ตีปี๊บหารือ6บิ๊กท่องเที่ยว ‘เงินหมื่น’ดัน‘เรตติ้ง’พุ่ง

รัฐบาลตีปี๊บมาดามแพเตรียมถก 6  ยักษ์ใหญ่การท่องเที่ยว อึ้ง! นิด้าโพลบอกคนส่วนใหญ่ที่ได้เงินหมื่นยังไม่ตัดสินใจเทแรงเชียร์ให้รัฐบาล แต่ "สวนดุสิตโพล" เผย 65.70% ทุ่มใจให้เพื่อไทย "เจ๊มนพร" ปูดบอกคนลงทะเบียนได้เงินแน่แต่รอหน่อย

เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  มีกำหนดการพบหารือกับคณะผู้บริหารระดับสูงจาก 6 บริษัทชั้นนำด้านการท่องเที่ยวของโลก  ได้แก่ Grab, IHG, Marriott, Agoda Expedia,     trip.com และการบินไทย ซึ่งการพบปะหารือครั้งนี้จะเป็นบันไดก้าวแรกเพื่อพัฒนาความร่วมมือกับภาคเอกชนอีกจำนวนมาก และเป็นโอกาสสนับสนุนการดำเนินนโยบายด้านการท่องเที่ยวของไทย

“นายกฯ ขอให้ทุกกระทรวงเศรษฐกิจ เร่งกระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจในทุกด้าน เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาคึกคัก นำไปสู่การพัฒนาวิถีชีวิต  สร้างงาน เพิ่มรายได้ให้ประชาชนไทย” นายจิรายุกล่าว

วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลการสำรวจประชาชนเรื่อง รับเงินสด 10,000  บาทแล้วจะสนับสนุนรัฐบาลไหม โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศที่ได้รับเงิน 10,000 บาท จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 โดยเมื่อถามถึงการนำเงินไปใช้จ่ายของผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นตนเอง และ/หรือคนในครอบครัวได้รับเงิน พบว่า 86.79% ระบุว่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (รวมค่าน้ำ ค่าไฟ น้ำมันเชื้อเพลิง), 16.49% เก็บออมไว้สำหรับอนาคต,   14.35% ใช้หนี้, 13.59% ใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ เช่น ซื้อยารักษาโรค หาหมอ, 8.24% ใช้ลงทุนการค้า,  7.48% ใช้จ่ายเพื่อการศึกษา, 1.37% ใช้ซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า, 1.07% ใช้ซื้อหวย สลากกินแบ่งรัฐบาล, 0.99% ใช้ซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มือถือ และเครื่องมือสื่อสาร, 0.69% ใช้จ่ายเพื่อการบันเทิง เช่น เลี้ยงสังสรรค์ ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ เป็นต้น, 0.31% ใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว, 0.15% ใช้ซื้อทองคำ เพชร พลอย อัญมณี และ 0.99% ไม่ตอบ

เมื่อถามถึงการสนับสนุนรัฐบาลของผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นตนเอง และ/หรือคนในครอบครัว พบว่า 34.35% ยังไม่แน่ใจว่าจะตัดสินใจอย่างไร, 30.31% มีส่วนทำให้สนับสนุนรัฐบาล, 20.38% จะมีหรือไม่มีโครงการก็สนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว, 13.13% ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สนับสนุนรัฐบาล และ 1.83% ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ส่วนสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเฉพาะผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาทจากรัฐบาล เรื่องความคิดเห็นต่อนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท โดยสอบถามกลุ่มเปราะบางผู้ได้รับเงินแล้ว จำนวน 845 คน โดยเมื่อถามถึงสถานะทางการเงินของประชาชน ณ วันนี้ เป็นอย่างไร พบว่า 46.75% มีเงินไม่พอใช้และมีหนี้, 28.64% มีเงินพอใช้แต่ไม่มีเงินเก็บ, 19.17% มีเงินไม่พอใช้แต่ไม่เป็นหนี้ และ 5.44% มีเงินพอใช้และมีเงินเก็บ             

เมื่อถามว่า ประชาชนนำเงิน 10,000 บาทที่ได้รับจากรัฐบาลไปใช้จ่ายอะไรบ้าง พบว่า 47% ซื้อของกินของใช้, 23.35% ชำระหนี้, 9.58% เก็บออม, 7.76% ลงทุน, 6.79% รักษาพยาบาล และ 5.52% อื่นๆ การศึกษา, ค่าพาหนะ, ท่องเที่ยว และเมื่อถามอีกว่าประชาชนคิดว่านโยบายนี้ช่วยบรรเทาภาระทางการเงินได้มากน้อยเพียงใด พบว่า 57.75% ช่วยได้มาก, 37.63% ช่วยได้พอสมควร และ 4.62% ไม่ช่วยเลย       

เมื่อถามต่อว่า ประชาชนคิดว่านโยบายนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้หรือไม่ พบว่า 53.61% ช่วยได้พอสมควร, 44.02% ช่วยได้มาก และ 2.37% ไม่ช่วยเลย ถามอีกว่าประชาชนคิดว่านโยบายนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเพียงใด พบว่า 50.65% ค่อนข้างเชื่อมั่น, 35.86% เชื่อมั่นมากขึ้น และ 13.49% ไม่ค่อยเชื่อมั่น ทั้งนี้ เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่ารัฐบาลควรมีนโยบายใดเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ พบว่า 31.70% เพิ่มเงินเดือน ค่าจ้าง สร้างงาน สร้างอาชีพ, 27.76% เพิ่มเงินผู้พิการ ผู้สูงอายุ และบัตรคนจน และ 25.80% ควบคุมราคาสินค้า ของกินของใช้         

"สุดท้ายเมื่อถามว่าจากการแจกเงิน 10,000 บาท ส่งผลให้ประชาชนชื่นชอบพรรคการเมืองใดมากขึ้นบ้าง พบว่า 65.70% พรรคเพื่อไทย, 12.94% พรรคประชาชน, 9.73% พรรคภูมิใจไทย,  8.63% พรรคชาติไทยพัฒนา และ 3% พรรคพลังประชารัฐ"   

ส่วนนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมทีมงานลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ แสดงความยินดีกับกลุ่มเปราะบาง รวมถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครพนม เพื่อพบปะรับทราบปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาด้านคมนาคม และสิทธิรับเงิน 10,000 บาท ซึ่งเมื่อสอบถามชาวบ้านส่วนใหญ่ยืนยันว่าได้ประโยชน์จากโครงการ เพราะได้นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

"ดีใจกับพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบาง หลังได้รับเงิน 10,000 บาท เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนได้เป็นอย่างดี ทำให้พี่น้องประชาชนนำไปใช้จ่ายดูแลครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ส่วนประชาชนทั่วไป ตามหลักเกณฑ์มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป อยู่ระหว่างรัฐบาลเร่งดำเนินการ ยืนยันได้รับสิทธิทุกคน อดใจรอ ขอเวลาให้รัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการ" นางมนพรระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนาวแน่ 'สนธิญา' ยื่นอสส.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 'นายกฯอิ๊งค์' ตั้ง 'ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' ขัดรธน.

’สนธิญา‘ยื่น อสส.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายกฯอุ๊งอิ๊ง ตั้ง 'ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชี้พฤติการณ์สนับสนุนม๊อบเคยโดนตัดสิทธิทางการเมือง