ผุดศปช.ส่วนหน้าทำงาน30วัน

“นายกฯ” ลงพื้นที่เชียงราย สั่งตั้ง  ศปช.ส่วนหน้า ให้ “ธีรรัตน์-พล.อ.ณัฐพล-จิรายุ” นั่งแท่นอยู่ 30 วัน พร้อมขีดเส้น 20 ต.ค.ต้องฟื้นฟูเชียงรายให้เสร็จ ปูดคลังเล็งผุดซอฟต์โลน 5 หมื่นล้านดูแล รัฐบาลโอนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยเชียงราย 3,623 ครัวเรือน เชียงใหม่น้ำปิงเริ่มลด “เขื่อนเจ้าพระยา” เพิ่มการระบาย เตือนประชาชนนอกคันกั้นน้ำ

เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง  ไปยังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยเวลา 16.20 น. นายกฯ เดินทางถึง จ.เชียงราย และได้เป็นประธานการประชุมบูรณาการแผนฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ที่ห้องประชุมท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง

โดยนายกฯ กล่าวช่วงต้นว่า ที่ผ่านมาได้ติดตามข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ทั้งในเรื่องน้ำท่วมและดินโคลนถล่มที่มีปัญหาอยู่ต่อเนื่อง และสั่งการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด รวมไปถึงการเยียวยาฟื้นฟูและสาธารณสุขต่างๆ ที่ต้องตามมา โดยมีการรับบริจาคเงินและสิ่งของต่างๆ จากทางภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงภาคประชาชน ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยเหลือประชาชนกันอย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะขอความช่วยเหลือไปทางไหนก็ตาม ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งการปกครอง มั่นคง และอาสาสมัครทั่วประเทศ

นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดการจ่ายค่าเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด ซึ่งได้รับรายงานว่าประชาชนได้รับเงินเยียวยาไปแล้วกว่า 3,000 ครอบครัว และหลังจากนี้จะค่อยๆ พิจารณาตามความเหมาะสม ขณะที่กระทรวงการคลังเตรียมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) สำหรับเรื่องการฟื้นฟูกิจการและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายกลุ่ม Micro SME ขึ้นไป  รวมไปถึงบุคคลธรรมดา กระทรวงพาณิชย์ได้มีการเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดและซ่อมแซมให้กับผู้ประสบภัยจำนวนมาก รวมถึงสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้

ภายหลังการประชุมนายกฯ สั่งการให้จัดตั้ง ศปช.ปฏิบัติการส่วนหน้า เพื่อเป็นศูนย์สั่งการและประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยให้ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย เป็นประธาน และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม เป็นที่ปรึกษา ให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษก ให้ประจำที่หน้างานเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน เพื่อที่จะได้รู้ว่าเรามีส่วนกลางอยู่ตรงนี้ช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงทีจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยให้มีการระดมพลผ่านทางกระทรวงกลาโหมและกระทรวงยุติธรรม ร่วมกับอาสาสมัครและหน่วยงานเอกชนต่างๆ

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เขตอำเภอเมืองเชียงรายและอำเภอแม่สาย ให้กระทรวงมหาดไทยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประชุมติดตามผลการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรคต่างๆ จากหัวหน้าหน่วยที่รับผิดชอบแต่ละโซนทุกวัน เพื่อรายงานไปยัง ศปช. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ต่อไป โดยรัฐบาลขอตั้งเป้าหมายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้เร่งการฟื้นฟูและเยียวยาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ต.ค.67 นี้ ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จอย่างเร่งด่วน

นายกฯ ขอให้อดทน

ต่อมาในเวลา 17.30 น. ที่โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย จ.เชียงราย น.ส.แพทองธารได้มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อ.แม่สาย จำนวน  2,653,200 บาท, อ.เทิง 297,000 บาท, อ.เวียงแก่น 891,000 บาท และอำเภอเมืองฯ 1,485,000 บาท พร้อมมอบสิ่งของที่ใช้สำหรับทำความสะอาดบ้านเรือน

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เงินมาถึงเชียงรายแล้ว หลายๆ ครอบครัวได้รับไปแล้ว รอบแรกก่อน ซึ่งในวันที่ 1 ต.ค.ก็จะเข้า ครม.อีก เพื่อขยายความช่วยเหลือตรงนี้ ฉะนั้นไม่ต้องกังวลความช่วยเหลือ วันนี้ขอส่งกำลังใจให้ว่าอย่าเพิ่งท้อ สู้กันต่อ ทนกันอีกนิดหนึ่ง ความช่วยเหลือมาถึงแล้ว ขอให้มีกำลังใจให้กันเยอะๆ ส่งความรักให้พี่น้องประชาชนทุกคน

จากนั้นเวลา 18.30 น. น.ส.แพทองธารและคณะมาที่โครงการบ้านธนารักษ์ กองทัพบก อ.เมืองเชียงราย ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 270 หลังคาเรือน ซึ่งขณะนี้ประชาชนสามารถกลับเข้าไปอยู่ในบ้านได้ 30% และมีเจ้าหน้าที่ทหารและรถเครื่องจักรกำลังพยายามกวาดดินโคลนออกจากพื้นที่ โดย น.ส.แพทองธารได้นั่งรถบรรทุกทหารมาบ้านที่อยู่ติดริมน้ำกก พร้อมใส่รองเท้าบูตลงลุยโคลน เพื่อมาพูดคุยกับตัวแทนชุมชน รับฟังความเดือดร้อน ความต้องการ รวมถึงข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยตัวแทนชุมชนระบุว่า การที่นายกฯ ประกาศ ศปช.ส่วนหน้า อยากให้มีการเชื่อมต่อ ศปช.ชุมชน และต้องการระบบเตือนภัยที่ใกล้กับตลิ่งน้ำและชุมชน ก่อนที่คณะนายกฯ จะร่วมรับประทานอาหารกับอาสาสมัครที่มาลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน

ทั้งนี้ ในระหว่างที่ น.ส.แพทองธารลงพื้นที่ จ.เชียงราย นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีต สว. พร้อมทั้งตัวแทนภาคธุรกิจ นักวิชาการและภาคประชาชน ได้ยื่นหนังสือสรุปข้อเสนอแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำหลากเมืองเชียงรายถึงนายกฯ โดยมีข้อเสนอ 8 ข้อคือ 1.เสนอให้วันที่ 1 พ.ย.2567 เป็นวันเปิดเมืองเชียงราย 2.ออกมาตรการในการฟื้นฟูภาคธุรกิจและเอกชน ทั้งรายใหญ่และรายย่อย 3.จัดตั้งศูนย์บัญชาการการฟื้นฟูในพื้นที่อย่างเร่งด่วน 5.รัฐต้องประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการร่วมแก้ปัญหาภัยข้ามพรมแดน 6.จัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้า real-time แจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือและช่องทางอื่น 7.มีมาตรการฟื้นฟูผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน และ 8.จัดทำแผนจัดการเมืองเชียงรายในระยะกลาง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย  กล่าวถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยวงเงิน 3,042.52 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ว่า ผู้ประสบภัยชุดแรกที่ทางการจะโอนเงินช่วยเหลือให้มี 3,623 ครัวเรือน แยกเป็นครัวเรือนใน อ.เมืองเชียงราย 3,305 ครัวเรือน, อ.แม่สาย 222 ครัวเรือน และ อ.ขุนตาล 96 ครัวเรือน ซึ่งครัวเรือนชุดแรกใน 3 อำเภอ ของเชียงราย ที่เป็นบัญชีของธนาคารออมสิน เงินจะเข้าบัญชีของผู้ประสบภัยในเวลา 13.35 น. ของวันที่ 27 ก.ย. ส่วนที่เป็นบัญชีธนาคารอื่นๆ จะทยอยโอนตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.เช่นกัน

ปัด ผวจ.เชียงรายป่วย

ด้านอนุทินกล่าวถึงกระแสข่าวการส่งนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ไป จ.เชียงราย ขณะที่ผู้ว่าฯ เชียงรายรอวันเกษียณอายุว่า ไม่ใช่ แต่เนื่องจากนายกฯ จะลงพื้นที่ในวันที่ 27 ก.ย. ซึ่งนายกฯ กังวลอยากให้เร่งโอนเงินเยียวยาพี่น้องประชาชน โดยสำนักงบประมาณได้โอนเงินประมาณ 3,000 ล้านบาทมาที่กระทรวงมหาดไทยแล้ว จึงได้ส่งปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ลงพื้นที่เร่งกำกับสรุปรายชื่อ สำรวจความเสียหาย เพราะเงินเหล่านี้ยังมีขั้นตอนอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่ากระแสข่าว ผวจ.เชียงรายป่วยไม่เป็นความจริงใช่หรือไม่ นายอนุทินตอบว่า ท่านไม่ได้ป่วย ท่านเคยป่วย ท่านก็ทำหน้าที่ของท่านอยู่ เพียงแต่ว่าเวลาของการรับราชการมันน้อยลง หากว่าไปแล้วจะเหลือแค่วันนี้กับวันจันทร์ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเราควรที่จะให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจต้องรับหน้าที่ต่อเนื่องจากวันที่ 1 ต.ค. เราปล่อยให้ขาดช่วงไม่ได้ เพราะยังมีความเดือดร้อนอยู่

ด้านนายจิรายุ ในฐานะโฆษก ชี้แจงกรณีมีข่าวลือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่าอีก 5 วันจะเกิดพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ที่รุนแรงกว่ายางิ และจะเคลื่อนตัวเข้าเวียดนาม ผ่านลาว เข้าไทย และจะส่งผลให้ กทม.เจอน้ำท่วมหนักกว่าปี 54 สองเท่าว่า ศปช.ได้ตรวจสอบข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาและส่วนราชการอื่นๆ ใน ศปช.แล้ว ยืนยันว่าในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีพายุขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมีเพียงพายุโซนร้อนชื่อ ซีมารอน (CIMARON) ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก คาดว่าจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นและอ่อนกำลังลง ไม่มาถึงไทยอย่างแน่นอน โดยฝนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงนี้เกิดจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุม จะมีฝนเพิ่มขึ้นในระยะแรกๆ จากนั้นจะลดลงและเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาวในประเทศไทย

เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบาย

วันเดียวกัน ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย เลย หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี และพระนครศรีอยุธยา รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 70 อำเภอ 260 ตำบล 1,257 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 31,952 ครัวเรือน

ขณะที่กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 27 ก.ย. เวลา 07.00 น.  สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,930 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 22 ซม. แต่ยังต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 3.07 ม. ส่วนที่สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,699 ลบ.ม/วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับน้ำท้ายเขื่อนต่ำกว่าตลิ่ง 2.82 ม. แต่ปัจจุบันมีฝนตกทางพื้นที่ตอนบนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในระยะนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ริมน้ำทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา/แม่น้ำน้อย รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ทั้งคลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา, ต.หัวเวียง อ.เสนา, ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ เฝ้าระวังระดับน้ำจากฝนที่ตกสะสมในพื้นที่และปริมาณน้ำจากทางตอนบนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น และมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไป

ด้านนายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย. เขื่อนเจ้าพระยาได้ทยอยเพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อนแบบขั้นบันได จากอัตรา 1,699 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในเวลา 15.00 น. ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนตั้งแต่ จ.ชัยนาทถึงพระนครศรีอยุธยามีระดับน้ำสูงขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 30 ซม. จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ เฝ้าระวังระดับน้ำที่จะสูงขึ้นอีก

6 เดือนฟื้นสมบูรณ์!

สำหรับสถานการณ์ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย กล่าวว่า ปัจจุบันได้เร่งเปิดทางตามถนนและซอยต่างๆ เพื่อให้สามารถสัญจรได้ คาดว่าจะใช้เวลาในการฟื้นฟูเฉพาะในเขตเทศบาลตำบลแม่สายประมาณ 2 เดือน เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถกลับเข้าบ้านพักอาศัยของตนเองได้ และจะทำให้กลับมาสมบูรณ์คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายก็ได้เร่งทำงานอย่างเต็มที่

ที่ จ.เชียงใหม่ สถานการณ์น้ำปิงเอ่อล้นท่วมเมืองเชียงใหม่เข้าสู่วันที่ 3 แล้ว แม้ล่าสุดระดับน้ำปิงจะเริ่มลดลงต่อเนื่อง แต่ยังเกินจุดวิกฤต และหลายพื้นที่ยังคงประสบกับภาวะน้ำท่วมขังขยายวงกว้าง ทั้งถนนช้างคลาน เชียงใหม่แลนด์ บ้านป่าพร้าวนอก ถนนประชาสัมพันธ์ น้ำยังคงหลากเข้าท่วมอยู่เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้รถสัญจรไปมาด้วยความยากลำบาก บางจุดยังผ่านไม่ได้ ล่าสุดมวลน้ำได้เคลื่อนตัวไปทางตอนใต้ ทำให้ชุมชนในพื้นที่ อ.สารภีเริ่มมีน้ำท่วมสูงขึ้นในหลายจุดเป็นบริเวณกว้างด้วย

นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้มวลน้ำจากเชียงดาวลดลงต่อเนื่อง ส่วนน้ำที่ล้นจากอาคารระบายน้ำล้นเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมาสมทบกัน ผ่านจุด P75 เข้ามาที่ อ.แม่แตง รวมกันอยู่ที่ประมาณ 200 ลบ.ม./วินาที ยังอยู่ในการควบคุมได้ ระดับน้ำภาพรวมค่อนข้างทรงตัวและลดลงอย่างช้าๆ ส่วนที่จุด P1 สะพานนวรัฐ หลังจากลดลงต่ำกว่าตลิ่งอยู่ที่ 4.19 เมตร เมื่อเวลา 05.00-07.00 น. พบว่าขยับขึ้นมาที่ 4.23 เมตร จากฝนตกหนักแต่ทรงตัวและเริ่มลดลง หากน้ำปิงต่ำกว่าตลิ่งทางชลประทาน และหน่วยงานต่างๆ จะระดมสูบน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมทันที โดยคาดการณ์ว่ามีปริมาณน้ำที่ท่วมขังอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่ทั้งหมดประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. คาดจะใช้เวลาสูบน้ำออกทั้งหมดภายใน 2 วัน โดยจะเริ่มจากพื้นที่โซน 2 และโซน 1 บางส่วนก่อน เนื่องจากอยู่ใกล้ตลิ่งริมน้ำปิง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง