คนกรุงเลิกกลุ้มไม่ท่วม เคลียร์เชียงรายจบต.ค.

"นายกฯ อิ๊งค์" ตรวจเข้มสถานการณ์น้ำ  ยันคนกรุงไม่ต้องกลุ้มใจ กรมชลฯ การันตีกรุงเทพฯ   ไม่จมบาดาล น้ำไม่เยอะเท่าปี 54 ย้ำ "มท." จัดการปล่อยน้ำให้แจ้งเตือนชาวบ้านล่วงหน้าด้วย "ศปช."  ประกาศ 6 อำเภอเชียงราย ริมแม่น้ำกก ยกของขึ้นที่สูง ขีดเส้นกำจัดโคลน-ขยะจบสิ้นเดือน ต.ค. "พีระพันธุ์-เอกนัฏ" ลงพื้นที่พร้อมช่วยไฟฟ้า-ประปา ชาวบ้าน

เมื่อวันพุธ เวลา 10.30 น. วันที่ 2 ต.ค. ที่กรมชลประทาน ปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ตรวจราชการการบริหารจัดการน้ำ โดยมีนางนฤมล  ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายสุริยพล นุชอนงค์ รักษาการอธิบดีกรมชลประทาน  รายงานสถานการณ์ และนายสมนึก ธนเดชากุล  นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี ร่วมต้อนรับด้วย

โดยรักษาการอธิบดีกรมชลประทานรายงานสถานการณ์ภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำภาคกลาง รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมระบุช่วงหนึ่งว่า การันตีปีนี้น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ

ขณะที่นายกฯ กล่าวว่า คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นห่วงกันเยอะว่าปีนี้จะท่วมหรือไม่ท่วม เวลาปล่อยน้ำได้มีการแจ้งชาวบ้านอยู่แล้วใช่หรือไม่ ซึ่งต้องแจ้งเตือนไว้ก่อน และตรงนี้ต้องฝากกระทรวงมหาดไทยในเรื่องอำนวยความสะดวกสบายพี่น้องประชาชน เรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้าด้วย ทั้งนี้ ห่วงในพื้นที่กรุงเทพฯ และในปีนี้ถ้าเทียบกับปี 2554 อยากให้เกิดความสบายใจ ซึ่งปี 2554 มีพายุเข้ามา 5 ลูก แต่วันนี้มีมาลูกเดียว และในปี 2554 เหลือพื้นที่เก็บน้ำเหลือ 1,000 กว่า  แต่ตอนนี้เหลือ 6,000 กว่า ห่างจากปี 2554 เยอะมาก ปีนี้ปริมาณน้ำฝนปีนี้เยอะกว่าปกติ 2% แต่ในปี 2554 เยอะกว่าปกติประมาณ 25%

"ดังนั้นคนกรุงเทพฯ ที่กำลังกลุ้มใจน้ำจะท่วมก็ไม่ต้องน่าเป็นห่วง ฝากขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ช่วยกันดูแลด้วย หากมีโครงการอะไรที่จะทำให้แก้ไขปัญหาระยะยาวได้ ก็ขอให้พิจารณาและเสนอมา  และให้ดูในเรื่องพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรด้วยว่าได้รับผลกระทบแค่ไหน จะได้พิจารณาเรื่องการเยียวยาต่อไป" นายกฯ ระบุ

ภายหลังติดตามสถานการณ์น้ำ น.ส.แพทองธารโพสต์ข้อความว่า “ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี  การระบายน้ำ 1.มอบอธิบดีกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือกระทบน้อยที่สุด  โดยให้กรมชลประทานบริหารจัดการเขื่อนเจ้าพระยาและผันน้ำเข้าฝั่งซ้าย (คลองชัยนาท-ป่าสัก) และฝั่งขวา (ปตร.พลเทพ และ ปตร.บรมธาตุ) ของเขื่อนเจ้าพระยา ให้มีความเหมาะสม และพิจารณาอิทธิพลการขึ้นลงของน้ำทะเลมาประกอบการระบายน้ำให้สอดคล้องด้วย และประชาสัมพันธ์กับประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำ ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในขณะนี้บริเวณจังหวัดอ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ได้รับทราบข้อมูลการปล่อยน้ำล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 วัน เพื่อรีบยกของต่างๆ  ได้ทันต่อไป

2.มอบกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และดูแลให้การช่วยเหลือในลำดับแรกด้วย 3.มอบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และอธิบดีกรมชลประทาน เฝ้าระวังจุดฟันหลอ และเตรียมการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ, ทำการพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ เพื่อรองรับน้ำหากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, ตรวจสอบความพร้อมเครื่องสูบน้ำและประตูระบายน้ำให้มีความพร้อมใช้งาน และเร่งกำจัดขยะและผักตบชวาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสูบน้ำและการระบายน้ำออกจากพื้นที่

4.ตามที่ได้มีการมอบหมายการบริหารจัดการที่เขื่อนเจ้าพระยาและการผันน้ำออกด้านซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้กระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อนน้อยที่สุด และเฝ้าระวังบริเวณ อ.บางไทร  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีปริมาณน้ำน้อยประมาณ 53% ของลำน้ำ และการเตรียมการพร่องน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อรองรับสถานการณ์ จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมขังแบบปี 2554 อย่างแน่นอน ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานอย่างเต็มกำลังอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และ ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า  จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่รายงานว่าจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนของประเทศในช่วงวันที่ 1-3 ต.ค.67 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้คาดการณ์พื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำกกเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวลำน้ำรวม 147.14 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่ 6 อำเภอของจังหวัดเชียงราย ได้แก่ อ.เมืองเชียงราย, อ.เวียงชัย, อ.เวียงเชียงรุ้ง, อ.แม่จัน, อ.ดอยหลวง และ อ.เชียงแสน โดยคาดว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงกว่าตลิ่ง 1.18 เมตร ในวันที่ 4 ต.ค.นี้ จึงได้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำกกให้ยกของขึ้นที่สูง

 “จากการที่ ศปช.ส่วนหน้าติดตามการแก้ปัญหาขยะตกค้างในพื้นที่ จ.เชียงราย ปัจจุบันจัดการขนขยะยังทำได้จำกัด เนื่องจากถูกกลบทับด้วยโคลน จึงมีอัตราการขนขยะอยู่ที่ 100 ตัน/วัน ซึ่งคาดว่าหากเพิ่มอัตราการขนขยะได้เป็น 150 ตัน/วัน จะทำให้ทั้ง 2 พื้นที่สามารถดำเนินการขนขยะได้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้” นายจิรายุระบุ

ที่อำเภอแม่อาย จ.เชียงใหม่ นางสลีลญา คำภาแก้ว นายอำเภอแม่อาย ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์อุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก ในเขตพื้นที่หมู่ 6, 7, 8 ตำบลแม่อาย ในปัจจุบันสามารถเปิดเส้นทางสัญจรได้แล้วในบางส่วน แต่ยังคงมีอีกหลายหลังคาเรือนที่ต้องเร่งเข้าให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ศูนย์บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอแม่อาย ได้สั่งการให้องค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และส่วนที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและปริมาณน้ำฝน 24 ชม.

ที่ จ.พิจิตร ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามีเป็นจำนวนมาก น้ำในแม่น้ำน่านมีระดับสูงกว่าท่อระบายน้ำของเทศบาลเมืองพิจิตร ซึ่งได้ใช้กระสอบทรายปิดกั้นไว้ นอกจากนี้ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 5 จุด ที่เป็นจุดเชื่อมต่อของท่อระบายน้ำกับแม่น้ำน่านด้วยการเร่งสูบน้ำกู้วิกฤตให้กับตลาดเมืองพิจิตร

วันเดียวกัน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยคณะทำงาน ลงพื้นที่เหตุอุทกภัยที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

ทั้งนี้ ระหว่างการลงพื้นที่ นายพีระพันธุ์ระบุว่า จะนำปัญหาต่างๆ เร่งประสานหน่วยงานช่วยอย่างเร่งด่วนต่อไป รวมทั้งหลังจากนี้จะแก้ไขปัญหาไฟฟ้าที่ยังขาดแคลนด้วย

ด้านนายเอกนัฏ ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการจัดส่งท่อน้ำ เพื่อวางระบบส่งน้ำเพื่อลำเลียงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมายังหมู่บ้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภายหลังจากฟื้นฟูสภาพความเสียหายเรียบร้อยแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ อิ๊งค์ให้ความมั่นใจคนกรุงไม่ซ้ำรอยยุคอาปูแน่นอน

นายกฯ ตรวจบริหารจัดการน้ำ บอกคนกรุงไม่ต้องกลุ้มใจ หลังกรมชลประทาน การันตีปีนี้น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯแน่นอน ยันสถานการณ์น้ำไม่เยอะเท่าปี 54