ลุ้นสว.ถกกม.ประชามติ/จี้กมธ.โหวตนิรโทษ

แผนชำเรารัฐธรรมนูญส่อสะดุด บิ๊กสภาสูงหนุน กม.ประชามติต้องกลับไปใช้หลักออกเสียงสองชั้น ไม่หวั่นโดนวิจารณ์ยื้อแก้ไข  “วิสุทธิ์” รับสภาพอาจต้องตั้ง กมธ.สองสภา ลั่นต่อไปเสนอกฎหมายหัวหน้าพรรคร่วมต้องหารือให้สะเด็ดน้ำ “ธนกร” ข้องใจ ปชน.ชงแก้กฎหมายเพื่อใครกันแน่ ปชป.ตอกย้ำไม่ควรนำรายงาน กมธ.นิรโทษฯ เข้าสภา “ทสท.” สำทับควรต้องมีมติชี้ชัดออกมา ไม่ใช่ปลายเปิดให้มาถกเถียงอีกรอบ

ในวันจันทร์ที่ 30 ก.ย.นี้ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะมีการประชุม โดยมีวาระสำคัญที่ถูกจับตามองคือการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ..... วาระสองและวาระสาม ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่นำไปสู่การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหากกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติล่าช้า ก็อาจทำให้ไทม์ไลน์การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญตามโรดแมปของรัฐบาลอาจมีปัญหาได้

ขณะที่ พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา สว. ในฐานะประธาน กมธ.การทหารและความมั่นคงแห่งรัฐ  และวิปวุฒิสภา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติที่ส่งมาจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะการทำประชามติโดยเฉพาะในเรื่องสำคัญๆ เรื่องใหญ่ของประเทศ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรต้องมีเรื่องของเกณฑ์ขั้นต่ำของผู้มาออกเสียงด้วย คือควรกำหนดไว้ว่าต้องมีคนมาออกเสียงประชามติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ซึ่งในร่างที่ผ่านมาจากสภา ส่งมาที่ สว.ตอนพิจารณาวาระแรกขั้นรับหลักการไม่มีกำหนดไว้ ทำให้ไม่เห็นด้วยกับร่างที่ส่งมา

พล.อ.สวัสดิ์กล่าวย้ำว่า สาเหตุที่ไม่เห็นด้วย เช่น หากมีผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ 50 ล้านคน แล้วมีการทำประชามติเรื่องสำคัญ ถ้ามีคนมาออกเสียงแค่ 1 ล้านคนแล้วเห็นชอบ มันไม่ใช่  โดยเฉพาะหากนำไปใช้กับการออกเสียงประชามติเรื่องใหญ่สำคัญประเทศ ขนาดการเลือกตั้งท้องถิ่นยังมีหลักเลยว่า หากมีผู้สมัครเลือกตั้งแค่คนเดียว คนที่สมัครได้รับเลือกตั้งต้องได้รับคะแนนมากกว่า 10% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด และต้องมีคะแนนที่มากกว่าคะแนนที่ไม่เลือกผู้สมัครใด (โนโหวต) ดังนั้น การออกเสียงประชามติ กฎหมายสำคัญอย่างรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำ มันไม่น่าถูกต้อง

 “รอฟังการอภิปราย สว.ก็จะชั่งน้ำหนักกันว่า หลักไหนเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ อันไหนมีความปลอดภัยกว่ากัน โดย สว.ส่วนใหญ่คงรอฟังคำชี้แจงจาก กมธ.เสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยจันทร์นี้” พล.อ.สวัสดิ์กล่าว 

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า อาจมี สว.เสนอให้ กมธ.นำร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติกลับไปทบทวนแล้วเสนอกลับมาอีกครั้ง พล.อ.สวัสดิ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบข่าวดังกล่าว แต่คิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะ กมธ.ได้พิจารณาอย่างดี  รอบคอบแล้ว การที่จะให้ไปถอนร่างออกไปก่อนคงไม่ใช่ โดยหาก กมธ.เสียงข้างมากที่ไปแก้ไขโดยให้กลับไปใช้หลักออกเสียงสองชั้น ถ้า กมธ.ชี้แจงได้ดี สว.ก็อาจออกเสียงสนับสนุน 

เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ว่าหาก สว.กลับไปใช้หลักออกเสียงสองชั้น ทำให้ต้องตั้ง กมธ.ร่วมสองสภา จนทำให้การแก้ไข รธน.ล่าช้า ทำให้ สว.ถูกมองว่าเป็นตัวถ่วง และดึงเรื่องให้ล่าช้า พล.อ.สวัสดิ์กล่าวตอบว่า ตรงนี้เราต้องยึดหลักของประเทศชาติและประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ไปกลัวว่าใครจะมาว่า สว.คงไม่ได้ เพราะเราได้อ่านได้ฟังความเห็นแล้วว่าอะไรควร-ไม่ควร จนออกความเห็น ตัดสินใจได้ เพื่อให้ประเทศชาติได้สิ่งที่ดีที่สุด

รับสภาพตั้ง กมธ.ร่วมสองสภา

ด้านนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีคณะ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ.… วุฒิสภาเสียงข้างมาก แก้ไขหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติต้องใช้เสียงสองชั้น ต่างจากร่างของ สส. ที่ใช้แค่เสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิ จะเป็นการยื้อการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ว่าไม่ขอวิจารณ์การทำงานของ สว. เพราะเป็นหน้าที่เขา แต่หากที่สุดแล้วที่ประชุม สว.มีมติอะไรที่ต่างจากร่างที่ สส.เสนอไป ก็ต้องตั้ง กมธ.ร่วมกันของรัฐสภาขึ้นมาเพื่อให้ได้กฎหมายที่มีความเห็นร่วมกันของทั้งสองสภา และหลังจากนี้การดำเนินการอะไรในสภา ต้องให้หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลคุยกันก่อน เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าจะเสนอกฎหมายอะไร อย่างไร และเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จากนั้นจึงนำเข้าสู่ที่ประชุมวิปรัฐบาลเพื่อเป็นมติ จะได้ไม่มีปัญหาอีก แต่เชื่อว่าทุกอย่างจะจบได้ด้วยการเจรจา

“สภาก็ทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติไป เช่น เรื่องแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นนโยบายของพรรค พท. เราไม่ทิ้ง แต่จะให้เป็นไปตามกระบวนการที่จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในอนาคตเป็นคนดำเนินการ ขณะที่ในส่วนของรัฐบาล ก็ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่เดือดร้อน รวมถึงเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ”

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. กล่าวว่า พรรค พท.ยังมีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นนั้น เรายังคงเดินหน้าเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยจะเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็นที่ต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และยึดโยงกับประชาชน เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าได้ และเป็นรัฐธรรมนูญที่มีการวางกรอบการทำงานของนักการเมือง เป็นฉบับปราบโกงให้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันได้ แต่ทั้งหมดนี้ต้องดำเนินการตามกรอบกฎหมายเดิมที่มีอยู่ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาตามมาในอนาคต แต่ยืนยันว่าเราเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามโรดแมปให้มี ส.ส.ร.ตามนโยบายที่หาเสียงไว้อย่างแน่นอน

นายพายัพ ปั้นเกตุ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญสร้างประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ขณะนี้ขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้องประชาชนก่อน เมื่อประชาชนหมดกังวลเรื่องปากท้อง เราก็จะมีเวลาพิจารณารายละเอียดเนื้อหาอย่างรอบคอบ และต้องผ่านการเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ เพื่อประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนในอนาคต

ส่วนนายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีพรรคประชาชน (ปชน.) เสนอ 7 แพ็กเกจในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับควบคู่กับการแก้เป็นรายมาตราว่า สงสัยการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านอย่างพรรค ปชน.เหมือนที่หลายฝ่ายสงสัยเช่นกัน ว่าที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นผู้แทนฯ  นั้น เพื่อเข้าสภาไปทำงานแก้ปัญหาความเดือดร้อนแก้ปัญหาปากท้องเศรษฐกิจของประชาชนจริงหรือไม่ หรือหวังแก้รัฐธรรมนูญเพื่อพรรคการเมืองของตัวเองเท่านั้นหรือไม่ เพราะจากที่ดูการเสนอกฎหมาย เสนอแนวทางต่างๆ ของพรรค ปชน.หลายเรื่องที่ผ่านมา ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชนเรื่องความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง มุ่งแต่จะแก้ปัญหาการเมือง แก้รัฐธรรมนูญบ้าง จ้องปฏิรูปสถาบัน  ปฏิรูปกองทัพบ้าง อ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และองค์กรอิสระมีอำนาจมากเกินไป และอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาจากการรัฐประหาร ไม่เป็นประชาธิปไตย ท่องอยู่แค่ไม่กี่คำเท่านี้ จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามของหลายฝ่ายทั้งนักวิชาการและฝ่ายการเมืองก็ตามว่า แท้จริงแล้วพรรคประชาชนมีจุดมุ่งหมายการทำงานการเมืองเพื่ออะไรกันแน่ 

“สังคมตั้งคำถามว่า พรรคประชาชนมัวทำอะไรกัน วนเวียนคิดแต่จะแก้ปัญหาการเมือง แก้รัฐธรรมนูญ ติดกรอบความคิดเดิมๆ เรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหารของ คสช. อ้างแต่เรื่องประชาธิปไตย โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อน ความยากจน ปัญหาปากท้องเศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติที่พี่น้องประชาชนประสบอยู่ตอนนี้ แต่ยังก้าวไม่พ้น คสช. ต้องการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนวางกรอบไว้ให้การพัฒนาประเทศเกิดความยั่งยืน ซึ่งก็ถือว่าดีอยู่แล้ว ดังนั้นการเสนอ 7 แพ็กเกจของพรรคประชาชน มองว่าเป็น 7 แพ็กเกจสุดซอย สุดโต่ง มุ่งทำเพื่อพรรคการเมือง ทำเพื่อตัวเอง ยังไม่ได้นึกถึงประชาชนชาวบ้านที่เดือดร้อนจริงๆ” นายธนกรกล่าว

ปชป.ย้ำไม่เอานิรโทษฯ 112

นายสุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ บทเรียนนักการเมืองแก้ รธน.เสียงข้างมากในสภา  ว่าไม่มีความหมายเสมอไป ในที่สุดความพยายามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราก็กลายเป็นเกมการเมืองในบรรดาพรรคการเมืองด้วยกัน ซึ่งจังหวะก้าวที่ผิดพลาดของพรรคที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญในขณะนี้ น่าจะเกิดจากการชิงเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา แทนที่จะรอการแก้ไขทั้งฉบับ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง หรือรอให้มี ส.ส.ร.ก่อน โดยคิดแต่เพียงว่าเมื่อสองพรรคใหญ่จับมือกันทุกอย่างก็น่าจะง่าย แต่สุดท้ายสังคมจับได้ว่าประเด็นที่แก้ไขเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของนักการเมืองมากกว่าประโยชน์ของประชาชน ทำให้ขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราแทบจะปิดเกมไปในที่สุด  เท่านั้นไม่พอ ส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจจะถูกลากเกมยื้อ ดึงเกมยาวออกไป ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนที่นักการเมืองต้องตระหนักตลอดเวลา ว่าเสียงข้างมากที่ไร้ซึ่งความชอบธรรม ไม่มีความหมายเสมอไปในระบบรัฐสภา

วันเดียวกัน นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการรับทราบรายงานของคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่พิจารณาเสร็จแล้ว และจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันที่ 3 ต.ค.นี้ว่า พรรค ปชป.ไม่ต้องการให้รายงานฉบับนี้เข้ามา โดยควรที่จะทำให้จบก่อน ซึ่งพรรคไม่เห็นด้วยอยู่แล้วกับการนิรโทษกรรมตั้งแต่เบื้องต้น โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เราจึงไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ เพราะควรที่ทำให้สมบูรณ์กว่านี้ เพราะใน กมธ.ไม่มีการยกมือ แต่เขาเอาความเห็นของทุกภาคส่วนมา แล้วเสนอให้สภารับทราบเท่านั้น

“การประชุม สส.ของพรรคประชาธิปัตย์สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบแล้วว่าเราไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ และการประชุม สส.สัปดาห์นี้คงต้องแจ้งอีกครั้ง และยืนยันว่าไม่ว่ารายงานฉบับไหนที่เกี่ยวกับนิรโทษกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พรรคก็ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่จะนิรโทษกรรมเรื่องอื่นๆ หรือความคิดเห็นต่างทางการเมืองก็ว่ากันไป” นายประมวลกล่าว

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคและกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวว่า แปลกใจเหตุใดการศึกษาของ กมธ.จึงไม่ใช้เสียงอย่างเป็นเอกฉันท์ หรือใช้เสียงข้างมาก  แต่กลับเสนอข้อสังเกตแบบปลายเปิดให้สภาพิจารณาหาข้อยุติ ซึ่งทำได้ยาก ที่สำคัญสภาจะมีมติให้ตั้ง กมธ.ไปศึกษาเพื่อจัดทำรายงานทำไมหากไม่มีมติออกมา

นายชวลิตกล่าวว่า ขอเสนอแนะต่อรัฐบาลด้วยความสุจริตใจว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 6 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” ดังนั้น รัฐบาลควรปกป้องสถาบันเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในต่างประเทศล้วนมีกฎหมายปกป้องประมุขหรือผู้นำประเทศกันทั้งสิ้น การถอนรายงานการศึกษาดังกล่าวไปจัดทำใหม่ให้ได้ข้อยุติในชั้น กมธ.แล้วมานำเสนอต่อสภา น่าจะเป็นหนทางที่จะทำให้การพิจารณาในสภาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 “พรรคไทยสร้างไทยจะไม่มีกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าว แต่ในฐานะที่เป็นสมาชิกในพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขอแสดงความเห็นด้วยความสุจริตใจ เรียกร้องรัฐบาลให้ปกป้องรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง” นายชวลิตกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.ส่งสัญญาณขวางแก้รธน.

ที่ปรึกษาพูดชัด นายกฯ ยุ่งกับการแก้น้ำท่วมอยู่ ไม่มีเวลาพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ประธาน กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.ประชามติ วุฒิสภายันหนุนเกณฑ์เสียงข้างมาก

ศึกสายเลือด! ‘ธรรมวัฒนะ’ ฟ้องรอบใหม่

ยังไม่จบ! ศึกพี่น้องตระกูลธรรมวัฒนะภาคใหม่ "นพดล" รับมอบอำนาจน้องสาว ยื่นฟ้องเพิกถอนการโอนหุ้น "บริษัท สุวพีร์ฯ" ให้ "นฤมล" ชี้เป็นนิติกรรมฉ้อฉล ทำเเผนบริหารตลาดยิ่งเจริญเสียหาย