ศาลออกหมายจับ "พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี" จำเลยคดีตากใบ เหตุมีพฤติการณ์หลบหนี “โรม” ตั้งกระทู้ถาม “ภูมิธรรม” กังขารัฐบาล-ตร.ช่วยเป่าคดี หวังให้จบอายุความ “บิ๊กอ้วน” ชี้เปรี้ยงไม่ได้เจตนาฆ่ากัน แต่เกิดจากความอลหม่าน ลั่นต้องให้ความเป็นธรรมสองฝ่าย เผย “รัฐบาลปู” เยียวยาแล้วรายละ 7 ล้าน
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งออกหมายจับจำเลยที่ 1 หรือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ตามคำร้องขอให้พิจารณาออกหมายจับจำเลยที่ 1 ของทนายความโจทก์ โดยศาลพิเคราะห์แล้ว วันที่ 12 ก.ย.2567 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่มาศาล แม้ในวันนัดจะมีการประชุมสภา แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าร่วมการประชุมด้วย การพิจารณาคดีของศาลในวันดังกล่าว จึงไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่จำเลยที่ 1 จะไปประชุมสภา
เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือได้ว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีภายในอายุความ 20 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คือ ภายในวันที่ 25 ต.ค.2567 ศาลสั่งด้วยว่าการดำเนินการตามหมายจับ ให้ตำรวจศาลเป็นผู้จัดการตามหมายจับได้ และเห็นสมควรให้พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจเป็นผู้จัดการตามหมายจับด้วย โดยมีตำรวจศาลเป็นผู้สนับสนุน ตาม พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ.2562 มาตรา 5 (5)
อนึ่งเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของศาลยุติธรรมและความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับเรื่องความคุ้มกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในชั้นพิจารณา เห็นสมควรให้งานสารบรรณมีหนังสือถึงสำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งข้อเท็จจริงตามที่สภาผู้แทนราษฎรมีหนังสือตอบกลับมาว่า ระหว่างสมัยประชุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาไม่มีความคุ้มกันในชั้นพิจารณา รวมถึงกรณีการจับกุมและกุมขังในคดีอาญาด้วย ทั้งนี้ หมายจับจำเลยทั้ง 7 อยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลจังหวัดพระโขนง ศาลจังหวัดสงขลา ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศาลจังหวัดสมุทรสงคราม และศาลจังหวัดตลิ่งชัน
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯ คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่องการดำเนินคดีตากใบที่ใกล้จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.67 ถามนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นายรังสิมันต์กล่าวว่า คดีตากใบใกล้จะหมดในอีก 22 วัน การดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องจะไม่สามารถดำเนินการได้อีกต่อไปตราบใดที่คดีนี้ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย ทุกรัฐบาลล้วนต้องรับผิดชอบในการสะสางจนกว่าสันติภาพชายแดนใต้จะเกิดขึ้น เหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นเมื่อ 25 ต.ค.47 ในเวลานั้นผู้นำรัฐบาลคือนายทักษิณ ชินวัตร เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของคนในพื้นที่ที่อยู่คู่กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและอดีตนายกฯ มาโดยตลอด ขณะนั้นตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา ผลการสอบสวนชี้ชัดว่าเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมเหตุการณ์อันนำมาสู่โศกนาฏกรรม สุดท้ายผู้มีอำนาจทางการเมืองลืมเลือนเหตุการณ์จนเกือบหมดอายุความ แต่ผู้เสียหายในคดีนี้ลุกขึ้นมาฟ้องเอาผิดเพื่อทำความจริงให้ปรากฏด้วยตนเอง ย้ำว่าคดีนี้ประชาชนร้องเอง ไม่ใช่ผลงานรัฐบาลเหมือนที่รัฐมนตรีบางคนพูดไว้ว่ามีความคืบหน้ามากที่สุดในรัฐบาลนี้
นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า เหตุการณ์นี้ได้ทำลายความไว้วางใจประชาชนต่อรัฐอย่างสิ้นเชิง จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการฟื้นฟู ตนเป็นห่วงจริงๆ 25 ต.ค.47 ภายใต้รัฐบาลของพรรคเพื่อไทย เป็นการฝังกลบความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อรัฐจนยากที่จะฟื้นคืน จะทำให้สันติภาพเป็นเพียงภาพฝันที่ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ มีอดีตนายกฯ 2 คนที่ออกมาขอโทษในเรื่องนี้ คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และอีกคนหนึ่งคือนายทักษิณ ขอโทษเมื่อวันที่ 25 ต.ค.65 ซึ่งครบรอบ 18 ปีเหตุการณ์ตากใบ ไม่น่าเชื่อต้องรอถึง 18 ปีจึงมีท่าทีเสียใจของอดีตนายกฯ ดังนั้น จึงอยากถามว่าจะทำอย่างไรเพื่อฟื้นความไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ และจะสร้างความรู้สึกของประชาชนให้กลับมาดี สมกับที่อดีตนายกฯ เคยขอโทษอย่างไร
“เหลือเวลาอีก 22 วัน กระบวนการที่ทางตำรวจจะต้องไปแจ้งข้อกล่าวหาใหม่กับเวลาแค่นี้ แล้วตำรวจอยู่กับใคร ท่าน (นายภูมิธรรม) เป็นคนดู ท่านจะบอกว่าให้มองอย่างสร้างสรรค์ มองแบบไม่รู้สึกอะไรหรือ ประทานโทษท่านยังมีหัวใจหรือเปล่า นึกไม่ออกว่าสหายใหญ่ซึ่งเคยผ่านเหตุการณ์ลักษณะนี้มาแล้ว ถามว่าจะทำให้เหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นแบบ 6 ตุลาหรือ ท่านส่องกระจกแล้วยังจำตัวเองได้หรือเปล่า สั้นๆ ง่ายๆ นิดเดียว ว่าวันนี้มีการเป่าคดี มีความพยายามช่วยกัน หนึ่งในการช่วยกันคือตำรวจ ถามว่าท่านในฐานะที่ดูแลตำรวจจะทำอย่างไร” นายรังสิมันต์กล่าว
นายรังสิมันต์กล่าวทิ้งท้ายว่า มี สส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยถูกดำเนินคดีด้วย และยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อตามตัวใครก็ตามมาดำเนินการทางกฎหมาย วันนี้ประชาชนเริ่มคิดว่านายภูมิธรรมและรัฐบาลต้องการให้เรื่องจบแบบขาดอายุความ ซึ่งก็จะทำให้ไม่มีการสืบพยานไม่มีคำให้การ ซึ่งตนสนใจว่าถ้ามีการให้การหรือสืบพยานสุดท้ายจะชี้ไปที่บุคคลที่ใหญ่กว่านั้นหรือไม่
ด้านนายภูมิธรรมชี้แจงว่า ปัญหาชายแดนใต้ต้องเริ่มต้นแก้ไขด้วยเหตุผล และดูให้ครบทุกมิติ ไม่ใช่เริ่มจากความดุเดือด หรือมองแต่ด้านลบเพียงด้านเดียว ไม่ใช่มองเพียงว่าเจ้าหน้าที่ทำแบบโน้น ตรงนั้นตายแบบนี้ แต่เรื่องดังกล่าวมีองค์ประกอบเกี่ยวข้องหลายอย่าง และขอยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับคดีนี้ ทุกเรื่องมีความสำคัญ แต่รัฐบาลต้องทำเรื่องเร่งด่วนในขณะนั้นคือน้ำท่วม โปรดเข้าใจว่าตนไม่ได้รู้สึกโกรธกับคำถามสื่อมวลชนที่ถามเรื่องคดีตากใบ
นายภูมิธรรมระบุว่า ทุกคนเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องตากใบเกิดเมื่อปี 47 มีความจริงหลายมิติ รายงานสรุปว่าเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจเป็นหลัก เป็นเรื่องกระบวนการลำเลียงคน ขณะเกิดเหตุมีสื่อรายงานว่ามีนายทหารเตือนว่าการนำคนขึ้นไปจำนวนมากไม่ได้ ต้องเอาลงมา ดังนั้น การสรุปว่ามีเจตนาหวังจะเอาคนไปทับให้ตายถือว่าไม่ใช่ ขณะนั้นเป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เหตุการณ์นี้ควรให้ความเป็นธรรม ไม่ใช่ตั้งใจจะฆ่ากัน แต่เป็นเรื่องความสับสนอลหม่าน
“ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เยียวยาแล้วถึงรายละ 7 ล้านบาท และสัดส่วนที่ลดหลั่นลงไปตามความบาดเจ็บที่เกิดขึ้น ทั้งหมดพยายามให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น และใช้เป็นอุทาหรณ์มากกว่าทำให้เป็นเครื่องมืออธิบายว่ารัฐบาลตั้งใจจะฆ่าเขาหรือรัฐบาลไม่ใส่ใจโดยไม่เห็นคุณค่าของเขา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราเสียใจ และไม่อยากเห็นเกิดขึ้น ไม่ใช่ความตั้งใจแต่เกิดจากความสับสนอลหม่าน” รมว.กลาโหมระบุ
นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังหาตัวผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ ซึ่งฝ่ายรัฐต้องดำเนินการไป และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้ารู้ก็ต้องจับอยู่แล้ว พูดชัดเจนตลอดว่าอยากให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่ เพราะผู้ถูกกล่าวหาถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ คดีไปถึงจุดของมัน เกือบ 20 ปีแล้ว เพิ่งมารื้อฟื้นและเพิ่มคดีในตอนนี้ ตอนนั้นเคยมีการถามในการตัดสินว่าไม่ฟ้องคดีต่อ มีเวลา 15 วันที่จะให้ฟ้อง ตอนนั้นก็ไม่มีใครฟ้อง เราก็นึกว่าเรื่องนี้ยุติไปแล้ว เราก็ไม่อยากทำให้เป็นประเด็นแตกแยก เพียงแต่อยากใช้เป็นประสบการณ์และหาทางออก
"หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการอยู่ ขอให้ใจเย็น แล้วมาดูว่าเรื่องนี้จะให้ความเป็นธรรมทั้งญาติผู้เสียชีวิตและคนที่ถูกกล่าวหา ซึ่งไม่แน่ใจว่าเขาต้องมีส่วนในการรับผิดชอบหรือไม่ ทั้งหมดจะยุติได้ก็ต่อเมื่อกระบวนการยุติธรรมเดินถึงที่สุด ฉะนั้นอย่าด่วนเอาตัวเองเป็นคนตัดสิน ทั้งนี้ หากมีหลักฐานว่าตำรวจดึงคดีก็ว่ามา จะตรวจสอบให้ แต่อย่าคิดเองว่าศาล ตำรวจ อัยการ ผมและพรรคการเมืองเป็นแบบนั้นแบบนี้ ไม่ควรพูด แต่ควรจะนำข้อเท็จจริงมาคุยกัน ผมไม่อยากคุยเรื่องอารมณ์และการกล่าวหาโดยไม่มีเหตุผล" นายภูมิธรรมกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ