เงินหมื่นเฟส2แจกโลว์ซีซัน คลังสอนธปท.แก้บาทแข็ง

“จุลพันธ์” อุบไต๋แจกเงินเฟส 2 ปูดออกมารูปดิจิทัล แพลมอาจเก็บเป็นไม้เด็ดช่วงโลว์ซีซัน แต่ต้องไม่ทอดระยะเวลาจากเฟสแรกเกินไป  “เผ่าภูมิ” สอนแบงก์ชาติเรื่องดูแลค่าบาท บอกแทรกแซงอย่างเดียวไม่พอต้องหั่นดอกเบี้ยนโยบายด้วย อัดต้องชั่งน้ำหนักเรื่องศักยภาพ-เสถียรภาพให้สมดุล

เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการโอนเงิน 10,000 บาท ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะแรก 14.5 ล้านคนว่า เม็ดเงินที่เข้าไปในระบบทั้งหมดประมาณ 141,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลต่อการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ 3.35% ส่วนในเฟสถัดไปก็จะพยายามทำให้เป็นรูปแบบดิจิทัล แต่ยังไม่มีกำหนดว่าจะจ่ายเพียง 5,000 บาท ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ คณะกรรมการทุกอย่างต้องมีกลไก โดยรอผลการประชุมจากคณะกรรมการ

เมื่อถามถึงกรณีประชาชนนำเงินไปซื้อเหล้า ซื้อหวย อาจไม่ตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น นายจุลพันธ์ยอมรับว่า รัฐบาลต้องคิดให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เพราะหากรออีก 3 เดือน จะยิ่งส่งผลกระทบทางลบด้านเศรษฐกิจ และตรงกับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาจจะมีตังค์ใช้ที่นอกเหนือความคาดหวังของรัฐบาลบ้าง แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด

เมื่อถามถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าเดิมของรัฐบาลหรือไม่  นายจุลพันธ์กล่าวว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจลดไปตามสัดส่วน แต่เม็ดเงินที่เติมลงไปไม่ได้หายไปไหน ยังมีสภาพคล่องในระบบหมุนเวียน แต่อาจรั่วไหลบ้าง แต่เม็ดเงินจะเป็นตัวหมุนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงไฮซีซัน ถัดจากนั้นต้องดูเวลาที่เหมาะสมเติมเม็ดเงินลงไปอีกรอบ เพื่อเป็นแรงบวกกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ส่วนต้องเป็นช่วงเทศกาล เช่น สงกรานต์ ปีใหม่ หรือเก็บไว้เป็นไพ่เด็ดช่วงโลว์ซีซัน ยังไม่สามารถกำหนดได้หรือให้คำตอบได้ แต่จะห่างจากเฟสแรกไปก็ไม่ดี เพราะจะให้เกิดแรงเฉื่อย ดังนั้นต้องเติมเข้าไปในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

เมื่อถามถึงกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน วิจารณ์ว่าพายุหมุนทางเศรษฐกิจไม่เกิดขึ้นแล้ว นายจุลพันธ์กล่าวว่า ดูง่ายๆ ช่วงหนึ่งถึงสองวันนี้ ตั้งแต่เริ่มโอนเงินก็เกิดการจับจ่ายใช้สอยคึกคักแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ได้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาล

ถามถึงการฟื้นโครงการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน นายจุลพันธ์กล่าวว่า กำลังคุยอยู่ แต่จะเป็นคนละครึ่งหรือเที่ยวด้วยกันยังไม่ได้ข้อสรุป  ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าเคยตำหนิสองโครงการนั้น ต้องดูตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ จะเอาเรื่องพวกนั้นมาเป็นตัวตั้งไม่ได้ และไม่เอาเรื่องนี้มาเป็นอุปสรรค แต่จะดูสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด การจะเอาศักดิ์ศรีมาคงไม่ใช่ ต้องเอาประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการโอนเงิน 10,000 บาทวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ว่า มีการโอนเงินไม่สำเร็จ 61,469 ราย ทำให้มียอดสะสมของการโอนเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายสำเร็จแล้ว 14.05 ล้านราย และโอนเงินไม่สำเร็จ 381,287 ราย จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน หรือติดต่อธนาคาร เพื่อแก้ไขบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีปัญหา ส่วนผู้พิการขอแนะนำให้ต่ออายุบัตร หรือแก้ไขข้อมูล เพราะเมื่อพ้นกำหนดการจ่ายซ้ำครั้งที่ 3 แล้ว จะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ

“ขณะนี้มีเม็ดเงินจากโครงการหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว 140,573.41 ล้านบาท ขอให้ประชาชนที่ได้รับเงินส่วนนี้แล้ว วางแผนการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวเองและครอบครัว”

 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงผู้ได้รับเงินหมื่นไปซื้อเครื่องดื่มมึนเมาว่า ขอย้ำเตือนว่า เงิน 10,000 บาทนี้ นายกฯ เล็งเห็นถึงความจำเป็น อยากให้พี่น้องกลุ่มเปราะบางใช้อย่างคุ้มค่า ในการซื้ออุปกรณ์ประกอบอาชีพ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ขอให้ใช้ให้เกิดประโยชน์ให้เต็มที่ เพราะเงินเหล่านี้คือภาษีของพี่น้องประชาชน

วันเดียวกัน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ  และ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีการนัดหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ใกล้แล้ว โดยจะมีการหารือหลายเรื่อง

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวถึงกรณีที่ ธปท.ระบุว่าได้มีการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทที่ผันผวนและแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมาว่า สถานการณ์ความผันผวนของค่าเงินบาทขณะนี้แก้ไขด้วยการแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะหากไปดูที่ต้นตอ จะพบว่าการแข็งค่าของเงินบาทเกิดจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายการเงินของชาติมหาอำนาจ จนส่งผลให้เกิดภาวะเงินทุนไหลเข้าจนทำให้เกิดการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งแนวทางการแก้ไขเรื่องดังกล่าวต้องทำใน 2 ส่วนสำคัญ โดยการแก้ไขที่แนวหลักคืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะเป็นการดูแลในระยะยาว ส่วนการดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนในระยะสั้น ต้องแก้ไขด้วยการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน

 “การแก้ไขความผันผวนของค่าเงินบาทด้วยการแทรกแซงค่าเงิน เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่เพียงพอ เพราะต้นตอที่เป็นปัญหาระยะยาว คืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของเรายังมีความแตกต่างกับนโยบายทางการเงินของโลกอยู่พอสมควร” นายเผ่าภูมิกล่าว

นายเผ่าภูมิกล่าวอีกว่า ปัจจุบันเงินบาทไทยแข็งค่าเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาค เรียกว่าอยู่ในเกณฑ์แข็งค่ามากเกินไป โดยค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ควรอยู่ที่ระดับ 34 บาทกว่าๆ ต่อดอลลาร์สหรัฐ และอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบชั่งน้ำหนักใน 2 มิติเสมอคือ น้ำหนักด้านศักยภาพของเศรษฐกิจ และน้ำหนักด้านเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งตอนนี้ไทยมีเสถียรภาพทางการเงินในระดับที่สูงมาก ขณะที่ศักยภาพทางเศรษฐกิจนั้นยังไม่ค่อยเท่าไหร่  เพราะฉะนั้นทั้ง 2 ส่วนต้องจุนเจือให้เกิดความสมดุล การที่เศรษฐกิจจะมีศักยภาพสูงจนไม่สนใจเสถียรภาพทางการเงินเลยก็ไม่ดี ขณะเดียวกันการที่มีเสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งจนเกินไป โดยไม่สนใจศักยภาพทางเศรษฐกิจ แบบนี้ก็จะเดินไปไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องสร้างสมดุล โดยหากถามว่าปัจจุบันทั้ง 2 มิติสมดุลหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่สมดุล

 “เรื่องส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากนั้น ก็เป็นอีกปัญหาที่มองว่าเป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่จะต้องเร่งแก้ไข เพราะว่าเป็นภาวะความเดือดร้อนของประชาชน และสามารถมองได้ว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการเงินที่ก็เข้มแข็งอยู่แล้ว  ดังนั้นจึงควรจะพิจารณาในมิติของการเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้สภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในอัตราที่ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้ ตรงนี้จะเป็นประโยชน์มากกว่า”

นายเผ่าภูมิกล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงการคลังสามารถทำได้ในส่วนนี้ คือการหารือกับ ธปท.และธนาคารพาณิชย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนในมุมของสถาบันการเงินของรัฐนั้น คลังสามารถดำเนินการให้เข้าไปช่วยเหลือจุนเจือประชาชนได้ด้วยส่วนอัตราอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ก็จะเป็นจุดสปาร์กให้ตลาดมีการปรับตัวมากขึ้น แต่คลังก็อาจทำได้ไม่เต็มไม้เต็มมือ และคงต้องขอความร่วมมือไปยัง ธปท.

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทว่า ภาวะปัจจุบันการจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็เห็นใจกับคณะกรรมการไตรภาคีที่ยังเกิดเหตุขัดข้อง ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง จึงจำเป็นต้องเลื่อนการประกาศขึ้นค่าแรง และปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งมาก สภาวะการส่งออกเป็นไปได้ยาก จึงต้องนำเรื่องไปหารือกับนายกฯ อีกครั้งหนึ่ง แต่ยืนยันว่าจะยังคงเดินหน้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท และต้องทันภายในปีนี้ เมื่อกรรมการมีความพร้อมทุกอย่างจะต้องดำเนินการอีกครั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง