น้ำท่วมจ่าย9พัน รบ.ถอดบทเรียน โต้บริหารพลาด

ครม.เคาะเยียวยาน้ำท่วมเหมาจ่าย 9,000 บาท นายกฯ ย้ำ กทม.ไม่ซ้ำรอยปี 54  เผย 15 ต.ค. นัดถกวางระบบน้ำทั้งประเทศ  "อนุทิน" สั่ง ปภ.จ่ายค่าล้างโคลนบ้านละ 1 หมื่น  แยกจากเงินเยียวยา "ศปช." ถอดบทเรียนวิกฤตเชียงใหม่-เชียงราย ยกโมเดลป้องกันน้ำท่วม  สรุปไม่ใช่บริหารผิดพลาด แต่เป็นเหตุหลีกเลี่ยงไม่ได้ สั่ง กษ.ทำแผนฟื้นฟูพืชผลครอบคลุมทั้งปี  "บิ๊กป้อม" ฟาดรัฐบาลไม่มืออาชีพ

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอหลักเกณฑ์การเยียวยาจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเปลี่ยนเป็นการช่วยหลือแบบเหมาจ่ายอัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงินเดิมตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2567 คือวงเงิน 3,045 ล้านบาท

ทั้งนี้ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ได้รายงานเรื่องของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ส่วนหน้า ว่าจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตอนนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่วางกรอบไทม์ไลน์ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่รับผิดชอบ ทุกหน่วยงานได้รายงานผลว่าทุกอย่างที่ลงไปในพื้นที่จะเสร็จตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงในตัวพื้นที่อำเภอแม่สาย  ส่วนที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ และอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ปางช้าง มีช้างเสียชีวิต โดยกำลังพลทหารได้เคลื่อนย้ายช้างที่เสียชีวิต 2 เชือกออกจากพื้นที่แล้ว รวมถึงเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังพื้นที่ปลอดภัยและเตรียมอาหารสัตว์ และมีการเตรียมเครื่องนุ่งห่มอย่างเตรียมพร้อม

นายกฯ กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลเรื่องน้ำจากจังหวัดเชียงใหม่ ที่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มลดลงแล้ว ทั้งจากจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ภายใน 4-5 วันนี้คิดว่าทุกอย่างจะกลับเข้าสู่เหตุการณ์ปกติ โดยที่จังหวัดลำปางและลำพูน น้ำจากจังหวัดเชียงใหม่จะลงไป แต่ไม่ได้ท่วมเยอะ เพราะน้ำเคลื่อนตัวไปลงที่เขื่อนภูมิพล  จังหวัดตาก และแม่น้ำโขงด้วย ฉะนั้นเราได้ส่งกำลังไปดูแล เตรียมพร้อมไว้แล้ว ขอให้ชาวจังหวัดลำปางและลำพูนสบายใจ มีทีมงานไปคอยช่วยเหลือแล้ว

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร อย่างที่เคยแจ้งไปแล้ว น้ำจะไม่ท่วมรุนแรงเหมือนปี 54 แน่นอน ตอนนี้แม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถรับน้ำได้อีกมาก ฉะนั้นยังไม่ต้องกังวล เรามีการวางแผนจัดการน้ำอย่างเป็นระบบแล้ว ได้คุยกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รวมถึงในพื้นที่ท้ายเขื่อนด้วย การปล่อยน้ำจะพยายามไม่ให้กระทบกับประชาชน ซึ่งได้มอนิเตอร์เรื่องนี้ตลอด และต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในด้านของอุปกรณ์ อาหาร ยานพาหนะต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งพร้อมหมด หลังจากนี้จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) เพื่อติดตามความคืบหน้า แล้ววางแผนในการป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งระบบ ซึ่งจะมีระยะเร่งด่วนและระยะยาวด้วย โดยในวันที่ 15 ต.ค. หลังกลับจากการประชุมที่ สปป.ลาว จะวางเรื่องของคณะกรรมการและคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยให้คำปรึกษาเรื่องการวางระบบน้ำทั้งระบบของทั้งประเทศ

จ่ายค่าล้างโคลน 1 หมื่น

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  เปิดเผยว่า กระทรวงได้เสนอค่าล้างโคลนและดิน สำหรับผู้ที่ประสบอุทกภัยหลังคาเรือนละ 10,000 บาท ให้ ครม.ได้รับทราบ ซึ่งไม่ต้องอนุมัติ เพราะเป็นเรื่องที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ขอความเห็นชอบจากกรมบัญชีกลางแล้ว และอธิบดีกรมบัญชีกลางก็ได้เห็นชอบแล้ว ซึ่งจะจ่ายให้กับบ้านที่ภาครัฐไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ โดยหลังจากนี้ ปภ.จะไปสำรวจการล้างโคลนและดินในพื้นที่ จ.เชียงราย ซึ่งในส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเงินเยียวยาครัวเรือนละ 9,000 บาทที่ ครม.อนุมัติ ทั้งนี้ ต้องไปสำรวจบ้านที่เข้าไปทําความสะอาดเองหรือมีการจ้างทำ เพื่อคำนวณค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถเริ่มได้เลย เพราะจะใช้เงินทดรองผู้ประสบภัย ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่หากมีการตกหล่นสามารถมาทวงสิทธิ์ได้

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการเสนอของบประมาณฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยว่า จะมี 2 ส่วน เงินเยียวยาที่จะเป็นงบประมาณของทางจังหวัด แบ่งประเภทเป็นพืชไร่ พืชสวน ประมงและปศุสัตว์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะเป็นผู้ประเมิน และประสานงานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เงินเยียวยาออกโดยเร็วที่สุด อีกส่วนกระทรวงเกษตรฯ เตรียมนำเสนอเพื่อของบกลาง วงเงิน 3,200 ล้านบาท เป็นเรื่องฟื้นฟูหลังน้ำลด ส่วนที่เหลือจะใช้งบจากกระทรวงเกษตรฯ เอง โดยจะนำเข้าที่ประชุม ศปช. หากผ่านการเห็นชอบจะเข้าสู่การประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า การเร่งเบิกจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมในส่วนของ พม.นั้น มีการให้เบิกจ่ายภายใน 3 วัน มอบเงินไปแล้วกว่า 200 คน วงเงินกว่า 3.8 ล้านบาท และอนุญาตให้ลดเงินต้นและดอกเบี้ย ให้กับสมาชิกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ที่ผ่อนชำระบ้านเป็นเวลา 3 เดือน

ต่อมาเวลา 16.35 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีการประมวลวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกัน เพื่อแก้ไขให้เกิดความคืบหน้ามากที่สุด โดยมีการประชุมร่วมกับศูนย์บัญชาการส่วนหน้าเชียงรายและเชียงใหม่ ทางออนไลน์ด้วย ซึ่งได้แจ้งประเด็นต่างๆ 5 ข้อสำคัญ คือ 1.น้ำท่วมอำเภอเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ เกิดจากฝนตกหนักในวันที่ 3 และ 4 ต.ค. ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่ริม ซึ่งฝนตกมากที่สุด ตามสถิติถือว่าหลายร้อยปีจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง

รวมถึงเหตุอุทกภัยที่ อ.แม่สาย ไม่เคยเกิดดินโคลนถล่ม ครั้งนี้ถือว่าเหตุการณ์ใหญ่มาก ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ใช่ความผิดพลาดของหน่วยราชการหรือการบริหารจัดการใดๆ ทั้งสิ้น ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เคยอยู่ในวิถีที่ควรจะเกิด แต่เกิดจากสภาวะโลกร้อน และหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องจึงต้องรับไว้เป็นบทเรียน โดยเราต้องสร้าง 2 โมเดลคือ โมเดลที่เชียงใหม่และโมเดลที่เชียงราย ซึ่งอยากให้สื่อเข้าใจจุดนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์และประเมินร่วมกันไปกับเรา

2.จากเหตุการณ์น้ำล้นตลิ่งเมื่อน้ำมาถึงอำเภอเมืองเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องสร้างระบบป้องกันเมืองด้วยเขื่อนขนาดเล็ก โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยและจังหวัดเชียงใหม่ไปดูเรื่องนี้ 3.น้ำจากอำเภอเชียงดาวมาถึงอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ใช้เวลา 30 ชั่วโมง อำเภอแม่แตง 16 ชั่วโมง และอำเภอแม่ริม 6 ชั่วโมง ซึ่งการเดินทางของน้ำค่อนข้างยาว และเมื่อประมาณระดับน้ำที่แตกต่างกันแสดงให้เห็นว่าลำน้ำปิงตื้นเขินคดเคี้ยวมาก เกิดจากธรรมชาติ และการบุกรุก จึงสั่งให้กรมโยธาธิการ กรมเจ้าท่า และกรมปกครองส่วนท้องถิ่น ศึกษาหาทางแก้ไขเรื่องเส้นทางน้ำเพื่อให้เกิดความสะดวกในการระบายมากขึ้น

จ่อตั้ง กก.ป้องวิกฤตซ้ำ

4.ฝนที่ตกถึง 5 วันในลุ่มน้ำปิง และพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวม 14 แห่ง ในฐานะที่เป็นลุ่มน้ำชั้น 1A ชั้น 1B แต่ไม่สามารถซับน้ำได้ดีเหมือนในอดีต และปรากฏว่ามีการทำกินในพื้นที่ซึ่งไม่ถูกต้องถึง 5% จึงอยากให้กรมอุทยานฯ และกระทรวงมหาดไทยได้ฟื้นฟูป่าต้นน้ำอย่างจริงจัง และ 5.เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นกึ่งเชิงวิชาการหลายแขนง ต้องเข้าใจภูมิประเทศตลอดจนโครงสร้างสังคมของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงขอให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษา ศปช. พิจารณาศึกษาดูว่าจะมีคณะกรรมการอะไรบ้าง ซึ่งจะดูทั้งแผนระยะยาว และเฉพาะหน้า โดยให้เตรียมการให้เสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก หรือหากเกิดขึ้นแก้ไขได้อย่างเหมาะสมทำให้ความเสียหายไม่มาก

 “จากทั้งหมดที่ประชุมมาพบว่าพื้นที่ต่างๆ ระดับฟื้นฟูได้ดีขึ้นตามลำดับ ผลกระทบแม่สาย 753 หลัง ฟื้นฟูได้แล้ว 418 หลัง หรือเป็น 56% ที่เหลืออยู่จะเร่งให้ความมั่นใจว่าภายในวันที่ 31 ต.ค. จะให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด” นายภูมิธรรมระบุ

นายภูมิธรรมกล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในขณะนี้ยืนยันได้ว่าน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน เหตุการณ์แบบปี 54 จะไม่เกิดขึ้น ตรงนี้เราต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น เพราะจากการประเมินฝนค่อยๆ หยุดตกแล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนภูมิพลสามารถรองรับน้ำได้ ดังนั้นอยากให้โซเชียลทั้งหลายกระจายข่าวแบบมีข้อมูลที่เป็นจริง ไม่สร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นกับประชาชน

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีการเสนอให้มีการฟื้นฟูอาชีพต่างๆ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ จึงประสานไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ และกฤษฎีกา ได้ช่วยกันพิจารณาความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ขณะนี้ได้มอบให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นต้นเรื่องในการพิจารณา โดยขอให้มองเป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นแผนตลอดทั้งปีและแผนเฉพาะหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ศปช.ส่วนหน้า ที่มี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ ได้มีการเสนอแนวทางเปิดตลาดชุมชน ให้ประชาชนใน อ.แม่สายสามารถมาค้าขายได้

ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครเริ่มมีปริมาณล้นว่า ได้สั่งการให้เตรียมเครื่องสูบน้ำให้พร้อมใช้งานทุกจุด โดยติดตามสถานการณ์ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด ส่วนเขื่อนในบริเวณต่างๆ มีการตรวจเช็กเพื่อทำการส่งสัญญาณเตือนให้ประชาชนได้รับทราบ อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท ขอให้ประชาชนเตรียมการเอาไว้ ทั้งการซ้อมอพยพและการขนของหนี ทั้งนี้ หากเกิดน้ำท่วมระบบจะสามารถแจ้งเตือนได้ทันที เพราะมีทุกช่องทาง ทั้งทาง SMS รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านเสียงตามสาย

ที่พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวในที่ประชุมกรรมการบริหารและ สส.พรรค ถึงสถานการณ์อุทกภัยในขณะนี้ว่า  การบริหารจัดการน้ำถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในอดีตเคยดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ได้มีการวางแนวทางการบริหารจัดการไว้เป็นอย่างดีแล้ว โดยในปี 2565 ปริมาณน้ำมีมากกว่า ปี 2554 ที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ แต่สามารถจัดการได้ตามแผนจนไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่ในปัจจุบันการเผชิญปัญหาของรัฐบาลยังไม่เป็นมืออาชีพ ถ้ารัฐบาลอยากรู้ว่าเขาทำอย่างไร ควรไปศึกษาผลงานที่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้เคยวางรากฐานเอาไว้ และจะเห็นข้อแตกต่างของการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ ทั้งนี้ พร้อมเสนอแนะและทำงานในฐานะฝ่ายค้านให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเต็มที่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯอิ๊งค์ชู 3 ประเด็นบนเวทีสุดยอดอาเซียน

นายกฯ โชว์วิสัยทัศน์เวทีสุดยอดอาเซียน ชู 3 ข้อ ความยั่งยืนของสมาชิก-ความมั่นคงของมนุษย์-การบูรณาการร่วมกันระดับภูมิภาค เชื่อมโยงอาเซียนที่แข็งแรง สู่การ 'กินดีอยู่ดี' ของประชากรกว่า 700 ล้านคนในภูมิภาค