อิ๊งค์นัดพรรคร่วมรื้อรธน. ‘ภท.’ปัดจุ้นประชามติ2ชั้น

"นายกฯ อิ๊งค์" เล็งนัดพรรคร่วมฯ ถกปมแก้ รธน. ยันรับฟังทุกมุมมอง ปลื้มโพลหนุนอันดับ 1 ลั่นไม่พร้อมมีเรื่อง บอก "สนธิ" อย่าเพิ่งลงถนนไล่ ขอคุยกันก่อนเพิ่งทำงานได้เดือนเดียว  "ภูมิธรรม" ย้ำทิศทางหัวหน้าพรรคต้องไปทางเดียวกัน ปัดทำสัญญาประชาคมกันบิดพลิ้ว ส่ง ปธ.วิปฯ  คุย ปธ.สว.เคลียร์ความเห็นต่างพลิกประชามติ 2  ชั้น "อนุทิน" หนุนหารือแก้ รธน.ทั้งฉบับ ย้ำ ภท.ไม่เกี่ยวบทบาท สว. "ปชน." ชง 2 ทางออกเดินหน้าแก้  รธน.ทันเลือกตั้งปี 70

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 1 ต.ค. เวลา 10.00 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุมผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผลสำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกฯ     อันดับ 1 นายกฯ ยิ้มพร้อมกล่าวว่า ดีใจมากเลย  เป็นกำลังใจให้กับการทำงานอย่างมาก

จากนั้นหลังการประชุม ครม. น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะระดมมวลชนลงถนนอีกครั้งเพื่อขับไล่รัฐบาล หากบริหารประเทศไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ตรงนี้ได้มีการประเมินสถานการณ์การเมืองในปีหน้าอย่างไร  นายกฯ กล่าวว่า เพิ่งทำงานได้เดือนเดียวเองจะไล่แล้วเหรอ จะไล่แล้วเหรอคะ อย่าเพิ่งไล่เลยค่ะ

"ยังไม่ได้มีโอกาสคุยกับนายสนธิเลย ก็พร้อมอยู่แล้วค่ะ วันนี้เราเป็นรัฐบาล เป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพูดคุยกับทุกภาคส่วนอยู่แล้ว และอีกอย่างหนึ่งคือการทำให้ประเทศชาติสงบสุขเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าประเทศสงบสุขคนไทยมีความสุข ต่างประเทศก็จะมาลงทุนด้วย  ฉะนั้นอันนี้ก็สำคัญ" นายกฯ กล่าว

ถามว่า ที่บอกพร้อมพูดคุยนั้นจะเป็นลักษณะไหน จะเป็นการเดินสายไปคุยหรือการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น นายกฯ ย้อนถามว่า แนะนำหน่อยค่ะจะทำอย่างไรดี แนะนำหน่อยค่ะให้ประเทศชาติสงบสุข ช่วยกันด้วย ยังไงดี ได้หมด พร้อม เพราะว่าไม่พร้อมมีเรื่องอยู่แล้ว และไม่คิดที่จะไปสู้อะไรที่มันนอกเหนือจากนี้

"จริงๆ แล้วตัวของดิฉันและรัฐบาลโฟกัสในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเชื่อจริงๆ ว่าถ้าเศรษฐกิจดีคนไทยมีฐานะที่รวยขึ้น สบายขึ้น ทุกอย่างก็จะดีขึ้น และเราไม่ได้อยากจะมีเรื่องหรืออะไร เพราะเรารู้สึกว่าถ้าประเทศชาติมันดีพร้อมเดินต่อ เศรษฐกิจมันไป นั่นแหละคือสิ่งที่มันรอด อยากให้เป็น” นายกฯ กล่าว

ซักว่า มองการลงถนนขับไล่รัฐบาลเป็นการเมืองแบบเก่าหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ไม่ได้คิดเรื่องการลงถนนเลย คิดว่าถ้าจริงๆ ต้องขนาดถึงการลงถนนกันจริง มาคุยกันก่อนก็ได้ว่าปัญหาคืออะไร และคิดว่าทุกอย่างมันน่าจะคุยกันได้  เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ความเกลียดชังหรือความรุนแรงเข้าหา คิดว่าทุกท่านคุยกันได้อยู่แล้ว จริงๆ วันนี้ก็เป็นตัวอย่าง เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มาจากหลายพรรค เราก็คุยกันได้

ถามถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า จริงๆ แล้วอันนี้จะต้องมีการคุยกันกับพรรคร่วมรัฐบาลทุกคน โดยหัวหน้าพรรคต้องคุยกัน ขณะที่นายกฯ ก็เป็นหัวหน้าพรรคด้วย ต้องมีการนัดคุยกันแน่นอนอยู่แล้วนอกรอบ

อิ๊งค์เล็งคุยพรรคร่วมปม 'รธน.'

ซักว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าสุดทาง สว.ได้คว่ำร่างประชามติไปแล้ว น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เดิมนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมดูแลอยู่ เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสะดุดหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า จริงๆ แล้วต้องเป็นการรวมความคิดเห็นจากพรรคร่วมฯ  แต่คำตอบสุดท้ายก็อยู่ที่พี่น้องประชาชนอยู่ดี เราร่วมกันทำเสร็จต้องมีการคุยและตกลงกัน อย่างที่เคยแถลงต่อรัฐสภาไว้ ต้องมีการคุยกัน

ซักว่า จะต้องมีการคุยกันมาก่อนแล้วใช่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาผลักดันมาถึง สว.แล้ว น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการนัดคุย และนักข่าวเองก็ไม่ได้มีการไปทำข่าวเรื่องของการนัดคุยกันหรืออะไรอย่างนี้ แต่ก็แพลนไว้ต้องคุยในรายละเอียดกัน พอดีมีความเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง ฉะนั้นกำลังค่อยๆ จัดระเบียบในการทำงาน เดี๋ยวค่อยหารือกันอีกที เรื่องนี้ต้องหารือในมุมของพรรคร่วมฯ ทุกพรรคอย่างแน่นอน ต้องหารือจริงจัง

ถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยวต้องรอดูว่าความคิดเห็นจะเป็นอย่างไรบ้าง ก็ต้องรอดู เมื่อถามว่าดูเหมือนมีคนไม่อยากให้เกิดขึ้นหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า  ก็มีทั้งสองอย่าง มีทั้งอยากให้แก้และไม่อยากให้แก้

ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายรัฐบาล เสนอให้คุยกับหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หลัง สว.แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติ โดยใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือ double majority ซึ่งจะส่งผลให้การแก้รัฐธรรมนูญมีการแก้ยากลำบากขึ้นว่า คงต้องมีการหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองตามที่นายชูศักดิ์เสนอ และที่ สว.มีมติกลับมาใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ก็ต้องดูขั้นตอนต่อไปว่ามีการตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภาว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งระหว่างนี้ต้องคุยกับหัวหน้าพรรคการเมืองว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เพราะความเห็นของเราและ สว.ไม่ตรงกัน

ถามว่า การคุยกับหัวหน้าพรรคการเมืองเพื่อให้เกิดสัญญาประชาคมและไม่ให้มีการบิดพลิ้วในภายหลังใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ใช่ แค่ต้องการให้เกิดการหารือกัน เมื่อ สว.ตัดสินใจออกมาแบบนี้ สถานการณ์การเมืองเป็นแบบนี้ พรรคการเมืองต่างๆ ที่ร่วมรัฐบาลจะมีความเห็นอย่างไร แต่ขณะนี้ยังไม่ได้นัด

"เราต้องเข้าใจความแตกต่างของแต่ละหน่วยงานที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ คิดว่ามีแต่เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากหัวหน้าพรรคการเมืองแล้ว ประธานวิปรัฐบาลก็ต้องมีการหารือกับประธาน สว.ด้วย ให้เกิดความเข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังทำคืออะไร แล้วจะเป็นประโยชน์อย่างไร และ สว.ที่เห็นแตกต่างเห็นในแง่มุมไหน ซึ่งคิดว่าหากคุยกันจะหาข้อยุติได้" นายภูมิธรรมกล่าว

ถามว่า กรณี สว.กลับมาใช้มติเสียงข้างมากสองชั้น ส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่เสร็จในรัฐบาลนี้ใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า อันนี้อย่าเพิ่งไปไกล อย่าเพิ่งสรุป

ทั้งนี้ นายชูศักดิ์ให้สัมภาษณ์กรณี สว.คว่ำร่างประชามติฉบับ สส.ว่า หัวหน้าพรรคต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไร ซึ่งคนที่ประสานเจ้าภาพอาจจะเป็นประธานวิปรัฐบาล จะนัดคุยกัน

นายชูศักดิ์ยังระบุว่า ปัญหาใหญ่ขณะนี้อยู่ที่เรื่องของการทำประชามติ ความยากคือสมมุติต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ก็ต้องคิดดูว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ก็ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ว่าเราจะคิดกันอย่างไร ตนว่าดีที่สุดมาคุยกันให้สะเด็ดน้ำว่าจะเดินอย่างไร โดยไม่จำกัดว่าเป็นฝ่ายไหน ไม่ว่าจะรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ดี มาคุยกัน ได้ข้อยุติประการใดก็แจ้งทางหัวหน้าพรรคทั้งหลายว่ามติเป็นอย่างนี้ ก็จะเดินได้ แต่ถ้าเรามาพรรคเพื่อไทยทำ คนนั้นทำ คนนี้ทำ ท้ายสุดมันก็จะเป็นปัญหาแบบเดิม

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวกรณีมี สว.บางท่านอ้างว่าที่ สว.กลับมติมาใช้เสียง 2 ชั้น มีใบสั่งจากพรรคการเมืองว่า สว.คนไหนพูด ท่านคงไม่ได้พูดอย่างนั้น พร้อมถามกลับว่า สว.ท่านใด สื่อจึงตอบว่า น.ส.0นันทนา นันทวโรภาส นายอนุทินกล่าวว่า ท่านคงไม่ได้พูดอย่างนั้น วุฒิภาวะขนาดนี้คงไม่พูดอะไรแบบนี้

'หนู' เห็นด้วยแก้ รธน.ทั้งฉบับ

ถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าท่าทีของ สว.กับพรรคภูมิใจไทยเป็นท่าทีเดียวกัน นายอนุทินกล่าวว่า ตนเป็นหัวหน้า ภท. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับ สว. เมื่อถามว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หัวหน้าพรรคการเมืองในฝั่งรัฐบาลต้องมาคุยกันก่อนหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ก็คุยกันก่อนอยู่แล้วเพราะทำงานด้วยกัน

ซักถึงกรณี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ระบุไม่เชื่อว่า สว.มีใบสั่งให้คว่ำร่างประชามติ เพราะนายอนุทินเป็นคนพูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นคนแรก นายอนุทินย้อนถามสื่อว่า ตนไปพูดเมื่อไหร่ ตอนที่เข้ามาใหม่ๆ เคยดูข่าวอะไรที่ทำให้บริหารบ้านเมืองลำบาก ก็ลองคิดดูสิว่าจะแก้อย่างไร เช่น ปัญหาการบริหารงาน เรื่องระบบราชการที่ซ้ำซ้อนของรัฐมนตรีและข้าราชการ และอยากให้ลองมาปรับดู ซึ่งเป็นการคุยเหมือนในสภากาแฟ รวมถึงเรื่องพรรคการเมืองก็ไม่ควรจะถูกยุบง่ายๆ จะต้องทำให้ชัดเจนได้ไหมว่าความผิดแค่ไหนถึงจะต้องให้ยุบ รวมถึงคณะกรรมการบริหารพรรคหากไม่ได้ทำผิดด้วยไม่ควรโดนตัดสิทธิ์ ตนก็แค่บ่นเฉยๆ ก็เลยงงว่าไปริเริ่มอย่างไร ตอนไหน

บอกแสดงว่า พ.ต.อ.ทวีเข้าใจคลาดเคลื่อนใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ก็คงเป็นเช่นนั้น มันเกิดขึ้นตอนที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลนายเศรษฐา และการหารือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเราก็รู้กันอยู่แล้ว อย่างกรณีการตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย กว่าจะตั้งได้ก็ใช้ระเบียบอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งเกรงว่าจะไม่ทันการณ์ เช่น ข้าราชการซี 10 ขึ้นไป คนไหนประพฤติ ปฏิบัติไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าเขาซี้กับปลัดกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ต้องทำอะไร ซึ่งยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องริเริ่มแก้รัฐธรรมนูญ

ถามต่อว่า ก่อนหน้านี้มีเสียงจากพรรคเพื่อไทยระบุพรรคการเมืองใหญ่เป็นผู้ริเริ่มแก้รัฐธรรมนูญ นายอนุทินกล่าวว่า ตนอาจจะส่งเสียงมาดังกว่าคนอื่น พูดในหลักการว่าพรรคการเมืองไม่น่าจะถูกยุบได้ง่าย อำนาจการบริหารงานควรจะสมดุล ไม่ใช่รัฐมนตรีต้องไปขอปลัดอย่างเดียว ถ้าปลัดไม่เห็นด้วยก็เกิดเดดล็อก ตนก็บ่นแค่นี้เอง แก้ได้ก็ได้ ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องทางบริหารจัดการ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน

ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ทวีตอบข้อถามที่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องพึ่งเสียง สว. จึงถูกมองว่ามีบางพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามแนวทางของตัวเองว่า ไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะเริ่มต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนายอนุทินก็พูดเรื่องนี้เป็นคนแรก ที่ตนนั่งอยู่ด้วย

เมื่อถามว่า จะเป็นใบสั่งของพรรคสีน้ำเงินที่ให้ สว.คว่ำร่าง พ.ร.บ.ประชามติหรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า เชื่อว่าไม่มี คนที่จะสั่งรัฐบาลได้คือประชาชน ประชาชนไม่ได้อยู่รับใช้รัฐบาล รัฐบาลต้องอยู่รับใช้ประชาชน คนที่จะสั่งรัฐบาลได้คือประชาชน

ขณะที่ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 แพ็กเกจของพรรค ปชน. ที่มีการพักเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไปว่า   เรื่องนี้เป็นระบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่เห็นได้ชัดว่าหากจะแก้ไขต้องรับความเห็นตรงกันจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่ง สว. ฝั่งรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน แต่สิ่งที่พรรคยืนยันตอนนี้คือเรายืนยันว่ามาตรฐานจริยธรรมมีปัญหาที่เราต้องไปแก้ แต่ตอนนี้ที่พักไว้ก่อน เพียงแค่หากฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วย อาจทำให้การเดินหน้าทั้ง 7 แพ็กเกจอาจจะถูกตีตกไปเลย เราจึงพักประเด็นจริยธรรมไว้ แต่ยังเหลืออีก 6 แพ็กเกจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

"การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้สองทางควบคู่ไป คือการแก้ไขทั้งฉบับและการแก้ไขรายมาตรา ซึ่งทางพรรคร่วมฝ่ายค้านก็จะได้มีการหารือร่วมกันถึงการผลักดันอีก 6 แพ็กเกจที่เหลือ ซึ่งเราเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนในอีก 6 แพ็กเกจที่เหลือ ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันทั้งหน้าบ้านหลังบ้านอยู่แล้ว ซึ่งเป็นกระบวนการปกติ แต่ยืนยันว่ายังไม่เห็นสัญญาณว่าไม่เห็น แต่อย่างที่ทุกคนเห็นตามหน้าสื่อ เช่น เรื่องมาตรฐานจริยธรรม ที่ก่อนหน้าทุกพรรคการเมืองเห็นด้วยมาโดยตลอด แต่ท้ายที่สุดก็มีการเปลี่ยนข้อคิดเห็นบ้าง จึงอยากให้ติดตามการประชุม โดย 6 แพ็กเกจนี้คาดว่าน่าจะดำเนินการได้ในช่วง ต.ค." นายณัฐพงษ์กล่าว

ปชน.ชง 2 ทางออกได้ รธน.ใหม่

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรค ปชน. กล่าวว่า พรรคมี 2 โจทย์สำคัญคือ 1.หนทางเป็นไปได้มากที่สุดที่จะทำให้มีโอกาสมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ไม่ทันในการเลือกตั้งปี 70 คือการที่จะพยายามลดจำนวนประชามติจาก 3 ครั้งเป็น 2 ครั้ง ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ ประธานรัฐสภาจะต้องบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับ ส.ส.ร. ซึ่งตอนนี้มีทั้งร่างของพรรคก้าวไกลในอดีตและพรรคเพื่อไทย ที่ทางสภายังไม่บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ดังนั้นหากประธานรัฐสภาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ ก็จะสามารถเดินได้ตามโรดแมป ที่ลดการทำประชามติจาก 3 ครั้งเป็น 2 ครั้งได้ แต่ส่วนตัวก็เข้าใจว่าประธานรัฐสภากังวลว่าการบรรจุจะขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงขึ้นอยู่ที่ประธานรัฐสภาจะทบทวน เพราะเห็นว่าการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลเลย

ส่วน 2.ให้รัฐสภาเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราคู่ขนาน กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  มาตราไหนที่เป็นปัญหาให้เดินหน้าแก้ไขต่อ ซึ่งล่าสุดพรรคประชาชนเตรียมยื่นแก้ 7 แพ็กเกจตามที่ได้แถลงข่าวไว้

"2 ส่วนสำคัญนี้เป็นสิ่งที่พรรคประชาชนจะนำไปสื่อสารต่อสาธารณะ และนำไปหารือกับพรรคการเมืองอื่นด้วย" นายพริษฐ์กล่าว

ถามถึงแนวคิดในการตั้งคณะทำงานเพื่อหารือแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายพริษฐ์กล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดของคณะทำงาน แต่เห็นว่าควรหาข้อสรุปโดยเร็ว และการพูดคุยกันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่แล้ว ซึ่งจุดยืนของตนและพรรคประชาชนสามารถนำไปหารือกับพรรคการเมืองอื่นได้ ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพียงแต่ไม่อยากให้กรอบเวลาตรงนี้นานเกินไป เพราะถ้าไม่รีบหาทางออก โอกาสที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งก็จะริบหรี่ลง

ที่รัฐสภา เวลา 09.00 น. มีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 สส.พรรค ปชน. รวมถึงข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ร่วมพิธีดังกล่าว และร่วมแสดงความยินดี ทั้งนี้  นายภราดรได้มอบแจกันดอกไม้แสดงยินดีให้กับนายณัฐพงษ์

นายณัฐพงษ์แถลงว่า จากนี้จะหารือกับพรรคฝ่ายค้านถึงการทำงานในสภา และทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาลโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ตรงนี้ตรงไปตรงมาที่สุดให้คุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชน ให้สมกับที่ประชาชนเลือกมาไม่ว่าเราจะทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านก็ตาม

ถามถึงการอภิปรายแบบไม่ลงมติหรือมาตรา 152 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติตามมาตรา 151 ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า กำลังมีการหารือกันอยู่ คิดว่าอย่างเร็วที่สุดคาดว่าจะอยู่ในช่วงต้นปีหน้า แต่ทั้งนี้ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง

วันเดียวกัน นายจเด็ศ จันทรา สส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคเพื่อไทย เดินทางเข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังจาก กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง สส.พิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เข้ายื่นร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอตคลับ จำกัด ตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.2567 จนถึงวันที่ 3 ก.ย.2567 เข้าข่ายไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมข้อ 8 หรือไม่ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) 

ส่วนนายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกระแสข่าวจะย้ายกลับไปสังกัดพรรคเพื่อไทยว่า ไม่เห็นรู้เรื่องเลย สำหรับนายวราเทพ รัตนากร ผอ.พรรค พปชร.นั้น ก็ยังไม่ได้พูดคุยกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง