2กมธ.รุมบี้ตากใบ พิศาลหนีจี้พ้นสส.

"กมธ.กฎหมาย-มั่นคง" เชิญหน่วยงานแจงความคืบหน้าคดีตากใบ รุมจี้เดือดปม 2 จำเลยออกนอกประเทศจริงหรือไม่ ตร.แจงส่งหมายจับไปยังกองการต่างประเทศ​เพื่อประสานอินเตอร์โพลเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ 7 ต.ค. รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยเสนอนายกฯ และผู้นำฝ่ายค้านควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษประชาชน

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม  และสิทธิมนุษยชน ที่มีนายกมลศักดิ์ ลีวาเมะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เป็นประธาน โดยมีวาระพิจารณาศึกษาการติดตาม จับกุมจำเลยและผู้ต้องหา ตามหมายจับของศาลกรณีคดีการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ และแนวทางการเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อคดีหมดอายุความ  ร่วมกับ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ส่งตัวแทน 3 คนเข้าร่วม พร้อมทั้งเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลต่อ  กมธ.

ช่วงหนึ่งในการประชุม พ.ต.ท.เสกสันต์ คงคืน รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนจังหวัดชายแดนภาคใต้   ได้ชี้แจงไทม์ไลน์ในการดำเนินการของคดีตากใบ   และได้ย้ำว่ารักษาการผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ลงพื้นที่ไปประชุมในพื้นที่ 3  จังหวัดชายแดนใต้ และได้มีการสั่งการกำชับการปฏิบัติ และมีหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เร่งรัดการจับกุมส่งไปยังทุกหน่วยงานทั่วประเทศ​เพื่อดำเนินการตามหมายจับ

จากนั้น นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ถามถึงบุคคลที่อยู่ในหมายจับได้ส่งรายชื่อไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แล้วหรือไม่ ด้าน พ.ต.อ.รังษี มั่นจิตร ผู้กำกับการซักถาม 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า มีหนังสือแจ้งไปแล้ว หากบุคคลที่มีหมายจับจากศาลนราธิวาสและศาลปัตตานีมีการออกนอกประเทศ  ตม.ก็จะมีการแจ้งเตือนเข้ามา ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะประสานไปยังอินเตอร์โพล ทั้งนี้  ขออนุญาตไม่เปิดเผยรายละเอียด

จากนั้นนายกมลศักดิ์จึงถามว่า สามารถแจ้งต่อที่ประชุมได้หรือไม่ว่าขณะนี้มีผู้ต้องหาเดินทางออกนอกประเทศไปกี่ราย เพราะตนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ลับ โดย พ.ต.อ.รังษีกล่าวว่า  สามารถตอบได้ว่ามี 2 ราย แต่ไม่สามารถระบุชื่อบุคคลได้

โดยนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ     ได้ตั้งคำถามว่า คำถามที่ประชาชนสงสัยคือผู้ต้องหาทั้ง 14 คนอยู่ที่ไหน อีกทั้งจากการที่ตนทราบข้อมูล มีบุคคลที่อยู่ต่างประเทศจำนวน 2 ประเทศ  ได้แก่คนแรกอยู่ที่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ  อีกคนอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จึงอยากให้ช่วยยืนยันว่าเป็นไปตามข้อเท็จจริงนี้ใช่หรือไม่

นายรอมฎอนกล่าวต่อว่า ถ้าใช่ตามข้อเท็จจริง  ท่านได้มีความพยายามสื่อสารไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบการจับกุมในต่างประเทศหรือไม่อย่างไร  พร้อมตั้งคำถามอีกว่า ในกรณีคดีอาญาที่ร้ายแรงแบบนี้ ถ้าไม่สามารถทำได้จริงๆ ช่วยชี้แจงว่าประชาชนจะสามารถช่วยจับกุมผู้ต้องหาอย่างไรได้บ้าง

จากนั้น พ.ต.อ.รังษีได้ตอบคำถามนายรอมฎอนว่า ผู้ต้องหาทั้ง 14 รายอยู่ที่ไหนนั้น ถ้าวันนี้ทราบเราคงจับได้ไปแล้ว ซึ่งเรากำลังตามอยู่ และไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ส่วนคำถามที่ให้ยืนยันว่ามีบุคคลหลบหนีไปประเทศอังกฤษและญี่ปุ่นนั้น ถือว่าเป็นการให้เบาะแส

ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ในฐานะที่ปรึกษา  กมธ.ความมั่นคงฯ กล่าวว่า ในบรรดาผู้ที่ถูกออกหมายจับทั้งหมด โดยเฉพาะบุคคลที่หนีออกนอกประเทศ หากเป็นไปตามข้อมูลที่ปรากฏว่าอยู่ที่สหราชอาณาจักร 1 คน และประเทศญี่ปุ่น 1 คน ซึ่งเราสามารถขอความร่วมมือผ่านกลไกอินเตอร์โพลกับ 2 ประเทศดังกล่าวได้ด้วยการออกหมายแดง

ด้าน พ.ต.อ.รังษีกล่าวว่า เราได้ส่งหมายจับไปยังกองการต่างประเทศเพื่อประสานไปยังอินเตอร์โพลเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 

จากนั้น นายคุณากร มั่นนทีรัย สส.นนทบุรี พรรคประชาชน ในฐานะ กมธ. ได้ถามย้ำถึงขั้นตอนการดำเนินการจับกุมว่าขณะนี้ไปถึงไหนแล้ว ด้าน พ.ต.ท.เสกสันต์กล่าวว่า คดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ ณ วันนี้ มีทั้งหมด 10,593 คดี และมีหมายจับผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงอีกกว่าพันหมาย ซึ่งเราสืบสวนและจับกุมมาตั้งแต่ปี 47 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้จะผ่านมา 20 ปี เราก็ยังจับไม่ได้ เพราะผู้ต้องหามีการเคลื่อนไหวแต่ละวันคนละที่ ดังนั้นเราไม่สามารถประเมินเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ว่าใครจะหลบหนีไปที่ใด แต่ยืนยันว่าแนวทางการสอบสวนต้องเป็นเรื่องลับ จากนั้นนายคุณากรจึงตอบกลับว่า จากที่ตนได้ฟัง หากเปรียบเทียบการดำเนินการเป็น 5 ระดับ ตนประเมินว่าอยู่ในระดับแค่ 0-1 

วันเดียวกันนี้ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาฯ แถลงผลการประชุม กมธ.ว่า  ที่ประชุมพิจารณาติดตามผู้ต้องหาคดีตากใบ หลังจากที่ศาลจังหวัดนราธิวาสมีการประทับฟ้องและออกหมายจับจำเลย 7  คน และอัยการสูงสุดเห็นแย้งกับพนักงานสอบสวน ที่มีคำสั่งสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน รวมทั้งหมด 14 คน ซ้ำกับจำเลยเดิม 1 คนนั้น คดีดังกล่าวมีผู้ต้องหาจำนวน 14 คน โดยมีผู้ต้องหาที่อยู่ในประเทศไทย 12 คน เป็นข้าราชการและยังรับราชการอยู่ 2 คน ซึ่งทางตำรวจได้ประสานกับผู้บังคับบัญชาของผู้ต้องหาทั้ง 2 คนแล้ว และคาดว่ามีผู้ต้องหาอีก 2 คนอยู่ต่างประเทศ โดยได้ประสานไปยังกองการต่างประเทศเพื่อออกหมายติดตามตัวแล้ว

 “ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาได้ก่อนวันที่ 25 ตุลาคม หรือภายในวันที่ 25 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันหมดอายุความในคดีดังกล่าว ทางอัยการยืนยันว่าพร้อมเตรียมประทับรับฟ้อง และยื่นฟ้องเรียบร้อยหากจับคนไหนมาได้แม้ในวันสุดท้ายก็ตาม” นายกมลศักดิ์กล่าว

เมื่อถามว่า จำเลยกับผู้ต้องหาที่หนีคดี และไม่ยอมไปขึ้นศาลจนกระทั่งหมดอายุความ เช่น พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 จะต้องลาออกจากตำแหน่ง สส.หรือไม่ นายกมลศักดิ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับความสำนึกของแต่ละบุคคลว่าเขาจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  หาก พล.อ.พิศาลทราบอยู่แล้วว่ามีหมายจับ  แทนที่จะมามอบตัวสู่คดีตามกระบวนการยุติธรรม แต่กลับหันหลังให้กับกระบวนการเพื่อให้ขาดอายุความ

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรค และกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย ให้ความเห็นว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษประชาชน (Public Apology) ต่อเหตุการณ์ "คดีตากใบ" ในอดีต แม้เหตุการณ์จะผ่านพ้นไปนานเพียงใดก็ตาม การให้ความเห็นดังกล่าวตนนำมาจากรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เรื่องแนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ

"ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฯลฯ ควรกล่าวขอโทษต่อสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศขณะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง และนายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศอยู่ในปัจจุบัน ควรแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะต่อเหยื่อของความรุนแรง เนื่องจากรัฐมีความบกพร่องและขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองให้ดำเนินไปตามสันติวิธี จนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และความรู้สึกของประชาชนอย่างมาก" นายชวลิตกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เท้ง' จี้นายกฯ อิ๊งค์คุยแดนปลาดิบส่งจำเลยคดีตากใบเป็นผู้ร้ายข้ามแดน!

'ผู้นำฝ่านค้าน' จี้ 'นายกฯ' คุยนอกรอบกับญี่ปุ่น ส่งตัวจำเลยคดีตากใบกลับมาดำเนินการ ก่อนหมดอายุความ ชี้ต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองเยียวยาพี่น้องชายแดนใต้

กมธ.กฎหมาย เผยจำเลยคดีตากใบ 14 คน ยังอยู่ในไทย 12 หนีต่างประเทศ 2

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาฯ แถลงผลการประชุม กมธ.ว่า ที่ประชุมพิจารณาติดตามผู้ต้องหาคดีตากใบ หลังจากที่ศาลจังหวัดนราธิวาส