อิ๊งค์1ใน100ผู้ทรงอิทธิพลโชว์วิชั่นACD

"แพทองธาร" ติดอันดับ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคตในปีนี้ของนิตยสารไทม์  นายกฯ ร่วมประชุม "ACD" กรุงโดฮา โชว์วิสัยทัศน์  ย้ำบทบาทไทยสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและส่งเสริมสันติภาพ พร้อมผลักดันวาระ “ศตวรรษแห่งเอเชีย” ในช่วงไทยเป็นประธาน 1 ม.ค.68       เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการกระทำปฏิปักษ์ทุกรูปแบบ และปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม นิตยสารไทม์ (TIME)  ประกาศรายชื่อ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต TIME 100 Next ที่แบ่งแยกออกเป็น 5  หมวดหมู่ ประกอบด้วย ศิลปิน (Artists), ผู้สร้างปรากฏการณ์ (Phenoms), ผู้สร้างนวัตกรรม (Innovators), ผู้นำ (Leaders) และผู้ให้การสนับสนุน (Advocates) โดยในปีนี้ มีชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ติดอันดับในประเภทผู้นำ (Leaders)

ทั้งนี้ ไทม์ได้เขียนถึง น.ส.แพทองธารว่า เธอได้สร้างประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ไม่กี่วันก่อนวันเกิดปีที่ 38 ของเธอ ด้วยการเป็นนายกฯ ของประเทศไทย และเป็นนายกฯ ผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุดในเอเชียที่เคยมีมา

การขึ้นตำแหน่งของเธอ ไม่เป็นเรื่องน่าตกใจนัก เธอเป็นบุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไทยในปี 2544 และถูกรัฐประหารในอีก 5 ปีต่อมา กระนั้นยังมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นอา ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในประเทศไทย แต่ถูกแทรกแซงโดยตุลาการและทหาร

น.ส.แพทองธารดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญไทยได้มีคำตัดสินให้นายเศรษฐา  ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกฯ “ประเทศไทย จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง” น.ส.แพทองธารบอกกับไทม์เมื่อปีก่อน

ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนิตยสารไทม์ ประกาศรายชื่อ น.ส.แพทองธาร เป็นหนึ่งในชื่อ  100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลว่า รู้สึกเป็นเกียรติมาก  เพราะเป็นสื่อต่างประเทศ ตอนแรกไม่ทราบรายละเอียด เห็นแต่ภาพข่าวนึกว่ามีคนแกล้ง แต่พอเห็นรายละเอียดก็รู้สึกดีใจ รู้สึกเป็นเกียรติ เพราะไม่ได้คิดไว้

เมื่อเวลา 10.30 น. เวลาท้องถิ่นกรุงโดฮา ซึ่งช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง ณ โรงแรม Ritz-Carlton  Doha กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ครั้งที่ 3 และขึ้นกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ ท่ามกลางผู้นำประเทศสมาชิก 35 ประเทศ โดยเวทีดังกล่าวเป็นเวทีแรกในต่างประเทศของ น.ส.แพทองธาร หลังปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเจ้าภาพกาตาร์ที่ต้อนรับอย่างอบอุ่น และกล่าวถึงความสำเร็จของการจัดการประชุม ACD ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ "การทูตผ่านกีฬา" (Sports Diplomacy) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของการใช้การกีฬา ที่สามารถเชื่อมความแตกต่างและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของโลก ซึ่งความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ เมื่อปี 2022 เป็นตัวอย่างที่สำคัญและแนวคิดนี้สอดคล้องกับจุดยืนของประเทศไทยที่จะส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก

ส่วนในประเด็นสถานการณ์ความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นในภูมิภาค ประเทศไทยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ และด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาคมระหว่างประเทศ ไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุด และขอให้ยุติการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหมดโดยทันที เพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน และปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ ACD ท่ามกลางสถานการณ์โลกปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนและต้องการการแก้ไข เช่น ความขัดแย้งทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในฐานะผู้นำของประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่นำพาและสร้างความร่วมมือเพื่อเสถียรภาพและการเติบโตของประเทศและในภูมิภาคอาเซียน ขณะเดียวกัน ศตวรรษที่ 21 นี้ได้ถูกกล่าวขานว่าเป็น "ศตวรรษแห่งเอเชีย" และเอเชียมีประชาชนกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ พลังงาน และความมั่นคงทางอาหารของโลก เปรียบเสมือน “แหล่งพลังงาน” และ “ครัวของโลก”

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการเกษตรและอาหาร ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจและการตอบสนองต่อความต้องการอาหารทั่วโลก และประเทศไทยเห็นว่าการประชุมในครั้งนี้สมาชิก ACD จะได้ร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายทางการค้า และปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่อุปทานอาหารโลก โดยประเทศไทยอยู่ในภูมิศาสตร์ที่สำคัญ สามารถเป็นประตูสู่การเชื่อมต่อในโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกได้เป็นอย่างดี รัฐบาลไทยจึงได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการขนส่งทางบก การขนส่งทางราง และทางน้ำให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และยังพร้อมเพิ่มสนามบินใหม่ๆ และพัฒนาศักยภาพสนามบินที่มีอยู่เพื่อรองรับทั้งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าต่างๆ ทั้งนี้ ประเทศไทยขอเชิญชวนประเทศสมาชิก ACD มาร่วมกันพัฒนาเส้นทางการค้าใหม่ๆ เพื่อเชื่อมต่อและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วทั้งเอเชียในฐานะที่เอเชียเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัจจุบันบทบาทของ ACD มีความสำคัญมากขึ้น โดยเป็นกรอบความร่วมมือระดับทวีปแห่งแรกและแห่งเดียวของเอเชีย ซึ่งรวมภูมิภาคต่างๆ ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน ตนมุ่งหวังที่จะสานต่อแนวคิดนี้ในการดำรงตำแหน่งประธาน ACD ในวันที่ 1 มกราคม 2568 นี้ โดยเล็งเห็นว่า ACD จะเป็น "เวทีหารือของเอเชีย" (converging forum of Asia) และเน้นย้ำว่า ไทยในฐานะผู้เป็นสะพานเชื่อม ACD มุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับทุกประเทศสมาชิก เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ทั้งนี้ ในการเป็นประธาน ACD ของไทยในต้นปีหน้านี้ ประเทศไทยจะขับเคลื่อนการทำงานภายใต้การขับเคลื่อนในกรอบ 6 เสาความร่วมมือ (pillar of cooperation ) กันอย่างมียุทธศาสตร์ ผนวกกับความร่วมมือของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่น ได้แก่ ASEAN GCC (Gulf Cooperation Council: GCC) BRICS CICA และ SCO เพื่อร่วมกันสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโลก

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงความสำคัญของการทบทวนสถาปัตยกรรมทางการเงิน โดยบทเรียนจากประสบการณ์ในอดีตจากวิกฤตการเงิน ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการมีระบบการเงินที่มีความสมดุลและยืดหยุ่น ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสร้าง “สถาปัตยกรรมการเงินที่สมดุล” ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งภายใต้การเป็นประธาน ACD ในปีหน้า ประเทศไทยจะจัดการประชุมเพื่อพิจารณาการพัฒนาสถาปัตยกรรมทางการเงิน

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐกาตาร์ที่เป็นเจ้าภาพการประชุม และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในการทำหน้าที่อย่างแข็งขันในฐานะประธานการประชุมปีนี้ ในฐานะที่ประเทศไทยจะเป็นประธานในปีหน้า ไทยมุ่งมั่นที่จะผลักดันวาระของ ACD เพื่อสร้างเอเชียที่แข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น พร้อมกับเน้นความร่วมมือเพื่อทำให้ศตวรรษนี้เป็น "ศตวรรษแห่งเอเชีย" อย่างแท้จริง โดยมี ACD เป็น "เวทีหารือแห่งเอเชีย" (Forum of Asia) ที่พร้อมจะร่วมกันผลักดัน “วาระของเอเชีย” (Asia’s agenda) ต่อไปให้ก้าวหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรอบ ACD มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อน 6 เสาความร่วมมือ (pillar of cooperation) ได้แก่ (1) ตุรกีและรัสเซีย เป็นประธานร่วมคณะทำงานด้านความเชื่อมโยง (2) อินเดียเป็นประธานคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (3) อิหร่านเป็นประธานคณะทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (4) จีนเป็นประธานคณะทำงานด้านความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ (5) อิหร่านเป็นประธานคณะทำงานด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (6) ไทยเป็นประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมแนวทางไปสู่การพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยประธานของแต่ละคณะทำงานมีภารกิจในการจัดประชุมเพื่อหารือ และจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือ โดยประธานคณะทำงานดังกล่าวมีวาระ 1 ปี และต้องสรรหาใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนประธาน ACD.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง