นิติสงครามระอุ!ร้องกันนัว

นิติสงครามระอุ! เรืองไกรร่อนหนังสือถึง  กกต.ตรวจสอบจริยธรรม “แพทองธาร” ตั้ง “สมศักดิ์-ทวี” ปมชั้น 14 รพ.ตำรวจ ส่วนเด็จพี่เดินหน้าขยี้ “ลุงป้อม” ลาประชุม 84 ครั้ง “วันนอร์” รับคณะกรรมการจริยธรรมเตรียมหารือ “ทนายอั๋น-สนธิญา” ตามบี้ปม สว.เกศกมล บอกหาก กกต.ยังเงียบอาจถึงมือ ป.ป.ช.

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือเพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีเสนอชื่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่ และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งนายสมศักดิ์และ พ.ต.อ.ทวี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่

นายเรืองไกรกล่าวว่า หลังจากศึกษารายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ที่ 221/2567 วันที่ 30 ก.ค.2567 เรื่อง การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่านายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ซึ่งพบว่ามีเหตุอันควรขอให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะนายกฯ รวมทั้งบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีต้องรู้หรือควรรู้ว่ามีรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ที่ 221/2567 วันที่ 30 ก.ค. ออกมาแล้ว แต่ไม่นำมาประกอบการพิจารณาแต่งตั้งรัฐมนตรี จึงอาจทำให้นายกฯ รวมทั้งนายสมศักดิ์ และ พ.ต.อ.ทวี มีหรือเคยมีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 ที่กำหนดว่าต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ดังนั้น กกต.จึงควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 170

ขณะที่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.พรรค พปชร. มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และมีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ซึ่ง ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 (1) และมาตรา 235 (1) และกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 87 ตามคำวินิจฉัยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ คมจ.1/2564 และส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

“พล.อ.ประวิตรเป็น สส. เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ แต่จากพฤติการณ์การไม่เข้าร่วมประชุมสภาในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ได้ข้อมูลมาจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2566 จนถึงปัจจุบัน พล.อ.ประวิตรน่าจะลาประชุมเป็นฉากบังหน้า โดยอ้างว่าติดภารกิจถึง 84 ครั้ง จากวันประชุมทั้งหมด 95 ครั้ง ส่วนในวันที่มีการลงชื่อมาประชุม 11 ครั้ง ก็มีเหตุน่าสงสัยว่าไม่ได้มาเซ็นชื่อในจุดที่สภากำหนด รวมถึงมีเจ้าหน้าที่รัฐนำบัตรประจำตัว สส.ไปสแกนให้”

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการยื่นคำร้องว่ามี สส.ลาประชุม 84 ครั้ง จากที่มีการประชุม 95 ครั้ง ถือว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ ว่าพูดยาก เพราะเป็นเรื่องข้อบังคับและกฎหมายที่ สส.ทำได้ แต่ก็ตรวจสอบความเหมาะสมได้ และถือเป็นความรับผิดชอบ ซึ่งความจริงกรณีเช่นนี้มีน้อยมาก เพราะพรรคการเมืองก็ได้เข้มงวดสมาชิกในการลงมติต่างๆ โดยตลอด แต่กรณีนี้ถ้ามีการเสนอให้ตรวจสอบก็ต้องนำเรื่องเข้าคณะกรรมการจริยธรรมของสภา ซึ่งจะมีอนุกรรมการแต่ละฝ่ายพิจารณาอีกที แต่ยังไม่มีการประชุมคณะกรรมการจริยธรรม เนื่องจากขาดองค์ประกอบ แต่คาดว่าน่าจะเรียบร้อยได้ในเร็วๆ นี้ เพราะมีเรื่องยื่นเข้ามารออยู่ประมาณ 6-7 เรื่อง โดยจะให้ฝ่ายเลขาฯ ประธานสภาฯ ไปดำเนินการให้ครบ เพื่อเรียกประชุมคณะกรรมการจริยธรรม

เมื่อถามย้ำว่า คนที่เซ็นอนุญาตให้ลาได้คือประธานสภาฯ เท็จจริงเป็นอย่างไร นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เรื่องนี้มอบให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นผู้ดูแลเรื่องการลาของสมาชิก ทั้งนี้ยอมรับว่าตามข้อกฎหมายเป็นเรื่องยาก เพราะกำหนดให้สมาชิกลาได้ถ้าจำเป็น ซึ่งการลาสมาชิกก็บอกว่าจำเป็น ติดภารกิจ หรือไม่สบาย ก็ต้องมีเหตุผลมา แต่ความเหมาะสมอยู่ตรงไหนคิดว่าประชาชนซึ่งเป็นผู้เลือกสมาชิกคงวัดได้

เมื่อถามว่า การตรวจสอบเรื่องลักษณะนี้จะต้องเรียกเจ้าตัวมาชี้แจงหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า การสอบถามเป็นเรื่องของอนุกรรมการที่จะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แต่เราไม่มีกฎหมายที่จะไปบังคับเหมือนศาลว่าต้องมาให้ถ้อยคำ ถ้าเจ้าตัวไม่มาให้ถ้อยคำ ก็ถือเอาตามเหตุการณ์แวดล้อมและคำร้อง ซึ่งคนที่ถูกร้องก็จะเสียเปรียบเอง

ส่วนที่ กกต. นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น เดินทางมาติดตามความคืบหน้ากรณีที่เคยยื่นเรื่องร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติการเป็น สว. ของ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา โดยระบุว่า ได้ยื่นเรื่องตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.2567 จะครบ 3 เดือนแล้ว แต่ กกต.กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งที่เรื่องนี้ไม่มีความซับซ้อนใดๆ

“เรื่อง สว.หมอเกศ ผมจะตามให้ถึงที่สุด อีกทั้งยังมีเรื่องที่ผมเคยยื่นทวงถามกรณีการยุบพรรคภูมิใจไทย โดยครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนที่ผ่านมาผมบอกว่าผมจะไม่คุยแล้ว แล้วคุณจะต้องชี้แจงต่อสังคมว่าการตรวจสอบอยู่ในขั้นตอนไหน แต่เรื่องก็ยังเงียบอีกตามเคย จึงอยากจะแจ้งข่าวดีให้กับนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. รวมถึงคณะกรรมการ กกต.ทั้งคณะ ว่าตอนนี้ผมได้ร่างคำฟ้องไว้แล้ว คิดว่าอีกสัปดาห์หนึ่งก็น่าจะเสร็จ ไปเจอที่ศาลอาญาทุจริตก็แล้วกัน" นายภัทรพงศ์กล่าว

วันเดียวกัน นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นถามความคืบหน้าต่อ กกต. กรณีให้ตรวจสอบที่ พญ.เกศกมล ใช้วุฒิการศึกษาปลอมสมัคร สว.เช่นกัน

โดยนายสนธิญากล่าวว่า เรื่องนี้มีคนร้องเรียนหลายคน แต่ที่มาวันนี้เพื่อถามกับ กกต.ว่าเรื่องสอบสวน พญ.เกศกมลไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนอะไร แค่เป็นเพียงการตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งมีเขียนไว้อยู่ในใบสมัครชัดเจนแล้ว ทั้งนี้ ติดตามเรื่องนี้เป็นครั้งที่ 4 และหลังจากนี้จะทำหนังสือติดตามทุกเดือน และหาก 2 เดือนนี้ กกต.ไม่มีการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องของ พญ.เกศกมล อาจต้องยื่นกับ ป.ป.ช. เพื่อวินิจฉัยการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ในกรณีนี้ต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง