เคาะจ่ายนํ้าท่วม9พัน เด้งรองผวจ.เชียงราย

ครม.เคาะหลักเกณฑ์เยียวยาอุทกภัยทุกครัวเรือน 9 พันบาท พร้อมปรับปรุงหลักเกณฑ์ "ซอฟต์โลน" ช่วยเอสเอ็มอี-อาชีพอิสระ  ขณะที่ ศปช.เตือนภาคเหนือเฝ้าระวังฝนตกหนักซ้ำพื้นที่เสี่ยงเดิม 1-2 วันนี้ ด้านปลัด มท.ป้ายแดง ตั้งรองปลัดรักษาการพ่อเมืองเชียงราย พร้อมเด้งรองผู้ว่าฯ ยกแผงเซ่นน้ำท่วม-เรียน วปอ.

วันที่ 1 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้ให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ส่วนหน้า รายงานสถานการณ์ล่าสุด เพื่อให้ที่ประชุมรับทราบและประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

โดย ศปช.ส่วนหน้ารายงานว่า ขอให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเร่งรัฐต่อไฟเข้าบ้านเรือนประชาชนใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย และขอให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติมยารักษาโรคน้ำกัดเท้าและอีเอ็มบอล โดยได้สั่งการให้รายงานความคืบหน้ามายัง ศปช.ส่วนกลาง ในเวลา 10.00 น. กับ 15.00 น. เพื่อให้อัปเดตสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และในที่ประชุมได้คุยกับ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ที่อยู่หน้างาน ซึ่งรายงานว่าได้ช่วยเหลือประชาชนที่ขาดเหลือตามการร้องขอแล้ว

เมื่อถามถึงมาตรการเยียวยารอบ 2 พร้อมแล้วใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เคาะแล้ว ศปช.ศึกษารายละเอียด และในวันนี้กระทรวงมหาดไทยได้เสนองบเรื่องการเยียวยาที่มีกรอบวงเงิน 5,000 บาท, 7,000 บาท และ 9,000 บาท เราได้ข้อสรุปว่าให้ทุกครัวเรือนได้ 9,000 บาททั้งหมด เพราะเราทราบว่าเป็นสถานการณ์ที่หนักหน่วง โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งวันที่ 8 ต.ค.นี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินงานโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต้ำ (ซอฟต์โลน)  ของธนาคารออมสินจำนวน 5 หมื่นล้านบาท จากกรอบวงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มรายย่อย อาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือโดยการพักหนี้อัตโนมัติ พักจ่ายเงินต้นและไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน ช่วงเดือน ต.ค.- ธ.ค.2567 ให้กับสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท รวมถึงสินเชื่อรายย่อยทุกประเภทและสินเชื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ และสินเชื่อสวัสดิการ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ธนาคารออมสินในพื้นที่ประสบภัยจำนวนกว่า 110,000 บัญชี คิดเป็นเงินต้นรวมกว่า 43,000 ล้าน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ด้านประชาสัมพันธ์ แถลงผลการประชุม ครม.ว่า กรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่กรมป่าไม้ และพื้นที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอต่อที่ประชุม ครม.ว่า ขอให้มีการผ่อนผันให้ส่วนราชการต่างๆ  เข้าไปแก้ไขปรับปรุงในพื้นที่ เช่น กรณีไม้ล้มในพื้นที่อุทยาน ซึ่งปกติหากมีใครเข้าไปเคลื่อนย้ายหรือไปตัดต้นไม้ ท่อนไม้ จะถือว่ามีความผิด จึงขอให้พิจารณาผ่อนผันหน่วยงานราชการและภาคเอกชนให้เข้าไปดำเนินการได้ เพื่อเป็นการลดขั้นตอนในการเข้าไปซ่อมแซมบ้านเรือนพี่น้องประชาชนที่บางส่วนอยู่ในพื้นที่ของกรมอุทยานฯ  และพื้นที่กรมป่าไม้ หรือแม้กระทั่งพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำต่างๆ

นอกจากนี้ กระทรวง ทส.ยังเสนอที่ประชุม ครม.ให้รับทราบแผนที่และบัญชีแผนที่ที่มีโอกาสเกิดดินถล่มในประเทศไทย และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปพิจารณา เพื่อการป้องกันเฝ้าระวัง ซึ่งมีทั้งหมด 54 จังหวัด เช่น จ.เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี  เชียงราย ลำปาง และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น

นายจิรายุ ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม  หรือ ศปช. และ ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย  เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ศปช.ส่วนกลางได้ติดตามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังฝนตกหนักซ้ำในพื้นที่เสี่ยงเดิม ในช่วงวันที่ 30 ก.ย.-2 ต.ค.2567 โดยเฉพาะภาคเหนือ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จากฝนตกหนักซ้ำที่เดิม เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ ตาก กำแพงเพชร

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ยังคงระบายน้ำคงที่ในอัตรา 1,899 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ติดต่อเป็นวันที่ 4 ส่งผลให้น้ำเหนือเขื่อนลดท้ายเขื่อนทรงตัว แต่ยังต้องเฝ้าระวังฝนที่ตกในสัปดาห์นี้ จะส่งผลให้น้ำไหลลงลุ่มเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น โดยแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2. จ.นครสวรรค์ วันนี้มีปริมาณ 2,052 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 61 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ที่ จ.ชัยนาท มีปริมาณ 2,268 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำ โดยส่งน้ำเข้าระบบชลประทานสองฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 369 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และยังคงระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 1,899 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อน ที่ อ.เมืองชัยนาท ลดลงจากเมื่อวาน 22 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 15.47 เมตร (รทก.) ส่วนระดับน้ำท้ายเขื่อนที่ อ.สรรพยา ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 14.19 เมตร (รทก.) ต่ำกว่าตลิ่ง 2.15 เมตร

ด้านนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ในสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีความจำเป็นต้องมีผู้นำในการบริหารจัดการสถานการณ์

"เพื่อทำให้การบูรณาการช่วยเหลือและเยียวยาพี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นเอกภาพ ผมจึงได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตามที่ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีทราบก่อนหน้านี้" นายอรรษิษฐ์กล่าวเน้นย้ำ

นอกจากนี้ ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งให้นายดำรงค์ศักดิ์ ยอดทองดี ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายนรศักดิ์ สุขสมบูรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และนายประสงค์ หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ไปดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค.2567 เป็นต้นไป และย้ายว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ไปดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากต้องเข้าศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่น 67 ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์อุทกภัยได้เต็มศักยภาพ จึงมีความจำเป็นจะต้องย้ายผู้ที่มีความพร้อมไปทำหน้าที่ทดแทน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง