ชงครม.รอบใหม่ เยียวยาน้ำท่วม บางระกำระทม

"ภูมิธรรม" ชง ครม.ขยายกรอบเงินเยียวยาน้ำท่วม ประสบภัยซ้ำดูตามข้อเท็จจริง-ระเบียบเป็นหลัก "ศปช." สยบข่าวเขื่อนภูมิพลต้านน้ำไม่ไหว ยันปีนี้รับน้ำเพียงพอตลอดฤดูกาล ปล่อยน้ำไม่กระทบท้ายเขื่อน ขณะที่ "บางระกำโมเดล" ทำชาวบ้านพื้นที่ต่ำระทมหนัก ท่วมบ้าน-ถนนสัญจร ด้านกรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 5 เตือนอากาศแปรปรวน ฝนตกหนักถึง 3 ต.ค.

เมื่อวันจันทร์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม​ (ศปช.​) กล่าวถึงการขยายกรอบวงเงินเยียวยา​ ประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย​ว่า​ ตอนนี้เรื่องยังไม่ส่งมา​ แต่วันที่ 1 ต.ค.จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

เมื่อถามว่า ข้อกังวลของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และได้รับเงินเยียวยาไปแล้วแต่ถูกน้ำท่วมซ้ำ จะมีโอกาสได้รับเงินเยียวยาอีกรอบหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูข้อเท็จจริง ซึ่งขณะนี้เงินเยียวยาจากการสำรวจมาขั้นต้นก็ว่ากันไป และจะมีผลหรือไม่ก็ต้องมาดูว่ามีความต่อเนื่องอย่างไร หรือมีรายละเอียดที่พิเศษอย่างไร ต้องดูกันเป็นส่วนๆ โดยทางพื้นที่ก็จะเสนอเข้ามา

"ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลให้แน่นอน จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือเงินเยียวยา 5,000 บาท 7,000 บาท และ 9,000 บาท ขั้นต้นเราให้เงินเยียวยาเต็มที่ ส่วนการจะให้เงินเยียวยาเพิ่มเติมก็ขอพิจารณารายละเอียด หากมีการเกิดเหตุซ้ำต้องมาดูว่าเกิดเหตุตรงไหน ซ้ำอย่างไร และจะดูแลประชาชนต่อไปหรือไม่อย่างไรต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง" นายภูมิธรรมระบุ

เมื่อถามว่า กรอบเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยรอบ 2 จะสามารถเคาะได้วันไหน นายภูมิธรรมกล่าวว่า จะเคาะให้เร็วที่สุด

เมื่อถามว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะนำกรอบเงินเยียวยารอบ 2 เข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 1 ต.ค.ใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ใช่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องพิเศษที่สามารถมีข้อสรุปเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ตามต้องเป็นไปตามหลักการและรายละเอียดอีกครั้ง เมื่อถามว่าแสดงว่า ครม.จะสามารถเคาะเงินเยียวยารอบที่ 2 ได้เลยใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่าจะพยายาม

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษก ศปช. และโฆษก ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าน้ำจากตอนบนไหลเข้าเขื่อนภูมิพลจำนวนมาก เกรงว่าจะไม่เพียงพอจนอาจต้องระบายออกจำนวนมากนั้น ในที่ประชุม ศปช.ส่วนกลางได้ติดตามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  ได้รับการยืนยันตรงกันว่า ขณะนี้ 30 ก.ย. ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก มีศักยภาพเพียงพอในการรับน้ำได้อีกมาก และการปล่อยน้ำของเขื่อนจะไม่กระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนแต่อย่างใด

 “เขื่อนภูมิพลรับน้ำจากแม่น้ำปิงนั้น สามารถรองรับน้ำได้สูงถึง 13,462 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 8,247 ล้าน ลบ.ม. หรือ 61% ของความจุ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 5,215 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจากการสรุปผลประชุมมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนวันละ 134 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่การระบายน้ำอยู่ที่ 1 ล้าน ลบ.ม.เมตรเท่านั้น ถือว่าอยู่ในภาวะปกติ ศปช.ยืนยันได้ว่า การระบายน้ำของเขื่อนภูมิพลไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีข้อสรุปว่า ในปลายสัปดาห์หน้าพื้นที่ภาคเหนือจะเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาว ทำให้น้ำฝนจะลดปริมาณลง ” นายจิรายุกล่าว

นายจิรายุระบุด้วยว่า ขณะที่ ศปช.ส่วนหน้าเชียงราย เร่ง กฟภ., กปภ.ต่อไฟต่อน้ำเข้าบ้านประชาชน อำเภอแม่สาย พร้อมสั่งเร่งจัดการขยะ

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก อยู่ในโซนทุ่งบางระกำโมเดล กำลังได้รับผลกระทบจากน้ำที่ท่วมในลุ่มน้ำยม ไหลหลากลงมาในแม่น้ำยมสายเก่าและแม่น้ำยมสายหลัก พื้นที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอพรหมพิราม บ้านแม่ระหัน ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก และอำเภอบางระกำ และขณะนี้น้ำเต็มทุ่งบางระกำโมเดล 100% แล้ว ปริมาตรกักเก็บน้ำในทุ่งวันนี้อยู่ที่ 440 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของความจุเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีความจุ 939 ล้านลูกบาศก์เมตร) ขณะที่ระดับน้ำยังคงเพิ่มต่อเนื่อง เพราะยังมีน้ำจากต้นทางที่ จ.แพร่ และสุโขทัยกำลังไหลลงมาเพิ่มเติมอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในเขตอำเภอบางระกำ ระดับน้ำที่เคยท่วมทุ่งอยู่แล้วเมื่อเดือนก่อน ได้เพิ่มระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ คลองบางแก้ว ต.ท่านางงาม และคลองวังแร่ ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ ระดับน้ำล้นตลิ่งไหลท่วมทุ่งนาและบ้านเรือนราษฎรในที่ต่ำ ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่างเก็บทรัพย์สินของมีค่าและสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูง โดยเฉพาะถนนสายหลักในหมู่บ้าน ขณะที่การสัญจรไปมาจำนวนมากได้ใช้เรือ

นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา  ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องอากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 5 มีผลกระทบในช่วงวันที่ 30 กันยายน  - 3 ตุลาคม 2567 โดยประเทศไทยตอนบนมีลักษณะอากาศแปรปรวนเกิดขึ้น โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ หลังจากนั้นอากาศจะเย็นลง กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง