11จังหวัดริมเจ้าพระยาระทึก

ศปช.เตือน 11 จังหวัดใกล้เจ้าพระยา รวมถึง กทม. ปริมณฑล รับมือน้ำท่วม หลังเขื่อนเจ้าพระยายังคงระบายน้ำ 2,250 ลบ.ม./วินาที เผยเชียงใหม่เริ่มคลี่คลาย เปิดยุทธการเคาต์ดาวน์คืนพื้นที่ให้ประชาชน มท.4 ติดตามเร่งสร้างบ้านน็อกดาวน์ช่วยผู้ประสบภัยเชียงราย "ผบ.ทบ." สั่งยกระดับเกาะติดสถานการณ์ขยายวงกว้าง

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และ ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า สำหรับแผนการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จะคงการระบายน้ำที่ 2,250 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นท้ายเขื่อนฯ 11 จังหวัด

โดยขอแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ปทุมธานี  นนทบุรี อุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา  กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัด ได้แก่ คลองโผงเผง คลองบางบาล แม่น้ำน้อย และพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณ จ.ชัยนาท อ.สรรพยา และ อ.วัดสิงห์ (ตำบลโพนางดำตก),  อ.เมืองสิงห์บุรี อ.พรหมบุรี และ อ.อินทร์บุรี (วัดสิงห์ วัดเสือข้าม) จ.สิงห์บุรี, อ.ป่าโมกและ อ.ไชโย (วัดไชโย) จ.อ่างทอง, อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางบาล อ.ผักไห่ (ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง) และ อ.เสนา (ตำบลหัวเวียง) จ.พระนครศรีอยุธยา, อ.เมืองปทุมธานี และ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี, อ.ปากเกร็ด (ตำบลท่าอิฐ) อ.เมืองนนทบุรี (ต.ไทรม้าและบางไผ่) จ.นนทบุรี

ทั้งนี้ ได้มีการประสานทุกจังหวัดให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้าแล้ว ขอให้ประชาชนขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ย้ำประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1567 ตลอด 24 ชม. ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ระดมกำลังเพื่อช่วยคลี่คลายความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนโดยเร็ว

นายจิรายุกล่าวถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ประสบอุทกภัยที่ลงทะเบียนผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ว่า ข้อมูลล่าสุด (4 ต.ค.67) มีผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินรวม 84,224 ครัวเรือน และได้นำส่งข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบและยืนยันจากจังหวัดให้ธนาคารออมสินแล้วจำนวน 5 ครั้ง รวม 10,978 ครัวเรือน เป็นเงิน 54,944,000 บาท และธนาคารออมสินได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้ประสบภัยสำเร็จแล้วจำนวน 4 ครั้ง รวม 8,787 ครัวเรือน เป็นเงิน 43,987,000 บาท โดยจะทำการโอนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งที่ 5 ภายในวันที่ 8 ต.ค.

 “คาดว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 8 ต.ค.นี้ จะมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 กรณีน้ำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินเสียหายหรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 7 วัน ให้ความช่วยเหลืออัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเข้ามา” นายจิรายุระบุ

นายจิรายุกล่าวว่า ช่วงเช้าวันที่ 6 ต.ค. เวลา 10.00 น. สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.เชียงใหม่เริ่มคลี่คลาย โดยข้อมูลจากจุดตรวจวัดระดับน้ำ P1 เชิงสะพานนวรัฐ พบว่าระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 4.90 เมตร หากไม่มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่ ระดับน้ำจะทรงตัวระยะหนึ่ง และจะลดระดับจนสู่สภาพการไหลปกติ สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจ (อุทกภัย) จ.เชียงใหม่ สายด่วน 1567 และ 1786

นอกจากนี้ กรมชลประทานได้เปิดจุดให้บริการรับ-ส่งประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เส้นทางดังนี้  1.ศาลเด็ก-รัตนโกสินทร์-วัดสิงห์คำ 2.ไนท์บาซาร์-ช้างคลาน บัวระวง 3.ท่าแพ-ประตูหายยา-มหิดล 4.มงฟอร์ต (มัธยม)-สะพานภาค 5 ด้านจังหวัดเชียงราย โดยจะเริ่มเปิดยุทธการเคาต์ดาวน์นับถอยหลังตั้งแต่วันที่ 6- 31 ต.ค.67 เพื่อคืนพื้นที่ให้กับประชาชน

สำหรับภาพรวมการฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชน โดยกระทรวงกลาโหม กรมชลประทาน และมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก มีความคืบหน้าอย่างมาก ขณะที่การซ่อมแซมระบบประปาจะเร่งปฏิบัติการเพื่อให้มีน้ำประปาใช้ภายในชุมชน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะดำเนินการตรวจสอบฟื้นฟูระบบไฟฟ้าในบ้านที่ฟื้นฟูสำเร็จแล้วในช่วงระหว่างวันที่ 7-9 ต.ค.นี้ ทั้งนี้ วันที่ 8 ต.ค.นี้ กระทรวงกลาโหมส่งนักเรียนนายสิบเหล่าทหารช่างอีก 140 นายเข้ามาร่วมภารกิจ จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนชาว อ.แม่สาย กลับเข้าสู่ที่พัก เพื่อร่วมปฏิบัติการฟื้นฟูเมืองแม่สายกับเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการนำดินโคลนออกจากพื้นที่และร่วมกันฟื้นฟูเมืองแม่สายในทุกด้าน

ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.ส่วนหน้า) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าในการสร้างบ้านน็อกดาวน์ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย ณ บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้ยกระดับการติดตามสถานการณ์อุทกภัยผ่านกลไกของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก และศูนย์ประสานงานโครงการจิตอาสากองทัพบก เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่เริ่มมีการขยายตัวเป็นวงกว้าง โดยมอบหมายให้ พล.ท.ชัยพฤกษ์ ด้วงประพัฒน์ เจ้ากรมยุทธการทหารบก เป็นประธานการประชุมศูนย์ติดตามสถานการณ์บรรเทาภัยพิบัติกองทัพบก ร่วมกับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สั่งการให้หน่วยทหารทั่วประเทศเตรียมจัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าสนับสนุนหน่วยทหารในพื้นที่ประสบอุทกภัย เมื่อได้รับการร้องขอ  รวมถึงบูรณาการการช่วยเหลือของกำลังพลจิตอาสา ผ่านกลไกศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ในทุกระดับ ทั้งในระดับภาคและระดับจังหวัด

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ ส่งกำลังพลจากกองพันที่ 2 กรมปฏิบัติการพิเศษ ประกอบด้วยผู้ควบคุมและทหารกองประจำการ 33 นาย จากที่ตั้งดอนเมืองไปจังหวัดเชียงใหม่  เพื่อปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วน พร้อมสนับสนุนเครื่องบิน ATR ลำเลียงกำลังพลดังกล่าว โดยมีขีดความสามารถในการช่วยผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่น้ำไหลเชี่ยวและพื้นที่เข้าถึงยาก รวมทั้งลำเลียงสิ่งของให้กับผู้ประสบภัย

วันเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ได้เดินลุยน้ำบริเวณกาดก้อม ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งท่วมสูงถึงระดับอก ระหว่างลงพื้นที่ให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมมอบอาหารและน้ำดื่มให้กับผู้ประสบอุทกภัย โดยคุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ระดับน้ำในพื้นที่หลายจุดยังน่าเป็นห่วง ซึ่งได้ประสานกับภาคเอกชน หน่วยงานรัฐ รวมถึง "เปิ้ล" นาคร ศิลาชัย เพื่อจะได้นำเจ็ตสกีเข้ามารับผู้ที่ยังติดค้างอยู่ภายในบ้านเรือน ดังนั้นขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเร่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วมที่มีอยู่จำนวนมาก        

ที่ จ.พิษณุโลก นายสุรสีห์ กิตติมณฑล  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวระหว่างลงพื้นที่พิษณุโลกติดตามการระบายน้ำของลุ่มแม่น้ำยม-น่าน และแม่น้ำยมสายเก่า ที่แก้มลิงคลองละหาร ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ หลังจากน้ำที่จังหวัดสุโขทัยได้รับมวลน้ำจากภาคเหนือเข้าสู่จังหวัดพิษณุโลกว่า ได้มีการบริหารตามแผนที่กำหนดไว้ว่าน้ำที่อยู่ในจังหวัดพิษณุโลก โดยเฉพาะในส่วนของทุ่งบางระกำ เป็นข้อตกลงกับประชาชนอยู่แล้วว่าตั้งแต่ 1 พ.ย.เป็นต้นไป จะพยายามเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยระบายออกไปสู่ทะเลให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี