เชียงใหม่วิกฤต 7 โซน เสี่ยงจม

“ภูมิธรรม” ยังไม่ฟันธงเยียวยาพื้นที่ท่วมซ้ำเพิ่มหรือไม่ “เชียงใหม่” ยังวิกฤต น้ำสูงขึ้น อาจเป็นสถิติใหม่ “เขื่อนเจ้าพระยา” เพิ่มระบาย 2 พัน ลบ.ม./วินาที เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ สิงห์บุรี-อ่างทอง-อยุธยา รับมือสถานการณ์

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.เชียงราย ว่าน้ำไหลตกที่แม่น้ำสาย แต่ไม่มีปัญหาอะไรมาก เพียงแค่น้ำไหลทะลุจุดของราษฎร ซึ่งเมื่อคืนวันที่ 3 ต.ค.  ทหารช่างได้ทำงานกัน 2 ผลัด เที่ยงคืนจนถึงเช้า  ทำให้สถานการณ์ตอนนี้คลี่คลาย จึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร ส่วนสถานการณ์ที่ จ.เชียงใหม่   ระดับน้ำสูงขึ้นพอสมควร พ้นจากตลิ่งเกือบ 1  เมตร ขณะนี้ได้มีการเฝ้าระวังไว้หมดแล้ว และได้นำเครื่องสูบน้ำแรงดันสูงประจำอยู่ทุกจุด เคลื่อนย้ายรถราต่างๆ ให้อยู่ในที่ปลอดภัย รวมถึงได้สั่งการให้หยุดเรียนไปแล้ว

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ในส่วนการดูดสิ่งของที่ขวางทางน้ำในแม่น้ำ จะพยายามทำเพื่อระบายน้ำให้เร็วที่สุด ส่วนที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีสัตว์เลี้ยงอยู่จำนวนมาก ช้างทั้งหมด 126 เชือก  ช่วยมาได้แล้ว 117 เชือก ส่วนอีก 9 เชือกกำลังดำเนินการ ส่วนสัตว์ที่เหลือนำขึ้นไปอยู่ที่ศูนย์ ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างกระทบหลายจุด ทั้ง จ.พิจิตร สุโขทัย ส่วนภาคอีสาน จ.เลย กระทบมากหน่อย ในส่วนภาคกลาง จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากหน่อยคือ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง, อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา บริเวณแม่น้ำน้อยกับแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเป็นเขตลุ่มต่ำ อย่างไรก็ตาม  เจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างานกำลังทำงานอย่างเต็มที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ภาคเหนือเจออุทกภัยหลายรอบ จะต้องได้รับเงินเยียวยากี่รอบ นายภูมิธรรมตอบว่า กำลังดูอยู่ แต่ได้จ่ายรอบแรกไปก่อนแล้ว ต้องดูว่าสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง เพราะขณะนี้มีข้อเสนอหลายเรื่อง ต้องหาทางแก้ไขกันต่อไป

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และรักษาการผู้ว่าฯ เชียงราย ได้รายงานสถานการณ์ตลอดเวลา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยส่งการช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่เรียบร้อย ทั้งด้านอุปกรณ์และการระดมกองอาสารักษาดินแดน (อส.) จากทุกจังหวัดทั่วประเทศเข้าไปในพื้นที่จำนวนกว่า 1,000 คน รวมถึงทีมกู้ภัยที่เข้าไปช่วยเยียวยา โดยในวันที่ 5 ต.ค. ตน  ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีที่เกี่ยวข้อง จะลงพื้นที่ จ.เชียงรายและ จ.เชียงใหม่ด้วย

เมื่อถามว่า น้ำท่วม 2 ครั้ง จะมีการเพิ่มเรื่องเยียวยาหรือไม่ นายอนุทินระบุว่า ในระเบียบเยียวยาได้ครั้งเดียว แต่การประกาศพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินยังประกาศอยู่ รูปแบบการช่วยเหลืออาจแตกต่างไป แต่กรอบการช่วยเหลือ ยืนยันว่าต้องทำเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ศปช.ได้มีข้อห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำที่ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ หลังได้รับรายงานจากสำนักงานชลประทานที่ 1 ว่า ระดับน้ำปิงเมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมาอยู่ที่ +4.85 เมตร สูงกว่าระดับตลิ่ง 1.15 เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ระดับน้ำสูงสุดที่ระดับ +4.93 เมตร ในช่วงค่ำวันที่ 4 ต.ค. จึงได้ประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงทั้ง 7 โซน

นายจิรายุกล่าวว่า ขณะที่สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา หลังจากที่กรมชลประทานได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จากอัตรา 1,947 ลบ.ม./วินาที จนถึงอัตราไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที และคงอัตราดังกล่าวต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ

“ขอแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี และ อ.เมืองฯ อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง พื้นที่เหล่านี้ระดับน้ำจะสูงขึ้นประมาณ 20-30 ซม.” นายจิรายุระบุ

วันเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 18 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย เลย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา รวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 51 อำเภอ 252 ตำบล 1,262 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 32,214 ครัวเรือน

ที่ จ.เชียงใหม่ สถานการณ์น้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ยังคงวิกฤตต่อเนื่อง แม้ระดับน้ำปิงที่จุด P.1 จะขึ้นสูงสุดเมื่อตี 2 ที่ผ่านมา 4.81 เมตร และทรงตัวกระทั่งล่าสุดเช้าวันที่ 4 ต.ค. เริ่มขยับขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากฝนตกตลอดทั้งคืน โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือ ทำให้มวลน้ำป่าจากอำเภอเชียงดาว เวียงแหง แม่แตง แม่ริม สมทบลงน้ำปิงอีกระลอก โดยตัวเมืองเชียงใหม่น้ำเริ่มกระจายตัวเข้าท่วมพื้นที่ต่างๆ เท่ากับครั้งที่ผ่านมา

นายเกื้อกูล มานะสัมพันธสกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มวลน้ำป่าจำนวนมากกำลังลงน้ำปิง ทำให้ระดับน้ำกลับมาเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าช่วงค่ำวันที่ 4 ต.ค. ปริมาณอาจจะสูงกว่าเดิมเป็นสถิติใหม่ ส่งผลให้น้ำท่วมเชียงใหม่ทั้ง 7 โซนกว้างขึ้น เนื่องจากมวลน้ำเดิมยังไม่เคลื่อนตัวไป

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของชลประทาน คาดว่าน้ำจะสูงขึ้นอีกราว 30 เซนติเมตร ทำให้ระดับน้ำปิงที่จะผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ที่สถานีวัดระดับน้ำที่จุด P.1 สะพานนวรัฐ จะขึ้นสูงสุดในระดับ 5.20 เมตร ในช่วงเวลาประมาณ 01.00 น. ของคืนวันที่ 4 ต.ค. มีอัตราการไหลของน้ำเฉลี่ยถึง 800-900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และน้ำจะแผ่ขยายตัวออกเป็นวงกว้าง ทำให้ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่เท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูง แต่ยังส่งผลกระทบไปยังอำเภอข้างเคียง เช่น อำเภอแม่ริม อำเภอสันทราย รวมถึงอำเภอทางตอนใต้ เช่น อำเภอหางดง สารภี และสันป่าตอง

ที่ จ.ชัยนาท เขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับเพิ่มระบายน้ำขึ้นอีกเป็น 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ซึ่งสูงขึ้นจากเมื่อวาน 56 เซนติเมตร จะมีระดับสูงขึ้นอีก 15 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 14.49 เมตร (รทก.) ต่ำกว่าตลิ่ง 1.85 เมตร

ซึ่งการระบายน้ำในอัตรา 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้น้ำที่ท่วมอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา, ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับเพิ่มสูงขึ้น และจะมีน้ำเริ่มเอ่อท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณวัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี และ อ.เมืองฯ อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี, วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวเตรียมรับสถานการณ์น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น 

ทั้งนี้ กรมชลประทานจะควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ไม่เกินอัตรา 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา มากกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  จะแจ้งให้ทราบต่อไป.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี

ชาวเชียงใหม่อุ่นใจ สสส.-มช. เดินหน้าโครงการ "Chiang Mai Greentopia" ช่วยลดสารเคมีตกค้างในเลือดได้สูง ภายใน 2 ปี ลดเหลือ 66% จาก 90%

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 13 ม.ค. 2568 ที่สวนผักฮักร้องขุ้ม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ตัวแทนเกษตรกร ภาคีเครือข่าย และสื่อมวลชน ติดตามการดำเนินงานโครงการ Chiang Mai Greentopia : ต้นแบบการสร้างความมั่นคงทางอาหาร