‘เผ่าภูมิ’ ยืนยัน ให้เกียรติธปท. ตัดสินดอกเบี้ย

 

“เผ่าภูมิ” ชี้ต้องให้เกียรติ “กนง.-ธปท.” พิจารณานโยบายดอกเบี้ย หวังใช้ข้อมูล หลังปรับจูนข้อมูลกับขุนคลัง ตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ สศค.แจงยิบจังหวัดรับเงินหมื่น 14.55 ล้านคน

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงผลการหารือของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.การคลัง กับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย   (ธปท.) ว่าเป็นไปในทิศทางบวก โดยได้จูนภาพเศรษฐกิจที่ตรงกันมากขึ้น ซึ่งคลังได้แสดงความเป็นห่วงและสะท้อนเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินที่แข็งค่ามากเกินไป รวมถึงช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก ส่วนการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเชื่อว่าภายหลังการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันนั้น จะช่วยทำให้การตัดสินใจต่างๆ ของ กนง.มีศักยภาพและตรงกับบริบทของโลกมากขึ้น

“การพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น  อยู่ในวิสัยที่ ธปท.และ กนง.จะใช้ข้อมูลทั้งหมดที่พูดคุยกันร่วมตัดสินใจเพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ เรื่องนี้ต้องให้เกียรติกันในการหาผลที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป” นายเผ่าภูมิกล่าว

ถามว่า หากการประชุม กนง. ในวันที่ 16 ต.ค. ไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง นโยบายการคลังจำเป็นต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ นายเผ่าภูมิระบุว่า การดูแลเศรษฐกิจมี 2 ขา คือนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เมื่อขาหนึ่งทำงานน้อย อีกขาหนึ่งก็ต้องทำงานให้มากขึ้น  เป็นกลไกธรรมชาติ เพื่อทำให้เศรษฐกิจเดินไปได้ด้วยอัตราเร่งที่เหมาะสม โดยมาตรการด้านการคลัง ก่อนหน้านี้ได้อัดฉีดเม็ดเงิน 1.4 แสนล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ส่วนเฟสที่ 2 นั้น อาจต้องรอดูผลความสำเร็จของเฟสแรกก่อนว่าเม็ดเงินสามารถกระจายตัวได้ขนาดไหน หมุนได้เยอะขนาดไหน และมีมิติของการผลักต่อเศรษฐกิจสูงแค่ไหน

“เฟส 2 ต้องดูระยะเวลา และคลังไม่ลืมที่จะรักษาแรงส่งทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ  เพราะหากแรงส่งตรงนี้หยุด ครั้งต่อไปที่จะส่งแรงส่งจะหนักกว่า แต่ถามว่าเครื่องมือมีแค่เฉพาะการกระจายเม็ดเงินหรือไม่ ต้องตอบว่าไม่ใช่ เรามีมาตรการภาษี มาตรการทางการเงิน มาตรการสินเชื่อ ซอฟต์โลนต่างๆ” นายเผ่าภูมิกล่าว และว่า ส่วนกรณีเอกชนเสนอรัฐบาลดำเนินโครงการคูณ 2 เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ โดยประชาชนซื้อสินค้าราคา 100 บาทได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอีก 100 บาทนั้น เป็นข้อเสนอ มีได้ ภาครัฐก็มีหน้าที่รับข้อเสนอต่างๆ นำมาวิเคราะห์ เมื่อวิเคราะห์เสร็จก็เลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงการแจกเงินหมื่นยังกลุ่มเป้าหมาย 14.55 ล้านคน พบว่าภาพรวมการกระจายตัวกลุ่มเป้าหมายโครงการ 14.55 ล้านคน แบ่งเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12.40 ล้านคน และคนพิการ 2.15 ล้านคน ซึ่งภาคที่มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิมากที่สุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5.8 ล้านคน, ภาคเหนือ 3.3 ล้านคน, ภาคใต้ 2.2 ล้านคน, กรุงเทพฯ และปริมณฑล 1 ล้านคน, ภาคตะวันตก 0.75 ล้านคน, ภาคตะวันออก 0.73 ล้านคน และภาคกลาง 0.62 ล้านคน โดยจังหวัดที่มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 5.4 แสนคน, อุบลราชธานี 4.4 แสนคน, ศรีสะเกษ 4 แสนคน, เชียงใหม่ 3.9 แสนคน และบุรีรัมย์ 3.7 แสนคน ส่วนจังหวัดที่มีผู้ได้รับสิทธิน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ระนอง 2.7 หมื่นคน, ภูเก็ต 2.8 หมื่นคน, ตราด 3.1 หมื่นคน, สมุทรสงคราม 3.3 หมื่นคน และพังงา 4.2 หมื่นคน

นายพรชัยกล่าวอีกว่า หากพิจารณาเฉพาะผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12.40 ล้านคน พบจังหวัดที่มีผู้ได้รับสิทธิมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 5.3 แสนคน, กรุงเทพฯ 4.4 แสนคน, อุบลราชธานี 4.3 แสนคน, เชียงใหม่ 3.9 แสนคน และศรีสะเกษ 3.8 แสนคน จังหวัดที่มีผู้ได้รับสิทธิน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ระนอง 2.7 หมื่นคน, ภูเก็ต 2.8 หมื่นคน, ตราด 3.1 หมื่นคน, สมุทรสงคราม 3.3 หมื่นคน และพังงา 4.2 หมื่นคน ส่วนกรณีคนพิการ 2.15 ล้านคน พบว่า จังหวัดที่มีผู้ได้รับสิทธิมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ 9.9 หมื่นคน, นครราชสีมา 8.5 หมื่นคน, บุรีรัมย์ 6.8 หมื่นคน, อุบลราชธานี 6.2 หมื่นคน และขอนแก่น 5.9 หมื่นคน ส่วนจังหวัดที่มีผู้ได้รับสิทธิน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ระนอง 3.9 พันคน, ตราด 4.5 พันคน, สมุทรสงคราม 6.1 พันคน, ภูเก็ต 6.8 พันคน และสิงห์บุรี 7.0 พันคน.

เพิ่มเพื่อน