เอกชนขอคุย‘ธปท.’ บาทแข็งลดดอกเบี้ย

กกร.จ่อเข้าพบผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ   โอดบาทแข็งต่อเนื่อง 3 เดือนทะยาน 12% หรือแตะ 4.50 บาท กระทบส่งออก 1.8-2.5 แสนล้านบาท ขอลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ประเมินน้ำท่วมทุบเศรษฐกิจพัง 5 หมื่นล้านบาท ฉุดจีดีพี 0.2%

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นายสนั่น อังอุบลกุล   ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กกร.ประเมินค่าเงินบาทในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว 12% หรือคิดเป็น 4.50 บาท จาก 36.8 บาท มาอยู่ที่ 32.3 บาท/เหรียญสหรัฐ เป็นการแข็งค่ากว่าค่าเงินอื่นในภูมิภาค กดดันการส่งออกและเป็นปัจจัยลบต่อความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก  ซึ่งหากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี อาจกระทบรายได้ส่งออก 1.8-2.5 แสนล้านบาท     

 “กกร.มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วจนเกินไป และทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าระดับ 34.0-34.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่ธุรกิจแข่งขันได้ และให้เร่งพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% ภายในปีนี้ และอีกประมาณ 0.25-0.5% ภายในปีหน้า ช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว และให้พิจารณาทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ที่กำลังอยู่ในช่วงหารือร่วมกับกระทรวงการคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับบริบทศักยภาพและโครงสร้างของเศรษฐกิจประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคต” นายสนั่นระบุ

ทั้งนี้ กกร.เตรียมขอเข้าพบกับผู้ว่าการ ธปท.ให้เร็วที่สุด เพื่อหารือใน 2 ประเด็นคือ ภาพรวมเศรษฐกิจ และการดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม แข่งขันได้ นอกจากนี้ เตรียมจะทำหนังสือขอพบนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นสมุดปกขาว ซึ่งมีข้อเสนอ 4 ประเด็นหลัก คือ 1.การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.การช่วยเหลือธุรกิจ SME 3.การบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง 4.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

นายสนั่นกล่าวด้วยว่า ต้องติดตามผลกระทบจากอุทกภัยและแนวโน้มพายุลูกใหม่ที่อาจเข้าไทยอีกในช่วงไตรมาส 4/2567 ซึ่งคาดว่าน้ำท่วมรอบนี้จะทำให้เกิดความเสียหายราว 3-5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.2% ของจีดีพี อย่างไรก็ตามประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะยังสามารถขยายตัวได้ในกรอบ 2.2% ถึง 2.7% ด้วยแรงสนับสนุนจากภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน รวมถึงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนของการเยียวยาและมาตรการที่เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องในการฟื้นฟูกิจการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา

ด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มเปราะบางด้วยการแจกเงิน 10,000 บาทนั้น โดยหลักการแล้วเมื่อแจกเป็นเงินสด ผลกระทบจะเกิดขึ้นเร็ว ซึ่งจะเข้าสู่ระบบโดยตรง และหนุนต่อไปเรื่อยๆ ตามโครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบัน แม้ในเชิงตัวเลขอาจจะต่ำลง เพราะวงเงินที่แจกลดลงจาก 5 แสนล้านบาท เหลือเพียง 1.4 แสนล้านบาท แต่ยังเป็นผลให้เชิงบวกต่อเศรษฐกิจ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง