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดนั้นๆ ให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสิทธิของตนเอง การยื่นคำขอ การลงพื้นที่สำรวจ ประชุมพิจารณาอนุมัติให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว

 “เนื่องจากการใช้จ่ายเงินทดรองราชการซึ่งอยู่ในอำนาจการอนุมัติของผู้ว่าราชการจังหวัด มีขั้นตอนที่ประชาชนต้องไปยื่นขอรับการช่วยเหลือจาก อปท. ต้องมีการลงพื้นที่สำรวจ รวบรวมข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอและจังหวัด ท่านอนุทินจึงกำชับขอให้เจ้าหน้าที่ในทุกขั้นตอนให้ความสำคัญ ให้ถือว่าเรื่องการช่วยเหลือประชาชนเป็นเรื่องเร่งด่วน ช่วยดูแลให้การช่วยเหลือถึงมือประชาชนเร็วที่สุด” น.ส.ไตรศุลีระบุ

สำหรับหลักเกณฑ์เบื้องต้น จะจ่ายเงินช่วยค่าใช้จ่ายในการล้างทำความสะอาดดินโคลน ซากวัสดุต่างๆ บริเวณที่อยู่อาศัยซึ่งผู้ประสบภัยพิบัติเป็นเจ้าของ หลังละ 10,000 บาท ตามความจำเป็นและเหมาะสม แต่จะไม่รวมถึงที่อยู่อาศัยที่เสียหายทั้งหลัง หรือที่ส่วนราชการหรือส่วนอื่นๆ ให้ความช่วยเหลือในการทำความสะอาด ส่วนกรณีที่มีหน่วยงานช่วยทำความสะอาดบางส่วน แต่เจ้าของที่อยู่อาศัยยังต้องจ้างแรงงาน ซื้อเครื่องมือเข้าทำความสะอาดเพิ่มเติมก่อนเข้าพักอาศัยได้ตามปกติ  คณะกรรมการฯ ซึ่งลงสำรวจพื้นที่จริงจะพิจารณาเป็นรายกรณี

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้  สทนช. ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) คาดว่าในระยะนี้ปริมาณฝนบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะลดลง โดยมีแนวโน้มที่ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงวันที่ 12-14 ต.ค.67 ประกอบกับ จ.สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม

บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) มีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 13-24 ต.ค. และมวลน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนซึ่งจะไหลลงมาสมทบกับปริมาณน้ำในแม่น้ำ จึงต้องหาแนวทางในการลดปริมาณน้ำที่มาจากพื้นที่ตอนบนที่จะไหลมายังเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการระบาย 2,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที

โดยที่ประชุมมีมติร่วมกันในการรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในระดับปัจจุบัน คือ +16.5 เมตร พร้อมทั้งจะมีการทยอยปรับลดอัตราการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงตามลำดับ โดยในที่ 10 ต.ค. จะเริ่มปรับลดลงในอัตรา 50-100 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนบริเวณท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ จากแนวโน้มที่ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ในระยะนี้และช่วงหลังจากนี้ รองนายกฯ จึงได้มอบหมายให้ สทนช.เตรียมพิจารณาตั้งศูนย์ส่วนหน้าในภาคใต้เพื่อดำเนินงานเชิงรุก

ที่ จ.เชียงใหม่ น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร นำคณะลงพื้นที่มอบน้ำดื่มสะอาด อาหารกล่อง และถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ที่ ต.หนองผึ้ง ต.ยางเนิ้ง และ ต.หนองแฝก อ.สารภี

ที่ จ.พิจิตร พ.ต.อ.กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร ได้ลงพื้นที่ร่วมกับนางวราภรณ์ นาควิจิตร ผอ.รพ.สต.วังลูกช้าง และทีม อสม. ร่วมกันใช้เรือพายนำยารักษาโรคไปให้กับผู้สูงอายุซึ่งเป็นผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องรับยาเป็นประจำกว่า 10 ราย ที่บ้านถูกน้ำท่วมสูงในพื้นที่หมู่ 8 ต.สามง่าม อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งติดกับริมแม่น้ำยม

ที่ จ.ชัยนาท สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดชัยนาท ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณ 2,667 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อน ที่ อ.เมืองชัยนาท ลดลงจากเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 56 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 16.56 เมตร (รทก.) และลดลงจนต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมด้านเหนือเขื่อน บริเวณ อ.เมืองชัยนาท อ.มโนรมย์ อ.วัดสิงห์ คลี่คลายลง ส่วนน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยายังคงระบายในอัตรา 2,199 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ติดต่อเป็นวันที่ 4 ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่ อ.สรรพยา ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 15.10 เมตร (รทก.) บ้านเรือนจำนวนกว่า 200 หลังคาเรือน ยังถูกน้ำท่วมสูง 30-40 เซนติเมตร. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศปช.เตือน 13-24 ต.ค.เตรียมรับมือน้ำทะเลหนุน

'ศปช.'เตรียมรับมือน้ำทะเลหนุน สั่งบริหารการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ให้สมดุลบรรเทาความเดือดร้อน0ประชาชน ด้าน 'ศปช.ส่วนหน้า' เดินหน้าฟื้นฟู เชียงราย-เชียงใหม่ ตามแผน