รื้อรธน.ส่อลากยาว วันนอร์เมินฟันธงจบรัฐบาลนี้/ไพบูลย์ปัดข่าวบิ๊กพปชร.ชิ่ง

"วันนอร์" คาดรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไข รธน.กลางเดือน ต.ค. รับมีปัญหาแน่หาก สว.เดินหน้าแก้ไขออกเสียงประชามติ เหตุต้องตั้ง กมธ.ร่วม ขอไม่เดาแก้ รธน.เสร็จทันสมัยรัฐบาลนี้หรือไม่  ย้ำมาตรฐานจริยธรรมทางการเมืองยังจำเป็น แต่ต้องไม่สูงจนผู้นำระแวง "วุฒิสภา" นัด 30 ก.ย. ถกร่าง กม.ประชามติ จับตาฟื้นใช้เกณฑ์ "เสียงข้างมาก 2 ชั้น" เพื่อแก้ รธน. สะพัด! "สันติ-วราเทพ" ไขก๊อกพลังประชารัฐคืนถิ่นเก่าเพื่อไทย "แกนนำ พท." ดาหน้าปฏิเสธ "ไพบูลย์" ชี้ข่าวลือจากผู้ไม่หวังดี  "ณฐพร" ตามบี้ กกต.ปล่อยผีสอยทีหลัง "สส.-สว."   ไม่ชอบ เร่งผู้ตรวจฯ ส่งศาลให้การเลือกตั้งโมฆะ "สนธิญา" จี้ "ปชน." ถอนร่างแก้ไข รธน.รายมาตรา   ขู่ยังรั้นเจอร้อง อสส. ยื่นศาล รธน.ยุบพรรค

ที่รัฐสภา วันที่ 27 กันยายน 2567 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร  กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า เบื้องต้นได้รับการประสานจากกองการประชุม ขณะนี้มีร่างที่ถูกบรรจุในระเบียบวาระแล้ว 3 ร่างของพรรคประชาชน (ปชน.) แต่ไม่ทราบความชัดเจนกรณีที่เป็นข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 2-3 ร่างอีกหรือไม่ จึงต้องรอดูว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ขณะนี้ยังรอความชัดเจนทั้งร่างที่เสนอโดยพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยให้ครบถ้วน ก่อนบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเพิ่มเติมในเรื่องเดียวกัน เพื่อที่จะพิจารณาพร้อมกัน และคาดว่าน่าจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงกลางเดือน ต.ค.ตามที่กำหนด หากยื่นแล้วต้องบรรจุในระเบียบวาระไม่เกิน 15 วัน ซึ่งเป็นการพิจารณาตามขั้นตอนที่วิปทุกฝ่ายได้หารือกันเพื่อกำหนดวันเรียบร้อยแล้ว

ถามว่า ร่างของพรรค ปชน.ที่ส่งมาแล้วจะต้องทำประชามติหรือสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า หากมีการแก้ไขทั้งฉบับ หรือแก้ไขอำนาจองค์กรอิสระ หรืออำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะลดหรือเพิ่มอำนาจ ต้องทำประชามติถามความเห็นประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ขณะที่เรื่องการแก้ไขมาตรฐานจริยธรรมจะต้องพิจารณาว่าแก้ไขเป็นอย่างไร เนื่องจากมีทั้งประเด็นที่ต้องทำและไม่ทำประชามติ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับสาระสำคัญ

ซักว่า กรณี สว.ต้องการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติไม่เห็นด้วยกับการใช้เสียงข้างมากปกติ หรือ single majority แต่ให้ใช้วิธี double majority หรือเสียงข้างมาก 2 ชั้น จะมีปัญหาหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ต้องรอดูสุดท้ายจะเป็นอย่างไร เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรเคยแก้ไขและประกาศใช้ไปแล้ว ดังนั้น สว.คิดเห็นไม่เหมือนกัน จะต้องมีการแก้ไขอีกครั้ง โดยการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ซึ่งผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตามนั้น

"หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมไม่ต้องทำประชามติก็ไม่ต้องรอ แต่ยอมรับว่าหากร่างไหนที่ต้องผ่านการทำประชามติก่อน คงล่าช้า แต่จะทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ ผมไม่ทราบ ไม่อยากพูดไปล่วงหน้า เพราะหากมีการแก้ไขกระบวนการทำประชามติที่ต่างจากร่างเดิมกระบวนการต่างๆ ก็จะล่าช้าไปด้วย" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนี้ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจไม่ทันรัฐบาลนี้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า จะช้าหรือไม่ช้าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามีการแก้ไขกฎหมายประชามติ  เวลาที่ดำเนินการมาทั้งหมดก็ใช้ไม่ได้ ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่หรือทำประชามติ แต่มีผู้ออกมาใช้สิทธิครึ่งหนึ่ง แต่เห็นชอบไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ จึงต้องดูรายละเอียด เพราะขึ้นอยู่กับกฎหมาย

ไม่ฟันธงแก้ รธน.ทันรัฐบาลนี้

"ขณะนี้ความเห็นร่วมกันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่มีข้อยุติ ส่วนจะทันในสมัยรัฐบาลนี้หรือไม่ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ เรื่องนี้เดาล่วงหน้าไม่ได้ เพราะยังไม่เกิดขึ้น” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

ถามถึงความจำเป็นที่ต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความสมดุลกฎหมาย แต่กฎหมายเรื่องจริยธรรมในสังคมอาจจะแตกต่างกัน  ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร โดยมาตรฐานจริยธรรมของผู้นำศาสนาก็จะต้องสูงในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับผู้พิพากษาที่เป็นองค์กรที่ต้องตัดสินคดีต่างๆ ต้องสร้างความน่าเชื่อถืออีกรูปแบบหนึ่ง รวมถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของทูตซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง และในส่วนของ สส.และ สว. ก็ควรจะต้องมีมาตรฐาน ทุกอย่างต้องเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประชาชนยอมรับได้  ถ้าไม่มีก็ไม่ได้ เพราะจะวุ่นวาย หรือมีแล้วอ่อนเกินไปเท่ากับไม่มีก็ไม่ดี หากมีหรือมีเข้มเกินไป ทำให้ทำหน้าที่ไม่ได้ ไม่มีความมั่นคงในการตัดสินใจ ทำให้ไม่กล้าทำอะไรเลย ก็จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ จึงคิดว่าทุกอย่างอยู่ที่ความสมดุลว่ามีแล้วได้ประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ และถ้าไม่มีแล้วประชาชนเสียประโยชน์ก็ควรต้องมี

"มาตรฐานทางจริยธรรม ถ้าถามว่าดีหรือไม่  เพราะบางอย่างปฏิบัติแล้วทำให้เกิดความไม่มั่นคง ทำให้ผู้นำรัฐบาลไม่สามารถตัดสินอะไรๆ ได้ เพราะกลัวจะถูกถอดถอน และกังวลว่าจะถูกมาตรฐานทางจริยธรรมทำให้บริหารงานไม่มีความมั่นคง ทำให้คนไม่ไว้วางใจในรัฐบาล เพราะไม่มั่นใจว่าอยู่นานเท่าไหร่ ดังนั้นควรต้องมีความมั่นคงพอสมควร แต่มาตรฐานทางจริยธรรม เช่น การไม่โกง ไม่ทุจริต ไม่เอาประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม และควรระบุให้ชัดว่ามาตรฐานของแต่ละอาชีพนั้นควรอยู่ตรงไหน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานะของผู้นั้น” ประธานสภาฯ ​กล่าว

ถามว่า พฤติกรรมในอดีตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรนำมาเป็นหลักเกณฑ์ในเรื่องของจริยธรรมหรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า  กรณีที่เกิดปัญหาเพราะเดิมเราไม่มีการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมที่ชัดเจน แต่ไปตัดสินที่ศาลเลย ซึ่งหากยึดคำพิพากษาของศาล ถือเป็นจริยธรรมของบุคคลทั่วไป แต่สมาชิกรัฐสภาควรมีจริยธรรมระดับหนึ่งไม่เท่ากับคนทั่วไป การที่กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสูงเท่าผู้พิพากษา ตนก็คิดว่าเกินไปหน่อย ซึ่งความจริงมาตรฐานสูงเป็นเรื่องดี แต่ปฏิบัติลำบาก

 “ถ้าเกินขนาดนั้นดีหรือไม่ ต้องบอกว่าดี แต่มันปฏิบัติลำบาก เมื่อคนมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วไม่กล้าตัดสินใจอะไรสักอย่าง ประชาชนเสียประโยชน์แน่นอน อย่างจริยธรรมของแพทย์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่มีของแต่ละองค์กร” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

มีรายงานว่า นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ลงนามนัดประชุมวุฒิสภา (สว.) วันที่ 30 ก.ย. โดยมีวาระพิจารณาเรื่องด่วนคือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ..... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งมี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. เป็นประธาน กมธ. ได้พิจารณาเสร็จแล้ว

ทั้งนี้ คณะ กมธ.ได้แก้ไขเพิ่มเติมจากที่สภาให้ความเห็นชอบ 1 มาตรา คือมาตรา 7 ว่าด้วยเกณฑ์การผ่านประชามติ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยกลับมาใช้แบบ double majority กล่าวคือ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่ทำประชามตินั้น หรือหมายความว่า ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น หากเป็นกรณีที่ทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องทั่วๆ  ไปนั้น กมธ.ยังคงหลักเกณฑ์ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว คือเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิ และเสียงข้างมากนั้นต้องสูงกว่าคะแนนไม่แสดงความคิดเห็นเรื่องที่ทำประชามติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ กมธ.เสียงข้างน้อยที่ขอสงวนความเห็นในการแก้ไขมาตรา 7 ประกอบด้วย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว., นายกฤช เอื้อวงศ์, นายนิกร จำนง, นายวุฒิสาร ตันไชย และ น.ส.อุดมลักษณ์ บุญสว่าง ซึ่งเป็น กมธ.ในโควตาของรัฐบาล

ปัดวุ่น 'สันติ-วราเทพ' ย้ายพรรค

วันเดียวกัน มีกระแสข่าวตลอดทั้งวันว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค และนายวราเทพ รัตนากร ผู้อำนวยการพรรค จะนำ สส.ในกลุ่มย้ายมาอยู่กับพรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าวโดยได้แต่ยิ้ม

ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม บอกว่ายังไม่ทราบข้อเท็จจริง และยังไม่ได้มีการพูดคุยอะไรกัน ที่ผ่านมาเคยทำงานร่วมกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่ได้คุยอะไรกัน จึงไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้

นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า  เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของพรรคพลังประชารัฐ แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะย้ายสังกัดกลับมาพรรคเพื่อไทยตามที่เป็นข่าวนั้น แทบเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะ สส.ที่จะมาต้องไม่มีพรรคสังกัดก่อน

"ทั้งนายสันติและนายวราเทพไม่มีการติดต่อผ่านเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ไม่รู้ว่าข่าวออกมาได้อย่างไร" เลขาธิการพรรค พท.ระบุ

ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกระแสข่าวนายสันติและนายวราเทพว่า เป็นข่าวปล่อยจากผู้ไม่หวังดีเพื่อหวังผลในทางที่ไม่ดีกับพรรค ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องจริง ส่วนจะปล่อยมาจากฝ่ายไหนก็รู้กันอยู่ ฝ่ายนั้นคงจะอึดอัดจนทนอยู่เฉยๆ ไม่ได้

ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน  ได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ไต่สวนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดรัฐธรรมนูญกรณีไม่จัดการเลือกตั้ง สส.และการเลือก สว.ให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม โดยขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง สส.และการเลือก สว.เป็นโมฆะ

นายณฐพรกล่าวว่า การประกาศผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายใดที่ให้อำนาจ กกต.ในการประกาศผลการเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยไปสอยทีหลัง ฉะนั้นต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วน แต่ปรากฏว่ามี สส.หลายคนมีคดี ขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามในการเป็น สส. จึงเป็นเหตุที่ว่าการที่ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งไปก่อน จนถึงปัจจุบันปีเศษกลับไม่ดำเนินคดีอะไรเลย ทำให้เราได้บุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎร เป็นประเด็นที่จะทำให้การเลือกตั้ง สส.ปี 2566 เป็นโมฆะได้

"เหตุที่ต้องมี กกต. เพราะต้องการให้คุณคัด ไม่ใช่ให้เลือกตั้งไปก่อนแล้วค่อยไปคัดทีหลัง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อได้คนไม่ดีไป คนที่ขาดคุณสมบัติไป ก็จะทำให้กระบวนการเสียหมด อย่าลืมว่าการใดที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนแตกแยก ก็ถือว่าขัดหลักนิติธรรม การกระทำของ กกต.ถือว่าล่าช้า หาก กกต.ชุดนี้ดำเนินการตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก็จะไม่ถูกเพิกถอน ก็จะไม่มีประชาชนพูดคำว่ามี กกต.ไว้ทำไม" นายณฐพรกล่าว

นายณฐพรกล่าวว่า หลักฐานทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นหลักฐานจากสื่อมวลชน หลักฐานจากส่วนราชการ ตำรวจ ตนได้ขอเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะได้ข้อมูลทั้งหมดในช่วงกลางเดือน ต.ค. ก่อนส่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา

ถามว่า กกต.ระบุว่ากฎหมายได้ให้อำนาจในการสอยทีหลังได้ นายณฐพรกล่าวว่า กฎหมายได้ให้อำนาจ แต่อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 215 กำหนดไว้ชัดเจนว่า องค์กรอิสระต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญ อย่างผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ  เพราะฉะนั้นคุณไม่ควรปล่อยไปก่อน

จี้ 'ปชน.' ถอนแก้ร่างรายมาตรา

ที่สำนักงาน กกต. นายสนธิญา สวัสดี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อให้วินิจฉัยและมีหนังสือไปยังพรรคประชาชน (ปชน.) ให้ถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมหรือคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือ ส.ส. แม้ว่านายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรค ปชน. ระบุได้ถอนเรื่องจริยธรรมออกแล้ว แต่อยากฝากถึงพรรค ปชน. ว่าไม่เฉพาะเรื่องจริยธรรม แต่ขอให้ถอนเรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพราะตนไม่อยากร้องอัยการสูงสุด หรือ กกต. เพื่อผ่านเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุบพรรค

"วันนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา พรรค ปชน.กำลังทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 74 หรือการแก้ไขเรื่องจริยธรรม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปสู่การยุบพรรคได้" นายสนธิญากล่าว

ถามว่า จะยื่นเอาผิดกับ สส.ของพรรคเพื่อไทยที่มีการลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราด้วยหรือไม่ นายสนธิญากล่าวว่า จะไม่มีการร้องหรือยื่นเอาผิดกับ สส.เพื่อไทย เพราะถือว่าเราขอกันกินมากกว่านี้ และเมื่อมีการถอยแล้วก็อยากให้ทำงานต่อไป แต่ในส่วนของพรรค ปชน. ยังไม่ได้มีการถอนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ที่ถอนเป็นเพียงบางมาตราเท่านั้น จึงขอวิงวอนไปยังพรรค ปชน. ในฐานะที่ตนก็เป็นคนหนึ่งในการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และสนับสนุนเรื่องจริยธรรม คุณธรรม การประพฤติปฏิบัติของผู้ที่ลงสมัคร สส. หรือจะเป็น รมต. ว่าขอให้พรรคถอนญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราหรือทั้งหมดออกไปด้วย ซึ่งถ้ายังคงดื้อดึงก็จะพิจารณาเรื่องการยื่นร้องเรียน ขณะนี้ถือว่าให้เกียรติในการที่จะถอนเรื่องออกก่อน เพราะพรรคร่วมรัฐบาลถอนแล้ว พรรคประชาชนก็ควรถอน

"ผมต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 225 และมาตรา 226 การมี ส.ส.ร. ทำประชามติให้ประชาชนได้ลงมติ ซึ่งผลออกมาอย่างไรผมจะไม่คัดค้านแม้แต่ประเด็นเดียว แต่วันนี้คุณจะยื่นแก้รายมาตราให้ไม่ต้องทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญนั้น เข้าใจว่าจะกลายเป็นปัญหาของประเทศ ทำให้เกิดความวุ่นวาย และผมถูกละเมิดสิทธิจากการที่ผมเป็นผู้ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ผมไม่อยากจะร้องพรรค ปชน.แล้ว อยากให้เขาได้ทำงาน แต่ถ้ายังยืนยันเหมือนเดิม และส่งร่างกฎหมายนี้ค้างเอาไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร ผมก็อาจต้องร้องต่ออัยการสูงสุดให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป" นายสนธิญากล่าว

ส่วนนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊กว่า เห็นด้วยกับการยุติแก้ไขประมวลจริยธรรมนักการเมืองของพรรค ปชน. จากกรณีที่ได้แสดงจุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มี 2 เส้นทาง เส้นทางแรกคือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดย ส.ส.ร. และเส้นทางที่ 2 ที่ต้องทำคู่ขนานกันคือการแก้ไขรายมาตรา

นายเทพไทกล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่พรรค ปชน.ตัดสินใจหยุดพักการแก้ไข รธน.ประเด็นประมวลจริยธรรมของนักการเมืองไปก่อน เพราะกระแสสังคมคัดค้านในเรื่องนี้เป็นอย่างหนัก แม้แต่ในส่วนพรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่สนับสนุนการแก้ไขประเด็นประมวลจริยธรรมเกือบทุกพรรค ยังเหลือแค่พรรคประชาชนเพียงพรรคเดียว ถ้ายังฝืนเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป ก็ต้องเจอทางตันอย่างแน่นอน ส่วนประเด็นการแก้ไข รธน.ทั้งฉบับ โดยจัดตั้ง  ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงเป็นเรื่องถูกต้อง

"การแก้ไข รธน.เป็นรายมาตราควบคู่กันไป แม้ว่าพรรค ปชน.จะอ้างว่าสามารถทำได้เร็วกว่าการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ส่วนตัวเห็นว่าการร่าง รธน.การแก้ไข รธน.รายมาตรา คู่ขนานกับการร่าง รธน.ทั้งฉบับ จะทำให้เป็นการฟุ่มเฟือย และสร้างความสับสนให้กับประชาชน ควรจะพุ่งเป้าไปยังการยกร่าง รธน.ทั้งฉบับดีกว่า และกดดันให้พรรค พท.แกนนำรัฐบาล เร่งจัดทำ รธน.ให้เสร็จทันการเลือกตั้งปี 2570 ถ้ามีการแก้ไข รธน.เป็นรายมาตราแล้ว ยิ่งจะเป็นการยื้อเวลาการแก้ไข รธน.ทั้งฉบับออกไป ซึ่งจะทำให้ประชาชนเสียโอกาส ผมเห็นด้วยกับการยุติการแก้ไขประมวลจริยธรรมของนักการเมืองไปก่อน และการยกร่าง รธน.ทั้งฉบับ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.รายมาตรา" นายเทพไทระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง