ศปช.กางข้อมูลยันไม่ซํ้ารอยปี54

ประชาชนปลื้มปีติ "โรงครัวพระราชทาน-ถุงยังชีพ" ช่วยผู้ประสบอุทกภัย ชื่นชมทหาร ตำรวจ จนท.ภาครัฐ มูลนิธิ กู้ภัย และจิตอาสา นายกฯ ยันรัฐบาล-ทุกภาคส่วนทำงานเต็มกำลัง "ศปช." กางข้อมูลปี 67 เทียบปี 54 สรุปชัดไม่ท่วมกรุงแน่ ปภ. ประสาน 63 จังหวัด รับมือฝนตกหนัก

เมื่อวันที่ 29 กันยายน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง "บททดสอบฝีมือรัฐบาล รับมือภัยน้ำท่วม"  กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น 1,002 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25-28 ก.ย.2567 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.4 ความปลื้มปีติ ต่อโรงครัวพระราชทาน ถุงยังชีพพระราชทาน ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม รองลงมาร้อยละ 87.3 ความพึงพอใจอื่นๆ ต่อหน่วยงานภาครัฐ มูลนิธิ องค์กรต่างๆ ช่วยเหลือ เช่น อาหาร น้ำ ยารักษาโรค การอพยพ และร้อยละ 85.7 ความพึงพอใจอื่นๆ บุคคล/ภาคประชาสังคม จิตอาสา ร่วมบริจาคทั้งกำลังเงินและสิ่งของ

ที่น่าสนใจคือ ความพึงพอใจต่อการทำงานของภาคประชาสังคมรับมือภัยน้ำท่วมในด้านต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.3 มูลนิธิองค์กรทำดี รองลงมาร้อยละ 80.4 อาสาสมัครมูลนิธิหน่วยกู้ภัยต่างๆ, ร้อยละ 79.9 มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก, ร้อยละ 78.8 มูลนิธิต่างๆ เช่น สภากาชาดไทย มูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น และร้อยละ 76.4 อื่นๆ ภาคประชาสังคม บุคคล จิตอาสา

ที่น่าพิจารณาคือ ความพึงพอใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐของหน่วยงานราชการ กระทรวงต่างๆ พบว่า มากที่สุดหรือร้อยละ 71.5 พอใจทหาร รองลงมาร้อยละ 67.5 พอใจตำรวจ, ร้อยละ 66.2 พอใจระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), ร้อยละ 60.3 พอใจกรมชลประทาน และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และร้อยละ 59.3 พอใจอื่นๆ กระทรวงต่างๆ  กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

รายงานของซูเปอร์โพลยังระบุข้อเสนอแนะในการเพิ่มความพึงพอใจและความไว้วางใจของประชาชนต่อระบบการจัดการภัยพิบัติของประเทศสามารถดำเนินการได้ด้วยหลายแนวทางที่มุ่งเน้น ทั้งด้านการจัดการและการสื่อสาร ดังนี้ 1.การเตรียมความพร้อมและการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การสื่อสารและการให้ข้อมูลที่ชัดเจน 3.การมีส่วนร่วมของชุมชน ได้แก่ การสร้างเครือข่ายชุมชนเพื่อการรับมือภัยพิบัติ และ 4.การวางแผนและการใช้เทคโนโลยี ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบและการเตือนภัย การใช้ระบบ GIS และดาวเทียมเพื่อการตรวจสอบสภาพอากาศและการเตือนภัยล่วงหน้า และการใช้โดรนและเทคโนโลยีอื่นๆ                   

วันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์คลิปวิดีโอในการลงพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูและให้กำลังใจประชาชนในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา พร้อมข้อความผ่าน X ว่า “รัฐบาลและทุกภาคส่วน เราทำงานเต็มกำลังเพื่อให้ชีวิตพี่น้องกลับมาปกติสุขโดยเร็วค่ะ อยากขอขอบคุณทีมงานทุกภาคส่วนอีกครั้งที่ทำงานกันอย่างเต็มที่ เหนื่อยหนัก และอันตราย ขอบคุณจริงๆ ค่ะ"              

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย  วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และ ศปช.ส่วนหน้า จังหวัดเชียงราย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม ศปช. ได้ข้อสรุปเรื่องสำคัญที่เป็นข้อวิตกกังวลของประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำระหว่างปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2554 พบว่า จากการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พิจารณาทุกปัจจัยทั้งน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน ทำให้สถานการณ์น้ำในปีนี้ไม่ซ้ำรอยปี 2554 ด้วยปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1.จำนวนพายุ โดยในปี 2554 พบว่ามีพายุเข้าไทยถึง 5 ลูก ไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก เมื่อเทียบกับปี 2567 มีพายุเข้าไทยเพียง 1 ลูก คือซูริก ซึ่งแม้จะไม่ได้เคลื่อนเข้าประเทศไทย แต่ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานของไทยมีฝนตกหนักและเกิดน้ำหลากในหลายพื้นที่ 2.ปริมาณฝนสะสม เนื่องจากในปี 2554 ฤดูฝนในประเทศไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติ และมีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 24% และเป็นปริมาณฝนมากที่สุดในรอบ 61 ปี หรือนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 ขณะที่ในปี 2567 แม้จะมีปริมาณฝนทั้งประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี แต่ภาพรวมปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติ 2%

3.ปริมาณเขื่อนในการรองรับน้ำในปี 2554 เนื่องจากปริมาณฝนสะสมสูงกว่าปกติทำให้เขื่อนหลักของประเทศไทยรองรับน้ำ 1,366 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ในปี 2567 การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลทำให้เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้ถึง 7,162 ล้านลบ.ม. และ 4.ปริมาณน้ำท่า หรือปริมาณการระบายน้ำเหนือ โดยเฉพาะการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในปี 2554 มีการระบายน้ำสูงถึง 3,661 ลบ.ม./วินาที ขณะที่การระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ณ วันที่ 28 ก.ย.67 อยู่ที่ 1,848 ลบ.ม./วินาที อีกทั้งความจุลำน้ำยังสามารถรองรับการระบายได้สูงถึง 2,730 ลบ.ม./วินาที

"การประชุมคณะทำงาน ศปช. ได้เน้นย้ำถึงการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำเหนือเขื่อนที่ไหลเข้ามา และปริมาณน้ำทะเลหนุนที่จะกระทบต่อระดับน้ำในลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันตรงกันว่าไม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ" นายจิรายุระบุ

ทั้งนี้ ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำอยู่ที่ 1,900 ลบ.ม./วินาที แต่ที่มีความกังวลคือ น้ำเหนือเริ่มเติมเข้ามามากขึ้น ในอีก 2-3 วันอาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอาจจะกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อน 11 จุด 4 จังหวัด (อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท) ตามที่ได้แจ้งเตือนไปก่อนหน้านี้ แต่ไม่กระทบกับพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างแน่นอน เพราะรองรับการปล่อยน้ำได้ถึง 3,000-3,500 ลบ.ม./วินาที แต่หากมีน้ำทะเลหนุน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่ำและจุดฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) สำรวจแล้วพบว่ามีอยู่ทั้งสิ้น 32 จุด ซึ่งทาง กทม.และจังหวัดปริมณฑล ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว

นายจิรายุกล่าวเพิ่มเติมว่า ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย รายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำที่ จ.เชียงใหม่และ จ.เชียงราย พบว่าปัจจุบันระดับน้ำทั้ง 2 จังหวัดเริ่มลดลง โดยที่จังหวัดเชียงราย เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.แม่สรวย อ.แม่ลาว และ อ.เวียงป่าเป้า  บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 2,892 ครัวเรือน ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมและเกิดดินสไลด์ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.สารภี อ.หางดง อ.สันป่าตอง และ อ.ดอยหล่อ โดยในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการฟื้นฟู ล้างทำความสะอาดในพื้นที่ที่สถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลาย

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ประสานแจ้ง 63 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อากาศแปรปรวน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.ถึง 3 ต.ค.2567.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง