เสียงสภาสีน้ำเงินท่วมท้น 167 เสียงเห็นชอบให้แก้ กม.ประชามติแบบ 2 ชั้นเหมือนเดิม ไม่สนถูกด่ายื้อเวลา ซัดกลับชำเรา รธน.เพื่อตนเองและพรรคการเมือง ไม่เห็นหัวประชาชน ข้องใจทำไมต้องพ่วงวันเลือกตั้งนายก อบจ. ชี้ขาดทุนข้าว 7 แสนล้านบาทยังยอมกันได้ แค่ทำประชามติจะแค่ไหน "ชูศักดิ์" เผยต้องนัดหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลถกทิศทางเอาอย่างไรแน่ ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมส่อเลื่อนก่อนซ้ำรอยรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 มีการประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร เป็นประธานพิจารณาเสร็จแล้ว โดย กมธ.ได้แก้ไขมาตราเดียว คือมาตรา 7 แก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การผ่านประชามติ ที่ให้เติมความวรรคสอง กำหนดให้การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในการจัดทำประชามติ มาตรา 9 (1) หรือ (2) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น (Double Majority)
ทั้งนี้ ในการประชุม กมธ.เสียงข้างน้อยได้สงวนความเห็น และอภิปรายขอให้กลับไปใช้เนื้อหาเดิมตามที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ โดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า การกลับมติของ กมธ.ในวันที่ 25 ก.ย. ทั้งที่ก่อนหน้านั้น กมธ.ได้ลงมติในทิศทางเดียวกันนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีใบสั่ง เพราะเมื่อวันที่ 24 ก.ย.นั้น มีหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การลงมติของ กมธ.ด้วย 17 เสียง ต่อ 1 เสียงนั้นไม่งาม
“ขอ สว.อย่าความจำสั้น เพราะการลงมติวาระแรกมีผู้ลงมติรับหลักการ 179 เสียง ทั้งนี้รัฐธรรมนูญที่มีปัญหา ทำให้การเมืองไร้เสถียรภาพ ปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นขอให้กฎหมายประชามติเป็นก้อนหินก้อนแรกเพื่อสร้างถนนประชาธิปไตย” น.ส.นันทนาอภิปราย
ด้านนายนิกร จำนง กมธ.เสียงข้างน้อยในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก เพราะเกณฑ์ออกเสียงประชามติด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้นเป็นอุปสรรคที่ทำให้ประชามติผ่านยาก จึงเสนอให้แก้ไขใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว ซึ่งเป็นฉบับที่เสนอให้วุฒิสภาพิจารณา แต่หาก สว.เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมากก็ต้องกลับไปสภา และเชื่อว่าสภาจะยืนยันตามร่างของตนเอง เพราะได้ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ดังนั้นสิ่งที่ตามมาคือตั้ง กมธ.ร่วมกันฝ่ายละ 10 คน หากตกลงไม่ได้ไม่มีข้อสรุป และส่งไปยังแต่ละสภาพิจารณา หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ต้องถูกแขวนไว้ 180 วัน จากนั้นสภาถึงจะลงมติ ซึ่งจะใช้ร่างของสภา ไม่ผ่านวุฒิสภา
“สิ่งที่จะกระทบคือ รัฐธรรมนูญของประชาชนจะเกิดไม่ทันในรัฐสภาชุดนี้แน่ เพราะมีเวลาไม่ถึง 3 ปี แล้วใครจะรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นที่ไม่มีรัฐธรรมนูญของประชาชน เพราะเล็งกันไว้ว่าจะทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นวันที่ 2 ก.พ. 2568 หากไม่ทันจะเพิ่มค่าใช้จ่าย ผมตั้งความหวังไว้ ผมอยากให้ สว.เห็นด้วยกับร่างของสภา ไม่เช่นนั้นจะสุ่มเสี่ยงถูกโทษว่ารั้งรัฐธรรมนูญของประชาชนไว้” นายนิกรกล่าว
นายนิกรกล่าวด้วยว่า ขอเสนอวันและเวลารวมถึงโอกาส คือแม้ สว.จะโหวตตาม กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขส่งไปสภา 9 ต.ค.พิจารณาตั้ง กมธ.ร่วมกัน จากนั้นมีเวลาระหว่างวันที่ 16-23 ต.ค.ที่ กมธ.จะพิจารณาหาทางออก ต่อมาวันที่ 24 ต.ค. กมธ.ร่วมกันส่งให้สองสภา วันที่ 28 ต.ค. วุฒิสภาเห็นชอบตามร่างของ กมธ.ร่วมกัน จากนั้นวันที่ 30 ต.ค.ให้ความเห็นชอบ และวันที่ 31 ต.ค.สามารถทำตามกระบวนการของการประกาศใช้กฎหมาย และสามารถทำประชามติได้ทันวันที่ 2 ก.พ. 2568 แต่หากทำไม่ทันเวลาจะไหลไป ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของพรรคใด แต่เป็นเรื่องว่าจะมีรัฐธรรมนูญของประชาชนในยุคสมัยนี้ได้หรือไม่
ด้านนายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. อภิปรายว่า ได้เสนอคำแปรญัตติให้ กมธ.พิจารณาแก้ไข เพราะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขให้มีเสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว ส่วนที่ระบุว่าไม่แก้กลัวว่าประชามติไม่ผ่านนั้น หากเปรียบเทียบกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 และ 2560 พบว่าผู้ออกมาใช้สิทธิและคะแนนเสียงต่างผ่านเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นทั้งสิ้น ดังนั้นอย่ามาอ้างว่าหลักการดังกล่าวทำให้การทำประชามติเป็นไปได้ยาก ส่วนที่บอกกลัวไม่ทันกับการเลือกตั้ง อบจ. 2568 ก็สามารถใช้ พ.ร.บ.ประชามติฉบับปัจจุบันได้
“การแก้รัฐธรรมนูญปัจจุบันมีแต่เรื่องแก้จริยธรรมนักการเมือง แต่ไม่มีประเด็นเพื่อประชาชน และที่บอกว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา เคยมีประชาชนเดินมาบอกหรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาตรงไหน เชื่อว่ารัฐธรรมนูญนี้มีปัญหากับพรรคและนักการเมืองมากกว่า” นายพิสิษฐ์อภิปราย
ขณะที่นายสิทธิกร ธงยศ สว. อภิปรายว่า การแก้ไขเรื่องเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นของ กมธ.นั้นชอบธรรมและถูกต้อง และขอชื่นชม หากได้ 3 ชั้นยิ่งดี และความพยายามให้การออกเสียงประชามติเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งนายก อบจ.นั้นเป็นเรื่องไม่ชอบมาพากล เพราะขณะนี้มีพรรคการเมืองใหญ่เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.แล้ว 70-80% ดังนั้นหาก สว.ผ่านให้ทำประชามติวันดังกล่าว จะกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองทันที
“คนแก่ที่จะเลือกต้องปรึกษาหัวคะแนนใบแรกเลือกตั้ง นายก อบจ. ใบสองคือแก้เรื่องอะไร ต้องถามหัวคะแนน เป็นเรื่องที่แอบแฝง ทั้งนี้ไม่ต้องห่วงค่าใช้จ่ายหรือเป็นภาระสังคมอันอื่นเสียได้ ตอนนั้นจำนำข้าวเสียหาย 7 แสนล้านบาท เป็นเรื่องเล็กน้อยกับการทำประชามติกฎหมายแม่บท ดังนั้นต้องทำให้ปลอดจากการครอบงำของพรรคการเมือง ขอให้เป็นวันใหม่ เป็นวันขึ้นปีใหม่ หรือวันสงกรานต์ เพราะประชาชนกลับบ้านมากกว่าเลือกนายก อบจ. อย่าให้พรรคการเมืองครอบงำ มีประโยชน์ทับซ้อน" นายสิทธิกรระบุ
นัดหัวหน้าพรรคถกชำเรา รธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ประชุมอภิปรายแล้วเสร็จได้ลงมติเห็นชอบตามที่ กมธ.เสียงข้างมากแก้ไข ด้วยคะแนน 164 เสียง ต่อ 21 เสียง และงดออกเสียง 9 เสียง ต่อมาที่ประชุมลงมติในวาระสามว่าจะเห็นชอบทั้งฉบับหรือไม่ ผลปรากฏว่าเสียงข้างมากเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ประชามติตามที่คณะ กมธ.แก้ไข ด้วยคะแนน 167 เสียง ไม่เห็นชอบ 19 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ซึ่งวุฒิสภาจะได้ส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบตามที่ สว.แก้ไขหรือไม่ หรือจะยืนยันตามที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติ หากไม่เห็นด้วยกับที่ สว.แก้ไขจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันต่อไป
ส่วนนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าต้องมีการตั้ง กมธ.ร่วมกัน ซึ่งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็จะช้ากว่าไทม์ไลน์ที่เป็นอยู่ที่จะให้ทำพร้อมกับการเลือกตั้งสมาชิก อบจ.ในเดือน ก.พ. 2568 ไม่สามารถทำได้ อาจต้องแยกการพิจารณาทำคนละครั้ง
“ทางออกที่ดีที่สุดคือ การหารือร่วมกับหัวหน้าพรรคการเมืองที่ต้องคุยกันให้ชัด ว่าการเดินต่อไปควรจะเดินแบบไหน เช่นขณะนี้มีข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เลยหรือไม่ โดยเสนอญัตติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ และถ้าผ่านรัฐสภาก็ไปทำประชามติเลย ซึ่งแนวทางนี้จะทำประชามติเพียงสองครั้ง ไม่จำเป็นต้องสามครั้งเหมือนเดิม ซึ่งนักวิชาการและใครต่อใครได้ให้แนวทางมา ผมจึงอยากให้คุยกับหัวหน้าพรรคให้ชัด เพราะเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาลว่าควรจะเดินไปอย่างไร” นายชูศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่า การกลับไปทำประชามติสองชั้น ทำให้การผลักดันรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จหรือยากขึ้นใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ และรัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้าต่อเรื่องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องหารือว่าเราควรเดินอย่างไรต่อไป มีทางเลือกอะไรบ้าง
“เราก็มาเริ่มต้นพูดคุยกันดีหรือไม่ ว่าท้ายที่สุดควรจะเดินไปอย่างไรถึงจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ราบรื่น และนโยบายรัฐบาลก็ยังมีอยู่โดยได้แถลงต่อรัฐสภาไปแล้ว แต่ขั้นตอนคือ ควรพูดคุยแก้ไขปัญหากันอย่างไรเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้” นายชูศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่า การพูดคุยกับหัวหน้าพรรคการเมือง เพื่อต้องการให้พรรคการเมืองหนึ่งเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อ สว.ด้วยใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า อย่าไปพูดแบบนั้นมันไม่ดี เอาเป็นว่าขอเสนอให้มานั่งจับเข่าคุยกันในฐานะที่เป็นพรรครัฐบาลด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วยหลายพรรค ว่าถ้า สว.เดินไปแบบนี้ แล้วรัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไร
นายชูศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เสนอ 2 แนวทางในการทำประชามติให้ลดเหลือ 2 ครั้ง ว่าได้เห็นแนวทางที่นายปิยบุตรเสนอแล้ว ซึ่งต้องคุยกัน ส่วนโอกาสที่จะลดเหลือ 2 ครั้งนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องแนวคิดทางกฎหมาย ถ้าถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องคุยกันว่าจะเอาอย่างไร เราต้องทราบว่าตอนนี้แนวคิดทางกฎหมายมีความเห็นหลากหลาย ฉะนั้นเป็นไปได้หรือไม่ต้องว่ากันอีกที
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายปิยบุตรระบุว่าถ้าทำประชามติ 3 ครั้ง จะทำให้การทำประชามติช้าไป 8-10 เดือน นายชูศักดิ์กล่าวว่า ตรงนี้เราทราบดี ถือเป็นข้อกังวลหนึ่ง เอาไว้หารือกันก่อนถึงจะมีความชัดเจน
ส่อเลื่อน กม.นิรโทษกรรม
นายชูศักดิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ยังกล่าวถึงการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ว่า ร่างกฎหมายจะสำเร็จเป็นกฎหมายได้ก็เป็นเรื่องของ สส.และ สว.ที่ต้องเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะเป็นอย่างไร คิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะพรรคการเมืองบางส่วนได้เสนอร่างกฎหมายขอให้มีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง บางส่วนบอกว่าหากนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองแล้ว ก็ให้รวมกับคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย แต่ขณะนี้ร่างกฎหมายทั้งหมดรวมถึงรายงานของ กมธ.วิสามัญนิรโทษกรรมฯ ชุดที่ตนเป็นประธานก็ยังค้างอยู่ในสภา กำลังรอการพิจารณา
นายชูศักดิ์กล่าวต่อว่า เพื่อให้เป็นไปได้ดีที่สุดและละมุนละม่อมที่สุด ควรนำเรื่องทั้งหมดไปหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงพรรคฝ่ายค้านเพื่อให้ตกผลึก แต่ท้ายที่สุดแล้วพรรคการเมืองจะมีความเห็นอย่างไร พร้อมจะเสนอร่างกฎหมายด้วยหรือไม่ ซึ่งที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญในสภา ฉะนั้น หากเราไม่ฟังกัน เมื่อมีการเสนอและพิจารณากันแล้วก็จะคล้ายกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้ปรึกษานายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) อยากให้เลื่อนวาระออกไปเพื่อรอฟังความคิดเห็นของหัวหน้าพรรคการเมืองให้ครบถ้วนก่อน ซึ่งไม่น่าสายเกินไป
เมื่อถามถึง กรณีที่มีบางพรรคออกมาบอกว่า ไม่ขอรวมการนิรโทษกรรมมาตรา 112 นายชูศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนั้นต้องให้เขาตกผลึกมาว่าเป็นเช่นนี้ เวลามาพิจารณากันก็จะเห็นภาพและตัดสินใจได้ถูก ซึ่งทราบดีว่าบางพรรคต้องการและบางพรรคไม่ต้องการ เพราะเป็นประธาน กมธ. ซึ่งได้พูดคุยกันใน กมธ.เพียงแค่ไม่ได้มีการเชิญพรรคต่างๆ มาพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ ฉะนั้นจึงคิดว่าฟังหัวหน้าพรรคการเมืองดีที่สุด ว่าเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้เพื่อจะได้เดินหน้าต่อไปถูก
เมื่อถามว่า จะต้องมีการคุยอย่างเป็นทางการหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า อยากให้นายวิสุทธิ์เป็นคนทำหน้าที่ ซึ่งอาจประสานกับรองนายกฯ เพื่อให้นัดหัวหน้าพรรคมาพูดคุย และในการพูดคุยอาจจะรวมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปด้วย เพราะถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จำเป็นต้องคุยกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เร่งเบิกงบลงทุน ขีดเส้นให้ได้80% กระตุ้นเศรษฐกิจ
นายกฯ อิ๊งค์นั่งหัวโต๊ะประชุมหัวหน้าส่วนราชการ บี้เร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุน 9.6 แสนล้าน
‘เวชระเบียน’หลอนทักษิณ โยนรพ.ตำรวจมอบให้ปปช.
นายกฯ พยักหน้ารับปม "ป.ป.ช." ทวงถามเวชระเบียนรักษาตัว
เพิ่มข้อหาแชร์ลูกโซ่18บอส จ่อหมายจับ‘ตั้ม’โกงเจ๊อ้อย
"ดีเอสไอ" แจ้งข้อหาเพิ่ม 18 บอสดิไอคอน คดีแชร์ลูกโซ่-ขายตรง
หึ่ง!เปลี่ยน‘พงษ์ภาณุ’แทน‘โต้ง’
“คปท.-ศปปส.-กองทัพธรรม” ลุกฮือ ยื่นหนังสือค้านคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
กอดMOUเจรจาเขมร ‘อิ๊งค์’หวั่นโดนฟ้องยันเดินหน้าแบ่งเค้ก/กต.แจงมีข้อดีกว่าเสีย
นายกฯ อิ๊งค์ลั่นเป็นคนไทย 100% ประเทศต้องมาก่อน ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่
คลั่งชาติปลุกต้านขายชาติ!
นายกฯ เรียกพรรคร่วมถกปมเกาะกูด "นพดล" โต้เดือดไม่ได้ขายชาติ