‘ชัยธวัช-ทอน’โหน6ตุลา บี้เร่งนิรโทษกรรมคดี112

ไม่พลาด “ชัยธวัช-ธนาธร” โผล่งานรำลึก 6 ตุลา อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้ทีอ้างนิรโทษกรรมคดี 112 ก็เคยทำมา จี้สภาเร่งถกรายงาน กมธ. “ทอน” เล่า 3 เหตุการณ์โยง 112 บอกเป็นยุคประวัติศาสตร์วาระก้าวหน้าถูกทำให้เป็นเรื่องสามัญ! “จาตุรนต์” เผยคนเปลี่ยนไปแต่อุดมการณ์การต่อสู้ยังไม่เปลี่ยน

เมื่อวันอาทิตย์ 6 ต.ค.2567 นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ พ.ศ..… ที่วุฒิสภามีมติเห็นชอบให้กลับไปใช้เสียงข้างมากสองชั้นกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรว่า ยังไม่ทราบว่ามีการส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกลับมาที่สภาหรือไม่ ต้องรอวันที่ 7 ต.ค.จึงจะทราบ ส่วนจะเข้าในที่ประชุมสภาวันที่ 9 ต.ค.หรือไม่ ต้องรอดูวันที่ 7 ต.ค.ก่อน

นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวในงานรำลึกครบรอบ 48 ปี 6 ตุลาฯ ถึงการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองว่า ในเหตุการณ์ 6 ตุลา มีนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดี รวมถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และในปี 2521 ได้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม แสดงให้เห็นว่าในอดีตเคยมีการนิรโทษกรรมมาแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลก  และไม่เกี่ยวอะไรกับความจงรักหรือไม่จงรักภักดี

นายชัยธวัช ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการตรากฎหมายนิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ยังรอความชัดเจนว่าจะมีการพิจารณารายงานของ กมธ.เร็วที่สุดได้เมื่อใด หลังจากที่แกนนำรัฐบาลตัดสินใจเลื่อนการเสนอรายงานออกไป ขณะเดียวกันมีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่อยู่ในระเบียบวาระอยู่แล้ว 4 ฉบับ ไม่อยากให้รอช้า เพื่อให้พรรคการเมืองต่างรีบพิจารณาเพื่อยื่นกฎหมายของแต่ละพรรคเพิ่มเติม ไม่ควรกังวลจนเกินเลยเกินไป เรื่องนี้เป็นวาระปกติการทำงานของสภา

“พรรคการเมืองต่างๆ ควรรีบตกผลึกในเรื่องนี้ รายงานของ กมธ.เป็นเพียงข้อศึกษา ซึ่งเป็นทางเลือก ไม่ใช่ร่างกฎหมาย การพิจารณาจะเป็นประโยชน์ต่อแกนนำพรรคการเมือง และรัฐบาลจะได้ฟังฟีดแบ็กจากสังคม โดยการนิรโทษกรรมมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไขเป็นหนึ่งในทางเลือกข้อเสนอของรายงาน กมธ. ซึ่งได้รับการสนับสนุนและเห็นตรงกันจากหลายพรรคการเมือง ไม่ได้เฉพาะพรรคใดพรรคหนึ่ง ส่วนพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคใดจะเอาด้วยหรือไม่ ขั้นตอนแรกต้องมีการพิจารณารายงานของ กมธ.ก่อน เพื่อฟังความเห็นของสมาชิกและสังคม เชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่ง่ายขึ้น ที่จะทำให้รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป”

วันเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ได้จัดงานครบรอบ 48 ปี​ 6 ตุลาฯ ​2519 ประจำปี 2567 โดยช่วงเช้ามีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 19 รูป​ ในขณะที่กลุ่มทะลุวัง​ได้นำภาพถ่าย ​น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง มาแสดงระหว่างทำบุญด้วย ต่อมานายศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดี มธ. กล่าวเปิดงาน ก่อนเชิญผู้ร่วมงานยืนไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ขานนามวีรชน และพิธีวางพวงหรีด​ ช่อดอกไม้​ บริเวณประติมานุสรณ์ 6 ตุลา​ 2519​

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และประธานคณะก้าวหน้า บรรยายในหัวข้อ 48 ปี 6 ตุลาฯ กระจกส่องสังคมไทย ว่ามีอาการสองจิตสองใจ ไม่อยากจะมา เพราะสิ่งที่ต้องพูดได้เคยถูกพูดไปหมดแล้ว สิ่งที่พูดไม่ได้ก็ยังพูดไม่ได้เหมือนเดิม แต่ท้ายที่สุดก็คิดว่ามาเติมความหวังมาเติมกำลังใจให้กันและกันได้ดีกว่า  โดยนายธนาธรได้เล่าถึง 3 เหตุการณ์คือ การไปเยือนอุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง จ.พัทลุง การเสียชีวิตของพลทหารศิริวัฒน์ ใจดี และออกหมายจับในคดีตากใบ

“3 เหตุการณ์นี้มีความเหมือนกัน คือการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลในสังคมไทย คนที่ทำผิดไม่เคยถูกดำเนินคดีเลยสักครั้ง ผมคิดว่านี่เป็นความล้มเหลวทางสามัญสำนึกครั้งใหญ่ของสังคมไทย เจ้าหน้าที่รัฐที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน จนเข่นฆ่าชีวิตประชาชน ดำเนินคดีไม่ได้  นี่เป็นความล้มเหลวทางสามัญสำนึกครั้งใหญ่มากของสังคม” นายธนาธรกล่าว

นายธนาธรกล่าวอีกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ความล้มเหลวของระบบ แต่เป็นความจำเป็นที่ระบบต้องมีวัฒนธรรมแบบนี้อยู่ พยายามอย่างยิ่งที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตยที่มีสิทธิเสรีภาพ มีความเจริญก้าวหน้า มีความเสมอภาค เท่าเทียม ที่ผ่านมาตั้งแต่ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา วันนี้ถูกตัดสิทธิ์ไปแล้ว โดยเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 จำนวน 2 คดี แต่นี่ไม่ใช่เวลาของการท้อถอย สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563-2564 แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเพดานความคิดของประเทศไทยก้าวหน้าไปมาก การเลือกตั้งปี 2566 ชัดเจนว่าเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 กลายเป็นเรื่องที่พูดกันได้อย่างแพร่หลายในสื่อหลัก ในการดีเบตครั้งสำคัญของการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นว่าสังคมมันไปไกลมาก มีความก้าวหน้า ดังนั้นนี่เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดในประวัติศาสตร์ ไม่เคยมีช่วงเวลาไหนในประวัติศาสตร์ ที่วาระก้าวหน้าแบบนี้จะถูกพูดอย่างแพร่หลายและถูกทำให้เป็นเรื่องสามัญ

ส่วนนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ  พรรคเพื่อไทย กล่าวรำลึก 48 ปี 6 ตุลาฯ ในหัวข้อ คนเดือนตุลาตายหรือยัง ระบุว่า ขอพูดในฐานะนายจาตุรนต์ที่เป็นคนเดือนตุลา ซึ่งเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้เกิดขึ้นช่วงเย็น บ่าย เช้าวันที่ 6 ตุลาเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ต่อเนื่องด้วยสิ่งที่เป็นความตั้งใจ เป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ ทำลายประชาธิปไตยนำสังคมไทยสู่การปกครองในระบอบเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนี่คือความหมายของเหตุการณ์ครั้งนี้ในความรู้สึกของตน

“คนเดือนตุลามีความคิดร่วมกันและต่างกัน ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ที่หลากหลายมากมาย ความคิดต่างกันถือเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติของสังคม  ผมเชื่อว่าขบวนการต่อสู้ที่ไหนของช่วงไหนของประเทศไทย หรือที่ไหนในโลก คนที่ผ่านการต่อสู้มาระยะหนึ่งของสังคมจะไม่มีที่รักษาความคิดอย่างเดิม หรือหยุดนิ่ง เพราะนั่นไม่ใช่ธรรมชาติของสังคม”

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ความแตกต่างหลากหลายเกิดขึ้นจนเป็นธรรมดา แต่ว่าความแตกต่างหลากหลายนี้เกิดจากการผ่านสังคม ผ่านชีวิต ผ่านประสบการณ์ที่ต่างกัน และคนเดือนตุลา ก็เลือกที่จะจำต่างกัน เลือกที่จะลืมต่างกัน บางคนก็มาว่าระบอบรัฐสภาเป็นของหลอกลวงของชนชั้นนายทุน  บางคนก็บอกว่าไม่เอาทุนนิยม เพราะเราเป็นสังคมนิยม บางคนก็คิดแต่ว่าต้องล้มรัฐบาลแบบไหนก็ได้ แต่บางคนก็ถึงขั้นสนับสนุนการรัฐประหาร แต่ในความคิดเห็นตนเอง มองว่าคนที่สนับสนุนรัฐประหารไม่เหมือนคนเดือนตุลาแล้ว ถ้ายังมารำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาได้แต่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ก็ต้องเพี้ยนแล้ว เพราะการทำรัฐประหารเกิดขึ้นในวันเดียวกันกับ 6 ตุลา

นายจาตุรนต์กล่าวด้วยว่า ความแตกต่างถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ใช่ให้ช่างมันไป บางทีเราอาจจะไม่สามารถเรียกร้องให้คนเดือนตุลาเหมือนกัน ขณะเดียวกันเราควรให้ความสนใจกับอุดมการณ์เดือนตุลา ที่ยังคงมีความหมายและมีคุณค่าอยู่ เพราะสังคมไทยยังเป็นประชาธิปไตย สังคมไทยยังอยู่ในระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยผ่านการยึดอำนาจมาสองครั้ง ผู้มีอำนาจยังอยู่โดยระบบ โดยอุดมการณ์นี้ยังมีความหมาย ยังเป็นประโยชน์ แต่ต้องถามว่าพอไหมกับสังคมที่ซับซ้อนแบบปัจจุบัน

นายจาตุรนต์ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อนที่สุด มีภูมิต้านทานในตัวเองมากที่สุด ซึ่งอุดมการณ์นี้ ถ้าจะใช้มัน ก็ต้องเข้าใจว่ามันผ่านการต่อสู้ ที่ต่อมาก็พ่ายแพ้ ต่อมาก็ถูกปราบ แต่อุดมการณ์มีความหมาย เพราะประชาธิปไตยยังสอดคล้องกับสังคม และหลายประเทศกว่าจะเป็นประชาธิปไตยได้ใช้เวลายาวนาน ซึ่งถ้าเห็นว่ายังเป็นประโยชน์ อยากให้ศึกษาทำความเข้าใจกับอุดมการณ์ในช่วงเดือนตุลาคม และประสบการณ์ บทเรียนที่ผ่านมาจะเป็นประโยชน์ต่อการที่จะนำมาใช้ในการต่อสู้เพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ธนาธร' ตอกย้ำ 3 เหตุการณ์ วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล ความล้มเหลวสามัญสำนึกครั้งใหญ่สังคมไทย

48 ปี 6 ตุลา "ธนาธร" ชี้ 3 เหตุการณ์ ถังแดง -ตากใบ -พลทหารดับระหว่างฝึก ตอกย้ำวัฒนธรรมผู้พ้นผิดลอยนวล มองเป็นความล้มเหลวทางสามัญสำนึกใหญ่ของสังคมไทย

'ชัยธวัช' เมินกระแส 'ปชน.' ตก ยันต้องให้เวลา 'เท้ง'

'ชัยธวัช' เปิดปากถึง 'ปชน.' ครั้งแรก มองกระแสที่ลดลงยังมีเวลากอบกู้ ให้ 'ณัฐพงษ์' ได้ทำความรู้จักสังคมก่อน บอก เห็นใจรัฐบาล 'แพทองธาร' พอเข้ามาก็เจอปัญหาประดังประเด มอง ม็อบ 'สนธิ-จตุพร' จะปลุกขึ้นหรือไม่ อยู่ที่ความชอบธรรมทางการเมืองของ 'รัฐบาล'