สว.ส่งสัญญาณขวางแก้รธน.

ที่ปรึกษาพูดชัด นายกฯ ยุ่งกับการแก้น้ำท่วมอยู่ ไม่มีเวลาพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ  ประธาน กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.ประชามติ วุฒิสภายันหนุนเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น    "จาตุรนต์" ชี้เป็นสัญญาณ สว.ไม่อยากให้มี รธน.ฉบับใหม่

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2567 นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงไทม์ไลน์การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจถูกขยับออกไป หาก สว.กลับมาแก้ไขกฎหมายประชามติให้ใช้เสียงข้างมากสองชั้นเหมือนเดิม ในฐานะที่ปรึกษาจะแนะนำนายกฯ อย่างไรว่า ขณะนี้รัฐบาลเน้นการแก้ปัญหาอุทกภัย คงไม่ได้เร่งพิจารณาในส่วนประเด็นการเมืองอื่นๆ นายกฯ ยุ่งกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอยู่

นายพงศ์เทพกล่าวว่า ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสภา ซึ่งกําลังเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาแล้ว ดังนั้นในส่วนนี้ไม่มีอะไรที่รัฐบาลจะสามารถดำเนินการได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีข้อแนะนํานายกฯ อย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกมองว่ารัฐบาลยื้อเวลา ไม่ทำตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ที่ปรึกษานายกฯ ตอบว่า วุฒิสภาไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาล  เพราะฉะนั้นหาก สว.ทําอะไรรัฐบาลไม่ได้เกี่ยวข้องอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สภาผู้แทนราษฎรมีช่องทางตามรัฐธรรมนูญเพื่อดําเนินการต่อไปได้

นายพงศ์เทพยังกล่าวถึงวาระการประชุมทีมที่ปรึกษานายกฯ ที่บ้านพิษณุโลกในสัปดาห์นี้ว่า  ยังไม่มีการแจ้งมา แต่คงจะมีหลายเรื่องรวมกัน  เศรษฐกิจก็คงเป็นเรื่องหนึ่ง

พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ.…. วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี กมธ.เสียงข้างมากหนุนเกณฑ์ประชามติโดยใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่ทำประชามตินั้น ในกรณีที่ทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากร่างเดิมของ สส.นั้นว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องของ กมธ.ที่ได้พิจารณาร่วมกัน

เมื่อถามว่า สว.อีกฝ่ายและบางพรรคการเมืองมองว่าเป็นการยื้อแก้รัฐธรรมนูญ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษย้อนถามว่า อันนี้ก็แล้วแต่ อีกฝ่ายคือใคร ส่วนตัวไม่ทราบ และเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะมอง ไม่เกี่ยวกับ กมธ.

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 30 ก.ย. ที่มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติว่าจะพิจารณาอย่างไร ส่วนจะต้องมีการตั้ง กมธ.พิจารณาร่วมกันของ สส.และ สว.หรือไม่ ก็แล้วแต่กระบวนการของการร่างกฎหมาย

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถ้าวุฒิสภาฟื้นกติกาการทำประชามติแบบเสียงข้างมาก 2 ชั้นมาอีกครั้ง ก็ต้องส่งกลับสภาผู้แทนราษฎร และจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมซึ่งมาจากทั้ง 2 สภาจำนวนเท่ากัน ซึ่งตนไม่อาจคาดเดาว่าผลจะออกมาเป็นเช่นใด แต่เมื่อแล้วเสร็จจะต้องส่งไปให้ทั้ง 2 สภาพิจารณาอีกครั้ง และถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องถูกยุติไว้ 180 วัน สภาผู้แทนราษฎรถึงจะนำร่างดังกล่าวกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งได้

“การที่ สว.แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติอย่างมีนัยสำคัญเรื่องดับเบิลแมจอริตีนี้ นอกจากอาจมีผลทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่เพียงแค่ล่าช้าออกไปถึงขนาดไม่ทันก่อนหมดอายุสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน แต่นี่อาจเป็นการส่งสัญญาณว่า สว.ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เลยด้วยซ้ำ ต้องช่วยกันติดตามต่อไปครับ” นายจาตุรนต์กล่าว

สว.พันธุ์ใหม่ขวาง

ขณะที่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ พ.ศ..… วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีวุฒิสภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ มองว่า สว.จะเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมากหรือไม่ว่า แน่นอน คงเป็นไปตามนั้น ไม่เช่นนั้นคงไม่กลับมติใน กมธ. ส่วนเหตุผลที่กลับมติ เขาให้เหตุผลว่าหลังจากมีผู้ขอแปรญัตติให้กลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น พอกลับไปคิดดูแล้ว ทุกคนก็คิดเห็นตรงกัน ประหนึ่งว่ามีใบสั่งมา ผลโหวตจึงออกมาเป็น 17 ต่อ 1 ซึ่งตนเป็น กมธ.เสียงข้างน้อย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากวุฒิสภาเห็นชอบและมีการตั้ง กมธ.ร่วมกับ สส. มองว่าจะกระทบไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ น.ส.นันทนาตอบว่า จะยืดเยื้อ เพราะการตั้ง กมธ.ร่วม ไม่มีกรอบเวลา และเชื่อว่า สส.จะยืนตามร่างแก้ไขฉบับเดิม เพราะหากจะกลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ก็ไม่รู้ว่าจะแก้ตั้งแต่ต้นทำไม เพราะฉะนั้นกฎหมายนี้ต้องรอไปอีก 180 วัน

เมื่อถามว่า กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่มีจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างไร น.ส.นันทนากล่าวว่า เราเห็นด้วยกับระบบเสียงข้างมากแบบง่าย (simple majority) เพราะฉะนั้นเราจะร่วมกันอภิปรายแสดงจุดยืน อย่างไรก็ตาม เรารู้ว่าลงมติยังไงก็แพ้ แต่จะขอแสดงเหตุผลให้ประชาชนได้รับทราบ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการทำประชามติว่า  กกต.มีหน้าที่ทำประชามติในเรื่องใด ตามคำเห็นชอบของ ครม. โดย กกต.จะมีปฏิทินการทำงาน หากมีการเสนอการทำประชามติ พร้อมการเลือก อบจ. สามารถทำได้ตามทฤษฎีและการบริหาร  แต่ในทางกฎหมายอาจมีปัญหาที่ผู้มีสิทธิเลือกมีลักษณะคล้ายกันมาก และในบางจังหวัดมีการเลือกนายก อบจ.ไปแล้ว คาดว่างบประมาณอาจจะใช้เป็น 2 เท่า และขณะนี้ความชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายประชามติยังไม่แน่ชัด จึงเห็นว่าการทำอย่างใดอย่างหนึ่งจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า เช่นกันเลือก อบจ.อย่างเดียว คนละวันกับการทำประชามติ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการเลือกนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่จะครบวาระในวันที่ 19 พ.ค.2567 ซึ่งต้องเลือกภายใน 45 วันนั้น คาดว่าจะกำหนดวันเลือกตั้งได้ หากไม่ใช่วันที่ 26 ม.ค.2568 ก็คือวันที่ 2 ก.พ.2568

รัฐบาล/รัฐสภาควรทำอย่างไร?

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความว่า เมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ล่าช้าออกไปอีก รัฐบาล/รัฐสภาควรทำอย่างไร?

รัฐบาลวางแนวทางไว้ว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีขึ้นได้ ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง

ครั้งแรก ประชามติต้นปี 2568 เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 หรือไม่

ครั้งที่สอง ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเพิ่มบทบัญญัติหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อร่างแก้ไขนี้ผ่านรัฐสภาแล้ว ก็ต้องไปออกเสียงประชามติ

ครั้งที่สาม มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ต้องนำร่างใหม่นั้นไปออกเสียงประชามติ

โดยรัฐบาลเห็นว่า การออกเสียงประชามติในครั้งแรก จะเกิดได้ ก็ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติเสียก่อน เพื่อเปลี่ยนจากเกณฑ์ “ผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ + ผู้เห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ” หรือ Double Majority ให้เป็น “ผู้เห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ”

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.ประชามตินี้ ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว อยู่ในการพิจารณาของวุฒิสภา ปรากฏว่ามีข่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา มีมติให้กลับไปเป็น Double Majority ตามเดิม หากไปจนจบวาระสามในชั้นวุฒิสภา ยังเป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่า วุฒิสภามีมติแก้ไขจากร่างที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร หากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภา ก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของสองสภา ซึ่งก็ต้องทอดเวลาออกไปอีก

จากนั้น หากสภาใดสภาหนึ่งยังไม่เห็นด้วยกับร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมสองสภาทำกันมา  ร่างนั้นก็จะถูกยับยั้งไว้ 180 วัน สภาผู้แทนราษฎรจึงจะนำกลับมาลงมติยืนยันได้

รัฐสภามีทางเลือก 2 ทาง 

เมื่อดูตารางเวลาของกระบวนการนิติบัญญัติกรณีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติแล้ว จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมีการออกเสียงประชามติรอบแรกในต้นปี 2568 อย่างน้อยๆ ต้องเสียเวลาเพิ่มอีก 8-10 เดือน กว่าจะแก้ไข รธน.ให้มี ส.ส.ร. แล้วประชามติ เลือก ส.ส.ร. มาทำร่างใหม่ แล้วประชามติ ก็ต้องบวกเวลาเพิ่มไปอีก อย่างน้อย 2 ปี  ดังนั้น Roadmap ที่แกนนำรัฐบาลพูดกันว่า เลือกตั้งปี 70 จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ให้ใช้ จึงไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว

ด้วยสถานการณ์ที่มีคนพยายามใช้กลไกถ่วงเวลาการแก้รัฐธรรมนูญเช่นนี้  ผมเห็นว่า รัฐบาลและรัฐสภามีทางเลือก 2 ทาง 

ทางเลือกแรก ลดการออกเสียงประชามติเหลือ 2 ครั้ง กล่าวคือ เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เข้ารัฐสภาเลย (ถ้ารีบเสนอวันนี้เลย ก็สามารถพิจารณาวาระแรกทันในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดสิ้นเดือน ต.ค.) เมื่อผ่านรัฐสภา ก็ไปออกเสียงประชามติ เมื่อผ่าน ก็มี ส.ส.ร. เมื่้อ ส.ส.ร.ทำร่างใหม่เสร็จ ก็นำมาออกเสียงประชามติ

ทางเลือกนี้ ประหยัดเวลาไปอีก 8-10 เดือน และทำประชามติเพียงสองครั้ง ประหยัดงบประมาณไปได้มาก ประธานรัฐสภาไม่ต้องกังวล ต้องกล้าบรรจุเรื่องเข้ารัฐสภา เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าการทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติ แต่ไม่ได้บอกว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง กรณีนี้ ทำสองครั้ง (แก้ให้มี ส.ส.ร. 1 ครั้ง และร่างใหม่ที่ ส.ส.ร.ทำ อีก 1 ครั้ง)

ทางเลือกที่สอง เสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตรา ตั้งแต่หมวด 3 จนถึงหมวดสุดท้าย ตั้งแต่มาตรา 25 ถึงมาตรา 279 ในเมื่อการมี ส.ส.ร. ในเมื่อการทำรัฐธรรมนูญใหม่ มีอุปสรรคมากมาย กังวลเรื่องนั้น กลัวเรื่องนี้ เถียงกันอยู่แค่ว่าต้องมีประชามติกี่ครั้ง ต้องแก้ไขกฎหมายประชามติก่อนหรือไม่ อย่างไร

อย่ากระนั้นเลย ในเมื่อรัฐสภาเป็นผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ก็สามารถดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสีย  ปัญหาหรือข้อกังวลต่างๆ ก็ตกไป การแก้ไขตั้งแต่มาตรา 25 ถึงมาตรา 279 ไม่ใช่การทำใหม่ทั้งฉบับอยู่แล้ว ย่อมไม่ติดกับดัก "ประชามติ" ที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ข้อกังวลเรื่องจะมาแก้ไข หมวด 1 หมวด 2 หรือไม่ ก็ไม่มี เพราะนี่คือการเริ่มแก้ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป และกระบวนการนี้ ทั้งหมดจบได้ด้วยประชามติครั้งเดียวตอนท้าย หลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว                ทางเลือกนี้ แก้ทั้งกับดัก และยังช่วยประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณ มีแต่ทางเลือกสองทางนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เรามีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้ทันในปี 2570.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กดดันรางวัลเยอะ ‘แพทองธาร’ ดีใจนึกว่ามีแต่คนต่อว่าในโซเชียลมา 3 เดือน!

"อิ๊งค์" กดดันหนัก! บริหารประเทศ 3 เดือนได้รางวัลเพียบ ดีใจโพลสำรวจ ปชช.ให้เบอร์ 1 “นักการเมืองแห่งปี” นึกว่ามีแต่คนต่อว่าในโซเชียล "หมอวรงค์" เฉ่งยับ!

ชัดแล้วเลือกอบจ.68 รับสมัคร ‘23-27ธ.ค.’

กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาและนายก อบจ. สมัคร 23-27 ธ.ค. เลือกตั้ง 1 ก.พ.ปีหน้า หลายจังหวัดตรวจสอบความพร้อม คาดวันแรกผู้สมัครทะลัก "อุ๊งอิ๊ง"

จี้รัฐบาลประท้วงกัมพูชา

"สนธิรัตน์" นำทีมพลังประชารัฐลงพื้นที่ตราด "ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์" ชี้อันตรายมาก แนวสันเขื่อนดินที่กัมพูชาสร้างต่อเติมออกไป หากไม่มีการประท้วงหรือไม่มีข้อคัดค้านใดๆ ก